วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ปลัด มท." ลุยถกผู้แทนยูเอ็น ดันการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อ ปลื้มไทยประเทศแรกของโลกขายคาร์บอนเครดิต



ปลัด มท. ประชุมร่วมผู้แทน UNDP ติดตามความก้าวหน้าโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ในประเทศไทย (SDGs Localization) พร้อมเดินหน้าขยายผลขับเคลื่อน 17 เป้าหมาย SDGs ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ในประเทศไทย (SDGs Localization) ร่วมกับนายเรโนล เมแยร์ (Mr. Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme : UNDP) พร้อมด้วยคุณอรชพร นิมิตกุลพร ผู้จัดการโครงการฯ คุณกอบกุล อินเอี่ยม เจ้าหน้าที่โครงการ ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย คุณณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายสรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) คณะกรรมการโครงการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมพระนคร ชั้น 12 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2030 พร้อมกับทุกประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย "ขจัดความยากจน" และ "การพัฒนาเมือง" เพียงแค่ 2 เป้าหมาย แต่ทว่า ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย คือ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกมิติ เราจึงยืนยันเสมอว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 เป้าหมาย ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน" เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยและประเทศไทยในการสานพลังทุกภาคีเครือข่ายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่า การที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ ได้นั้น ต้องมี "ผู้นำ" ผู้เป็น No.1 ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด และในระดับอำเภอมีนายอำเภอ เป็นผู้นำขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

"นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำในเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืนจะบรรลุเป้าหมายสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือที่มุ่งมั่น "เพื่อพวกเรา เพื่อบ้านเมืองของเรา" เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน" ซึ่งในเชิงการขับเคลื่อนงานภายใต้องคาพยพของกระทรวงมหาดไทย ตามพันธกิจ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ทุกเรื่องของประชาชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับเรา เราจึงพยายามให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาข้อที่ 17 โดยมีภาคีเครือข่าย (Partnership) เป็นหุ้นส่วนสำคัญ ด้วยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ได้ "บูรณาการคน" ไปสร้างทีมแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในทุกระดับ และ "บูรณาการงาน" ด้วยการส่งเสริมผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ได้เป็นผู้นำขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องร่วมกันกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งการบูรณาการทั้งหมดทั้งในหน่วยงานและนอกหน่วยงานจะเกิดสัมฤทธิ์ผลได้นั้น ผู้บริหารระดับสูงทุกคนจะต้องเข้าใจในแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก่อน พร้อมทั้งถ่ายทอดไปยังผู้ปฏิบัติได้อย่างเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ ก็จะช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้ และในส่วนของเรื่องงบประมาณของจังหวัดนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในแนวทางการทำงาน เพราะในความเป็นจริง ด้วยข้อจำกัดด้านการบริหาร ทำให้รัฐไม่สามารถมีงบประมาณได้เพียงพอครอบคลุมไปทั้งหมดทุกเรื่อง แต่มิใช่ว่าไม่มีงบประมาณภาครัฐแล้วจะทำงานไม่ได้ เพราะเราสามารถบูรณาการใช้พลังของภาคีเครือข่ายมาช่วยประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากที่เราทำอยู่และทำอย่างต่อเนื่อง คือ กระทรวงมหาดไทยเราสามารถช่วยเหลือคนไม่มีที่อยู่อาศัยกว่า 2 แสนครัวเรือน ให้ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าหากคิดเป็นงบประมาณแล้ว เป็นเงินมากมายมหาศาล แต่ 2 แสนครัวเรือนนั้น เราแทบไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ทั้งหมดมาจากคนในพื้นที่ โดยมีภาคราชการเป็นผู้เชื่อมโยงประสานระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ในประเทศไทย (SDGs Localization) นี้ แม้เราจะโฟกัสการขับเคลื่อนเพียง 15 จังหวัด ตามแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ "แผนของกระทรวงมหาดไทย" เรามีความชัดเจนที่จะขยายผลไปให้ครบทั้ง 76 จังหวัด โดยเฉพาะเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยเราสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วกว่า 1.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2569 จะได้รับการรับรองปริมาณมากถึง 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้เพราะเราให้ความสำคัญกับโครงการและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกันทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมี "การจัดตั้งกองทุนขยะรีไซเคิล" เพื่อเปลี่ยนจากขยะในชีวิตประจำวันของเราให้กลายเป็นมูลค่าเพิ่ม โดยมีแผนที่จะจัดตั้งในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแปรเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินกองทุนสวัสดิการท้องถิ่นในการดูแลและพัฒนาคนในชุมชน รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน สอดคล้องกับ SDGs

"กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการเรียนรู้ควบคู่ไปกับทุกภาคส่วน และเรามีกำลังสำคัญ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาและใช้จุดเด่นของส่วนราชการในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เราพร้อมจะสนับสนุนการทำงานร่วมกันอยู่เสมอ และจะต่อยอดขยายผลเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายเรโนล เมแยร์ (Mr. Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างสูง ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) และภาคีเครือข่าย (Partnership) ทุกภาคส่วน จนสำเร็จบรรลุเป้าหมายเกิดผลเห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่พี่น้องประชาชนเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่ไปช่วยกันนำแนวทาง องค์ความรู้ ตลอดจนถึงการประชาสัมพันธ์รณรงค์เชิญชวนพี่น้องประชาชน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพวกเราในฐานะองค์การสหประชาชาติได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าความสำเร็จและความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน

นายเรโนล เมแยร์ (Mr.Renaud Meyer) ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติเชิงพื้นที่ในประเทศไทย (SDGs Localization) ซึ่งบางส่วนได้ทำสำเร็จไปแล้ว และบางส่วนที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะได้ประมวลรวบรวมข้อมูล และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ตามตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17 Goals) ที่ทาง UNDP ได้บูรณาการร่วมกันทั้งในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่นท้องที่ ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เผื่อถ่ายทอดแนวทางโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เพื่อทำให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมกัน นอกจากนี้เรายังคำนึงถึงแผนระยะยาวในอนาคต ซึ่งได้มีการเตรียมพูดคุยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยนำร่องใน 15 จังหวัด แต่เราจะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ดังที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า เราจะไม่ได้หยุดแค่นี้ เราจะขยายผลให้ครบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อการขับเคลื่อนแบบกระจายวงกว้าง เพื่อสร้างความยั่งยืนไปพร้อมกันกับทุกประเทศทั่วโลก

"UNDP มีความยินดีที่จะสนับสนุนและจะทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสานต่อโครงการฯ นี้ต่อไป อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อนำประโยชน์และสร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ โดยทางสหประชาชาติประจำประเทศไทยและสหภาพยุโรป เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่เห็นอยู่ตอนนี้เป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็น ด้วยแรงปรารถนาของผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จได้ พร้อมกับที่ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเราทำเพื่ออนาคต ด้วยความทุ่มเท ความตั้งใจ ในการสร้างพลังเชิงบวกให้กับชุมชน เป็นแรงจูงใจที่ดีให้กับพวกเราในการทำงาน และจะเพิ่มการมีส่วนร่วมโดยการทำให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อความยั่งยืน" นายเรโนลฯ กล่าวในช่วงท้าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือ: หลักสูตรนักธรรมตรียุคเอไอ

คิดเขียนโดยดร.สำราญ สมพงษ์ - แชทจีพีที (เป็นกรณีศึกษา) สารบัญ 1. คำนำ ความสำคัญของการศึกษานักธรรมในสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลแ...