วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

 "ลิณธิภรณ์" รองเลขาฯพท.ยันหนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วย Digital Wallet กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่



วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วย Digital Wallet กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ในทุกวันนี้ถ้าเราเดินตามถนนแล้วสวนกับคน 3 คน จะมีอยู่ 2 คนเท่านั้นค่ะ ที่เป็นลาภอันประเสริฐ แต่อีก 1 คนนั้น “เป็นหนี้” ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศระบุว่า สัดส่วนของคนไทยที่มีหนี้ คือ 37% หรือพูดง่าย ๆ ว่า 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศเป็น "หนี้" 

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะ “หนี้ครัวเรือน” จำนวนมหาศาล และเรากำลังเผชิญหน้ากับมันอย่างยากลำบาก หากเราไม่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยขึ้นมาอีกครั้งและทำให้คนไทยมีรายได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

หนี้ที่คนไทยจำนวนมากต้องแบกรับ ทำให้ในแต่ละวันประชาชนต้องกัดฟันสู้ชีวิตเพื่อหาเงินมาแก้หนี้จนไม่เหลือเงินเพียงพอที่จะสะสมทรัพย์สินเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เราต้องเร่งแก้ไข ทั้งปัญหาหนี้สินเรื้อรังและปัญหา “รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย”

วันนี้ดิฉันจะมาอธิบายให้ฟังถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่จะสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศและที่สำคัญต่อประชาชนคนไทย และทางออกอันจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนจะลุกลามจนสายเกินแก้

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง

ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงถึง 90.6% หรือกว่า 166 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 มีคนไทยกว่า 1 ใน 3 หรือราว 25 ล้านคนที่เป็นหนี้  ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ คำนวณว่าจากปี 2560 เป็นต้นมา สัดส่วนของคนไทยที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 37% และ 57% ของคนที่เป็นหนี้ มีหนี้สินเกิน 100,000 บาท ทำให้ในภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านนมา และในจำนวนคนไทยกว่า 25 ล้านคนที่มีหนี้ในระบบนั้น มีมูลค่าหนี้โดยเฉลี่ยมากถึง 527,000 บาท

จากตัวเลขที่พูดมาทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีหนี้สินจำนวนมหาศาล แต่เพียงแค่ตัวเลขปริมาณหนี้ไม่พอที่จะทำให้เราเข้าใจว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของคนไทยรุนแรงแค่ไหน

หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนเราที่เป็นประเทศตลาดเกิดใหม อย่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 73.1% และประเทศอินโดนเซีย ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 17.3% เท่านั้น

ทำให้เราเห็นว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย มีสัดส่วนที่สูงจนน่าตกใจแค่ไหน สูงพอที่จะไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วนะคะ อย่างสหราชอาณาจักรซึ่งมีขนาดของ GDP ใหญ่กว่าไทยมาก แต่กลับมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP  ใกล้เคียงกับไทย คือ 86.4% และสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP 78% นั่นหมายความว่าเรามีเงินน้อยกว่าเขา แต่กลับมีสัดส่วนหนี้ที่สูสีกับประเทศพัฒนาแล้ว

แต่ทราบไหมคะว่ากว่า 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทย หรือกว่า 68%  อาจเป็นหนี้ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ได้ จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และบัตรเครดิต 29% ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการบริโภคที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตเพิ่มเติม มีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้มีภาระผ่อนต่อเดือนค่อนข้างสูง 

ขณะที่หนี้ที่จะก่อให้เกิดรายได้หรือความมั่งคั่ง เช่น หนี้เพื่อธุรกิจและหนี้บ้าน มีเพียงอย่างละ 4% จากบัญชีหนี้ครั้วเรือนทั้งหมด ต่างกับบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนใกล้เคียงกับไทย ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถสร้างรายได้หรือความมั่นคงได้

