วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2567

อธิบดีกรมการจัดหางาน ห่วงแรงงานไทยถูกหลอกทำงานไต้หวัน สั่งการเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามผล



กรมการจัดหางาน ลงพื้นที่สมุทรปราการ ปทุมธานี ตรวจสอบบริษัทจัดหางานเถื่อน หลังเหยื่อ 34 ราย ถูกหลอกลวงทำงานไต้หวัน สุดท้ายไม่ได้ทำงานและสูญเงิน

เมื่อวันที่  5 มกราคม 2567 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณี คนไทย 34 ราย ร้องทุกข์ต่อกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าถูกกลุ่มนายหน้าจัดหางานเถื่อน อ้างเป็นเจ้าของบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งใช้ภาพถ่ายบริษัทแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ อ้างเป็นที่สอบสัมภาษณ์และทดสอบความพร้อมทางร่างกายก่อนส่งไปทำงานไต้หวัน โดยหลอกลวงว่าสามารถพาไปทำงานที่ไต้หวัน ในตำแหน่ง พนักงานฝ่ายผลิต เงินเดือนประมาณ 26,400 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 29,300 บาท สัญญาจ้าง 3 ปี สามารถต่อสัญญาจ้างได้ โดยคิดค่าดำเนินการคนละ 30,000 – 71,000 บาท สุดท้ายไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ จึงเข้าร้องทุกข์เพื่อขอความช่วยเหลือติดตามเงินส่วนที่เหลือคืนและดำเนินคดีกับสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อนดังกล่าว ซึ่งกรมการจัดหางานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีผู้เกี่ยวข้องร่วมขบวนการติดต่อกับคนหางานและรับเงินจากคนหางาน จำนวน 5 คน ทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศและไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานฯแต่อย่างใด ซึ่งการหลอกลวงดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวง ดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง” กรมฯจึงได้ส่งเรื่องถึงกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเร่งรัดออกหมายจับดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นายสมชาย กล่าวว่า ล่าสุดตนได้สั่งการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ติดตามผลโดยลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท 2 แห่งที่ถูกกล่าวอ้าง ณ ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพบว่าแห่งแรกเป็นบริษัทฯประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนไฟฟ้า และไม่มีการรับสมัครและจัดส่งคนไปทำงานที่ไต้หวัน ตามที่สายนายหน้าเถื่อนนำชื่อของบริษัทฯมากล่าวอ้าง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทยังยืนยันว่าไม่รู้จักกับบุคคลที่โพสต์รับสมัครคนหางานแต่อย่างใด และทางบริษัทจะดำเนินคดีกับผู้ที่นำชื่อบริษัทฯไปแอบอ้างให้ได้ความรับความเสียหายตามกฎหมายต่อไปด้วย จากนั้นได้เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งที่ 2 พบว่ามีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ประตูรั้วมีการล๊อคกุญแจไว้ จากการสอบถามบ้านพักอาศัยข้างเคียงให้ข้อมูลว่าบ้านหลังดังกล่าวได้ปิดมาหลายเดือนแล้ว และไม่พบเห็นบุคคลเข้าออกในบริเวณดังกล่าว โดยจากนี้กรมการจัดหางานจะสอดส่องเฝ้าระวังผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่อไป เพื่อป้องกันมิให้คนหางานตกเป็นเหยื่อสายนายหน้าเถื่อน

“สุดท้ายผมขอฝากความห่วงใยถึงคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานกับกรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.มหานิยม" ร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดอาวุธ "สมเด็จธงชัย" ประธาน เข้ากราบ "หลวงปู่ศิลา" เพื่อความเป็นสิริมงคล

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567  ดร.นิยม  เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล) ออกปฏิบัติหน้าที่ด้านพระพุทธศาสน...