เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 น. : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษเรื่อง การบูรณาการการส่งเสริมพระพุทธศาสนาของกรุงเทพมหานคร และโครงการ Foodbank ในการประชุมพระสังฆาธิการระดับวัด คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครขาดวัดไม่ได้เพราะเราต้องอาศัยวัดในหลายๆ เรื่อง ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีวัดทั้งหมด 450 วัด มีอยู่ในทุกเขต หัวใจของเราสมัยก่อน คือ บ้าน วัด และโรงเรียน จริงๆ แล้วอยากจะเอาตรงนี้กลับมาให้เข้มแข็งขึ้น เราเห็นเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเรื่องน่าเศร้าใจที่สยามพารากอน ในเรื่องการดูแลด้านจิตใจ วัดก็จะเป็นส่วนสำคัญ หากบ้าน วัด โรงเรียน เป็นเนื้อเดียวกันได้ก็จะมีผลดีกับประชาชนมาก บทบาทที่ผ่านมากทม. ได้ดำเนินการในหลายเรื่องแต่อาจจะยังไม่เยอะมากก็ต้องพยายามทำให้มากขึ้น อาทิ การทำบุญวัดคู่เมือง โครงการอุปสมบทหมู่ การจัดงานสงกรานต์รดน้ำพระพุทธสิหิงส์ที่ลานคนเมือง การทำบุญตักบาตรในทุกวันพระสำคัญ การจัดหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปตรวจสุขภาพพระในวัด เป็นต้น
นโยบายของกรุงเทพมหานคร เหมือนร่างกายเรามีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่ คือโครงการใหญ่ๆทางด่วน รถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนเส้นเลือดฝอย คือสิ่งที่อยู่กับชุมชน ถนน ตรอก ซอย ท่อระบายน้ำ ซึ่งวัดก็เป็นส่วนสำคัญของเส้นเลือดฝอยเพราะวัดอยู่ใกล้ชิดประชาชน ถ้าวัดเข้มแข็งอย่างช่วงโควิด-19 เราจะเห็นว่า วัดและชุมชนเข้มแข็งสามารถผ่านวิกฤติไปได้ ดังนั้นแนวคิดเราคือทำอย่างไรให้วัดเข้มแข็งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประชาชนให้เข้มแข็งตามไปด้วย เรื่องนี้ กทม. พยายามจะสนับสนุนในทุกด้าน
กทม. มีอีกโครงการที่เราเริ่มทำคือ โครงการ Food Bank หรือธนาคารอาหาร เนื่องจากกรุงเทพฯ มีประชาชนที่ยากลำบาก คนจน คนไร้บ้านค่อนข้างเยอะ ก็ได้ร่วมกับวัดสามัคคีธรรม เขตห้วยขวาง เป็นโครงการต้นแบบที่ได้กราบถวายข้อมูลพระคุณเจ้าไว้ว่าถ้ากรณีที่มีอาหารส่วนเกินในชุมชน หรือมีผู้มีจิตศรัทธาตักบาตรเยอะ ถ้ามีเหลือเอามาเป็นธนาคารอาหารและแจกจ่ายให้กับคนที่ยากไร้ในพื้นที่ โดยใช้ระบบมีสมุดพกแจกอาหาร ซึ่งในอนาคตอาจใช้เป็นคูปองเพื่อให้ประชาชนได้อาหารตามที่จำเป็น โครงการนี้อาจจะเป็นโครงการหนึ่งที่กราบถวายข้อมูลเผื่อมีโอกาสที่ได้ร่วมงานกับทางแต่ละวัด
นอกจากนี้ กทม.พร้อมร่วมมือกับวัดเพื่อปรับปรุงพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ กทม. มีพื้นที่สีเขียวน้อยก็มีแนวคิดว่าเราไปปลูกต้นไม้ในวัดๆ ไหนมีพื้นที่เหลือ เรามีโครงการสวน 15 นาที ให้ชาวบ้านไปพักผ่อนหย่อนใจ ก็เป็นแนวคิดของสวน 15 นาทีรูปแบบวัด ปัจจุบันเราไปทำพื้นที่เล็กๆ ในวัดปลูกต้นไม้เป็นสวน 15 นาที เช่น วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดกำแพง และวัดแจงร้อน หากพระคุณเจ้าวัดใดมีพื้นที่ที่รกร้างอยู่ในวัด สามารถประสานสำนักเขตพื้นที่ นำต้นไม้ไปลงทำเป็นสวนเล็กๆ ชาวบ้านอาจจะมานั่งพักผ่อนหย่อนใจปฏิบัติธรรมในสวนก็จะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชนได้เยอะขึ้น
Smart City Smart Temple ก็เป็นเรื่องสำคัญ คือ เมืองฉลาด วัดก็ต้องฉลาด หรือวัดที่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมพัฒนาให้ทันกับความต้องการเรื่องนี้กทม.ก็พร้อมช่วยสนับสนุนวัดในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ด้านการจัดการเมือง เรามีแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue ประชาชนเอาไว้แจ้งเหตุเวลาเจอฝาท่อที่พัง ฟุตบาทที่ไม่ดี ถ้าลูกศิษย์วัดที่เดินตามหรือบุคลากรของวัดใช้แอปฯ เป็น เห็นปัญหาในเมืองช่วยถ่ายส่งมาให้ เช้ามืดหลวงพ่อบิณฑบาตเจอไฟดับ เจอฟุตบาทไม่ดี ให้ส่งเข้ามาข้อมูลเหล่านี้จะทำให้พระคุณเจ้าสามารถเดินบิณฑบาตได้สะดวกขึ้นเพราะเราก็จะแก้ให้ทันทีภายในวัน 2 วัน
กิจกรรมวันนี้มี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.2
*โรงเรียนในสังกัดกทม.
ตอบลบ- มีเรียนวิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ไทย อยู่หรือเปล่าครับ
- มีการสวดมนต์ทุกเช้าวันศุกร์ ฟังธรรมจากพระอาจารย์ หรือเปล่าครับ
- มีการให้นักเรียนและครูนั่งสมาธิ ๕ นาทีก่อนเรียนทุกคาบหรือเปล่าครับ
*วัด
- มีการเชิญชวนประชาชนถือศีลอุโบสถทุกวันพระหรือเปล่าครับ
- มีจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาสวดมนต์ฟังธรรมและปฏิบัติในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่วัดใกล้บ้านหรือเปล่าครับ
- มีการส่งเสริมสนับสนุนพระเณรประชาชนศึกษาพระไตรปิฎกเรียนธรรมวินัย พระอภิธรรมและภาษาบาลีหรือเปล่าครับ