วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"เศรษฐา" พร้อมคณะเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอานนราธิวาส



"เศรษฐา"พร้อมคณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน และเยี่ยมชมกิจกรรม “นวัต ..วัฒนธรรม” ภายในแนวคิด Culture, Creative and Innovation

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๓๐ น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส  และเยี่ยมชมกิจกรรม “นวัต ..วัฒนธรรม” ภายในแนวคิด Culture, Creative and Innovation  ชมการแสดงพื้นบ้าน กลองบานอ กรือโต๊ะ การรำซิละ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านรวมถึงชมผลิตภัณฑ์ของชุมชน CPOT อาทิ กระเป๋ากระจูด ผลิตภัณฑ์ผ้า อาหาร จากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือยกระดับการท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม มีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัด ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมติดตาม



พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนคัมภีร์อัล - กุรอาน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนสมานมิตรวิทยา โดยทางกรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการออกแบบเพื่อก่อสร้างอาคารในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๕๙ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งงานก่อสร้างในส่วนของอาคาร สถานที่ได้แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการดำเนินงาน จัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอาน ได้กำหนดการจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย ห้องที่ ๑ ห้องบรรยายเกริ่นนำ ห้องที่ ๒ วิถีมุสลิม แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมตามแนวทางที่ศาสนาอิสลามบัญญัติไว้ เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๑๐ และห้องที่ ๓ คัมภีร์อัล-กุรอานและเอกสารโบราณที่มีอายุตั้งแต่ ๑๐๐ ปี ถึง ๑,๐๐๐ ปี จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เส้นทางการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยเนื้อหาประกอบการจัดแสดง จะมีการจัดทำเป็น ๓ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และภาษามลายูปาตานี


"สมเด็จพระมหาธีราจารย์-ชลน่าน" เปิดกุฏิชีวาภิบาลดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์และสามเณร เฉลิมพระเกียรติที่อุทัยธานี


 

สงฆ์ไทยต้องสุขภาพดีอย่างเท่าเทียม ‘ชลน่าน-พวงเพ็ชร-ชาดา’ จับมือเปิดสถานชีวาภิบาล มาตรฐานสาธารณสุขแห่งแรกของไทย 

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567  เวลา 08.30 น. ณ วัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสงฆ์ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธีเปิดโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ส่วนราชการ คณะพระภิกษุสงฆ์ และประชาชน เข้าร่วม

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม รวมถึงมีการเปิดสถานชีวาภิบาล วัดจันทาราม (ท่าซุง) อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี บริเวณอาคารพระเถระ สำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Virtual Hospital) มาสนับสนุนการให้บริการ ทำให้พระสงฆ์เข้าถึงการบริการได้อย่างมีคุณภาพ มีการเชื่อมประสานกันระหว่างวัดและโรงพยาบาล โดยมีพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลปฐมพยาบาลพระสงฆ์เบื้องต้น ให้มีทักษะความรู้ในด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำพระสงฆ์ภายในวัดตามหลักพระธรรมวินัย และเตรียมการดูแลพระผู้สูงอายุภายในวัด รวมถึงให้ความรู้ให้การช่วยเหลือแก่ญาติโยมประชาชนในชุมชน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีตามวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทย

ดร.พวงเพ็ชร กล่าวว่า การประสานความร่วมมือครั้งนี้ เป็นไปตามความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพดีทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ และเป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2566 โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงลงพระนามประกาศ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ ในการดูแลสุขภาวะในระดับพื้นที่ ให้มีสุขภาพดี ป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพร่างกาย ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข 

สำหรับจังหวัดอุทัยธานีได้ดำเนินการเปิดสถานชีวาภิบาลแห่งแรก สำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้สูงอายุที่ครอบครัวไม่พร้อมดูแล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โดยได้รับความเมตตาจากท่านพระครูปลัดสุวัฒนรัตนคุณ เจ้าอาวาสจันทาราม (ท่าซุง) อำเภอเมืองอุทัยธานี ได้อนุญาตให้ใช้อาคารที่พัก 25 ไร่ สำหรับจัดตั้งสถานชีวาภิบาล วัดจันทาราม(ท่าซุง) และต่อมาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้ทำการเปิด "กุฏิชีวาบาล" วัดจันทาราม(ท่าซุง) สำหรับดูแลพระภิกษุสงฆ์ โดยใช้สถานที่ บริเวณตึกพระเถระ มีห้องพักเพื่อรับรองดูแลพระสงฆ์อาพาธจำนวน 20 ห้อง 20 เตียง รับได้ 20 รูป ปัจจุบันดูแล 2 รูป


วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ผอ.สำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกายบรรยาย “พระบรมสารีริกธาตุ : สัญลักษณ์แห่งความรักความเมตตา” มณฑลพิธีท้องสนามหลวง



วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 16.30-18.00 น. พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย บรรยายธรรมในหัวข้อ “พระบรมสารีริกธาตุ : สัญลักษณ์แห่งความรักความเมตตา (Buddha Relics: Symbol of loving-kindness)” ณ เต้นท์นิทรรศการอินเดีย มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ในสัปดาห์มาฆบูชา สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567   โดยพระอาจารย์ได้บรรยายถึงความสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชาติแรกได้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ท่ามกลางสถานการณ์เรือสินค้าที่โดยสารไปด้วยกับมารดา ได้ประสบลมพายุเรืออับปางแตกลง ท่านต้องแบกมารดาไว้บนบ่า ท่ามกลางมหาสมุทร และมีความคิดว่า ชีวิตนี้มีทุกข์ จึงคิดหาทางพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าพ้นแล้วจะไม่ไปคนเดียว จะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์นี้ด้วย ด้วยความรักความเมตตา สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย จึงเป็นที่มาของการตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ

ด้วยความเห็นใจในสัตว์ ผู้ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย  ก่อให้เกิด ความสงสาร , ความสงสาร ก่อให้เกิด ความปรารถนาดี , ความปรารถนาดี ก่อให้เกิด ความรัก , ความรัก ที่จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติธรรม ก่อให้เกิด สันติวิถี , สันติวิถี ก่อให้เกิด สันติสุขภายใน,  สันติสุขภายใน ก่อให้เกิด สันติภาพโลก , สันติภาพโลก ก่อให้เกิด ภราดรภาพแห่งความรัก ดังพุทธพจน์ที่ว่า ความรัก เกิดขึ้นได้ 2 วิธี คือ 1.ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบัน  และ 2.มีบุญ ความดี ที่ได้ร่วมสร้างกันมา ตั้งแต่ชาติปางก่อน 

ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงมีเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก จึงสละความสุขส่วนตัว เพื่อความสุขส่วนรวม และประสงค์ให้สัตว์โลกพ้นจากวัฏฏสงสาร ด้วยหลักธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบ ตลอด 45 พรรษา ทรงเผยแผ่หลักธรรม จากบ้านหนึ่ง สู่อีกบ้านหนึ่ง จากเมืองหนึ่ง สู่อีกเมืองหนึ่ง ทรงนำความรักไปสู่พระราชวังอันยิ่งใหญ่ ไปสู่คฤหาสถ์อันหรูหรา ไปสู่กระท่อมน้อยอันซอมซ่อ จนผู้คนได้มีดวงตาเห็นธรรม เข้าใจในความรักที่พระองค์ทรงมอบให้ ซึ่งถือเป็นแก่นแท้แก่นธรรม เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา 

ในวันมาฆบูชา พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอวาทแด่พระสงฆ์ 1,250 รูป เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นแนวทาง และนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยความรักความเมตตา ไม่เบียดเบียน และไม่ก่อเวรภัยเพิ่ม โดยโอวาทปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3, อุดมการณ์ 4 , วิธีการ 6 ได้แก่ 

หลักการ 3 คือ 1.ไม่ทำความชั่ว 2.ทำแต่ความดี 3.ทำจิตใจให้ผ่องใส 

อุดมการณ์ 4 คือ 1.ความอดทน 2.ไม่เบียดเบียน 3.ความสงบกายใจ 4.มีนิพพานเป็นเป้าหมาย 

วิธีการ 6 คือ 1.ไม่ว่าร้ายผู้อื่น, 2.ไม่ทำร้ายผู้อื่น, 3.สำรวมระวังในศีลและมารยาท, 4.รู้จักประมาณในการรับและใช้ปัจจัย 4, 5.นั่งนอนในที่สงัด, 6.และฝึกใจให้สงบ 


@siampongs เพราะเหตุใด“ #โอวาทปาติโมกข์ ” ถือหลักคำสอนสำคัญที่เป็น “ #หัวใจของพระพุทธศาสนา เหมือนนายกฯแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา #ข่าวtiktoknews ♬ เสียงต้นฉบับ - สยามพงษ์

พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะทุกคนเป็นเพื่อน ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยากจน หรือ ร่ำรวย ทุกคนมีความรู้สึกเช่นกัน คือ รักสุข เกลียดทุกข์ รักตัว กลัวตาย ไม่ต้องการให้ใครมาเบียดเบียนตนเอง เราจึงไม่ควรแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น  

