วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษางานดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอก เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ “หลักสูตรการพัฒนาสติสำหรับเยาวชนของโรงเรียนบ้านนายผลโดยพุทธสันติวิธี” ถือว่าเป็นการนำหลักสูตรลงไปพัฒนากลุ่มเป้าหมาย โดยเดินตามกรอบของแนวทางบันได ๙ ขั้น ผ่านการเอาธรรมลงไปทำพัฒนาตามกรอบของกระบวนการวิจัยสู่กระบวนการพัฒนา โดยมีนางสาวสรัญญา บุญเติม เป็นผู้วิจัยและเป็นครูโรงเรียนบ้านนายผล โดยมุ่งพัฒนาสติเชิงรับและสติเชิงรุกของเด็กเยาวชนให้รู้เท่าทันที่ผ่านเข้ามาทางอาตยนะทั้ง ๖ โดยมีเอกอัครราชทูต พลเดช วรฉัตร อดีตทูตร่วมเป็นวิทยากรพัฒนาสติสำหรับเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านสติเชิงรุก
กว่าจะมาเป็นหลักสูตรนิสิตผู้วิจัย ต้องศึกษาหลักทฤษฎีตามหลักพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีสันติสนทนา โดยมอง “สติในพระไตรปิฎก” คำว่า สติ (Mindfulness) เป็นความระลึกได้ เป็นกิริยาที่ระลึกได้ ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้ และธรรมชาติที่เบียดเบียนความประมาท หมายถึง มีสติจะไม่นำไปสู่ความประมาท ใช้ชีวิตที่มีสติแสดงว่าไม่เป็นผู้ประมาท โดยสติเป็นธรรมที่มีอุปการะมากซึ่งควบคู่กับสัมปชัญญะ โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า “สติมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง” ซึ่งกิจกรรมทั้งปวงจะต้องมีสติกำกับมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์จะขาดสติไม่ได้ ซึ่งพุทธศาสนาสุภาษิตเกี่ยวกับสติ เช่น สติมา สุขเมธติ คนมีสติ ย่อมได้รับความสุข และ สติมโต สุเว เสยฺโย คนมีสติเป็นผู้ประเสริฐทุกคน เป็นต้น
วิธีการประยุกต์ใช้สติสามารถประยุกต์ใช้ ๒ ระดับ ประกอบด้วย ๑)ระดับโลกิยะ เพื่อเกื้อกูลแก่การเป็นอยู่ในโลกและการดำเนินชีวิตตามวิถีของบุคคลทั่วไป ๒)ระดับโลกุตระ เพื่อหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด สามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน รู้เท่าทันกฎธรรมชาติอันหมายถึงกฎของไตรลักษณ์ ซึ่งการประยุกต์ใช้สติตามประโยชน์ ๓ ระดับ ประกอบด้วย ๑)อัตตัตถะ เพื่อประโยชน์ของตน ๒)ปรัตถะ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ๓)อุภยัตถะ เพื่อประโยชน์ทั้งสองอย่าง รวมถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อย่างยิ่งอันหมายถึงนิพพาน
สติที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีหลายพระสูตร เช่น สติสูตร เล่มที่ ๑๙ พระพุทธเจ้าได้อธิบายความหมายว่า สติ หมายถึง การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ประกอบด้วย กาย เวทนา จิต ธรรม และการมีสัมปชัญญะในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน โดยพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด” โดยพิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม โดยมีสัมปชัญญะ สติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ซึ่งยังอธิบายสัมปชัญญะในสติสูตร ซึ่งการสัมปชัญญะเป็นการรู้ตัวทุกอิริยาบถ “ภิกษุทั้งหลายพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา” จึงสามารถถอดรหัสของคำว่า สติ จากสติสูตร โดยสติเป็นองค์ประกอบสำคัญของทุกกิจกรรม ซึ่งการมีสติต้องมีความเพียร ปัญญา บุคคลผู้มีสติสามารถจำกัดอภิชฌาและโทมนัส (ความอยากได้ ความโกรธ ความผูกโกรธ ความปรารถนาร้าย)
สติในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นหนทางเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ ขจัดความทุกข์ทั้งปวง คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาสติในมหาสติปัฏฐานสูตรจะต้องพิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติสามารถจำกัดอภิชฌาและโทมนัส โดยหาเริ่มจากสถานที่สงบสงัด เช่น ป่าไม้ โคนไม้ สถานที่สัปปายะ ตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน สรุปขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาสติจะต้อง ๑)หาที่สงบที่เหมาะสม ๒)อยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสม ๓)กำหนดรู้ทันสภาวะต่างๆ ที่เป็นไปอยู่อย่างจดจ่อและต่อเนื่อง ซึ่งองค์ธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตร ประกอบด้วย ๑)กายานุปัสสนา มีสติในการกำหนด อานาปานสติ อิริยาบถ สัมปชัญญะ ๒)เวทนานุปัสนา มีสติกำหนดเมื่อเสวยอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ๓)จิตตานุปัสสนา มีสติรู้ชัดในอารมณ์ของตนเอง เช่น ราคะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน ๔)ธัมมานุปัสสนา มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ ขันธ์ ๕ นิวรณ์ ๕ อาตยนะ ๑๒ อริยสัจ ๔
สติในอานาปานสติสูตรเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๖ ขั้นตอน ซึ่งอานาปานสตินำไปสู่ความสำเร็จสูงสุดจาก อานาปานสติ นำไปสู่ สติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ และวิชชารวมถึงวิมุตติ ซึ่งอานาปานสติหายใจเข้าออกรู้เท่าทัน ในจาตุสูตรเป็นพระสูตรว่าด้วยพระอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป ที่ส่งเสียงดังจึงตรัสเรื่องภัยของภิกษุ ๔ อย่าง ประกอบด้วย คลื่นคือไม่อดทนต่อคำสอน จระเข้คือเห็นแก่ปากท้อง วังวนคือกามคุณ ปลาร้ายคือมาตุคาม ซึ่งในมหาปรินิพพานเกี่ยวข้องกับสติ เช่น สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และมรรค รวมถึงวิธีปฏิบัติต่อสตรีโดยพระอานนท์ในได้ทูลถามวิธีปฏิบัติต่อสตรี “อย่าดู อย่าพูดด้วย จำเป็นต้องพูดต้องตั้งสติไว้” ซึ่งการตั้งสติหมายถึงควบคุมสติต่อสตรีในทางที่ดีงาม เช่น ความเป็นแม่ เป็นต้น ซึ่งในปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าเน้นความไม่ประมาทเป็นปัจฉิมโอวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”
การออกแบบเครื่องมือพัฒนาสติมีชีวิตสำหรับเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญสะท้อนว่า สติจะเป็นมองว่ายาขมสำหรับเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ คำถามจะทำอย่างไรที่สามารถนำไปใช้ได้กับเด็กเยาวชน โดยคนออกแบบการเรียนรู้จะต้องเข้าใจ “พัฒนาการของเด็ก” ไม่ใช่เข้าใจเพียงแค่เรื่องสติเท่านั้น เมื่อเด็กเยาวชนไม่ปฏิบัติทำให้ผู้สอนดุเด็กเยาวชน นำไปสู่การเกลียดคำว่าสติ โดยแท้จริงแล้วสติเป็นเรื่องกุศล ซึ่งการจะออกแบบกิจกรรมจะต้องเข้าใจหลักจิตวิทยาเด็กและเยาวชน โดยทบทวนเพิ่มเกี่ยวกับ “องค์ประกอบของสติในเด็กเยาวชน การพัฒนาการของเด็กเยาวชน ขั้นตอนการพัฒนาสติ กัลยาณมิตร โยนิโสมนสิการ ไตรสิกขา” ซึ่งคำถามบอกทิศ คำตอบบอกทาง อันประกอบด้วย ๑)ปัญหาศีลธรรมของเด็กในปัจจุบันที่จำเป็นและปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องใด ๒)ปัญหาที่เกิดมีสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง ๓)องค์ประกอบของสติในเด็กเยาวชนรุ่นใหม่มีอะไร ๔)แนวทางและวิธีการในการพัฒนาสติเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร ๕)วิธีการและกระบวนการที่เหมาะสมในการพัฒนาสติในเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ๖)การประเมินสติในเด็กเยาวชนด้วยเครื่องมือและวิธีการใด
องค์ประกอบหลักของกระบวนการพัฒนาสติสำหรับเยาวชน ประกอบด้วย ๑)หลักการพัฒนาในเยาวชน ๒)จุดมุ่งหมายการพัฒนาสติในเยาวชน ๓)เนื้อหาสาระพัฒนาสติในเยาวชน ๔)ขั้นตอนและวิธีการพัฒนาสติในเยาวชน ๕)การประเมินผลการสติในเยาวชน โดยการก่อเกิดปัญหาของเด็กเยาวชนโดยผ่าน “๑)การรับรู้คือผัสสะ ๒)รู้สึกสุขทุกข์คือเวทนา ๓)ความอยากคือตัณหา ๔)อุปทานคือยึดติด ๕)เกิดปัญหาคือเกิดทุกข์” การออกแบบกิจกรรมเด็กเยาวชนควรเรียนรู้ผ่านอายตนะ ๖ ประกอบด้วย กิจกรรมผ่านตา กิจกรรมผ่านหู กิจกรรมผ่านจมูก กิจกรรมผ่านลิ้น กิจกรรมผ่านกาย และกิจกรรมผ่านใจ ซึ่งการออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องให้ผู้เรียนเข้าถึงสติในวิถี การจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างไร (กาแฟใส่เกลือ) จะต้องอาศัยกัลยาณมิตร โดยมีกระบวนการคิดผ่านโยนิโสมนสิการ เข้าใจถูกต้องด้วยปัญญานำไปสู่การดับความทุกข์คือแก้ปัญหาได้
โดยระบบการพัฒนามนุษย์ตามแนวทางพุทธศาสตร์จะต้องอาศัยกัลยาณมิตรจะต้องมี ๒ ส่วนประกอบด้วย โยนิโสมนสิการ เป็นปัจจัยการเรียนรู้จากภายใน และ ปรโตโฆสะ ปัจจัยการเรียนรู้ภายนอก จะต้องนำไปสู่สัมมาทิฐิ ซึ่งการจะออกแบบจะต้องเข้าใจ “จริตต่อการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนรุ่นใหม่” โดยจะต้องเริ่มต้นจาก ๑)สนุก มีความสุข อยากเรียน ตาประกาย จ้อง จดจ่อ หูผึ่ง ๒)ให้อิสระในการเรียนรู้ เด็กคิด เด็กเลือก เด็กทำ เด็กนำเสนอ ๓)ทำไม่เลิก ผิดลองใหม่ ไม่กลัวผิด ๔)คิดเป็น แก้ปัญหาและหาวิธีคิด การเรียนรู้จะต้องฝึกการตั้งคำถามเพื่อให้คิดหาทางออก ส่งผลอย่างไร เป็นการฝึกเขียนแบบโยนิโสมนสิการ ๕)สงสัยมีคำถาม อยากบอกอยากเล่า ไม่กล้าไม่ก้าว จะต้องฝึกให้เด็กถาม ๖)ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันทำด้วยกัน ๗)แลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน ๘)ชอบเผชิญ ผจญ สถานการณ์จริง สร้างความรู้เอง ๙)มีโค้ช กระบวนกร เอื้ออำนวยสะดวกเพื่อการเรียนรู้
คำถามการเรียนรู้แบบไหนที่เด็กไม่เอา ซึ่งการสอนสติจะต้องสอนแบบองค์รวมไม่ควรแยกส่วน ประกอบด้วย ๑)ความรู้เป็นชิ้นๆ ไม่เกี่ยวกับเด็กไม่สนุก ๒)เด็กไม่ถาม รอคำตอบ กลัวผิด (ส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจต้องพึ่งคนอื่นตลอด) ๓)ภาษาห่างไกล ไร้ความหมายสำหรับเด็ก ๔)คำถามทวนความจำ ไม่กระตุ้นให้คิด ใช้คำถามผ่านโยนิโสมนสิการ ๕)ต่างคนต่างอยู่ฉันอยู่ในกระดาษเธออยู่ในกระดาน
