“ศุภมาส” หารือ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ขยายความร่วมมือด้านชีววิทยาศาสตร์ ทั้งการแพทย์จีโนมิกส์- การแพทย์ทางเลือก พร้อมเตรียมร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Belt and Road Initiative พ.ย. นี้ ณ นครฉงชิ่ง
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 นายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. และ รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ร่วมหารือฯ ณ ห้องพระจอมเกล้า ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวง อว.
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมและการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของสองประเทศ เพื่อยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในภาพใหญ่ให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ตนและ นายหาน จื้อเฉียงได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ด้านการอุดมศึกษา ได้แก่ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา/ครูผู้สอน การส่งครูอาสาสมัครจีนมาสอนในไทย ทุนการศึกษา การจัดตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศไทย 17 แห่ง และการจัดประกวดสุนทรพจน์ภาษาจีนทุกปี โดยในส่วนของความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกิจกรรมความร่วมมือที่โดดเด่น อาทิ การร่วมพัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมธุรกิจอวกาศได้ในอนาคต
“ที่สำคัญ จะมีการขยายความร่วมมือด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ทั้งการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์ทางเลือก ที่จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นและเจ็บป่วยน้อยลงซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตนยังได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ Belt and Road Initiative ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ นครฉงชิ่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือความร่วมมือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมทั้งจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชนระหว่างไทยและจีนอีกด้วย” นางสาวศุภมาส กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น