โดยทุกข์มนุษย์ในปัจจุบัน เราต้องเจอภาวะวิกฤตโลก (Global Crisis) เหมือนกัน นั่นคือ 1.ภัยสงคราม (โลภ + โกรธ) แย่งชิงทรัพยากร ใช้อาวุธสงครามรบกัน 2.ภัยเศรษฐกิจตกต่ำ (โลภ) แย่งทรัพยากร 3.โรคภัย (Covid-19, โรคสื่อสารผิดๆ Fake news, โรคการค้าผิด ค้าอาวุธสงคราม ค้ามนุษย์, โรคมุมมองผิดๆ ฯลฯ) 4.ภัยธรรมชาติ (โลภ) ใช้ทรัพยากรเกินจำเป็น เกิดสมดุลธรรมชาติ (ตัดไม้ทำลายป่า, อากาศสกปรก, น้ำเสีย, ดินเป็นพิษ) ทั้งนี้ แม้เราพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างดี แต่ถ้าคนอื่นไม่รักษาสิ่งแวดล้อม โลกก็เสียสมดุล แล้วกลับมากระทบเราด้วยเช่นกัน นั้นหมายความว่า เราดีคนเดียวไม่ได้ ต้องชวนกันทำความดี เป็นเครือข่ายคนดี  

สาเหตุแห่งปัญหาพื้นฐานมาจาก สรีรัฏฐธัมมสูตร ทุกข์หรือธรรมประจำสรีระ 10 ประการ ได้แก่ 1) ความหนาว 2) ความร้อน 3) ความหิว 4) ความกระหาย 5) ความปวดอุจจาระ 6) ความปวดปัสสาวะ 7) ความสำรวมกาย 8) ความสำรวมวาจา 9) ความสำรวมในอาชีพ 10) ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ (กิเลส โลภ โกรธ หลง)  

จากสรีรัฏฐธัมมสูตร ทุกข์หรือธรรมประจำสรีระ 10 ประการ ทำให้เราเข้าใจความจริงชีวิต ดังนี้ 1.กายถูกอาพาธ 6 บีบคั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ ความหนาว-ความร้อน, ความหิว-ความกระหาย, ความปวดอุจจาระ-ปัสสาวะ ซึ่งเกิดปัญหาสุขภาพต้องสำรวมกาย 2.ต้องมีปัจจัย 4 บรรเทาอาพาธ 6 ดังนั้น เราต้องพึ่งสิ่งแวดล้อม และราต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและอยู่กับเพื่อนมนุษย์อย่างมี “สติ” เพราะถ้าขาดสติ ทำให้เกิดปัญหาสังคม ต้องสำรวมกาย วาจา 3.ต้องหา-เก็บ-ใช้ปัจจัย 4 จึงต้องทำมาหากิน สัมมาอาชีพ ถ้าขาดสติ เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ต้องสำรวมอาชีพ เว้นอบายมุข 4.ใจทรงพลังมหาศาล แต่ถูกกิเลส 3 บีบคั้นตลอดชีวิต จึงเสียพลังทำความดี เกิดปัญหาจิตใจ ต้องสำรวมใจ ฝึกสติสัมปชัญญะ

5.ดำรงชีวิตถูก หมั่นสร้างเครือข่ายคนดี ได้แก่ คบมิตรแท้ เว้นมิตรเทียม, ปฏิบัติหน้าที่ - สิทธิ ประจำทิศ 6 ถูกต้อง, ใช้ทรัพย์เป็น ใช้สร้างบุญ – เว้นบาป, ปฏิบัติสังคหวัตถุ เพื่อสร้างเครือข่ายคนดี, ยกย่องให้เกียรติ ให้ยศเป็น 

โดยการฝึกให้ สติสัมปชัญญะ จากการใช้ ปัจจัย 4 และสัมมาอาชีพ ได้ดังนี้ 1.ฝึกความดีสากล 5 ประการ : สะอาด, ระเบียบ, สุภาพ, ตรงเวลา, สมาธิ 2.ชวนกันทำความดี , สร้างเครือข่ายคนดี, สร้างชุมชน สิ่งแวดล้อมดีๆ 3.ทำกิจกรรมดีๆ บ่อยๆ : กราบพระบรมสารีริกธาตุ, ตักบาตร, สวดมนต์, สวดมนต์ข้ามปี, นั่งสมาธิ, ฟังธรรม, ทำสาธารณะสงเคราะห์ ฯลฯ 

ดังนั้น ในการที่เรามากราบพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุแล้ว จึงควรทำตามแบบที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติ เราไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมารักเรา แต่เราต้องทำตัวน่ารัก และรักผู้อื่น ความรักนั้น ก็จะสะท้อนกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องซื้อขาย เพราะนี้คือ ความรักอันบริสุทธิ์ มีความยิ่งใหญ่อยู่ในตัว มีความบริสุทธิ์อยู่ในใจ ความรักเช่นนี้ที่โลกต้องการ มาปลูกต้นรักให้เกิดขึ้นในใจ แล้วขยายออกไป เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นสังคม เมื่อนั่นสังคมโลกจะสุขใส สังคมไทยจะสุขสม ถ้าทุกคนรักกัน 

โดยในช่วงท้ายการบรรยายธรรม พระอาจารย์ได้เชิญชวน นั่งสมาธิ เจริญ สติ สมาธิ ปัญญา เพื่อถวายพระพรชัยมงคล และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และถวายพระบรมวงศานุวงศ์ ให้ทุกๆ พระองค์มีพระพลานามัยที่แข็งแรง สถิตย์เป็นมิ่งขวัญแก่ปวงชนชาวไทยสืบต่อไปอีกยาวนาน


"เศรษฐา" สักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล พุทธมณฑลนราธิวาสพุทธอุทยานเขากง



เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567   เวลา 09.30 น. ณ  ท่าอากาศยานเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนเดินทางไปปฏิบัตภารกิจที่จังหวัดนราธิวาส  ให้สัมภาษณ์เรื่องสนามบินเบตงว่าจะมีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์มาบินต่ออีกหรือไม่ ว่า ต้องเป็นไปตามดีมานด์และซัพพลาย หรือมีความต้องการโดยการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ที่นี่มีความเจริญ เพื่อมาสร้างโอกาสถ้าหากภูมิภาคนี้เจริญขึ้น มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีศูนย์กลางการค้ามากขึ้น ก็จะทำให้สนามบินเบตงเกิดขึ้นแน่นอน

ส่วนสายการบินเชิงพาณิชย์นั้นจะมีการบินอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็คิดว่าเร็วๆ นี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแผนว่าเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและมีการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะไปบังคับให้สายการบินมาบินก็เห็นใจ 

นายกรัฐมนตรีเดินทางทางถึงจังหวัดนราธิวาส ได้เข้าสักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ณ พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส (พุทธอุทยานเขากง) ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส  

เตรียมแถลงโรดแมปดันไทยฮับการบินโลก 1 มี.ค.นี้

นายเศรษฐา   โพสต์ผ่านโซเลียลมีเดียส่วนตัว ระบุว่า ระเบิดศักยภาพประเทศไทย ท่าอากาศยานไทยนำโดยกระทรวงคมนาคมขานรับนโยบาย ตั้งเป้าหมายศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation hub) และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก ร่วมฟังแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบินการขนส่งของภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 2 NBT2HD และ NBT11 ช่องทางออนไลน์ FACEBOOK และ YOUTUBE : Live NBT2HD

 


"รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร" ประชุมเตรียมพร้อมมอบพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับ "มจร" แก่ "มธ."



“รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการดำเนินงานมอบพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ประธานคณะกรรมการดำเนินงานมอบพระไตรปิฏภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานฯ เพื่อเตรียมความพร้อมพิธีมอบพระไตรปิฏกฯ ณ ห้องประชุมวิทยาลัยพระธรรมทูต มจร พระนครศรีอยุธยา 

ด้วยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เจริญมิตรภาพสัมพันธไมตรีกันมาเป็นเวลายาวนาน  นับจากอดีตจวบจนปัจจุบัน โดยมีศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายท่านดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย และมีคณาจารย์หลายท่านจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติรับเชิญเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะพุทธศาสตร์ วิทยาลัยพระธรรมทูต สถาบันภาษา และสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา นอกจากนี้ มีศิษย์เก่าหลายท่านของมหาวิทยาลัยกำลังศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำคัญโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ได้ถวายการรักษาพยาบาลแก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ และเพื่อแสดงออกถึงมิตรภาพสัมพันธไมตรีของทั้ง ๒ สถาบัน มาเป็นเวลาช้านาน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงขอมอบพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ ๑๕ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมเธียร์เตอร์ซี อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฯ


สนค. แนะเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ปรับธุรกิจให้ดึงดูดใจนักช้อป



เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567  นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  สนค. ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ไตรมาส 4/2566 พบว่า พฤติกรรมการซื้อออนไลน์ทั้งความถี่และยอดมูลค่ามีความสัมพันธ์กับอายุ กลุ่มวัยรุ่นซื้อบ่อยแต่เน้นไม่แพงมาก โดยนิยมซื้อผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซที่สร้างความบันเทิง และเพิ่มความสุขให้ตนเอง (Shoppertainment) ตรงกันข้ามกับผู้บริโภคที่มีอายุสูงที่ซื้ออาจจะไม่บ่อย แต่เน้นคุณค่าและคุณภาพของสินค้าและบริการที่จับต้องได้ ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซดั้งเดิม Shopee และ Lazada ยังคงได้รับความนิยมสูง สำหรับการค้าออนไลน์ มีแนวโน้มการแข่งขันกันสูง ทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ เร่งพัฒนาเครื่องมือและฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคซึ่งมีความภักดีต่อแพลตฟอร์มไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์จากหลายแพลตฟอร์ม และพร้อมที่จะเลือกใช้แพลตฟอร์มที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่าได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมตัวตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าใจกลุ่มลูกค้าและตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างตรงจุด

ข้อมูลจาก e-Conomy SEA 2023 ฉบับล่าสุด รายงานว่า เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย จะมีมูลค่าประมาณ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการค้าออนไลน์ และคาดว่าปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจและติดตามภาวะการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสนอนโยบายสนับสนุนการค้าได้อย่างตรงจุด สนค. จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคและการใช้แพลตฟอร์มของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ จำนวนกลุ่มตัวอย่างรวม 4,699 คน ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ (884 อำเภอ/เขต) 

พฤติกรรมการซื้อออนไลน์ทั้งความถี่และยอดมูลค่าซื้อมีความสัมพันธ์กับอายุ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์บ่อยครั้งสวนทางกับยอดมูลค่าซื้อ (ซื้อบ่อยแต่เน้นไม่แพงมาก) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นวัย Gen Z มีสัดส่วนผู้ที่ซื้อออนไลน์บ่อยขึ้นในไตรมาส 4/2566 เทียบกับไตรมาส 3/2566 สูงถึงร้อยละ 32 แต่ส่วนใหญ่ซื้อเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 58 โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถใช้เทคโนโลยีในการค้นหาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง (Personalization) ได้เป็นอย่างดี แต่อาจมีข้อจำกัดด้านรายได้ จึงทำให้มูลค่าซื้อรวมยังน้อยกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่ผู้บริโภคที่มีอายุสูงมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่ลดลง แม้ว่าอาจจะมียอดการใช้จ่ายที่สูงกว่า (ซื้อไม่บ่อยแต่เน้นคุณภาพ) เช่น กลุ่มผู้บริโภคอายุ 50 – 59 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัย Gen X มีสัดส่วนผู้ที่ซื้อสินค้าถี่ลดลง ในไตรมาส 4/2566 สูงถึงร้อยละ 40 แต่ก็มีสัดส่วนผู้ที่มียอดซื้อต่อเดือน 3,001 – 5,000 บาท สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ (อยู่ที่ร้อยละ 16) สะท้อนศักยภาพในการซื้อสอดคล้องกับรายได้ที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็มีความรอบคอบในการใช้เงินซึ่งไม่มองแค่หาความคุ้มค่าของสินค้า แต่ยังให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือและการบริการของร้านค้าในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์อาจยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอายุ 60 ปีขึ้นไปบางกลุ่ม หรือวัย Baby Boomer ที่มีแนวโน้มซื้อถี่ลดลง และมียอดการซื้อเฉลี่ยต่ำกว่า 1,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 46 เป็นรองเพียงกลุ่ม Gen Z อาจเนื่องมาจากมีอุปสรรคในการปรับตัวกับการซื้อสินค้าออนไลน์หรือมีอุปกรณ์ไม่พร้อม รวมถึงมีความกังวลด้านความปลอดภัย และอาจต้องการเพียงสินค้าพื้นฐานที่ตอบสนองความต้องการที่จำเพาะเจาะจง เช่น สินค้าใช้ในครัวเรือนหรือสินค้าสุขภาพ เป็นต้น 

สำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์โดยพิจารณาทั้งจากความถี่ในการใช้งานและยอดมูลค่าซื้อส่วนมาก เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 20 – 29 ปี TikTok ก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางนิยมอันดับ 2 เป็นรองเพียง Shopee ชี้ให้เห็นถึงกระแสความนิยมของโซเชียลคอมเมิร์ซในกลุ่มวัยรุ่น ที่เน้นการสร้างความสุขและความบันเทิงให้กับนักช้อป หรือที่เรียกว่า “Shoppertainment” ผ่านการรับชม การไลฟ์สตรีมและวิดีโอสั้นเกี่ยวกับบอกเล่าประสบการณ์การใช้สินค้า และข้อมูลสินค้าอื่น ๆ ที่สร้างสรรค์จากผู้ใช้งานและอินฟลูเอนเซอร์ ขณะที่กลุ่ม

ผู้บริโภคช่วงวัยอื่น อีคอมเมิร์ซดั้งเดิม Shopee และ Lazada ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า TikTok เนื่องจากจุดแข็งในเรื่องระบบที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการร้านค้าและสินค้า ระบบการชำระเงิน รวมถึงกลไกการคืนสินค้า ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความไว้วางใจระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งนี้ ผู้บริโภค อายุ 50 – 59 ปี และกลุ่ม Baby Boomer ยังคงนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Facebook เป็นอันดับ 3 รองจาก Shopee และ Lazada เนื่องจากมีความเคยชินในการใช้งาน ทำให้การถาม/ตอบข้อมูลสินค้าผ่านช่องแชทและไลฟ์สตรีมเป็นไปได้อย่างสะดวก ประกอบกับผู้ขายมักเสนอส่วนลดราคาที่น่าดึงดูดใจ อย่างไรก็ดี ปัญหาความเชื่อถือและมาตรฐานของร้านค้าอาจทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้หันไปเลือกใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ 

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มต่างๆ กำลังผลักดันจุดแข็งของตนเอง และเร่งพัฒนาเครื่องมือและและฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการทำตลาดในยุคปัจจุบัน และยกระดับวิธีการขายให้มีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นภาพของการผสมผสานระหว่างระบบการค้าออนไลน์แบบดั้งเดิมกับแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ (Hybrid) มีมากขึ้น เช่น Shopee และ Lazada เปิดให้บริการเครื่องมือไลฟ์สตรีมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการเชื่อมต่อกับลูกค้า สำหรับ TikTok เพิ่ม TikTok Shop เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงผ่านแอปพลิเคชัน ขณะที่ลูกค้าเองก็นิยมใช้หลายแพลตฟอร์มร่วมกัน เพื่อซื้อสินค้าและการบริการจากแพลตฟอร์มที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า

เมื่อวิเคราะห์ความภักดีของผู้บริโภคต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ (Customer Loyalty) โดยพิจารณาจากสัดส่วนของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์บ่อยสุดบนแพลตฟอร์มเพียงไม่กี่ช่องทาง (ไม่เกิน 2 แพลตฟอร์ม) พบว่า  ผู้บริโภคอายุมากขึ้นมีความหลากหลายในการใช้แพลตฟอร์มต่ำ หรือมีความภักดีต่อแพลตฟอร์มสูง โดยผู้บริโภคอายุ 50 – 59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีการใช้ไม่เกิน 2 แพลตฟอร์ม คิดเป็นร้อยละ 69 และ 66 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการใช้ไม่เกิน 2 แพลตฟอร์ม ร้อยละ 47 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

ผู้ประกอบการออนไลน์ จึงควรพัฒนาและปรับธุรกิจให้เข้ากับเทรนด์ตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านกลยุทธ์ต่อไปนี้ 1) นำเสนอสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพและแตกต่าง ให้ตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมการใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มลูกค้า บนแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางหลัก รวมถึงพิจารณาแพลตฟอร์มอื่น ๆ ประกอบด้วยหากลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านหลายแอปพลิเคชัน 2) ติดตามเทรนด์ธุรกิจและการทำตลาดใหม่ๆ เป็นประจำ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า ดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น การทำตลาด Affiliate Commerce ที่อาศัยตัวแทนในการช่วยขายและโปรโมตสินค้าหรือบริการ เป็นต้น 3) ใช้ระบบจัดการหลังบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำ Customer Data Platform เป็นซอฟต์แวร์ที่ติดตามและรวบรวมข้อมูลลูกค้าจากแพลตฟอร์มต่างๆ มาไว้ที่เดียวกัน รวมถึงการใช้โปรแกรมสำหรับจัดการยอดคำสั่งซื้อจากหลายแพลตฟอร์ม สินค้าคงคลัง และการเงิน เป็นต้น 4) ประยุกต์ใช้ Generative AI ซึ่งสามารถเป็นตัวช่วยได้ตั้งแต่กระบวนการสร้างเนื้อหาได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และวิดีโอ หรือการทำกลยุทธ์ธุรกิจ ตลอดจนการทำแชทบอทเพื่อตอบคำถามลูกค้าได้อย่างทันท่วงที และ 5) ติดตามกฎหมาย/ระเบียบสำหรับทำการค้าออนไลน์ เช่น การจดทะเบียนร้านค้า และการจ่ายภาษี เป็นต้น ที่เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับภาวะการค้าในปัจจุบัน เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุดและยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้บริการแพลตฟอร์มควรให้ความสำคัญกับการควบคุมและดูแลร้านค้าให้นำเสนอข้อมูลสินค้าตามความเป็นจริงและเสนอสินค้าให้ถูกต้องตรงตามที่โฆษณาไว้

