วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567

"นภินทร"กระทบไหล่"โมดี" พานักธุรกิจไทยเปิดบูธแสดงศักยภาพการลงทุนที่อินเดีย



‘นภินทร’ ตบเท้าเข้าร่วมงานประชุมระดับรัฐมนตรี Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ร่วมกับประเทศภาคีกว่า 30 ประเทศ พร้อมพานักธุรกิจไทยเปิดบูธแสดงศักยภาพการลงทุนที่อินเดีย 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 (ตามเวลาท้องถิ่น) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์  ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ณ รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยงานนี้เป็นงานระดับรัฐที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนในรัฐคุชราต ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่  1)การสัมมนาแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ   2)งานแสดงสินค้า และความก้าวหน้าทางธุรกิจ   3)กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และ  4)การลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างรัฐกับรัฐเอกชนกับเอกชน และรัฐกับเอกชน 


ประเทศไทยเข้าร่วมงานครั้งแรกในฐานะประเทศภาคี (Partner Country) ในงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 9 ตามคำเชิญของมุขมนตรีรัฐคุชราต ร่วมกับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีอินเดียเป็นประธาน ซึ่งขณะนั้นมีประเทศภาคี (Partner Country) 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น โมร็อกโก นอร์เวย์ โปแลนด์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไทย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุซเบกิซสถาน


สำหรับงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Gujarat to the Future ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ อาทิ (1) การสัมมนาเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี อุตสาหกรรม 4.0 และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (2) งานแสดงศักยภาพด้านการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐคุชราต (3) กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และ (4) งานสัมมนาของประเทศภาคีสำหรับปีนี้มีประเทศภาคี (Partner Country) เข้าร่วม 33 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, บอสวานา, สาธารณรัฐเช็ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, เยอรมณี, กาน่า, อินโดนีเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, ญี่ปุ่น, เคนย่า, มาเลเซีย, มอลต้า, โมรอกโค, โมซัมบิก, เนปาล, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, รัสเซีย, รวันดา, สิงคโปร์, เกาหลีใต้,  แทนซาเนีย, ไทย, ติมอร์เลสเต้, ยูกันดา, ยูเครน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร อุรุกวัย และเวียดนาม


โดยในปีนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงาน และยังได้นำนักธุรกิจซึ่งเป็นผู้ลงทุนของไทยเข้าร่วมกิจกรรม ในงาน Vibrant Gujarat Global Summit ครั้งที่ 10 ประกอบด้วย  1) Sri Thai Superware 2) SCG International 3) Global Power Synergy และ 4)P-Dictor 


ปัจจุบันรัฐคุชราตถือเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักลงทุนไทยในอินเดีย โดยมีบริษัทรายใหญ่ของไทยได้มีการลงทุนได้รัฐคุชราตแล้ว ได้แก่ 1) Sri Thai Superware (บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์) หนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เมลามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เข้ามา ตั้งโรงงานในรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2014 สร้างงานกว่า 400 ตำแหน่ง และ ยังมีเป้าหมายจะขยายโรงงานทั้งในภาคเหนือ และภาคใต้ของอินเดีย 2) บริษัท Global Power Synergy หรือ GPSC ในเครือ PTT ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติแห่งชาติของไทย ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่ม Avaada Group ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 19.1 พันล้านรูปีอินเดีย หรือเท่ากับ 8,280 ล้านบาท ซึ่งตรงตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของรัฐ และ 3) บริษัท Siam Cement Group ได้ร่วมทุนกับบริษัท BigBloc Construction ของอินเดีย จัดตั้งโรงงานผลิตอิฐบล็อค และอิฐมวลเบาในรัฐคุชราต ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินเดียตะวันตกสร้างเม็ดเงินมากกว่า 125 ล้านรูปีอินเดีย 


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงงานนี้ว่า “ในนามของรัฐบาลไทย ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเดินทางมาร่วมงานไวแบรนท์ คุชราต โกลบอล ซัมมิท (Vibrant Gujarat Global Summit) และผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยได้ร่วมเป็นประเทศภาคี ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ไทยเห็นถึงความสำเร็จของการจัดงานไวแบรนท์ คุชราต (Vibrant Gujarat) ที่ส่งเสริมการลงทุน และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของรัฐคุชราตที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้ ไทยพร้อมร่วมผลักดัน และยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัฐคุชราตให้เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งกว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมา อินเดียและไทยได้สานสัมพันธ์ในหลายมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชน โดยเฉพาะในด้านการค้าเมื่อปี 2022 ไทยและอินเดียมีสถิติมูลค่าการค้าสูงสุดที่ 17,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 18 ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ ความสอดคล้องด้านนโยบายระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะนโยบายแอค อีสต์ (Act East) ของอินเดีย กับนโยบายลุค เวสต์ (Look West) ของไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่นทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ผมหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุนระหว่างกัน


ในโอกาสที่ได้ร่วมงานในวันนี้ ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์และแนวคิดริเริ่มของท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่พัฒนาให้รัฐคุชราตเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุน ด้วยพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของรัฐคุชราตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทันสมัย และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที จนกลายเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อมอินเดียสู่เศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยเห็นว่า รัฐคุชราตมีศักยภาพในการเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ด้วยเป็นหนึ่งในแหล่งเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งยังมีนโยบายที่สามารถรองรับการลงทุนแห่งอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน และการก่อสร้าง ซี่งถือเป็นโอกาสอันดีของนักลงทุนไทยระดับโลกที่จะปักหมุดการลงทุนในคุชราต


สำหรับประเทศไทย เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกและกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของโลก อาทิ หุ่นยนต์ การบิน และโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร โดย EEC จะนำเสนอบริการเชิงกลยุทธ์และฐานการผลิตสำหรับผู้ลงทุนจากทั่วโลก รวมทั้งยังตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของอาเซียน เชื่อมโยงภูมิภาคผ่านระบบขนส่งที่ทันสมัย อาทิ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ท่าอากาศยานนานาชาติ และความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลด้วยระบบเครือข่ายโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยศักยภาพด้านที่ตั้งยุทธศาสตร์และสิทธิพิเศษด้านการลงทุน EEC จะเป็นคำตอบสำหรับบริษัทและนักลงทุนที่ต้องการขยายฐานการผลิตและศูนย์กลางการขนส่งจากอินเดียไปสู่โลก โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีนวัตกรรม และเคมีชีวภาพ ซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับระดับโลก ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไทยจึงได้จัดตั้ง Digital Park และ สถาบัน IoT ในเขต EEC ซึ่งนักลงทุนอินเดียจะได้รับสิทธิพิเศษจากระบบนิเวศด้านนวัตกรรมที่ เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจ 


" ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิญชวนคู่ค้าชาวอินเดียร่วมลงทุนในโครงการ EEC ของรัฐบาลไทย นอกจากนี้ ไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของรัฐคุชราต ด้วยความร่ำรวยด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดและเก็บรักษามา มากกว่า 1,000 ปี อย่างบ่อน้ำ ริ นิ คิ วาฟ (Rani Ki Vav) ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนแม่น้ำสารัสวะตี และรูปปั้นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างท่านมหาตะมะ คานธี  ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทยได้ยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียแล้ว จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นักท่องเที่ยวอินเดียจะสามารถพำนักนานกว่า 30 วัน และยังมีเที่ยวบินตรงของสายการบินไทยระหว่างกรุงเทพฯ กับรัฐคุชราตแล้ว”

 

“รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็ง ด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดียอย่างใกล้ชิด เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อันเป็นประโยชน์กับไทยและอินเดีย ในการ ขยายช่องทางการค้าอย่างยั่งยืนต่อไป” นายนภินทร กล่าว

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...