โดยหลักการเพื่อการออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างสติในเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย ๑)สนุก (Passion) กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านคำถาม มีฉันทะในการทำกิจกรรม มีแรงบันดาลใจอยากเรียนรู้ ๒)สะอาด (Moral) ออกแบบกิจกรรมเป็นกุศล ฝึกพฤติกรรมที่ดีงาม ต้องไม่สองแง่สามง่าม ใช้สื่อที่มีเป้าหมาย ๓)สว่าง (Wisdom) นำไปสู่การเกิดปัญญาผ่านปัญญา ๓ ด้วยการฟัง การคิดวิเคราะห์ และการปฏิบัติ โดยกิจกรรมต้องมีความหลากหลายมีเกมกิจกรรมต่างๆ เรียนรู้ผ่านต้นแบบจากเพื่อน ๔)สติ (Mindfulness) มีสติในทุกิจกรรมการเรียนรู้มีความสุขในการเรียนรู้ ใส่สติเข้าไปทุกขั้นตอนให้เกิดตัวรู้มากกว่าความรู้ โค้ชอย่างมีสติรวมถึงผู้สอน เป็นการเรียนรู้ “สุขสติ” ๕)สร้างสรรค์ (Create) จะต้องมีความสร้างสรรค์โดยให้เด็กได้เอาธรรมลงไปทำ เด็กสามารถออกแบบการพัฒนาสติตนเอง ฝึกสติด้วยตนเอง วางแผนไปใช้ในชีวิตจริง ต้องเอาเรื่องใกล้ชีวิตของเด็ก ทดลองการปฏิบัติ โดยฝึกให้เด็กไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่จะต้องพิสูจน์และทดลองถือว่าเป็นสมรรถนะ ซึ่งสติเป็นการวัดยากแต่การลงปฏิบัติจะสามารถวัดได้เป็นการประเมินตามสภาพจริง ๖)สะท้อน (Reflect) เป็นการสะท้อนคิดรู้สึกอย่างไร เห็นตนเองอย่างไร ผ่านกายเป็นอย่างไร ผ่านเวทนาความรู้สึก ผ่านจิตใจเป็นอย่างไร และผ่านธรรมเกิดธรรมะอย่างไร จะต้องตั้งคำถามผ่านโยนิโสนมนสิการ (เรียนรู้อะไร รู้สึกอย่างไร และนำไปใช้ได้อย่างไร) แต่กิจกรรมการพัฒนาสติเด็กเยาวชนจะต้องมีความหลากหลายให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นใหม่
การพัฒนาสติในเด็กเยาวชนผ่าน GAP-Based on Buddhist คือ “ไตรสิกขา” โดย G : Game Based Learning เป็นการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม การเรียนรู้ผ่านเกมต่างๆ ฝึกการตั้งคำถาม ออกแบบกิจกรรมให้ล้มเหลวเพราะชีวิตไม่ได้สำเร็จตั้งแต่แรก กิจกรรมความฝันของตนเอง ชื่นชมในความพยายามของผู้เรียน กิจกรรมแข่งขันจะต้องแบ่งปัน A : Activity Based Learning เป็นการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน เช่น จิตตปัญญาศึกษา กระบวนการกลุ่ม วิเคราะห์สื่อเพลง นิทานคุณธรรม กรณีตัวอย่าง บทบาทสมมติ P : Process Based Learning เป็นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการต่างๆ เป็นฐานการเรียนรู้ เช่น การเรียนรู้แบบอริยสัจสี่ การเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ การเรียนรู้แบบสติเป็นฐาน การเรียนรู้แบบโครงงานคุณธรรม การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน แต่ “คำถามเพื่อการกระตุ้นสำคัญที่สุด” โดยกิจกรรมพัฒนาสติในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรม ๕ ห้อง จะต้องนำวิถีชีวิตของเด็กมาออกแบบกิจกรรมฝึกสติให้เป็นวิถีชีวิต จึงให้ความสำคัญของโยนิโสมนสิการ
โดยกระบวนการออกแบบกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสติเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านหลักอริยสัจสี่และโยนิโสมนสิการ ประกอบด้วย ๑)ปัญหาศีลธรรม (ทุกข์) ๒)เหตุผลที่ต้องศึกษา (สมุทัย) ๓)เป้าหมายกิจกรรม (นิโรธ) ๔)ไอเดียกิจกรรม (มรรค) ๕)ออกแบบกิจกรรม (มรรค) ๖)ทดลองกิจกรรม (มรรค) ๗)ถอดบทเรียน (นิโรธ) โกิจกรรมตามหัวข้อ ประกอบด้วย ๑)สาระสำคัญ ๒)เนื้อหาสาระ ๓)วัตถุประสงค์ ๔)กิจกรรมการเรียนรู้ ๕)สื่อการเรียนรู้ ๖)ประเมินผล เน้นการประเมินผล “กระบวนการ ความก้าวหน้า ผลผลิต”