 


"ปลัด มท." กำชับทุกตำบลสร้าง "ทีมพระภิกษุ" เป็นภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อน "หมู่บ้านยั่งยืน"


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567  วันที่ 28 ก.พ. 67  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงความก้าวหน้าของการน้อมนำแนวพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาคนในหมู่บ้าน/ชุมชน เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2566 ภายใต้ชื่อโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 ด้วยการอาศัย 4 กระบวนการสำคัญ คือ การร่วมพูดคุย การร่วมคิด การร่วมทำ และการร่วมรับประโยชน์ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่ถอดบทเรียนมาจากโครงการพระราชดำริ 5,151 โครงการ ผ่านระบบคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หรือหย่อมบ้าน

"ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ครบทั้ง 75,086 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยการต่อยอดแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งได้รับการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา โดยจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ของหมู่บ้านยั่งยืน จำนวน 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านที่อยู่อาศัย 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3) ด้านความสะอาด 4) ด้านความสามัคคี 5) ด้านความร่วมมือ 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย และ 8) ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยหัวใจ ด้วย Passion ลงไปกระตุ้นปลุกเร้าสร้างพลังให้กับทีมงาน ทั้งทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน ด้วยการพูดคุยหารือเพื่อทบทวนว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้มีการทำงานแบบบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีความสำเร็จ มีปัญหาอุปสรรค มีจุดอ่อนจุดแข็ง ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างไร การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า “เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคนมหาดไทย จึงต้องสร้างให้เกิด 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันทำให้เกิด "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับ "ภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา" ด้วยการไปกราบนมัสการขอคำปรึกษาจากเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และพระสังฆาธิการทุกระดับ โดยนำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับมหาเถรสมาคม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้คนเที่ยวกลางคืน ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้นำภาคศาสนาอื่น ๆ มาเป็นภาคีเครือข่าย ด้วย “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่มีนายอำเภอทุกอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการระดับอำเภอ และปลัดอำเภอเป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล ด้วยแนวทาง 3 ประการ คือ 1. ต้องมี “ทีมพระ” ลุกขึ้นมายืนเคียงข้าง “1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการประจำตำบล ทุกตำบล” และให้ทุกอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อพระสงฆ์พร้อมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลภาคีเครือข่าย 2. ต้องมีการ “พูดคุย-วางแผน” ร่วมกันของพระสงฆ์ ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายอย่างสม่ำเสมอ และ 3. ต้องลงพื้นที่จริงร่วมกันอย่างน้อย 1 พื้นที่/เดือน เพื่อทำให้มีบรรยากาศของการที่ชาวบ้านได้ร่วมกันพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์เกิดขึ้นเต็มผืนแผ่นดินไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้กรมการปกครองได้ติดตามการขับเคลื่อน "โครงการหมู่บ้านยั่งยืน" โดยสร้างทีมที่เป็นทั้งทีมทางการและไม่เป็นทางการไปร่วมกันทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน ขับเคลื่อนตาม 8 ตัวชี้วัดของโครงการหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวทาง “หมู่บ้านยั่งยืน” ให้กระทรวงมหาดไทย และสอดคล้องกับสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 17 การเป็นหุ้นส่วน Partnership มีความช่วยเหลือร่วมมือกันโดยมีพระสงฆ์เป็นหลักชัย อันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงาม ผู้คนมีความสุขทั้งกาย และใจ มีความปลอดภัย มั่นคงทางร่างกายและจิตใจ เป็นสังคมแห่งการให้ เป็นสังคมแห่งความรัก ความเมตตา เพราะมีคณะสงฆ์เป็นที่พึ่งหลัก มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้สิ่งที่ดีงามได้กระจายความหวังของกระทรวงมหาดไทยที่อยากเห็นประชาชนทุกคนในประเทศไทยของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


พระคิลานุปัฏฐากวิทยาลัยสงฆ์พิจิตร ศูนย์ชีวาภิบาลพระภิกษุไข้จังหวัดพิจิตร



เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567  พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Suthito Aphakaro  ความว่า พระคิลานุปัฏฐาก @ วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร ศูนย์ชีวาภิบาลพระภิกษุไข้จังหวัดพิจิตร

   วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ได้เข้ากราบเรียนพระเดชพระคุณพระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พิจิตร ด้วยภารกิจ 2 ประการ คือ

   1. ศึกษาเรียนรู้แนวทางการส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก การจัดตั้งศูนย์ชีวาภิบาลภิกษุไข้ ของคณะสงฆ์พิจิตร ซึ่งเป็นต้นแบบของการส่งเสริมสุขภาวะในพระสงฆ์และชุมชน มีกุฎิรองรับพระสงฆ์อาพาธ จนเป็นต้นแบบในการทำงานของพระสงฆ์ทั้งประเทศ

  2. ลงนามหน้าอนุมัติและติดตามคลีนิกวิทยานิพนธ์ สัญจร ให้กับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาของวิทยาเขตนครสวรรค์ -วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร ให้กำลังใจนิสิตในระดับปริญญาโทของมหาจุฬา เพื่อให้จบทันปีการศึกษานี้ 

  ในการนี้ วัดสุทธิวราราม ได้ถวายปัจจัยในการขับเคลื่อนงานของวิทยาลัยสงฆ์พิจิตรและงานอื่น ๆ แด่พระเดชพระคุณ พระราชสิทธิเวที จำนวน 100,000 บาท

กรมพัฒน์เดินหน้าเตรียมเปิดศูนย์ทดสอบมวยไทยที่ ศรีสะเกษ ชู Soft Power มวยไทยให้ต่างชาติตะลึง



อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ตรวจเยี่ยมความพร้อมการขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวบุปผา  เรืองสุด  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาศิลปะมวยไทย ทำให้มวยไทยเป็นที่รู้จักของทั่วโลก นอกจากนี้ มวยไทยยังเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ช่วยสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ อาชีพครูมวยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมีนโยบายผลักดันมวยไทยเป็น Soft Power ของประเทศเพื่อให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกและได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการส่งเสริมและสร้างมาตรฐานมวยไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เน้นย้ำให้เริ่มต้นที่ “ผู้ฝึกสอนมวยไทย” เพื่อยกระดับมาตรฐานของครูมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ 

นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจาก รมว.แรงงาน พิพัฒน์ ให้เข้าตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานที่ที่กำลังขออนุญาตจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ณ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พบว่ามีความพร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์ และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับการทดสอบ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาและได้รับอนุญาตให้จัดตั้งแล้ว จะมีพิธีมอบป้ายศูนย์ทดสอบต่อไป   โดยปัจจุบัน มีนักมวยทั่วประเทศกว่า 7,000 คน  และอดีตนักมวยกว่า 2,000 คน ในกลุ่มนี้สามารถผันตัวเป็นครูมวยได้ รวมถึงนักมวยบางรายที่มีอายุมากขึ้น หรือไม่ขึ้นชกมวยแล้วก็มีแนวโน้มที่จะมาเป็นผู้ฝึกสอนมวยด้วยเช่นกัน  และในส่วนของจังหวัดศรีสะเกษนั้น มีค่ายมวยประมาณ 60 ค่าย มีนักมวยที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ประมาณ 600 คน และมีครูมวยอีก 20 คน  การจัดตั้งศูนย์ทดสอบดังกล่าวจึงสามารถรองรับความต้องการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้  มีหน่วยงานและสถานฝึกมวยไทยที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทยแล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ TC Muaythai (กรุงเทพฯ)  กำปั้นมวยไทยยิม (ขอนแก่น)  ค่ายมวยไทย ช.ชนะชัย (พัทลุง) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ) และโรงเรียนที เอ็น ที มวยไทย อะคาเดมี (เชียงใหม่) และยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตอีก 6 แห่ง ได้แก่ จิมมี่มวยไทย  สนามมวยไทเกอร์ (ภูเก็ต) วรพันธ์มวยไทยยิม (กาฬสินธุ์)  มหาวิทยาลัยบูรพา (ชลบุรี) โรงเรียนมวยไทยเบิกฤกษ์ยิม และมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ

สำหรับครูมวยไทยหรือนักมวยอาชีพที่ต้องการเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทย สามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1  ได้ที่ สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือติดต่อศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าว หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1506 กด 4 หรือที่ กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0-2243-4837 อธิบดีบุปผากล่าวท้ายสุด

