ปลัด มท. มอบนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 17 จังหวัดภาคเหนือ เผยตนภาคภูมิใจความเป็นคนมหาดไทยตลอดระยะเวลาในการทำงาน ย้ำทุกคน คือ ผู้นำ ต้องไม่เพิกเฉยต่อสิ่งผิด และต้องสร้างแรงใจให้ทุกคนช่วยกันทำดีอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าตนได้เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ในโครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำ ในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมบรรยายในหัวข้อ การเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมวังธารา โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายมงคล ตรีกิจจานนท์ อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี เข้าร่วมการประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานเชิงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรม ด้วยความรวดเร็วเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนโดยยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”ผ่านรูปแบบการกำกับดูแลที่เรียกว่า กลไกผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ผู้ว่าฯ CEO ซึ่งตนได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของจังหวัด” และนายอำเภอเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” ที่ต้องนำเอานโยบายของทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการ ไปขับเคลื่อนในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด โดย ผู้ว่าฯ CEO เริ่มต้นจากนโยบายการปฏิรูประบบราชการที่ต้องการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารเชิงพื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 นั้น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน ผ่านกลไก ผู้ว่าฯ CEO จะมีการนำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 มาใช้ ซึ่งมีสามารถแบ่งประเด็นสำคัญออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1. การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 2. การบริหารงบประมาณ 3. การบริหารงานบุคคลแบบบูรณาการ และ 4. การกำกับติดตาม ซึ่งกลไกผู้ว่าฯ CEO นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำแผนและประสานแผนในลักษณะบูรณาการในทุกมิติ ทั้งด้าน Function Agenda และ Area รวมถึงช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติให้เอื้อต่อการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ มีการบูรณาการส่วนราชการต่าง ๆ ในทุกมิติให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด 20 ปี และแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี และที่สำคัญ คือ มีการสร้างภาคีการพัฒนา ทรัพยากร เทคโนโลยี เครื่องมือการบริหาร สนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการของประชาชนและนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สิ่งที่คนมหาดไทยต้องยึดมั่นอยู่เสมอ คือ การทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยคนมหาดไทย คือ ผู้นำ ที่ไปทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของจังหวัด/อำเภอ เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องมีใจที่กล้า ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งผิด มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม มุ่งมั่น Change for good ให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานของพวกเรา มีทั้ง Routine Job และ Extra Job ที่พวกเราต่างก็ทำด้วยการก้มหน้าลงมือทำ ไม่ปริปากบ่นหรือถามถึงค่าตอบแทน/งบประมาณในการทำ ดังที่เเสดงให้เห็นในเรื่องการเเก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และในเรื่องล่าสุดคือการเเก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งผมขอชื่นชมคนมหาดไทยทุกคนด้วยใจจริง แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะต้องเพิ่มการสื่อสาร คือ Report ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต่อผู้บังคับบัญชาของเรา โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นในการทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ คือ การฝึกจิตใจให้เป็นนาย แล้วควบคุมกายให้เป็นบ่าว ฝึกให้มีความเป็นจิตอาสาในตัวเอง โดยหลักคิดที่ว่า ผู้นำต้องทำก่อน เเล้วเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การเก็บขยะ เพื่อมุ่งหวังให้สภาพเเวดล้อมที่เราอยู่มีความสะอาด การคิดดี ทำดี และส่งต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วย Passion ในตัวเอง การกระตุ้นจิตใจให้รุกรบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดี ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เริ่มต้นที่เราในฐานะศูนย์กลางของความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประชาชน ดังนั้น สถาบันนักปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ คนมหาดไทยทุกคนจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอล้วนอยู่ที่พวกเรา ในชีวิตราชการของผมทั้งหมด 36 ปี และกำลังจะเกษียณจากราชการ ผมสังเกตเห็นว่าผู้คนเลื่อมใส ศรัทธาผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ล้วนทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้คนมหาดไทยเป็นความหวังของพระองค์ท่าน ในการที่จะช่วยให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความสุข