วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"ปลัด มท." เยี่ยมโคกหนองนาอำเภอเพ็ญอุดรธานี แนะต้องกระตุ้นทุกครัวเรือน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใช้จนเป็นวิถีชีวิต



ปลัด มท. ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา อำเภอเพ็ญ เน้นย้ำ KPIs ของศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา ไม่ใช่ปริมาณคนมาเยี่ยมชม แต่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปใช้จนเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพและจริงจัง เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566   เวลา 08.30 น. ณ พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" แปลงนางสาวศิรินภา ยางขันธ์ เลขที่ 10 หมู่ที่ 7 ต.สุมเส้า อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" และร่วมเวทีเสวนาความสำเร็จพัฒนาชุมชน "โคก หนอง นา" ร่วมกับพระครูปลัดไชยา ถาวรสทฺโท เจ้าคณะตำบลสุมเส้า เขต 1 เจ้าอาวาสวัดปทุมเขตวนาราม นางสาวศิรินภา ยางขันธ์ เจ้าของแปลงโคก หนอง นา นายแสวง ศรีธรรมบุตร เจ้าของแปลงโคก หนอง นา ตำบลตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี โดยได้รับเมตตาจาก พระครูโกศลสิริธรรม รองเจ้าคณะอำเภอเพ็ญ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ร่วมรับฟัง โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน นายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่าที่ร้อยตรี รักชัย เลิศสุบิน นายอำเภอเพ็ญ นายเฉลิมชาติ ทรงคาศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสุมเส้า สมาชิกสภา คณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเพ็ญ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุดรธานี ข้าราชการ และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายของความสำเร็จ คือ การทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน โดยเราจะไม่ทำลำพังเพียงคนเดียว เราจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนด้วยภาคีเครือข่าย ทั้งทีมทางการที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และทีมจิตอาสา 7 ภาคีเครือข่าย จากภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ช่วยกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างชัดเจนว่า "ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข" ซึ่งเราจะต้องมีจุดมุ่งหมายของชีวิตที่เหมือนกันก็คือเราต้องช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการทำงานขับเคลื่อนทำให้พี่น้องประชาชนพ้นจากความทุกข์ยาก แล้วความสุขก็จะเกิดขึ้น และท้ายที่สุดถ้าพี่น้องประชาชนมีความสุขประเทศชาติก็จะมั่นคง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ย้อนกลับไปในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน



“ความสำเร็จของนางสาวศิรินภา ยางขันธ์ หรือน้องยู้ยี่ เจ้าของแปลงศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตมหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (CLM) คือ การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ทำให้มีความความเข้าใจและความสามารถในการเอาความรู้จากความเข้าใจมาใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้มีปัจจัย 4 คือ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน มีการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง อาทิ ป่าไม้ใช้สอย ก็จะมาสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัย มีป่าไม้กินได้ นำเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร มีป่าเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายใช้สอยได้ และประโยชน์ในการสุดท้ายคือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ในการจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ และลดภาวะโลกร้อน“ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นปฐมบทในการแบ่งพื้นที่ให้เป็นอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงเรียกว่า "อารยเกษตร" มีโคก มีหนอง มีนา มีคลองไส้ไก่ เป็นลำห้วยลำธาร มีหลุมขนมครกอยู่กระจายในพื้นที่ มีการปรับปรุงพื้นที่ โดยอาจประยุกต์ในการเพิ่มความลึกลงของหนอง ในกรณีที่เรามีพื้นที่ไม่เพียงพอ หรือต้องการปลูกพืชพันธุ์ไม้อื่นเพิ่มเติม เราก็จะมีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำได้มากเท่ากับพื้นที่แนวราบที่เราเคยคำนวณไว้ และมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับปลูกสมุนไพร ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ยืนต้น พร้อมทำให้ต้นไม้ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ด้วยการน้อมนำแนวทางตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทำป้ายให้ความรู้ชื่อและสรรพคุณของต้นไม้ เพื่อพื้นที่แห่งนี้สามารถเป็นที่ศึกษาเรียนรู้ด้านพันธุกรรมพืชสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อคนรู้จักต้นไม้ รู้ประโยชน์ ก็จะมีความรักต้นไม้ และเป็นผู้เฉลียวฉลาดรอบรู้เรื่องพันธุ์ไม้ นอกจากนี้ต้องพัฒนาปรับพื้นที่ให้มีความสวยงาม มีอารยธรรม มีคุณธรรม สวยงามด้านจิตใจ ซึ่งความสวยงามด้านจิตใจที่เรามีจะได้ช่วยกันบริหารจัดการเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความผาสุก มีการรวมกลุ่มกัน รวมจิตใจ รวมน้ำใจ รวมความรัก ความสามัคคีในการที่จะเอาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกครัวเรือน หาก 1 ครัวเรือนสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ได้ทั้งหมู่บ้าน 1 หมู่บ้านสร้างความมั่นคงได้ทั้งตำบล 1 ตำบลสร้างมั่นคงได้ทั้งอำเภอ 1 อำเภอสร้างความมั่นคงได้ทั้งจังหวัด 1 จังหวัดสร้างความมั่นคงได้ทั้งกลุ่มจังหวัด 1 กลุ่มจังหวัดสร้างความมั่นคงได้ทั้งภาค 1 ภาคสร้างความมั่นคงได้ทั้งประเทศ และ 1 ประเทศก็จะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนได้ทั้งโลก เรียกว่าเป็น "ครัวของโลก" ดังนั้นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้คนรวมจิตรวมใจกันในการที่จะช่วยกัน Change for good สร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้เกิดกับพี่น้องประชาชนได้ ต้องน้อมนำหลักการทรงงาน คือ ร่วมกันคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมกันทำ และสุดท้ายก็จะได้ร่วมรับประโยชน์ทั่วกัน



“สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสม โดยมีน้ำเป็นส่วนสำคัญ เพราะเมื่อมีน้ำแล้วก็จะทำให้พืชพรรณต่าง ๆ มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และเมื่อพืชพรรณมีความเจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ อยากให้พี่น้องในครัวเรือนได้ช่วยกันทำบุญสุนทานต่อพระสงฆ์องค์เจ้าซึ่งท่านเป็นตัวแทนในการปลูกจิตสำนึก สร้างศีลธรรมให้กับพี่น้องในชุมชนได้มีคุณธรรม โดยใช้หลักธรรมคำสั่งสอนที่ถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในการบ่มเพาะอบรมสั่งสอนประชาชน และเมื่อทำบุญแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ "การแบ่งปัน" ให้กับพื้นที่ชุมชนรอบข้าง แบ่งปันสังคม และเมื่อเหลือจากการทำบุญและเหลือจากการแบ่งปันแล้วสิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมก็คือ ให้เราได้รู้จักช่วยกันแปรรูปถนอมอาหาร เพราะอาหารบางประเภทไม่ได้มีทั้งปี การถนอมอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จึงเป็นหลักประกันชีวิต เพราะว่าหากอีก 3 เดือนข้างหน้า เกิด worst case มีโรคระบาด หรือเหตุการณ์ที่มีการระบาดแพร่ไปสู่สัตว์เลี้ยง เราจะมีอาหารในส่วนนี้ไว้เป็นคลังสำรองสำหรับครัวเรือนของเราและชุมชน เพื่อให้มีปัจจัย 4 เป็นปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของเราใน 365 วัน พร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภาวะศึกสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการสร้างความมั่นคงในระยะยาวด้วย “ศาสตร์ของพระราชา” ซึ่งจะเป็นมรดกสำหรับลูกหลานในอนาคตได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ KPIs ของศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา ไม่ใช่ปริมาณคนมาเยี่ยมชม แต่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปใช้จนเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพและจริงจัง" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย 

ด้านพระครูปลัดไชยา ถาวรสทฺโท เจ้าคณะตำบลสุมเส้า เขต 1 เจ้าอาวาสวัดปทุมเขตวนาราม กล่าวว่า ในส่วนของภาคศาสนา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ให้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต นั่นคือ หลักธรรมของอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเวลา อาทิ หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะระดับรากหญ้าที่เป็นเกษตรกร เราต้องคิดช่วยกันแก้ไข หาปัญหาสาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้จงได้ ซึ่งวัดปทุมเขตวนาราม ได้นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาความทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” มาใช้ดำเนินการพัฒนาวัดตามแนวทางสวนครัวเพียงพอเพื่อพอเพียง พร้อมให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนในเรื่องของศีลธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต 

ด้านนางสาวศิรินภา ยางขันธ์ เจ้าของแปลง กล่าวว่า "การลงมือทำคือคำตอบ ทำในสิ่งที่เราชอบและถนัด และทำไม่เหมือนใคร" ตนได้นำทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้นแบบยั่งยืนและมั่นคง มีการสร้างฐานเรียนรู้ต่าง ๆ โดยผลสำเร็จคือ สามารถสร้างที่อยู่อาศัยให้คนไข้ที่มาบำบัดรักษา มีการบำบัดรักษาด้วยการเดินในโคก หนอง นา มีพืชสมุนไพรในการดูแลรักษาคนไข้ที่เดินทางมาที่แห่งนี้

“วันนี้ตนประทับใจเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ มาเยี่ยมชม โคก หนอง นา โดยพืชสมุนไพรที่แปลงนี้มีมากกว่า 200 ชนิดแล้ว ด้วยความร่วมมือของท่านพัฒนาการอำเภอ ท่านนายอำเภอ ในการดำเนินการเป็นผลิตภัณฑ์  OTOP ของอำเภอเพ็ญ และต้องขอขอบคุณความรู้ที่ได้มาจาก ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย ที่มอบความรู้การจัดทำโคก หนอง นา จนเป็นแปลงตัวอย่าง และศูนย์การเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดใน จ.อุดรธานี” น.ส.ศิรินภา กล่าวฯ

 

ด้านนายแสวง ศรีธรรมบุตร เจ้าของแปลง “โคก หนอง นา” ตำบลตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนเคยได้ทำแปลงเกษตรในรูปแบบพืชเกษตรเชิงเดี่ยวมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่เมื่อตนได้รับความรู้จากศูนย์กสิกรรมมาบเอื้อง และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก มาปรับพื้นแปลง จำนวน 31 ไร่ ทำให้ตนมีความกินดีอยู่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในขณะนี้มีแนวร่วม 20 ครัวเรือนแล้ว ซึ่งพบว่าในครัวเรือน 20 ครัวเรือนนั้น ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยการนำหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" มาใช้จนเป็นวิถีชีวิต 

ภายหลังจากการเสวนาแล้วเสร็จ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมปลูกต้นรังหรือต้นฮัง (Burmese sal, Ingyin) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบออกดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี แล้วเดินเยี่ยมชมบริเวณแปลงโคก หนอง นา แปลงสมุนไพร และร่วมอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรภาคีเครือข่ายโคก หนอง นาในพื้นที่อีกด้วย

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ปลงธรรมสังเวช ศพภรรยา “อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์”

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 เฟซบุ๊กดร.พระศรีธีรพงศ์ สารบรรณ ได้โพสต์ข้อความว่า สาธุ …เจริญมรณัสสติ.@6 นับเป็นบุญยิ่งแล้วที่วัดทองนพคุณได้มีโอก...