วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาป.โท มจร" ติดตามงานวิจัยในอเมริกากรณีศึกษาวัดมงคลเทพมุนี



เมื่อวันที่ ๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๗  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนผลการวิจัยของมหาบัณฑิต ระดับปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มจร ซึ่งเป็นวัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำวิจัยโดย พระเดชพระคุณ พระราชมงคลวิเทศ (เจ้าคุณน้อม) เจ้าอาวาสวัดมงคลเทพมุนี และรองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ “การเสริมสร้างพลังใจของชาวพุทธในสหรัฐอเมริกาตามหลักพละ ๕ :กรณีศึกษา วัดมงคลเทพมุนี” ซึ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นที่เรียบร้อยแต่ยังการขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเกิดความยั่งยืน 



โดยผลการวิจัยพบว่า การวิจัยเรื่อง “การเสริมสร้างพลังใจของชาวพุทธในสหรัฐอเมริกาตามหลักพละ ๕ :กรณีศึกษา วัดมงคลเทพมุนี” มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบริบท สภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธไทยในสหรัฐอเมริกาและการเสริมพลังใจของวัดมงคลเทพมุนี ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดการเสริมสร้างพลังใจตามหลักวิชาการและตามหลักพละ ๕ ตามแนวพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการเสริมสร้างพลังใจของชาวพุทธในสหรัฐอเมริกาตามหลักพละ ๕ ของวัดมงคลเทพมุนี 

การวิจัยครั้งนี้เป็นเป็นการศึกษาโดยการใช้การวิจัยแบบคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๒๓ รูป/คน และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการสร้างบทสรุปและการพิสูจน์บทสรุปเป็นการนำแนวคิดทฤษฎีงานวิจัยต่าง ๆ ทางวิชาการมาสร้างเป็นบทสรุปร่วมกับข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกครั้งหนึ่งโดยเน้นความเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมและตรงต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ผลการวิจัย พบว่า 

๑)บริบท สภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธไทยในสหรัฐอเมริกาและการเสริมพลังใจของวัดมงคลเทพมุนีพบว่า สภาพปัญหาของคนไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ปัญหาด้านความแตกต่าง ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียม ปัญหาด้านความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวก และปัญหาส่วนตัว และบริบทการเสริมพลังใจของวัดมงคลเทพมุนีวัดให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยสามารถดังนี้ การให้ความช่วยเหลือด้านการเผยแผ่ เป็นสถานที่ให้คนไทยได้มาพบปะพูดคุยและเป็นสถานที่ให้คนไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา การได้ทำบุญ ถวายทาน ฟังพระเทศน์ รักษาศีล และเจริญภาวนา และ การให้ความช่วยเหลือ ด้านจิตใจ ด้านร่างกาย เป็นต้น

๒)แนวคิดการเสริมสร้างพลังใจตามหลักวิชาการและตามหลักพละ ๕ ตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การเสริมสร้างพลังใจหรือขวัญและกำลังใจเป็นสภาพของจิตใจที่มีความเชื่อมั่นและกระตือรือร้นพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ทุกอย่าง เป็นลักษณะทางอารมณ์หรือทัศนคติหรือแรงผลักต่าง ๆ ของบุคคล จะทำงานตามวัตถุประสงค์แห่งการทำงานเพื่อจะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในอันที่จะไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งพฤติกรรมในการที่จะแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น ความรักหมู่คณะ หรือความเฉื่อยของกลุ่มขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานมีความสำคัญต่อผลการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จในทางพระพุทธศาสนาการเสริมสร้างพลังใจตามหลักพละ ๕ ตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นกำลัง หรือพลัง หรือธรรมอันเป็นกำลัง คือความไม่หวั่นไหวอันเป็นกำลังที่ผลักดันอกุศลธรรมให้พินาศไปและยังความตรัสรู้มรรค ผล นิพพาน เป็นความเข้มแข็งมั่นคงดำรงอยู่ได้ในสัมปยุตตธรรมทั้งหลายอย่างไม่หวั่นไหว อันธรรมเป็นที่เป็นปฏิปักษ์จะเข้าครอบงำไม่ได้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรคประเภทขององค์ธรรม พละ คือ กำลัง หรือพลัง หรือธรรมอันเป็นกำลัง เป็นหลักธรรมที่ทำให้จิตมีความเข้มแข็งไม่หวั่นไหวในอกุศลธรรมต่าง ๆ พละมีปรากฏอยู่ในโพธิปักขิยธรรมที่เป็นธรรม