ซึ่งความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ความมั่นคงของประเทศชาติ คนมหาดไทยเป็นเหมือนแม่ทัพที่คอยรักษาความสงบสุขภายในประเทศ ต่อสู้กับความยากจน และภัยคุกคามรูปแบบต่าง ๆ ในสงครามแต่ละฝ่ายมักจะมุ่งหมายเอาชนะศึกด้วยการกำจัดแม่ทัพ ดังนั้น หากสถาบันผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเสื่อมถอยลงย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในด้านอื่น ๆ เราต้องช่วยกันรักษา และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเเข็งแรงต่อสถาบันหลักของชาติ แสดงออกถึงความจงรักภักดีของสังคม เราต้องทำทั้งการปฏิบัติบูชา และอามิสบูชา ต้องเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการ องค์ที่ 2 ที่เเสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์ คือ การทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางในการคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ อาทิ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ บึงสีไฟ คลองแม่ข่า ซึ่งในปัจจุบันคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็น Landmark ของการท่องเที่ยว ชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบคลองแม่ข่าก็ได้รับประโยชน์ ก่อให้เกิดงาน อาชีพ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน ดังนั้น สิ่งสำคัญของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พวกเราต้องไม่รังเกียจที่จะทำงานอย่าง "รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด" ต้องรู้จักพื้นที่ รู้จักคน และไม่เพิกเฉยต่อสิ่งผิด ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง โดยมีใจที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกก็เป็นหนึ่งในต้นแบบของการปฏิบัติบูชา ดังที่เห็นจากคูเมืองที่ใสสะอาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ผู้นำนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อทุกการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้น
“ในยุคปัจจุบันการสร้างทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งมีองค์ประกอบ ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ทำงานแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือทีมจิตอาสา ถ้าเป้าหมายการทำงานของคนมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ภารกิจหรือหน้าที่ขององค์กรภาครัฐทุกหน่วยงาน ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือในการไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ สิ่งสำคัญต่อมา คือ ความต่อเนื่องของนโยบายที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ต้องช่วยกัน สืบสาน รักษา ต่อยอด สิ่งดี ๆ ที่คนอื่นทำไว้ ดังนั้น ในฐานะผู้นำต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณให้เต็มที่ เพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง เพราะว่าในตอนที่หมดอายุราชการเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่อยากทำแล้วก็เป็นได้ ขอให้ตั้งใจทำดีในทุกโอกาส ตนมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนมหาดไทยอย่างเสมอมา เชื่อมั่นว่า คนมหาดไทยเท่านั้นที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน เป้าหมายจะไม่สำเร็จถ้าหากเราต่างคนต่างทำงาน และไม่มีการทำงานแบบเป็นระบบ รวมถึงไม่มีการทำงานอย่างต่อเนื่องหรือวัฒนธรรมไฟไหม้ฟาง เช่น การรณรงค์การลดอุบัติเหตุทางถนนต้องการให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง แต่รณรงค์เฉพาะวันเทศกาลก็ย่อมไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี ขอให้ช่วยกันทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ทำ MOU ไว้หลายฉบับ เช่น MOU กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ร่วมกับฝ่ายสาธารณูปการ โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม MOU หมู่บ้านรักษาศีล 5 หรือหมู่บ้านคุณธรรม โดยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ สิ่งเน้นย้ำ คือ ต้องยึดหลัก 4 ร่วม ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยในเมื่อยังมีสงครามระหว่างประเทศอยู่ มีความขัดแย้ง สภาพเศรษฐกิจเติบโตช้า ซึ่งเราต่างเคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อปี 2540 ในภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ที่เราอยู่รอดเพราะมีความมั่นคงทางอาหาร เราต้องสร้างความมั่นคงตั้งเเค่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ดูแลปัจจัย 4 อาหาร บ้าน ยารักษาโรค เเละเสื้อผ้า ว่ามีพร้อมหรือยัง และมีสุขภาวะที่ดีหรือไม่ ผมจึงได้กล่าวว่า ทุกโครงการที่มหาดไทยขับเคลื่อน ทั้งโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง หรือ ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ตลอดจนการรวมกลุ่มของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การที่เราจะดูแลลูกหลานและผู้คนให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนเหล่านี้หากเราลงมือทำทันที ย่อมเป็นที่มั่นใจว่าประเทศนี้ทุกหมู่บ้านผู้คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และประเทศเราจะเป็นประเทศที่มั่นคง ประชาชนมีความสุข ฝากความหวังไว้กับคนมหาดไทยทุกท่าน ช่วยกันขยายผลในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ของทุกท่านด้วย” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น