หลายคนอาจจะบอกว่า “ถ้ามีหนี้ก็แค่ใช้หนี้ให้หมดสิ เรื่องนี้ก็ไม่เป็นปัญหาแล้ว” ถ้าเรื่องมันง่ายแบบนี้ก็คงจะดีสิคะ แต่จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่ากว่า 20% หรือ 1 ใน 5 ของคนไทยที่เป็นหนี้ในเครดิตบูโรกำลังประสบกับปัญหาหนี้เสีย ซึ่งพิจารณาจากการมีบัญชีสินเชื่อที่มีการค้างชำระเกินกว่า 90 วันขึ้นไป โดยกลุ่มคนที่มีสัดส่วนการสร้างหนี้ที่ไม่อาจสร้างรายได้สูงที่สุด และกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้เสียสูงที่สุดนั้นดันเป็นกลุ่มเดียวกันด้วย นั่นคือ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (20-35 ปี) 

เราพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานและกำลังเป็นวัยรุ่นสร้างตัวนี่แหละค่ะ เริ่มมีหนี้กันเร็วมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด 1 ใน 2 ของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานจะเริ่มมีหนี้สินกันแล้ว ขณะที่สัดส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเริ่มเผชิญหน้ากับปัญหาหนี้กันตั้งแต่อายุยังน้อย และหนี้ที่เกิดขึ้นในคนกลุ่มนี้ก็เป็นหนี้ที่ไม่อาจสร้างรายได้ ยังเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้เสียสูงที่สุดถึง 1 ใน 4 หรือ 24% ของบรรดาผู้กู้ที่มีหนี้เสีย

ส่วนกลุ่มที่มีสถานการณ์หนี้น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยสัดส่วนของหนี้ต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเนี่ย อยู่ที่ 34% และ 41% 

พูดง่าย ๆ ว่า หากมีรายได้ 100 บาทถ้วน เกษตรกรต้องหักเงินออกเพื่อไปจ่ายหนี้แล้ว 34 บาท ส่วนผู้มีรายได้น้อยต้องสูญเงินไปกับการจ่ายหนี้ถึง 41 บาท ทำให้เหลือเงินที่จะเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันน้อยลง และแทบไม่เหลือเป็นเงินเก็บออมเพื่อจะลงทุนประกอบอาชีพ สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างโอกาสให้กับตัวเองและครอบครัวได้

ถ้าจะให้สรุปสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยใน 3 คำ ก็ต้องบอกว่า “โหด น่ากังวล และต้องเร่งแก้ไข” ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการที่เร่งทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยดูน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่ ได้แก่ 1. หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่อาจสร้างรายได้ และ 2. หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต ครัวเรือนอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ตามข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2554-2564 ส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ แต่กลับพบว่าค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้ 

โดยรายได้เพิ่มจาก 23,236 บาท ในปี 2554 เป็น 27,352 บาท ในปี 2564 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 17,403 บาท ในปี 2554 เป็น 21,616 บาท ในปี 2564 และยัังพบอีกว่าหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบปี 2564 กับปี 2554 หนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.5 เท่า

ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

ถึงเรื่องหนี้จะฟังดูเป็นเรื่องส่วนตัวที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ อย่างสำนวนไทยที่ว่า “เรียนผูกต้องเรียนแก้” เมื่อสร้างหนี้เองก็ต้องบริหารจัดการแก้หนี้เอง ซึ่งอาจจะฟังดูสมเหตุสมผล แต่หญิงว่านี่เป็นความจริงที่ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะอย่าลืมนะคะว่า ครัวเรือนเป็นองค์ประกอบของภาพใหญ่กว่าที่เรียกว่า ประเทศไทย ดังนั้นหนี้ของแต่ละครัวเรือนของไทยย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาระยะหนึ่งแล้ว สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ในจุดใกล้เส้นยาแดงที่ 30% มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด เส้นยาแดงที่ว่า คือ ถ้าสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นจนเกิน 30% เมื่อไหร่ มันจะกลายเป็นจุดวกกลับ

จากที่การก่อหนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคก็จะเปลี่ยนเป็นการฉุดรั้งการบริโภคของครัวเรือนแทน และเมื่อเกิดโควิดซึ่งทำให้รายได้ของครัวเรือนหายไปมาก ครัวเรือนจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อชดเชยรายได้ในส่วนที่หายไปและพยุงกำลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้โดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจนเกินระดับ 30% เป็น 37% ภาระหนี้ครัวเรือนจึงได้กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าหลังโควิดเป็นต้นมา รายได้ของครัวเรือนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากภาระหนี้ที่สูง ทำให้ครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้ส่วนใหญ่ไปชำระหนี้มากกว่าการบริโภคจับจ่ายใช้สอย หรือลงทุนได้อย่างเต็มที่ ภาระหนี้จึงจะยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป

ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงเช่นนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินด้วยในอีกทาง หากลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้พร้อม ๆ กัน ก็อาจจะกระทบกับฐานะทางการเงินของเจ้าหนี้ และทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้างจนอาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้

ความเป็นจริงอันหนึ่งที่ต้องยอมรับ ก็คือ การบริโภคและการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงไหนที่การส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวลง ก็ได้รับอานิสงส์จากการบริโภคของภาคครัวเรือนนี่แหละค่ะ ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ แต่เมื่อภาระหนี้ของครัวเรือนไทยสูงขึ้น ย่อมกระทบกับกำลังซื้อในการบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทั้งนี้ ปัญหาที่พูดไปแล้วในข้างต้นยังอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญกรรม ที่อาจเกิดขึ้นจากความกดดันในทางเศรษฐกิจจากปัญหาหนี้ จนกระทบกับความปลอกภัยของคนในสังคม และปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่สูงขึ้น 

สวนทางกับรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง คนวัยทำงาน 1 คน ต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เงินหามาได้ก็ต้องใช้จ่ายไปกับการดูแลผู้สูงอายุมากกว่าใช้จับจ่ายใช้สอยเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว หรือลงทุนเพื่อสร้างอนาคตให้กับตัวเอง นั่นเท่ากับว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ของคนไทยจะลดลง เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงตามไปด้วย

ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะอยู่รั้งท้ายในอาเซียน จากที่เราเคยเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 เราจะกลายเป็นปรเะเทศที่คอยเกาะประเทศอื่นเอาจริง ๆ ถ้าเราไม่รีบกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้คึกคัก ทำให้คนไทยได้มีโอกาสมากขึ้นสร้างเนื้อสร้างตัว ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่กำลังอยู่ในจุดเปราะบาง อาจลุกลามกลายเป็นตัวฉุดรั้งอนาคตไทย

ทางออกหนี้ครัวเรือนไทย ทางไปต่อของเศรษฐกิจ

มีคำแนะนำเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเยอะแยะมากมายค่ะ หลายสำนักก็มองที่ปัจจัยต่าง ๆ แตกต่างกันไป แต่จากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ระบุถึงวิธีแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนใน 3 เรื่อง คือ “เพิ่มรายได้ แก้ไขหนี้ สร้าง Financial literacy หรือความรู้ทางการเงิน” ซึ่งหญิงเห็นด้วยมาก ๆ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้กับคนไทย

ในส่วนของแก้ไขหนี้และการให้ความรู้ทางการเงิน มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีโครงการให้คำแนะนำแก่ลูกหนี้เพื่อปรับตัวและหลุดพ้นจากปัญหานี้ รวมถึงนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิคแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน รวมถึงหน่วยงานอื่นที่ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน

ในส่วนของรัฐบาล ก็มี “นโยบายพักหนี้เกษตรกร” ซึ่งเกษตรกรเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ 34% การพักหนี้เกษตรกรจะทำให้มีรายได้เพียงพอไปทำมาหากิน ไม่ใช่มาพะวงหน้าพะวงหลังกับหนี้สิน หาเงินมาได้ก็ต้องมาใช้หนี้ แทนที่จะไว้ใช้ลงทุนทำมาหากินเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง 

แต่แน่นอนค่ะว่า การพักหนี้อย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ การพักหนี้เป็นแค่การบรรเทาความช่วยเหลือ พรรคเพื่อไทยยังมีนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายดูแลหนี้สินของประชาชนคนไทยทุกคน

พรรคเพื่อไทยย้ำมาโดยตลอดค่ะว่า เราจะ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน และนี่จะเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชน

รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนแล้วในขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้เกษตรกร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือมาตรการลดภาระราคาพลังงาน-ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้และขยายโอกาสให้กับพี่น้องคนไทย

การเพิ่มรายได้ของประชาชนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว เพราะตราบใดที่ครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น ไหนจะต้องนำไปลงทุน ประกอบธุรกิจ หรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน

ดิจิทัลวอลเล็ต เครื่องมือเศรษฐกิจ

การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่และกระจายไปในทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย สำหรับกลุ่มที่ต้องนำเงินไปซื้อสิ่งของจำเป็นเพื่อการดำรงชีพและลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันก็จะได้มีโอกาสหายใจมากขึ้น ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็นกว่า จนไม่มีไม่มีเวลามานั่งวางแผนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว สำหรับกลุ่มที่ต้องการจะสร้างรายได้เพิ่มเติมก็สามารถรวมเงินกันในครอบครัวเป็นก้อนใหญ่ แล้วนำไปลงทุนในธุรกิจหรือเปิดกิจการทำมาค้าขาย เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น

ขณะที่ภาคธุรกิจจะเกิดการขยายการลงทุน เกิดการผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดเป็นรายได้ของรัฐบาลในรูปแบบของภาษีที่มากขึ้น ซึ่งหมุนวนกลับมาเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปอีก และที่สำคัญช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ ให้พร้อมรับมือกับโลกในอนาคตต่อไปในระยะยาว

คำถาม คือ ทำไมเราจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยล่ะ?

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 1.9% เท่านั้นนะคะ ขณะที่ในปี 2566 คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรายได้สูง ระดับรายได้ขั้นต่ำของประเทศเหล่านั้นมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.5% นั่นหมายความว่าหากเศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับ 2-3% ต่อปี ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวไปประเทศที่มีรายได้สูงได้เลย 

สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้เขียนบทความชื่อ “จากร้อยละ 3 สู่เป้าหมายร้อยละ 5: ผลลัพธ์และเส้นทางไทยสู่เศรษฐกิจรายได้สูง” โดยบอกว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี ไปได้เรื่อย ๆ ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) กลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2583 แต่หากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตในระดับเฉลี่ย 5% ต่อปีได้ ไทยจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2577 

ตัวเลขระหว่าง 3% กับ 5% อาจจะดูต่างกันน้อยนะคะ แต่นั่นหมายถึงการที่เราสามารถประหยัดเวลาที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศรายได้สูงได้ถึง 6 ปี นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการอย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นมากกว่านี้ หากเราต้องการจะเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเกิน 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ปี 2566 คนไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี)

จากการที่หญิงได้มีโอกาสตามท่านนายกรัฐมนตรีไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่าประชาชนจำนวนมากทั้งตื่นเต้นและตื่นตัวที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากรัฐบาล บางคนถึงขั้นวางแผนแล้วว่า เมื่อได้รับเงิน 10,000 บาท จะเอาไปลงทุนทำอะไรบ้าง บางคนเปิดร้านขายของ บางคนทำร้านก๋วยเตี๋ยว การมีเงินดิจิทัล 10,000 บาทมาเติม จะทำให้ต้นทุนลดลงและอาจมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จะได้มีเงินเก็บสะสมไว้สร้างเนื้อสร้างตัว

การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกว่า 560,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาคครัวเรือน คาดว่าเม็ดเงินนี้จะหมุนในระบบเศรษฐกิจ 4 รอบ มูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท และรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นนโยบายต่าง ๆ เพื่อ “ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส” ให้กับคนไทยและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป

แน่นนอนค่ะ ลำพังเพียง “นโยบายเงินดิจิทัล” ไม่อาจแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยได้ทั้งหมด แต่เป็นนโยบายระยะสั้นที่จำเป็น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังหายใจรวยรินขนานใหญ่ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยครั้งใหญ่ ช่วยให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากจากภาระทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ และช่วยเป็นทุนในการต่อยอดสร้างโอกาสให้ประชาชนจากเงิน 10,000 บาท ซึ่งจะทำให้คนไทยมีรายได้ในกระเป๋ามากกว่ารายจ่าย เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรากำลังประสบและท้าทายศักยภาพของประเทศไทย

นโยบายนี้เป็นเพียง 1 ในแพคเกจนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อีกมากมายของพรรคเพื่อไทย เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นจนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ การสร้างโอกาสในสังคม และการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เพื่อปลดล็อกศักยภาพให้พี่น้องสามารถหารายได้อย่างมีศักดิ์ศรีและฝ่าวิกฤตหนี้ครัวเรือนนี้ไปพร้อมกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...