พช.ระนอง นำภาคีเครือข่ายเอามื้อสามัคคี "ยกสายชั้น ออกปาก โคก หนอง นา กระบุรี" ต่อยอด ขยายผล พัฒนาศักยภาพศูนย์เรียนรู้ เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายจักรพันธ์ ตระการศาสตร์ พัฒนาการจังหวัดระนอง ได้เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ในพื้นที่อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายมารี ชูดวง ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสาวปุญญิสา คำนาค ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสาวทัศนีย์ สุวรรณนิตย์ รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอกระบุรี เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ฯ โคก หนอง นา พช. เครือข่ายสตรี ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อช. และชาวบ้านในตำบล ร่วมกิจกรรม "ยกสายชั้น ออกปาก" ณ แปลง โคก หนอง นา ของคุณวิชชุดา นาคฤทธิ์ เจ้าของศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปลายคลองวัน หมู่ที่ 9 ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี ขนาดพื้นที่จำนวน 1 ไร่ โดยร่วมกันปลูกต้นไม้ ห่มดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพที่เหมาะสม มีการนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากแปลงโคก หนอง นา ทำเป็นอาหารมื้อเที่ยงรับประทานร่วมกัน และกิจกรรมเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้บริเวณแปลงพื้นที่โคก หนอง นา
นายจักรพันธ์ ตระการศาสตร์ พัฒนาการจังหวัดระนอง กล่าวว่า กิจกรรมที่แปลง โคก หนอง นา ของคุณวิชชุดา นาคฤทธิ์ ตั้งแต่ช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ดูแปลงสภาพโคก หนอง นา และร่วมกันเอามื้อสามัคคี ซึ่งเป็นแปลงต้นแบบของอำเภอกระบุรี มีกิจกรรมปลูกผักสวนครัว และผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 30 ราย เป็นชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ แปลงฯ ซึ่งจากศักยภาพของแปลงโคก หนอง นา แห่งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนองคาดหวังว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีกิจกรรมการรวมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง และสามารถผลผลิตจากพืชผักผลไม้ และสัตว์เลี้ยง ขยายผลต่อยอดสู่การแปรรูปสินค้า และการขยายช่องทางการตลอด สร้างงานืสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญของอำเภอกระบุรีต่อไปในอนาคตข้างหน้า
คุณวิชชุดา นาคฤทธิ์ เกษตรกร โคก หนอง นา และเจ้าของศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปลายคลองวัน กล่าวว่า เมื่อก่อนตนทำอาชีพครู ภายหลังจากเกษียณได้เริ่มมาทำการเกษตรอย่างเต็มตัว มีการปลูกผักไว้กิน ปลูกไม้ยืนต้น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในสระน้ำขนาดเล็ก ๆ ต่อมาได้มีโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เข้าร่วมกับโครงการฯ ในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง โดยได้รับการอบรมความรู้ วิธีการ และเทคนิคตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แปลงแห่งนี้ มีการทำน้ำหมัก ทำปุ๋ย ปรับปรุงดินตามแนวทางพระราชดำริและหลักทฤษฎีใหม่ของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้มีน้ำสมบูรณ์ มีดินที่ดีเหมาะแก่การเพาะปลูก ที่สำคัญผลผลิตที่ได้ปลอดสารพิษอีกด้วย ปัจจุบันได้มีการนำพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มาปลูกบนคันนา เป็นแปลงเกษตรแบบผสมผสาน มีทั้งมะพร้าว ทุเรียน มังคุด กล้วย ฯลฯ
คุณวิชชุดา นาคฤทธิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการทำปุ๋ยหมัก ขยายผลให้แก่ชาวบ้านในชุมชนบริเวณใกล้เคียง ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองมีความมั่นคงทางอาหารสอดคล้องกับโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และโครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้เราดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นคง เพราะว่าเราได้ทำเองแล้วก็กินในสิ่งที่เราปลูกเอง อาหารมีความปลอดภัย มีอาหารครบ 5 หมู่ มีทั้งเนื้อสัตว์ มีไข่ มีผัก มีปลา มีผลไม้ที่เราปลูกเองนอกบ้าน ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดระนอง และอำเภอกระบุรี ที่ให้การสนับสนุนในทุกขั้นตอนโดยเฉพาะการให้คำแนะนำ และคำปรึกษา ทำให้สามารถนำข้อคิดเห็น ไปใช้ต่อยอดขยายผลจนเห็นผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ที่เป็นรูปธรรมในวันนี้
นายจักรพันธ์ ตระการศาสตร์ พัฒนาการจังหวัดระนอง กล่าวเน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.ระนอง" ตามกรอบความคิด “ก้าวต่อไป โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งหมด 17 เป้าหมาย ภายใต้ 5 มิติ (5P) ได้แก่ มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) เน้นย้ำในการพุ่งเป้าทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ หรือภูมิสังคม โดยต้องเป็นการพัฒนาที่มีการบูรณาการการทำงานของเครือข่าย กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นการต่อยอด ขยายผล และสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น