วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

อะไร?!?ทำให้ฝรั่งสนใจพระพุทธศาสนา



อะไร?!? ทำให้ฝรั่งที่เป็นนักปฏิบัติการด้านสันติภาพจากทั่วโลกสนใจมุ่งตรงมาศึกษา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสันติภาพและประสบการณ์การทำงานด้านสันติภาพกับมหาจุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา และตลอด 4 ปีที่ฝรั่งจากประเทศต่างๆ ที่เรียนหลักสูตรนี้ เดินทางมาแลกเปลี่ยนจะแสดงความตื่นเต้น และกระตือรือล้นในการแลกเปลี่ยนจนทำให้อาจารย์ ดร.วิฑูรย์ วิริยะสกุลธรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์โรตารีเพื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการต้องเตือนว่า หมดเวลา และต่อไปนี้ขอให้เป็นคำถามสุดท้ายในทุกครั้งที่พามาที่มหาจุฬาฯ

1. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ แทบทุกคนมีสมมติฐานขั้นพื้นฐานก่อนเดินทางมาในเบื้องต้นแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนซึ่งมีจุดเน้น หรือมีจุดแข็งด้านสันติภาพเป็นที่ยอมรับจากชาวโลก เพราะไม่ว่าจะอยู่ทวีปใด หรือทำงาน ณ จุดใดของโลกก็มักจะได้รับการส่งสัญญาณในลักษณะนี้จากสื่อต่างๆ หรือผ่านกลุ่มคนต่างๆ ที่ได้เรียนรู้แล้วนำเสนออยู่เสมอ สัญญาณดังกล่าวนั่นเอง จึงทำให้แต่ละคนกระตือรือล้นที่จะเดินทางมาแลกเปลี่ยนโลกทัศน์และชีวทัศน์ และที่สำคัญฝรั่งเหล่าเตรียมตัวศึกษามาค่อนข้างดีมาก สังเกตได้จากการถามหลักธรรมข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ เช่น หลักอริยสัจ หลักมรรค 8 และหลักพรหมวิหาร เพื่อขอให้อธิบายเพิ่ม อีกทั้งถามซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อทวนซ้ำเพิ่มเติม

2. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสติและสมาธิ สติกับสมาธิ หรือ Mindfulness and Meditation เป็นจุดไฮท์ไลท์ (Hightlight) ที่ฝรั่งตั้งใจมาถามทั้งหลักการและวิธีปฏิบัติ ฝรั่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยปฏิบัติสมาธิมาแล้วทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อเปิดพื้นที่ให้ซักถาม แทบทั้งหมดจะถามลงลึกในเชิงปฏิบัติ ทั้งวิธีการดูหายใจ หรือรู้ได้อย่างไรว่าจิตมีสมาธิ หรือบางท่านถามตรงๆ ว่า หากให้กำหนดดูหรือเน้นที่ปัจจุบันขณะ แสดงว่า พระพุทธศาสนามิได้สอนให้สนใจอนาคต หรือไม่ได้สอนให้วางแผนในอนาคตใช่หรือไม่??! และทุกครั้งที่ฟังคำถาม จะพบรอยยิ้มที่มุมปากหรือใบหน้าเสมอ และบางถามลงลึกว่า ถ้าจะเริ่มปฏิบัติสมาธิ เราควรจะมีวิธีการกำหนดอย่างไร?!? จึงจะทำให้การปฏิบัติเจริญก้าวหน้า

สองประเด็นข้างต้น จึงเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของผู้ที่อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งจะใช้เป็นเป็นภาพสะท้อนย้อนกลับมาพิจารณาว่า ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสองสิ่งเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพาชีวิตของตัวเองเข้าไปสัมผัสคุณค่าเด่นของพระพุทธศาสนาดังที่ฝรั่งพากันถวิลหา และพยายามไขว่คว้า สังคมไทยยุคปัจจุบันนี้ เราคุยกันมาก ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับสองเรื่องดังกล่าว แต่มีคนไม่มากที่น้อมนำสองสิ่งเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติ ยิ่งศึกษายิ่งถกเถียง ยิ่งเข้าไม่ถึงเนื้อตัวของสันติภาพ สติ และสมาธิ เพราะพระพุทธเจ้ามิได้ค้นพบสิ่งเหล่านี้จากการจดจำหรือเรียนจากครูอาจารย์ หรือตำรา แต่ทรงศึกษาเรียนผ่านการปฏิบัติโดยเอารูปนามเข้าไปแลกธรรมเหล่านั้น โอกาสจึงเป็นของผู้ปฏิบัติไม่ใช่ผู้ไฝ่แต่ปริยัติดังที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

ทั้งนี้วันที่ 21 ก.พ.2561 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ดร.วิฑูรย์ วิริยะสกุลธรณ์ รองผู้อำนวยการศูนย์โรตารีเพื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำนักสันติภาพ (Peace Makers) จากทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ ที่เดินทางมาเข้ารับการอบรมในหลักสูตรด้านสันติภาพที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร อย่างเช่นที่ผ่านมาติดต่อกันหลายปี โดยได้ย้ำกับว่า "เหตุผลสำคัญที่ศูนย์โรตารีเพื่อสันติภาพต้องนำทุกคนมาที่นี่ก็เพราะว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร คือแหล่งศึกษาสันติภาพด้านพระพุทธศาสนาที่เป็นระบบมากที่สุดในประเทศไทย และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในโลกที่เน้นสอนและพัฒนาสันติศึกษาด้านพระพุทธศาสนา"

"คำกล่าวของ ดร.วิฑูรย์ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร พยายามที่จะนำหลักคิดและอุดมการณ์ด้านสันติภาพของพระพุทธศาสนามาอธิบาย และขยายพื้นที่ของการศึกษา ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีสถานศึกษาแห่งใดในโลกที่พยายามศึกษาอย่างเป็นระบบ แล้วนำมาจนเป็นหลักสูตรปริญญาโท และเอก ทั้งหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรอินเตอร์ ที่ได้เปิดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร" ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา  มจร และว่า 

หลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ถือได้ว่าตอบโจทย์ของสังคมไทย และสังคมโลก ที่กำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และความรุนแรงที่กำลังถาโถมโลกใบนี้ และมหาบุรุษที่เป็นผู้ให้กำเนิดหลักสูตรนี้ คือ "พระพุทธเจ้า" ผู้ทรงหาญกล้าที่ประกาศให้ชาวโลกได้ตระหนักว่า "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี" หลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงมิได้นำเสนออะไรสดใหม่ หากแต่เป็นการขยายพื้นที่ลมหายใจแห่งสันติภาพของพระพุทธเจ้าให้เกิดคุณค่าที่ยิ่งใหญ่แก่มวลมนุษยชาติ

หลังจากนั้นพระมหาหรรษาและดร.วิฑูรย์ได้นำนักนักสันติภาพจากทั่วโลกไปชุมความงามของโบสถ์กลางน้ำและนั่งวิปัสสนากรรมฐานริ้มรสสันติภาพภายใน

..................................

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso) 





  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...