วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

วธ.จับมือจังหวัดอุบลฯเปิดตัวตลาดบก สืบสานแพร่ภูมิปัญญา soft power วัฒนธรรมเขมราฐธานี



วธ.จับมือจังหวัดอุบลราชธานี เปิดตัวตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ในงานเทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว สัมผัสวิถีวัฒนธรรมเขมราฐธานี ดินแดนแห่งความสุข เผยแพร่ภูมิปัญญา soft power ส่งเสริมการท่องเที่ยว ชิม ช๊อป ของดีวิถีชุมชน กระจายรายได้ให้ท้องถิ่น

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีเปิดตัวตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในงานเทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในกิจกรรม “10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” โดยมี นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน  นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวรายงาน นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารวธ. วัฒนธรรมจังหวัดภาคอีสาน 19 จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขมราฐ ผู้นำชุมชน-ผู้ขับเคลื่อนตลาด นักท่องเที่ยวและประชาชน เข้าร่วมงาน (เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา) ณ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนภูรีประศาสน์ ตลาดเขมราษฎร์ธานี ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 



นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดวธ. ประธานกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีเป้าหมายและพันธกิจสำคัญในการเทิดทูน สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีการรักษาสืบทอด พัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน 

สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : การดำเนินงานพัฒนาตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ด้วยการพัฒนาศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย และจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนขยายช่องทางการตลาด ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ ในวงกว้าง ให้ตลาดชุมชนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป



ด้าน นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทุนทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม 

“การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการคัดเลือกตลาดบก และตลาดน้ำ ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยว

เชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดย “ตลาดเขมราษฎร์ธานี” ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินโครงการด้วยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พร้อมต่อการบริหารจัดการชุมชนและบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชนและองค์กรเครือข่าย ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การบริการ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการองค์กร และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่

นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เขมราฐ แปลว่า ดินแดนแห่งความเกษมสุข เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำโขง เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่าสองร้อยปี สำหรับตลาดถนนสายวัฒนธรรม "เขมราษฎร์ธานี" เริ่มต้นจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 ด้วยแนวความคิดที่จะพัฒนาบ้านเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจที่เคยคึกคักในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในบรรยากาศย้อนยุค ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของคนรุ่นเก่า โดยยังคงมีอาคารสถานที่เก่าแก่หลายแห่งที่ชาวเขมราฐยังคงอนุรักษ์และบูรณะไว้ให้คนรุ่นลูกหลาน ได้เยี่ยมชมมาจนถึงปัจจุบัน คือ พิพิธภัณ์บ้านขุนภูรีประศาสน์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดงานในวันนี้

  “ภายในตลาดยังมีร้านขายของพื้นบ้าน อาหารถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ้าฝ้ายทอมือ ของฝากที่ระลึกต่าง ๆ รวมทั้ง มีกิจกรรมการแสดงของนักเรียน และกลุ่มชมรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การฟ้อนรำ เต้นบาสโลบ การแสดงศิลปะ ดนตรี และการจัดนิทรรศการภาพเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐ ตลาดเขมราษฎร์ธานี เปิดให้บริการทุกวันเสาร์ 

เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 - 21.00 น. มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นความโชคดีของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ตลาดเขมราษฎร์ธานี ได้รับเลือก เป็น 1 ใน 10 ตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงวัฒนธรรม อันจะเป็นการต่อยอด ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายกำพล กล่าว

พิธีเปิดตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย (เขมราษฎร์ธานี) เริ่มด้วย การแสดง เต้นบาสโลบ ให้การต้อนรับ โดยประธานชมรมรัก (ษ์) วัฒนธรรมฯ คณะกรรมการชุมชน และจากชมรมร้องเล่นเต้นรำฯ รวม 50 คน แสดง การแสดงรำตังหวาย จากชุมชนเจียด ต่อด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม เพลง บูชาปู่มุจลินทร์ โดย คุณนุชนันท์ วรรวิรา ไหทองคำ จากนั้น เป็นพิธีเปิดเทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ ชมการแสดงพิธีเปิด “ลายลำโขง” สายน้ำแห่งวัฒนธรรม วิถีชีวิตริมโขง 3 ชุมชน (เขมราฐ นาแวง เจียด)  และ การแสดง Fashion Show ส่งมอบชุดผ้าขาวม้าทอมือ หลังจากรับชมการแสดง  ประธานในพิธี ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาด  จากนั้น ประธานในพิธี พร้อมคณะฯ เดินเยี่ยมชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และสัมผัสบรรยากาศตลาดเขมราษฎร์ธานี ชมการสาธิตทำของที่ระลึกต่าง ๆ จากผ้าฝ้ายทอมือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโพธิ์เมือง เฮือนชูฮัก  การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ ผ้าฝ้าย และผลิตภัณฑ์จากผ้า  ชิม ช๊อป อาหารพื้นถิ่น  ได้แก่ กล้วยตากแสงแรก ข้าวผัดน้ำผัก ปิดท้ายด้วยการแสดงมินิคอนเสิร์ต “ตะวันรุ่งลูกทุ่งรังสิต” นำโดย คุณนุชนันท์ วรรวิรา ไหทองคำ และอุ้ม อภิษฎา แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 2023

ตลาดเขมราษฎร์ธานี ถือเป็นตลาดบก ลำดับที่ 8 ต่อจาก  -ตลาดจีนโบราณชากแง้ว จังหวัดชลบุรี  -ตลาดสู้ศึกคึกคัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ -ตลาดเชียงคาน จังหวัดเลย -ตลาดคลองบางหลวง ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ  -ตลาดริมน้ำคลองแดน จังหวัดสงขลา -ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ เชียงใหม่ -ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยตลาดบกที่จะจัดพิธีเปิดลำดับต่อไป ได้แก่  -ตลาดตรอกโรงยา อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 และปิดท้ายด้วย -ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 จึงขอเชิญชวนประชาชน ไปเที่ยวชมอุดหนุนสินค้าของดี สัมผัสวิถีชุมชน กระจายรายได้ให้ท้องถิ่นต่อไป

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...