"เทียบจุฑา" เล็งนำ "กมธ.ศาสนาฯ สภาฯ ดูงานต่างประเทศ



เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม CA 303 ชั้น  3 อาคารรัฐสภา นางเทียบจุฑา ขาวขำ ประธานคณะ กมธ. การศาสนา ศิลปะและ วัฒนธรรม เป็นประธาน การประชุม คณะ กมธ. ครั้งที่ 17 เพื่อพิจารณา เรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย  1. เตรียมความพร้อม จัดการสัมมนาเรื่อง  “เส้นทางมรดก ทางวัฒนธรรมไทยสู่ มรดกโลก” 2. การเดินทางไป ศึกษาดูงานด้าน การศาสนา ศิลปะและ วัฒนธรรมในต่างประเทศ

คณะสงฆ์จันทบุรี-พิพิธภัณฑ์ฯบึงกาฬ รับมอบโล่ผู้นำแก้จนประดับประเทศ

  


ปลัด มท.มอบโล่เกียรติคุณรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 ประเภทองค์กรนอกภาครัฐ (NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) พร้อมเน้นย้ำเป้าหมายการทำงานแบบ Partnership เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติคุณรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 (Leadership Award on Rural Development and Poverty Eradication 2023) โดยมีนายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกรม/รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางภาวินี ไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสมาคมสถาบันทิวา นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนหญิง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับชมผ่านระบบประชุมออนไลน์

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนประจำปี 2566 (Leadership Award on Rural Development and Poverty Eradication 2023) ให้แก่หน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ประเภทองค์กรนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organizations: NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSOs) รางวัลชนะเลิศ คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด 2) ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) รางวัลชนะเลิศ คือ สมาคมสถาบันทิวา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ธนาคารไทยเครดิตจำกัด (มหาชน)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ 3 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของท่านเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมช่วยให้ภาคราชการสามารถขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จนได้รับการยกย่องว่าทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและจะเป็นภาคีเครือข่ายที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ "ภาคเอกชน" ถือเป็นภาคีเครือข่ายที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความปรารถนาดีที่จะช่วยเหลือภาครัฐในการสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับพัฒนาการจังหวัดในการเอาใจใส่ดูแลการดำเนินการของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 76 แห่ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำในการผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดี และตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร รวมถึงกำหนดปฏิทินการประชุมกรรมการบริหารของแต่ละจังหวัด ช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย ปรึกษาหารือให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดผลดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำอย่างต่อเนื่อง ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน" คือ การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 เพื่อที่จะได้ทำให้เป้าหมายข้อที่ 1 ถึง 16 เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และยั่งยืน

"กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่ผลักดันขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนเสมอมา ด้วยการผลักดันส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ทำให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นหมู่บ้านยั่งยืน โดยการสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนในมิติยาไทย ทั้งการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและเกิดความเข้มแข็งในระดับกลุ่ม ระดับชุมชน อาทิ การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตร ซึ่งสถาบันทิวาได้มาช่วยทำให้เกิดการรวมกลุ่มภายใต้โครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" ตามศาสตร์พระราชาของบันได 9 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 - 4 คือ หมู่บ้านยั่งยืน ที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ "พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น" ขั้นที่ 5 - 6 คือ ส่งเสริมให้เกิดสังคมคุณธรรม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ทำบุญทำทาน และขั้น 7 - 9 คือ การรวมกลุ่ม แปรรูป ทำการตลาด เพิ่มรายได้" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยประสานงานหลักกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนของประเทศไทย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเพื่อรับรางวัลผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนของประเทศไทย ซึ่งได้พิจารณาคัดเลือกองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนเพื่อรับรางวัลระดับอาเซียน และระดับประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศองค์กรที่ได้รับรางวัลด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 6 และรางวัลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเภทองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) จำนวน 5 รางวัล และประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน จำนวน 2 รางวัล รวมทั้งสิ้นจำนวน 7 รางวัล ดังนี้ 1) ประเภทองค์การนอกภาครัฐ (NGOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ คณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี และศูนย์ปฏิบัติการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (องค์กรสาธารณประโยชน์) จังหวัดเชียงราย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด 2) ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สมาคมสถาบันทิวา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้จังหวัดดำเนินการจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ในที่ประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หรือในการประชุม/กิจกรรมที่จังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม

วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

งานมาแล้ว! พศ.เปิดรับสมัครสอบบรรจุนักวิชาการศาสนาปฏิบัติการหลายอัตรา



เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประกาศเรื่องรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ นักวิชาการเงินและบัญชีฏิบัติการ เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน นายช่างโยธาปฏิบัติงาน และนายช่างสำรวจปฏิบัติงาน 

ซึ่งทั้งหมด 52 อัตรา โดยสามารถสมัครทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2567 ซึ่งต้องสอบผ่านภาค ก. ของ ก.พ. สอบแข่งขันได้จะ บรรจุเป็นข้าราชการ

ตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร

1. ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ จำนวน 1 อัตรา  เงินเดือน 15,000 – 16,500 บาท คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับปริญญาตรีหรือวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาบริหารธุรกิจ หรือสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับปริญญาตรี หรือที่สูงกว่า

2. ตำแหน่ง นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ จำนวน 40 อัตรา เงินเดือน 15,000 – 16,500 บาท

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับปริญญาตรีหรือวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในทุกสาขาวิชา

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับปริญญาตรี หรือที่สูงกว่า

3. ตำแหน่ง เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน จำนวน 1 อัตรา เงินเดือน 11,500 – 12,650 บาท

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจเกษตรและสหกรณ์ สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเกษตรอุตสาหกรรม สาขาวิชาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว สาขาวิชาพืชศาสตร์ หรือสาขาวิชาช่างกลทางการเกษตร

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือที่สูงกว่า

4. ตำแหน่ง เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน จำนวน 1 อัตรา เงินเดือน 11,500 – 12,650 บาท

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาการบัญชี และสาขาวิชาการเงินและการธนาคาร

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือที่สูงกว่า

5. ตำแหน่ง นายช่างโยธาปฏิบัติงาน จำนวน 5 อัตรา เงินเดือน 11,500 – 12,650 บาท

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาโยธา สาขาวิชาสำรวจ หรือสาขาวิชาการก่อสร้าง

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือที่สูงกว่า

6. ตำแหน่ง นายช่างสำรวจปฏิบัติงาน จำนวน 4 อัตรา เงินเดือน 11,500 – 12,650 บาท

คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

(1) ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาโยธา สาขาวิชาสำรวจ หรือสาขาวิชาการก่อสร้าง

(2) เป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือที่สูงกว่า

การรับสมัครสอบ

ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการสอบคัดเลือกสามารถสมัครได้ทางอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่เว็บไซต์ https://onab.thaijobjob.com/

อยากเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่า ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องบริหารกายภาพ และมโนภาพให้สมดุล

 


@siampongs อยากเป็น #ผู้สูงวัย อย่างมีคุณค่า ไม่เป็น #ผู้ป่วยติดเตียง ต้องบริหาร #กายภาพบําบัด และมโนภาพให้สมดุล #ข่าวtiktok #tiktokshop ♬ เสียงต้นฉบับ - สยามพงษ์


https://www.tiktok.com/@siampongs/video/7340480214343994632?is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7133457959530595842 

"พระพรหมบัณฑิต" เปิดอาคารโคมแสนดวงลำพูน พลัง Soft Power จากประเพณียี่เป็ง



เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Suthito Aphakaro  ความว่า  อาคารโคมแสนดวง @ ลำพูน พลัง Soft Power จากประเพณียี่เป็ง   

วันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากพระเดชพระคุณ พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน และผู้บริหาร คณาจารย์วิทยาลัยสงฆ์ลำพูนในการประกอบพิธีเปิดอาคารโคมแสนดวง อาคารหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลำพูน โดยมีพระมหาเถระ อาทิ พระพรหมโมลี พระพรหมเสนาบดี และพระพระพรหมบัณฑิต เมตตามาเป็นประธานในการเปิดอาคาร   



สิ่งที่น่าสนใจของคำว่า “โคมแสนดวง” มาจาก ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในประเพณียี่เป็งของชาวล้านนาที่มีความเชื่อในการจุดโคมลอย เพื่อถวายเป็นพุทธะบูชาและการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกลายเป็นที่มาของประเพณีจุดโคมลอยในล้านนา  ต่อมาเมื่อการจุดโคมลอยมีผลกระทบต่อการบินของอากาศยานจึงมีการขอความร่วมมือจากวัด ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ให้งดจุดโคมลอยเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พระเดชพระคุณพระเทพรัตนนายก จึงดำริในการจุดโคมแขวนเพื่อบูชาพระธาตุหริภุญชัยและพระเกตุแก้วจุฬามณีแทน โดยการนำโคมแขวนไปประดับตามหน้าวัด กำแพงวัด ถนนในชุมชน จนกลายเป็นภาพที่สวยงามของโคมล้านนา ซึ่งจังหวัดลำพูนมีการแขวนโคมมากกว่า 300,000 ดวงในแต่ละปี    

กุสโลบายของพระเทพรัตนนายก คือ การให้ชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุแต่ละแห่งในจังหวัดลำพูนจัดทำโคมจำนวน 5,000 ดวงบ้าง 10,000 ดวงบ้าง โดยมีราคาต้นทุน 40 -50 บาท จากนั้น ท่านนำมาติดตั้งสายไฟและหลอดไฟบริเวณทั่วเมืองลำพูนและพระธาตุหริภุญชัย แล้วให้คนบูชาโคมในราคา 99 บาท โดยในนัยยะว่าเป็นสิริมงคลแห่งการบูชาพระแก่เจ้าจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (โคม 300,000 ดวง x 99 บาท = ประมาณ 30 ล้านบาท คืนให้กับชุมชน ผู้สูงอายุ และค่าสายไฟ ค่าไฟ ประมาณ 20 กว่าล้านบาท) ส่วนที่เหลือพระเดชพระคุณ นำมาสร้างอาคารโคมแสนดวง และบริจาคเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมในจังหวัดลำพูน    

พลังสร้างสรรค์จากประเพณียี่เป็งล้านนา กลายเป็น Soft Power ที่แท้จริง นักท่องเที่ยวสุขใจ ผู้สูงอายุเบิกบาน สืบสานตำนานล้านนา สร้างคุณค่าให้การศึกษาและวัฒนธรรม “โคมล้านดวง” จะขึ้นในปีต่อไป

ผู้ว่าฯลำพูนนิมนต์พระพรหมบัณฑิตบรรยาย บาทบาทของผู้นำท้องที่ ผู้นำทิองถิ่นกับการสร้างปรองดองตามแนวหมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายสู่หมู่บ้านศีลธรรม



เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567    ที่วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.ลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดงานครบรอบ 27  ปี วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน   มจร  โด พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บรรยายเรื่องบาทบาทของผู้นำท้องที่ ผู้นำทิองถิ่นต่อโครงการสร้างตวามปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5  ขยายสู่หมู่บ้านศีลธรรม"  


ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค



 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567  นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (27 กุมภาพันธ์ 2567) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อก. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อเป็นกรอบแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย สรุปได้ดังนี้

ร่างแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ดังนี้

1. หลักการและเหตุผล – (1) สถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 (มีแนวโน้มลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งด้านสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ดังนั้นหากประเทศไทยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างบูรณาการและเป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป (2) ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุม/ทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูงเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ

2. วิสัยทัศน์ – ยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571

3. วัตถุประสงค์ – (1) เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ (2) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย


4. ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ที่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม – (1) อาหารฮาลาล (2) แฟชั่นฮาลาล (3) ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล (4) โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง (5) บริการและท่องเที่ยวฮาลาล


5. ตัวชี้วัด (ระยะ 5 ปี) – (1) GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571


6. มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ –

มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ

มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก

มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (ศูนย์) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย


7. งบประมาณ – วงเงินจำนวน 1,230 ล้านบาท


8. ระยะเวลา – 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571)


“การดำเนินการตามแนวทางการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกระตุ้นการบริโภค การลงทุนและการส่งออกสินค้าของไทย เป้าหมายคือการได้เห็น GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ภายใน 5 ปี การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี และการได้เห็นไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นภาพเหล่านี้อย่างจับต้องได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์กระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล  ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2567) จะเริ่มต้นอีกด้วย” รองรัดเกล้าฯ กล่าว

วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"พระมงคลธีรคุณ" พระเลขานุการในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มรณภาพขณะปฏิบัติศาสนกิจที่อินเดีย



เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  มีรายงานว่า พระมงคลธีรคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ ) รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เลขานุการในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ขณะที่ไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศอินเดีย สิริอายุได้ 70 ปี 50 พรรษา

ทั้งนี้ พระมงคลธีรคุณ มีนามเดิมว่า อินศร ดวงคิด เกิดวันที่ 6 มี.ค. 2496 บ้านป่าอ้อ ต.บัวสลี (ปัจจุบันคือ ต.ป่าอ้อดอนชัย) อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2510 ณ วัดป่าอ้อ ต.บัวสลี อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมี พระอธิการจันแก้ว จนฺทวณฺโณ วัดป่าไผ่ ต.บัวสลี เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 26 มิ.ย. 2517 ณ วัดพระพิเรนทร์ โดยมี พระพุทธิวงศมุนี วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต วัดพระพิเรนทร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระราชวรมุนี วัดพระพิเรนทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 4 ประโยค ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) และ Master of Arts (M.A.) ส่วนตำแหน่งฝ่ายปกครอง พ.ศ.2552 เป็น รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน เจ้าคณะต.บ้านใหม่ ขณะที่ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 เป็น เปรียญธรรม 4 ประโยค พ.ศ.2547 เป็น พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (พระครูปลัดของพระราชาคณะเจ้าคณะรอง) พ.ศ.2559 เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระมงคลธีรคุณ

"พิมพ์ภัทรา" โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี

 


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยแก่คณะรัฐมนตรี ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาลหวังส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรม ฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก

ทั้งนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยพร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล และมุ่งหวังการส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยรูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยการจัดคูหาเพื่อแสดงตัวอย่างแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร เครื่องสำอางค์ เครื่องนุ่งหุ่ม เสื้อผ้ามุสลิม การจัดแสดงสาธิตการทำอาหาร “เนื้อไทยแองกัสสิชล ฮาลาล ย่างซอสคั่วกลิ้งและใบเหลียงผัดกระเทียม” โดยเชฟชุมพล (นายชุมพล แจ้งไพร) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การจัดแสดงอาหารบนเครื่องบินจาก TG Inflight Catering Halal Food Center โดย ครัวการบิน การบินไทย รวมถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center)

เจ้าคุณประสารแจ้งสมเด็จพระสังฆราช แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาสิ้นพระชนม์แล้ว



เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567   พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ฝ่ายวิจัยและวางแผน เปิดเผยว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี เทพ วงศ์ (Tep Vong) สมเด็จพระสังฆราช แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา  สิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.40 น.  ณ วัดอุณณาโลม ราชธานี พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา 

'เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง-วัดธรรมกาย-อบต.' รุดช่วยผู้ประสบอัคคีภัย



เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา พระครูวิจิตรอาภากร เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง เจ้าอาวาสวัดสว่างภพ พระมหาสุราช ชาติชญฺโญ เจ้าคณะตำบลคลองสี่ เจ้าอาวาสวัดมงคลพุการาม พร้อมด้วยผู้แทนวัดพระธรรมกาย และคณะศิษยานุศิษย์ คุณทุเรียน ปุ่นพิทักษ์ รองนายก อบต.คลองสาม ร่วมด้วยทีมงานจิตอาสาหมู่ที่ 6  เดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือและเครื่องใช้จำเป็นแก่ครอบครัวผู้ประสบความเดือดร้อนจากอัคคีภัย ณ หมู่บ้านชลิดา หมู่ที่ 6 ตำบลคลองสาม เป็นสาธารณสงเคราะห์

"สมเด็จพระพุฒาจารย์" เผยคณะสงฆ์และมส.ยิ้นดีช่วยเหลือ วัดมีปัญหาที่ดินซับซ้อน รวมถึงขยายต่อพาสปอร์ตวีซ่าเล่มสีน้ำตาลเป็น 10 ปี



เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.นิยม เวชกามา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) อดีต สส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พร้อมด้วยนายณพเดชน์ มณีลังกา  หรือดร.ปิง  คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการด้านการบริหาร ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร  ได้เดินทางไปกราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์  คณะใหญ่ตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  เพื่อขอความเมตตาช่วยเหลือวัดในประเทศประเทศไทยประมาณ 15,000 แห่ง ที่ยังมีปัญหาที่ดินซับซ้อน ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงยังไม่สามารถขอวิสุงคามสีมาได้

"ขณะนี้จังหวัดสกลนครเองก็วัดที่อยู่ในข่ายมีปัญหาเหมือนกันจำนวน 3,000 แห่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงตรวจราชการและพบปะเยี่ยมประชาชนที่จังหวัดสกลนครได้รับรับทราบปัญหาและได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินวัด โดยโดยใช้จังหวัดสกลนครโมเดลเป็นหลัก" ดร.นิยม กล่าวและว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ระบุว่า คณะสงฆ์และมหาเถรสมาคมยิ้นดีอย่างยิ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือหากมีแนวทางใดทาง "มส." พร้อมที่จะดำเนินการ ให้เกี่ยวกับวัดดังกล่าว 

ดร.นิยม กล่าวด้วยว่า ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศและอยู่ประจำ แต่มีปัญหาเรื่องพาสปอร์ตวีซ่าเล่มสีน้ำตาลซึ่งจะมีอายุครั้งละ 5 ปี ทำให้มีความเดือดเดือดร้อนมาก จึงได้ขอให้สมเด็จพุทฒาจารย์ช่วยแก้ไขระเบียบด้วยขอเป็น 10 ปี เพราะไปจำพรรษาที่ต่างประเทศประจำยากในการเข้ามาต่อวีซ่า สมเด็จพุทฒาจารย์ช่วยในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)  ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทำเรื่องขอเข้ามาเพราะมีมติของ มส. ให้มีวีซ่าได้เพียงห้าปีก็จะต้องไปแก้มติ มส .ด้วย ให้เป็น 10 ปี  พร้อมกันนี้ข้าพเจ้าและ ดร. ณพลเดชน์ได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเพลล้นด้วยญาติโยมที่มารอถวายด้วยที่กุฎิของเจ้าประคุณสมเด็จรวมทั้งพระภิกษุจำนวน 5 รูปด้วย