เทคนิคการพัฒนาสติสำหรับเยาวชน Gen Z เป็นเจนที่กล้าคิดกล้าทำซึ่งเติบโตมาในของยุคดิจิทัล อยู่ในช่องทางของโลกออนไลน์ สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง บางครั้งมีความเหงา สัดส่วนการไม่นับถือศาสนาออกจากเรื่องของศาสนา มีอัตราของโรคซึมเศร้าจำนวนมาก ซึ่งทักษะที่จำเป็นของมวลมนุษยชนคือ สติ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดย “การสติเจริญสามารถนำไปสู่การเยียวยาส่งผลต่อสมอง” สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ทำให้เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถลดความเครียดของเด็กเยาวชน
โดยกิจกรรมสำหรับเด็กเยาวชนจะต้อง “ฝึกสติผ่านการเคลื่อนไหว” ให้เป็นธรรมชาติใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการนอนสามารถฝึกสติได้ การใช้ระฆังแห่งสติเป็นเครื่องมือในการฝึกสติ โดยวิธีการฝึกสติสำหรับเด็กเยาวชน ประกอบด้วย ๑)การหายใจ ๒)รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ๓)ผ่อนคลายร่างกายอย่างสมบูรณ์ ๔)รักและคุณค่าในตนเอง ๕)รู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ๖)ส่งความรักและความเมตตา ๗)สนทนาอย่างมีสติ ๗)รับมือโต้ตอบกับสถานการณ์อย่างมีสติ ๘)สร้างจินตภาพเพื่อการผ่อนคลาย
กระบวนการพัฒนาสติสำหรับเยาวชนในยุคเปราะบาง ซึ่งเด็กและเยาวชนในยุคเปราะบางเด็กเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล เด็กควรจะมีทักษะอย่างไรในยุคเปราะบาง ซึ่งภูมิคุ้มกันของเด็กคือสติเป็นฐาน ซึ่งการที่เราจะออกแบบกิจกรรมพัฒนาสติเด็กเยาวชนจะต้อง “เข้าใจเด็กเยาวชนในยุคเปราะบาง” เพราะถ้าไม่เข้าใจก่อนจะออกแบบกระบวนการพัฒนาได้ยากจึงต้องเข้าใจเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มีสื่อเป็นของตนเองโดยไม่ต้องรอกระแสหลัก เด็กจึงสามารถแสดงตัวตน ในการหารายได้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่มองว่าเรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องปกติ
โดยกระบวนการพัฒนาสติสำหรับเด็กเยาวชนประกอบด้วย ๑)ตระหนักรู้ (เต็มใจทำ) มองว่าสติมันเชื่อมโยงกับชีวิตอย่างไร สติมีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิต ผ่านกิจกรรมและตั้งคำถามเพื่อกระตุ้น ๒)เรียนรู้ (แข็งใจทำ) ผ่านสื่อผ่านกิจกรรมต่างๆ เกมการเรียนรู้ ๓)ฝึกฝน (ตั้งใจทำ) ผ่านการฝึกพัฒนาจริงผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น ผ่านบทสวดมนต์ที่ไพเราะ ก่อนเรียนรู้ฝึกสติเชิงรับสร้างการตระหนักรู้ มีกรณีศึกษาว่าสติส่งผลต่อชีวิตที่ดีอย่างไร ๔)ประยุกต์ใช้ (เข้าใจทำ) เป็นการต่อยอดในชีวิตประจำวันผ่านการยืน เดิน นั่ง นอน ถือว่าเป็นหลักอิทธิบาท ๔ ในทางพระพุทธศาสนา
โดยเริ่มต้นจากการสวดมนต์เป็นฐาน เพราะวิธีที่ดีที่สุดต้องง่ายที่สุด “ไม่เคยมีพฤติกรรมในทางบวกได้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่เป็นลบ” ซึ่งสภาพแวดล้อมมีความสำคัญมากสำหรับเด็กเยาวชนในยุคปัจจุบัน ในนามหลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มจร ขออนุโมทนาขอบคุณกระบวนกรทุกท่านในการร่วมพัฒนาสติสำหรับเด็กเยาวชนโดยพุทธสันติวิธี จึงขออนุโมทนาบุญกับความเพียรพยายามตั้งใจมีอิทธิบาทเป็นฐานกับ นางสาวสรัญญา บุญเติม นิสิตระดับปริญญารุ่น ๖ หลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นผู้วิจัยสร้างสันตินวัตกรรมในครั้งนี้ซึ่งจะขยายผลสู่สังคมและขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น