วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กรณียเมตตสูตรพุทธมนต์อมนุษย์รักสวดส่งกำลังใจช่วยทีมหมูป่า



วันที่ 1 ก.ค.2561 ตามที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานพระเมตตาธรรมปรารภ กรณีเหตุการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ความว่า

“ในยามที่เพื่อนร่วมชาติจำนวน 13 คนกำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน ณ ถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือน อาสาสมัครทุกฝ่าย ร่วมกับประชาชนจิตอาสา พร้อมด้วยชาวต่างประเทศผู้มีมิตรจิตมิตรใจ ระดมกันเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง แสดงถึงพลังสามัคคีแห่งคนไทย และน้ำใจมิตรในยามวิกฤต เป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

เมื่อวันศุกร์ ที่ 29 มิถุนายน 2561 สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้นำพุทธศักราชแผ่เมตตาด้วยการเจริญกรณียเมตตสูตร ด้วยทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง อาตมภาพขอถวายอนุโมทนา และขออนุโมทนา อีกทั้งเชิญชวนชาวไทยจงร่วมกันเจริญกรณียเมตตสูตร และศึกษาความหมายแห่งพระสูตรนั้นให้กระจ่างใจ เพื่อประมวลเป็นกำลังจิตอันถึงพร้อมด้วยเมตตาธรรมไม่มีประมาณ เพื่อยังความสวัสดีของทุกชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวเถิด

ขออำนวยพรให้ผู้ประสบเหตุ และผู้ปฏิบัติหน้าที่เข้าช่วยเหลือทุกคนจงเจริญสวัสดิภาพ ประสบผลสำเร็จในภารกิจที่มุ่งหมายทุกประการ เทอญ.”นั้น เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีได้ประมวลไว้ว่า

กรณียเมตตสูตร หรือ เมตตสูตร เป็นพระสูตรในขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา และการปฏิบัติตนเพื่อเจริญธรรม นำไปสู่การบรรลุมรรคผลในท้ายที่สุด พระสูตรนี้มีลักษณะเป็นคาถาจำนวน 10 บท โดยมีฉันทลักษณ์เป็นแบบคีติโบราณ (Old Giti) อันเป็นฉันทลักษณ์แบบเก่าแก่ที่สุเดแบบหนึ่งในฉันทลักษณ์ภาษาบาลี 

ทั้งนี้ กรณียเมตตสูตร บางครั้งเรียกว่า เมตตปริตร เนื่องจากใช้สวดเป็นพระปริตร เพื่อป้องกัน คุ้มครองภยันตรายต่าง ๆ รวมอยู่ในบทสวด 7 ตำนาน หรือจุลราชปริตร และบทสวด 12 ตำนาน หรือ มหาราชปริตร อีกทั้งยังจัดเป็นมหาปริตร หรือพระปริตรซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด อันประกอบด้วยมงคลสูตร รัตนสูตร และกรณียมเตตสูตร 

ตัวบทของพระสูตรที่ปรากฏในขุททกปาฐะ ในขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก มีเพียงพระคาถา 10 บท มิได้ระบุถึงที่มาของการตรัสพระสุตรแต่อย่างใด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในพระสูตรอื่นๆ รอื่นๆ ในขุททกปาฐะ ทว่า ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาอธิบายความในขุททกปาฐะ ได้อธิบายไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้ที่สาวัตถี เพื่อให้บรรดาพระภิกษุได้เจริญเมตตาเพื่อยังความร่ำเย็น เป็นสุข และเพื่อความเป็นมิตรต่อสัตว์ทั้งหลาย มิให้เบียดเบียนกัน

โดยที่มาของพระสูตรเกิดขึ้นเมื่อพระภิกษุประมาณ 500 รูป ได้เรียนกรรมฐานจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นได้เดินทางไปแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะ สุดท้ายพระภิกษุทั้งหมดได้บำเพ็ญพระกรรมฐานอยู่ตามโคนไม้ ณ ป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ 

อย่างไรก็ตาม บรรดารุกขเทวดาและเทพยดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ต่างต้องลงมาจากวิมานของตน เนื่องจากบรรดาพระภิกษุได้กระทำความเพียรอยู่ ณ โคนต้นไม้ เมื่อได้รับความลำบาก และคิดว่าพระภิกษุเหล่านี้ต้องกระทำความเพียรตลอดพรรษาไม่อาจจะไปที่ไหนได้อีก จะยังความลำบากให้แก่พวกตนและลุกหลานของตนอีกยาวนาน บรรดารุกขเทวดาและเทพยดาในถิ่นนั้น จึงรวมตัวกันแสดงอาการอันน่ากลัว แล้วหลอก เพื่อขับไล่พระภิกษุเหล่านั้น 

พระภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากกายลำบากใจอย่างยิ่งที่ถูกบรรดารุกขเทวดาและเทพยดาจำแลงกายหลอกหลอนตน จนไม่อาจบำเพ็ญเพียรเจริญพระกรรมฐานได้ ต่อมาจึงพากันเดินทางไปยังนครสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสดับเรื่องราวแล้ว ทรงมีพระดำรัสให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปเจริญพระกรรมฐานยังสถานที่แห่งเดิม แล้วจึงทรงตรัสเมตตสูตร เพื่อให้ภิกษุทั้ง 500 รูปได้เจริญเมตตาโปรดรุกขเทวดาเทพยดาทั้งหลาย ให้หยุดจองเวรเสีย 

เนื้อหาของพระสูตรนี้ เป็นคาถามีทั้งหมด 10 บท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ บทที่ 1 - บทที่ 3 เป็นการแนะนำการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบคุณสมบัติให้อยู่ในกรอบอันดีงาม พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำได้ และทำให้เป็นคนมีเมตตา แสดงความเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์อยู่เป็นนิจ ซึ่งโดยสรุปแล้ว เนื้อหาส่วนแรก ได้ระบุถึงคุณสมบัติของบุคคลอันพึงประสงค์ไว้ดังนี้

สักโก เป็นคนกล้าหาญ
อุชุ เป็นคนตรง คือมีกายสุจริต วจีสุจริต
สหุชุ เป็นคนตรงจริง ๆ คือมีมโนสุจริตด้วย
สุวะโจ เป็นคนว่านอนสอนง่าย
มุทุ เป็นคนอ่อนโยน
อะนะติมานี เป็นคนไม่หยิ่ง ไม่ถือตัว
สันตุสสะโก เป็นคนสันโดษ
สุภะโร เป็นคนเลี้ยงง่าย
อัปปะกิจโจ เป็นคนไม่แบกภาระมาก มีห่วงมาก
สัลละหุกะวุฒติ เบากาย เบาใจ
สันติณตริโย เป็นผู้สำรวมอินทรีย์
นิปะโก เป็นผู้มีปัญญารักษาตัว
อัปปะคัพโภ เป็นคนไม่คะนอง
กุเลสุ อะนะนุทคิทโธ เป็นผู้ไม่ติดในตระกูล

ส่วนที่ 2 คือระหว่างบทที่ 4 - บทที่ 5 เป็นการแผ่เมตตา และส่วนที่ 3 ระหว่างบทที่ 6 - บทที่ 10 เป็นการเจริญพรหมวิหาร และอานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหาร ว่าสามารถนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ดังที่ระบุผลไว้บทที่ 10 ดังนี้

ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน หรือ "ท่านผู้เจริญเมตตาจิต ที่ละความเห็นผิดแล้ว มีศีล มีความเห็นชอบ" ในบาทที่ 1 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุโสดาบัน กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้มีสัมมาทิษฐิ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ปราศจากความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและอริยสัจสี่ และมีศีลครบถ้วน อันคุณสมบัติสังเขปของลักษณะพระโสดาบันที่สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง หรือ "ขจัดความใคร่ในกามได้" ในบาทที่ 3 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสกทาคามี กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้สามารถละกามฉันทะ และปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ

นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ หรือ "จะไม่กลับมาเกิดอีกเป็นแน่แท้" ในบาทที่ 4 หรือบาทสุดท้าย ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุอนาคามี คือ พระอริยะบุคคลผู้ไม่กลับบมาเกิดอีก บำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไปในพรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพานจากพรหมโลก
การสวดสาธยาย

กรณียเมตตสูตร เป็นหนึ่งในพระปริตร นิยมใช้สวดกัน เพื่อป้องกันภยันตรายทั้งหลาย มิให้มากร้ำกราย และเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของที่มาพระสูตร ที่ปรากฏในอรรถกถา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่า พระสูตรนี้เป็นที่ยำเกรงของภูติผีปีศาจ และทำให้ผู้สวดสาธยายเป็นที่รักใคร่ในหมู่เทพยดาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม การสาธยายพระสูตรนี้ ยังมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเป็นพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงแนวทางการในการปฏิบัติให้เป็นที่รักใคร่ ให้เป็นผู้มีเสน่ห์ ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบตนเองให้พ้นจากการกระทำชั่ว และเจริญเมตตาอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งไม่เพียงยังความสงบแก่จิตใจของตนเองเท่านั้น แต่ยังความสงบสันติแก่สรรพสัตว์และสากลโลกอีกด้วย นับเป็นพระสูตรที่มีคุณประโยชน์มหาศาล

วศิน อินทสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงพระสูตรนี้ว่า เป็นการแสดงคุณสมบัติของผู้ปรารถนาสันติ คือทางแห่งผู้สงบ หรือทางแห่งคนดี หรือบัณฑิต ดังพุทธภาษิตที่ว่า บัณฑิตชอบสันติ (ความสงบ) (สนฺติมิจฺฉนฺติ ปณฺฑิตา )

  คำแผ่เมตตาแบบทั่วไป

          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
          อะเวรา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
          อัพยาปัชฌา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
          อะนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
          สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งสิ้นเถิด ฯ

อานิสงส์การแผ่เมตตา ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงตรัสปรารภเมตตาสูตรว่า "ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการแผ่เมตตามี 11 ประการ คือ 1. หลับเป็นสุข 2. ตื่นเป็นสุข 3. ไม่ฝันร้าย 4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย 5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย 6. เทวดาย่อมรักษา ๗. ไฟ ยาพิษ ศาสตราวุธไม่ล่วงเกิน 8. จิตได้สมาธิเร็ว 9. สีหน้าผ่องใส 10. ไม่หลงตาย 11. เมื่อยังไม่บรรลุ ธรรม ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นสูง


ทั้งนี้บทสวดมนต์พาหุงมหากานั้นได้ระบุถึงพระพุทธเจ้าทรงใช้การแผ่เมตตาต่อช้างนาฬาคีรีที่พระเทวทัตได้จ้างควาญข้างไส่มุ่งทำร้ายดังบทสวดที่ว่า  "นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะถูตัง ทาวัคคิจัก กะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท ตันเตชะสา ภะวะตุ เม ชะยะมังคะลานิ" ดังนั้นบทสวดมนต์พาหุงมหากา เป็นพุทธวิธีในการแก้ปัญหากรณีตัวอย่างต่างๆ ว่าปัญหาลักษณะใดควรใช้พุทธธรรมข้อใด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กอดทุกข์

ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ในวันที่มืดมน ไม่มีใครมองเห็น ความคิดที่ขัดขืน โลกเดิมไม่เข้าใจ เ...