 

วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

รัฐบาลเตือนวันพระใหญ่! ทำบุญออนไลน์ ระวังเพจปลอมมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน



เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567   นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาย้ำเตือนประชาชนว่า ในช่วงของวันมาฆะบูชา​และวันหยุดชดเชยนี้​ เป็นวันสิริมงคลที่พุทธศาสนิกชนนับว่าเป็นวันพระใหญ่และนิยมทำบุญกัน  ทั้งนี้​ ขอให้ตระหนักถึงการทำบุญออนไลน์โดยล่าสุด ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ ออกมาย้ำเตือนการทำบุญออนไลน์ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกลวง พร้อมระบุว่าหากอยากจะทำบุญออนไลน์ต้องตรวจสอบให้ดี ระวังมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกหลวง โดยสิ่งที่ต้องระวังมีดังนี้

– เช่าวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลังออนไลน์ อาจเจอของปลอม ไม่ตรงปกหรือหลอกให้โอนเงิน แต่ไม่ส่งของให้

– เวียนเทียนออนไลน์ มิจฉาชีพอาจหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปฯ รีโมทควบคุมโทรศัพท์ เพื่อดูดเงินจากบัญชี หรือหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปทำเรื่องผิดกฎหมาย

– ทำบุญออนไลน์ มิจฉาชีพอาจหลอกให้โอนเงินทำบุญ ด้วยการให้หมายเลขบัญชีปลอม

– สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ดูดวงออนไลน์ อาจเป็นโจรแฝงตัวหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ รูปถ่าย ภาพโป๊เปลือย ข้อมูลบัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต ฯลฯ

– ใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์ อ้างลดหย่อนภาษี อาจเป็นโจรสวมรอยหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว 

“สำหรับคนไทยแล้วถือเป็นพุทธศาสนิกชน ที่ดี และมีใจศรัทธาในการทำบุญ แต่ในยุคนี้ รัฐบาลอยากให้ประชาชนระมัดระวัง มิจฉาชีพ ทางออนไลน์ ที่มักหลอกหลวงประชาชนในขณะนี้ ด้วยการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการทำบุญ จะได้ส่งตรงถึงมือผู้รับ และผู้ให้” นางรัดเกล้าฯ​ กล่าว 

กองทุนหมู่บ้านบึงกาฬพบ "สมศักดิ์" ที่บ้านพักสุโขทัย ศึกษาโครงการนำร่องโคแสนล้านแก้จน



"สมศักดิ์" เปิดบ้านสุโขทัย พากองทุนหมู่บ้าน จ.บึงกาฬ ลงพื้นที่ศึกษาโครงการนำร่องเลี้ยงวัว ชี้ เริ่มต้น 2 ตัว ก็สามารถขยายพันธุ์เป็นฝูง สร้างรายได้เสริม-มีเงินใช้หนี้ได้ เผย อีกไม่นาน "โคแสนล้าน"จะมีความชัดเจน

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตน พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย น.ส.​ประภาพร​ ทองปากน้ำ​ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย ได้มีโอกาสต้อนรับคณะ​กรรมการกองทุนหมู่บ้าน จากอำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย และอำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 20 กองทุน นำโดย​นายนิพนธ์ คนขยัน​ สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย​ ที่มาศึกษาดูงานโครงการวัวเงินล้าน ที่จังหวัดสุโขทัย หลังจากที่ตน ได้นำร่องโครงการ ให้เกษตรกรยืมเงิน 400 ครอบครัว ครอบครัวละ 50,000 บาท เพื่อซื้อแม่พันธ์ุวัว 2 ตัวต่อครอบครัว โดยเกษตรกร เป็นผู้ไปหาซื้อเอง ซึ่งโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการนำร่องเลี้ยงวัวในจังหวัดสุโขทัย ตนได้ขับเคลื่อนมาแล้วหลายโครงการ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ได้จับมือกับเอกชน นำร่องเลี้ยง 200 ครอบครัว จำนวนโค 400 ตัว ซึ่งปัจจุบันมีลูกโคแล้ว 461 ตัว โดยมีตัวอย่างชาวสุโขทัย ที่ได้รับโค เป็นรายแรกๆ จากเริ่มต้น 2 ตัว ผ่านมา 4 ปี มีโครวมแล้วถึง 10 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงวัว สามารถเป็นอาชีพเสริมให้กับประชาชน และสามารถทำให้พี่น้องประชาชน มีเงินใช้หนี้ได้

"การนำสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ลงพื้นที่จริง เพื่อให้ศึกษาและดูสิ่งแวดล้อมจริงในการเลี้ยงว่า การเลี้ยงโคนำร่องนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องมีพื้นที่มาก ใช้วิธีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งถือว่า กองทุนหมู่บ้าน จากจังหวัดบึงกาฬนั้น ได้ประโยชน์ในการลงพื้นที่จริงเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เห็นภาพจริงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผมยังได้พาลงไปศึกษา การปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเลี้ยงวัว อีกด้วย เพราะหญ้าตรงนี้ จะเป็นการใช้พื้นที่ดินเปล่าให้เกิดประโยชน์ รวมถึงยังเป็นการลดต้นทุนในการซื้อหญ้า หรือ ฟาง เพื่อมาเลี้ยงวัวด้วย" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การสนับสนุนเลี้ยงวัว ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาล ต้องการผลักดันให้เกษตรกร มีรายได้เสริมนอกจากการปลูกข้าว หรือ พืชเกษตรต่างๆ ซึ่งเวลานี้ ตนในฐานะกำกับดูแลกองทุนหมู่บ้าน กำลังเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ ต่อพี่น้องประชาชน ในเรื่องการทำโครงการโคแสนล้าน ที่จะกระจายไปยังทั่วประเทศ โดยเวลานี้ ความคืบหน้าของโครงการ กำลังเร่งทำความเข้าใจ กับธนาคาร รวมถึงกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมชดเชยดอกเบี้ยให้กับพี่น้องประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน จะมีความชัดเจน โดยโครงการโคแสนล้านนั้น ไม่ได้ให้เพียงการกู้เงินไปซื้อวัว แต่เรายังมีการพัฒนาการอบรมในเรื่องของสัตวบาลตำบลอีกด้วย

"หากคิดอะไรไม่ออก ผมก็อยากให้เข้าร่วมโครงการ เพราะการมีวัว 2 ตัว เราสามารถขยายพันธุ์จนมีเป็นฝูงได้ โดยจะมีการแนะนำว่าเทคนิคต่างๆนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถ มีรายได้เสริมได้ ด้วยเงินทุนเพียงไม่กี่หมื่นบาท โดยเวลานี้รัฐบาล ก็กำลังเร่งทำทุกทางให้พี่น้องประชาชน มีอาชีพ มีรายได้เสริมในการเลี้ยงวัว ซึ่งหากพี่น้องประชาชน มีความสนใจ ก็สามารถติดต่อมาศึกษาดูงานที่จังหวัดสุโขทัยได้ ผมพร้อมจะสนับสนุนและประสานให้ทุกท่านได้ลงมาดูจากหน้างานจริงๆว่า เป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน" นายสมศักดิ์ กล่าว

ขยาย 4 สาขาแล้ว! "จาริกาโน่ คาเฟ่" กาแฟรสพระธรรม



เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567  เพจ Suthito Aphakaro ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า  เปิดแล้ว  “จาริกาโน่ คาเฟ่” ขยาย 4 สาขา  กรุงเทพ บุรีรัมย์ เชียงราย และลำปาง 

สาขา 1 วัดสุทธิวราราม ถนนเจริญกรุง เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ร้านกาแฟเด็กวัด & จาริกาโน่ โทร 090-316-5216

สาขา 2 ร้าน Sila For Rest หน้าวัดท่าขัว อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง คุณSila 06-2174-3987

สาขา 3 ร้าน K-Boun Farm & Homey Cafe ร้านกาแฟบรรยากาศสบาย อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ตั้งอยู่ริมถนนสายหลัก นางรอง-บุรีรัมย์ กม. 10.5 ม.13 บ้านหนองปลัดชุมแสง ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความหอมกรุ่นจากกาแฟ "จาริกาโน"  กาแฟ "พระทำ" ของแท้ น้ำ Infuse ดีต่อสุขภาพและเค้ก Homemade แสนอร่อย 

สนใจติดต่อได้ที่ 098 883 5883

สาขา 4 ร้าน ภูวลีคาเฟ่ เชียงราย ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พิพิธภัณมีชีวิตสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โทร 0932978383 0861818879

ทั้ง 4 ร้านใช้เมล็ดกาแฟจากโครงการพระธรรมจาริก ที่ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ภายใต้แบรนด์ “จาริกาโน่” ซึ่งจะมีทั้งกาแฟ สินค้าชาวเขา และผลิตภัณฑ์ชุมชน รายได้ส่งเสริมพระธรรมจาริกต่อไป