๓)แนวทางการเสริมสร้างพลังใจของชาวพุทธในสหรัฐอเมริกาตามหลักพละ ๕ ของวัดมงคลเทพมุนีพบว่า แนวทางการเสริมสร้างกำลังใจชาวพุทธตามหลักพละ ๕ ควรดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ คือ ขั้นที่ ๑ เสริมสร้างความเชื่อให้แน่วแน่ในสิ่งที่ถูกต้องตามเชื่อแน่วแน่ในคุณงามความดีว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งล่อใจที่จะชักจูงให้ทำในสิ่งไม่ดี และตั้งใจมั่นไม่ย่อท้อต่อความดีที่ทำ ขั้นที่ ๒ เสริมสร้างความเพียรพยายาม ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำกิจต่างๆอย่างสม่ำเสมอความเพียร การปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต้องใช้ความเพียรพยายามในการปฏิบัติเพื่อให้หน้าที่ที่รับผิดชอบนั้นประสบความสำเร็จ ขั้นที่ ๓ เสริมสร้างให้มีสติ สัมปชัญญะ ให้มีสติจดจ่ออยู่ในปัจจุบันขณะและประคองสติได้ตลอดเวลาเป็นการเสริมสร้างให้มีความตื่นตัวไม่หลงลืม ลดความประมาทในการทำกิจต่าง ๆ ขั้นที่ ๔ เสริมสร้างจิตใจให้มีความตั้งมั่นมีความสงบตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างมั่นคงแรงกล้า ต่อสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งรบกวนต่างๆที่อยู่รายล้อม เป็นการเสริมสร้างให้มีความตั้งมั่นจดจ่อ ไม่คิดฟุ้งซ่าน ในการทำกิจต่าง ๆ ขั้นที่ ๕ เสริมสร้างความรู้ที่ถูกต้องมีความคิดที่ถูกต้องตรงกับความจริงรู้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ชอบ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี ไม่หลงงมงายในอบายมุขต่าง ๆ เป็นการเสริมสร้างให้มีความรอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ไม่หลงงมงายในทางที่ผิดซึ่งทั้ง ๕ ขั้นตอนนั้นได้ดำเนินการโดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดมงคลเทพมุนีที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีลักษณะคล้ายกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวัดที่ประเทศไทย

โดยมีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างกำลังใจชาวพุทธในสหรัฐอเมริกา เพราะต่างแดนย่อมมีความเหงา ผลวิจัยยังช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้อย่างดียิ่ง จึงขออนุโมทนาและกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณ พระราชมงคลวิเทศ (เจ้าคุณน้อม) เจ้าอาวาสวัดมงคลเทพมุนี และรองประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ นับว่าเป็นงานวิจัยที่ทรงคุณค่าป้องกันความขัดแย้งความรุนแรงในสังคมได้อย่างดียิ่ง ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีที่ปรึกษาประกอบด้วย ๑)พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร., พธ.บ. (จริยศึกษา), พธ.ม. (สันติศึกษา), พธ.ด. (สันติศึกษา) ๒)พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ, ผศ. ดร., ป.ธ.๔, ศน.บ. (ศึกษาศาสตร์), พธ.ม. (ปรัชญา), พธ.ด. (ปรัชญา)


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ

  วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแ...