พ่อเมืองหนองบัวลำภู เปิดตัว “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู แห่งที่ 3 "ผ้าฝ้ายกะตุ่ยโป่งแค" ต่อยอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาหนุนเสริมให้จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นพื้นที่เรียนรู้การทอผ้าเพื่อสร้างคุณค่างานหัตถศิลป์
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า จังหวัดหนองบัวลำภูมุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน โดยนำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาเป็นเครื่องมือในการประกอบสัมมาชีพ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยังผลทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนและครอบครัวอยู่ดีมีสุข ได้รับการยกระดับทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งเสริมผ้าไทยอย่างครบวงจร” ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก พร้อมทั้งแนวพระดำริ Sustainable Fashion โดยการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า กลางน้ำ คือ การออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า และปลายน้ำ คือ การจำหน่าย เพื่อมีรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกอบการผ้า ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภูมีความโชคดีที่มีทรัพยากรบุคคลผู้เล็งเห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ด้วยเพราะสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณยาย รุ่นคุณแม่ ได้ทำให้ดูเป็นแบบอย่างในเรื่องผ้าไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มย้อมผ้าหลากหลายเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้องขวัญตา” หรือ “คุณสุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” ผู้เป็นต้นแบบรายแรก ๆ ของประเทศไทย ที่มีตั้งแต่ต้นน้ำ คือ คุณแม่ก็เป็นช่างทอผ้า และน้องขวัญตาก็มาเป็นช่างทอผ้า และต่อมาก็ได้นำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาการทอผ้ามาขยายผลออกแบบตัดเย็บ และเปิดพื้นที่ที่ดินของครอบครัวเป็นวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ทำให้ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ที่ล้วนแต่เป็นเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะเขามีทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งประกอบอาชีพ และแหล่งจำหน่ายผ้า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้รับเกียรติจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เดินทางมาเป็นประธานเปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) สู่การเป็น “เมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง” (City of Local Cloth Fashion) อันเป็นเครื่องยืนยันถึงสุดท้ายปลายทางของการส่งเสริมผ้าไทย คือการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพราะ “ผ้าทุกผืน” ที่พวกเราทุกคนสวมใส่ นอกจากได้รับความสวยงามแล้ว ยังไปต่อชีวิตให้กับคนอีกมากมายหลายคน หลายครอบครัวอีกด้วย
“จากจุดเริ่มต้นในการเปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) ทำให้จังหวัดหนองบัวลำภูมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีเพื่อ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชน จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดตั้งวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภูแห่งใหม่ โดยได้ทำการเปิดตัว “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู แห่งที่ 3 "ผ้าฝ้ายกะตุ่ยโป่งแค"” ณ กลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งแค ตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เครือข่าย OTOP เครือข่ายสตรี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และเครือข่ายงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ด้วยเพราะทางจังหวัดหนองบัวลำภูได้เล็งเห็นถึงศักยภาพอย่างก้าวกระโดดของกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งแคที่ได้มีการน้อมนำแนวพระดำริ Sustainable Fashion มาพัฒนาทีมงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นของกลุ่มที่น่าสนใจ คือ เส้นใยฝ้ายจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่หายากในปัจจุบัน และกลุ่มเองได้รับการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมไปถึงสามารถที่จะเชื่อมโยงวิถีชีวิต การเกษตร และวัฒนธรรมเพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ชาวบ้านในชุมชนได้ และภาคราชการทุกหน่วยงานของจังหวัดหนองบัวลำภู ก็เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุวิทย์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
ด้าน นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากจังหวัดให้ดำเนินการขับเคลื่อนวิชชาลัยฯ กล่าวว่า วิชชาลัย "ผ้าฝ้ายกะตุ่ยโป่งแค" มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่สำคัญตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู คือ การมุ่งหวังให้กลุ่มได้รับการพัฒนาศักยภาพควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริมเป็น “วิชชาลัยผ้าแห่งที่ 3” ของจังหวัดหนองบัวลำภู ต่อจากเทวาผ้าไทยและศูนย์การเรียนรู้และออกแบบขวัญตา ซึ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สถานที่ ผลิตภัณฑ์และส่งเสริมด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และทางจังหวัดมุ่งหวังให้กลุ่มได้รับการพัฒนาศักยภาพควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านของ นางฐิตติยาภรณ์ เพลินจิตต์ ผู้ใหญ่บ้านโป่งแค และประธานกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติบ้านโป่งแค กล่าวว่า “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู แห่งที่ 3 "ผ้าฝ้ายกะตุ่ยโป่งแค"” มีจุดเริ่มต้นจากแนวความคิดของตนเองที่เกิดจากการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์” ด้วยการสืบสานภูมิปัญญาและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน จึงเกิดการก่อตั้งกลุ่มและได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และการสนับสนุนจากภาคประชาชนในพื้นที่จนกลายเป็น “วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู แห่งที่ 3” ทำให้ในทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุสามารถมีรายได้ จากที่เคยเป็น "ภาระ" ของลูกหลานกลายเป็น "เสาหลัก" ของครอบครัวได้ โดยหลังจากนี้กลุ่มจะได้ขยายผลให้เกิดความยั่งยืนตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการชักชวนลูก ๆ หลาน ๆ คนรุ่นใหม่ในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้ โดยมีคุณย่า คุณยาย สมาชิกของกลุ่มซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา บ่มเพาะให้พวกเขาได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนำภูมิปัญญามาก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันจะยังผลทำให้พี่น้องประชาชนและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น