ไม่พูดมาก ต้องไปชิม…. จาริกาโน่

#พระธรรมจาริก

#จาริกาโน่

วันนี้ชมภาพร้านที่บุรีรัมย์ 

หลังภาพเสื้อ คือ ร้านที่เชียงราย

"ผอ.สันติศึกษาป.โท มจร" ร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา วัดปากน้ำมิชิแกนสหรัฐอเมริกา



วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. โค้ชสันติ ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา ร่วมเวียนเทียนและปรารภธรรมในโอกาสวันมาฆบูชา โดยมีชาวพุทธทั้งไทย อเมริกัน และบังคลาเทศ ร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา ณ วัด ปากน้ำมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีโอกาสได้ปรารภธรรมในวันมาฆบูชา มองว่าวันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา เริ่มต้นจากการรักตนเองโดยการใช้ชีวิตที่ไม่สุดโต่งเดินทางสายกลาง เพราะโลกปัจจุบันมีความเปราะบาง จึงต้องยกระดับมาฆบูชาเป็นวิถีชีวิต จึงต้องปฏิบัติตามแนวทาง ๓ ประการประกอบด้วย 

๑)หลักการของชีวิต โดยมุ่งการไม่ทำชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์พัฒนาจนนำไปสู่การรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบ หลักการสำคัญของชีวิตคือ การพัฒนาจิตใจของตนให้มีสันติภายในผ่านการดูแลลมหายใจด้วยการส่งต่อ แปรเปลี่ยน และก้าวข้าม โดยสิ่งที่ใกล้แล้วมีพลัง ประกอบด้วยธรรมชาติ กัลยาณมิตร สติสมาธิภาวนา 

๒)อุดมการณ์ของชีวิต จะต้องมุ่งสร้างขันติบารมี เคารพในความหลากหลาก มองความเป็นมนุษย์ มีความใจกว้างในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างเป้าหมายคือ นิโรธ  ดับทุกข์ อุดมการณ์ของชีวิตจึงสำคัญมากชีวิตต้องมีอุดมการณ์ที่ไม่หวั่นไหว 

๓)วิธีการของชีวิต วิธีการในการใช้ชีวิต จะต้องไม่พูดร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร มีการสื่อสารที่เป็นสันติ  มีวิธีการในการพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับอริยสัจโมเดล ประกอบด้วย ขั้นทุกข์เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง  ขั้นสาเหตุเข้าใจสาเหตุที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง  ขั้นเป้าหมายเป็นการวางเป้าหมายของชีวิต และขั้นวิธีการ จะต้องเป็นวิธีการที่เป็นสัมมาทิฐิ ถูกต้อง 

จึงสะท้อนว่า วันมาฆบูชานับว่าเป็นวันเมตตาสากลโลกของมวลมนุษยชาติ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้วางรากฐานการทำงานด้านสันติภาพด้วยการยึกตามแนวทางของ "หลักการ อุดมการณ์ และวิธีการ" ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วันมาฆบูชาจึงเป็นวันเมตตาสากลโลก มาฆบูชาถือว่ามีความสัมพันธ์กับสันติภาพ พระพุทธเจ้าจึงสอนโอวาทปาติโมกข์ ประโยคแรกที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสคือ ขันตี ปรมัง ตโป ติติกขา ความอดทนเป็นการบำเพ็ญตบะอย่างยิ่ง ด้วยการอย่าว่าร้ายกันอย่าเบียดกันในการเผยแผ่และการอยู่ร่วมกัน ด้วยการไม่เบียดเบียนกัน สรุปได้เป็น ๓ คำ คือ  ขันติ เมตตา กรุณา ถือว่าเป็นคุณสมบัติของโพธิสัตว์ บุคคลผู้จะทำงานเพื่อผู้อื่นเพื่อเพื่อนมนุษย์    

ความอดทนจึงเป็นสากลระดับโลก  เพราะสงครามเริ่มที่ใจของมนุษย์ปราการที่จะรักษาสันติภาพต้องเริ่มที่ใจมนุษย์เท่านั้น ทำให้ในปี ๒๕๓๘ มีการประกาศขันติธรรมของยูเนสโก ว่า  #ขันติธรรมเป็นฐานของสันติภาพ คำว่า ขันติธรรม คือ เคารพยอมรับ อดทนต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง ปัญหาของโลกคือ ขาดความอดทนในการอยู่ร่วมกัน ขาดความอดทนต่อความแตกต่างวัฒนธรรม ศาสนาเป็นรากฐานของอารยธรรม วัฒนธรรมปะทะกัน "เราต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ"อย่าสร้างสร้างวัฒนธรรมแห่งสงคราม  พระพุทธศาสนาส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันคนไทยที่รักษาเอกราชไว้ เพราะคนไทย มีคุณธรรม ๓ ประการ คือ "มีความรักอิสรภาพ  มีขันติธรรม  มุ่งประสานประโยชน์" นี่คือเอกลักษณ์ของคนไทย  ไทยรับคนต่างศาสนาจึงทำให้มาพัฒนาชาติ คนเก่งทั่วโลกมาที่ไทย ไทยจึงมีทรัพยากรบุคคลมากมาย และทรัพยากรธรรมชาติ มหาจุฬาจึงยึดหลักทำให้นานาชาติมาเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะฐานคุณธรรม มีขันติธรรม มีการประสานประโยชน์ ซึ่งหลักสูตรสันติศึกษายึดหลักการนี้ ขันติธรรมเป็นรากฐานของสันติภาพโลก วันมาฆบูชาวันเมตตาสากลโลกวันแห่งการวางฐานการทำงานด้านสันติภาพ โดยมีการยึดอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะสงครามเกิดขึ้นที่ใจมนุษย์ สันติภาพต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ ความขัดแย้งของโลกคือขาดความอดทนต่อวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง

มาฆบูชาจึงเป็นวันแห่งการภาวนาเพื่อสันติภาพโลก เป็นวันแห่งการไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบ กระทั่งใคร ไม่สร้างถอยคำเพื่อให้เกลียดชังกัน วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นหัวใจสำคัญที่พระสาวกต้องปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสใน"โอวาทปาฏิโมกข์" แก่ภิกษุสงฆ์ในวันมาฆบูชา  ถือว่าเป็นคุณสมบัติ เป้าหมาย หลักการและวิธีการเผยแผ่ นับว่าเป็นการวางรากฐานเพื่องานพระพุทธศาสนา นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องมี "ขันติธรรม" มีความอดทนต่อความลำบากความตรากตรำ ไม่บ่นจู้จี้จุกจิก มีความอดกลั้นต่อกิเลส เป็นคนใจเย็นสุขุมรอบคอบ เก็บอารมณ์ เรียกว่า "น้ำใจขุ่นเก็บไว้ข้างใน น้ำใจใสนำออกมาใช้ข้างนอก" มีความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลาย 

วิธีการในการเผยแผ่ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นผลสำเร็จมาก คือ " อนูปวาโท  อนูปฆาโต  การไม่ว่าร้ายใคร ไม่กระทบกระทั่งใคร " นักเผยแผ่ธรรมหรือวิทยากรต้นแบบสันติภาพจะต้องเป็นมิตรกับทุกฝ่าย สร้างความสามัคคีในสังคม อยู่เหนือความขัดแย้ง ให้สติแก่สังคม จงเป็นคนปากช้า แต่หูตาไว พูดน้อย ทำให้มาก ดูให้มาก นิ่งให้มาก เป้าหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ "สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ให้ผ่องแผ้วผ่องใส" ด้วยการเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะ เมื่อเราปฏิบัติเราจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นการสร้างสันติภายใน ดูแลลมหายใจของตนเอง เพื่อต่อลมหายใจให้คนอื่นและสังคม 

เริ่มต้นวันมาฆบูชา ด้วยการพูดดีต่อกัน ด้วยพุทธสันติวิธี คือ สัมมาวาจา  ปิยวาจา วจีสุจริต วาจาสุภาษิต  สุนทรียสนทนา ฝึกเป็นคนใจกว้าง คือยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างสันติวิธี วันมาฆบูชา ตระหนักถึงความรักในทางพระพุทธศาสนา รักอันประกอบด้วยเมตตากรุณาภายใต้ความรักของพระพุทธเจ้า พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า รักพระพุทธศาสนาต้องนำพาตนฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สร้างสันติภายในให้เกิดสันติสุขระดับชีวิต ชุมชน สังคม และประเทศชาติ  

ดังนั้น มาฆบูชาจึงเป็นวันเมตตาสากลโลก เริ่มจากรักตนเองด้วยเมตตาและรักผู้อื่นด้วยเมตตา เป็นความรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ด้วยการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ซึ่งความรักในทางพระพุทธศาสนาเป็นการรักเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา พร้อมมีขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย สถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าประกาศความรักต่อเพื่อนมนุษย์คือ เวฬุวัน สถานที่แสดงโอวาทปาติโมกข์     


โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...