วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"เศรษฐา" แนะเพิ่มโบกี้ขนส่งทุเรียนช่วงไฮซีซั่นไปจีน ขยายผลทำฝายซอยซีเมนต์ทั่วประเทศ ลุ้นนำร่องธนาคารน้ำใต้ดินที่ชัยนาท



"เศรษฐา"เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ พร้อมพบปะเกษตรกรชาวสวนทุเรียน พื้นที่ จ.ระยอง ย้ำรัฐบาลใช้การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม-เกษตรแม่นยำ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในเวลา 4 ปี

เมื่อวันที่ 4  พฤศจิกายน 2566  เวลา 14.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยี่ยมชมศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ และพบปะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มประมง ปศุสัตว์ พัฒนาที่ดิน และกลุ่มวิชาการ เป็นต้น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 นายกรัฐมนตรีได้มอบพันธุ์ปลาตะเพียนจำนวน 1,000 ตัวให้กับผู้แทนเกษตรกรและได้รับฟังบรรยายสรุปศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดําริ เนื่องจากสภาพพื้นที่เดิมของจังหวัดระยอง-ชลบุรี เป็นสภาพป่าที่ถูกทำลาย ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร และประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ รายได้ลดลง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ สามารถส่งน้ำมายังพื้นที่ดังกล่าวได้ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร  สำหรับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงฯ มีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน 14 หน่วยงาน มีผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้อำนวยการศูนย์ พื้นที่เป้าหมายหลัก คือหมู่บ้านขยายผลบริเวณรอบศูนย์ ตำบลแม่น้ำคู้ จำนวน 7 หมู่บ้าน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และหน่วยงานปกติ มีผลดำเนินงานสรุปได้ เช่น การพัฒนาด้านการเกษตร มีการศึกษาวิจัยทดสอบด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์และดิน รวมถึงระบบเกษตรอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ โดยจัดทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป เช่น หลักสูตรการเลี้ยงสัตว์ปีกพัฒนาสู่ระบบอินทรีย์ หลักสูตรโรงเรือนอีแวปอัจฉริยะ เป็นต้น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับเกษตรกรว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ที่มีองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชนทุก ๆ คน พร้อมขยายผลไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเรื่องการเกษตรถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ เราต้องการจะส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในเวลา 4 ปีผ่านการใช้ การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และการใช้เกษตรแม่นยำ จะเห็นได้จากที่นายกฯ ได้เดินทางไปต่างประเทศ หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ได้เดินทางไปคือการเปิดตลาดการค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร การปศุสัตว์หลาย ๆ อย่าง โดยมีขั้นตอนต่อไปที่จะต้องดำเนินการหลายขั้นตอน ซึ่งทางตลาดต่างประเทศก็ได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเอกชนของเขาก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีจากประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง

 นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องอ่างเก็บน้ำ ว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีน้ำก็ลำบาก ฉะนั้น การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการพูดคุยและให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหาระหว่างกัน โดยในเรื่องฝายซอยซีเมนต์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ให้ความสำคัญ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะมีการขยายผลเรื่องการทำฝายซอยซีเมนต์ไปทั่วประเทศ หากเห็นว่าจังหวัดนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าภาคอื่น ขอให้ติดต่อรับบริการได้ที่ สทนช. ส่วนเรื่องการขนส่งทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเรา ปัจจุบันคนไทยบริโภคทุเรียนเฉลี่ย 5 กก./คน ขณะที่คนจีนบริโภคทุเรียนเฉลี่ยไม่ถึง 1 กก./คน ฉะนั้น จึงจะสามารถขยายไปได้อีก โดยไม่ต้องไปไกลถึงคนมาเลเซียที่บริโภคทุเรียนเฉลี่ย 11 กก./คน หากคนจีนบริโภคทุเรียนเฉลี่ย 5 กก./คน ก็น่าจะทำให้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นได้ถึง 7 เท่า นอกจากนี้ ปัญหาที่เกษตรกรได้นำเสนอ เช่น เรื่องพื้นผิวถนนที่เป็นพื้นที่ใน สปป.ลาว นั้น ก็เป็นเรื่องที่คงจะไปพูดคุยกับ สปป.ลาวได้ แต่จะไปบอกให้เขาทำนั้นคงจะลำบาก ส่วนเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งทุเรียนมีฤดูไฮซีซั่น อยากให้มีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการเพิ่มตู้โบกี้ช่วงไฮซีซั่น หากเพิ่มตู้ตลอดทั้งปีอาจจะไม่เหมาะสม โดยหากมีการวางแผนล่วงหน้า ก็เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ จะสามารถแก้ไขได้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องแหล่งเก็บน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ว่า รัฐบาลมีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นโครงการนำร่องอยู่ที่ จังหวัดชัยนาท ที่อีกประมาณ 1 เดือนกว่า ๆ จะแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี โดยการเจาะแหล่งเก็บน้ำจะต้องเจาะให้ลึกทะลุชั้นดินเหนียว ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใต้ดินสำหรับใช้ได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ จะขอให้มีการมาพูดคุยกับจังหวัดระยองเพราะเรื่องน้ำที่จังหวัดระยองก็มีความสำคัญ หากสามารถทำธนาคารน้ำใต้ดินได้จะสามารถลดภาระเรื่องการใช้น้ำ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมด้วย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...