เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมมีความมุ่งมั่นที่จะขยายผลการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง สร้างสุขภาพที่ดี ด้วยพืชผักสวนครัว ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตนได้มอบหมายให้นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำทีมจัดกิจกรรมปลูกผักเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ บ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม โดยมีนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม นางสาวพันสี คุณธรรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสาวณิชาทิพย์ อุบลบาลไชโรจน์ พัฒนาการอำเภอเมืองนครพนม ทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครพนม ร่วมดำเนินกิจกรรมปลูกผักสวนครัว ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และมีการปรับภูมิทัศน์บ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งมีการทำซุ้มหรือโดมปลูกผักสำหรับพืชผักประเภทไม้เลื้อย เช่น บวบ ถั่ว ฟักทอง มะระ และทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรมากกว่า 30 ชนิด อาทิ พริก มะเขือ โหระพา ขิง ข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง คะน้า ผักชี ผักกวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย สะระแหน่ ต้นหอม มะละกอ ต้นแค ฯลฯ โดยทำการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการปลูกผักไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน เป็นแนวทางให้กับประชาชน และหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนครพนมนำไปปฏิบัติ อันจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีจากการรับประทานผักปลอดสารพิษ การลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งปลูกฝังค่านิยมการแบ่งปันกันอีกด้วย
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมุ่งเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อขับเคลื่อนขยายผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้บริโภคผักปลอดสารพิษและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลดการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ อาทิ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยมูลสัตว์ ปุ๋ยที่ได้จากเศษอาหารภายในครัวเรือน การปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และเมื่อมีอาหารเพียงพอก็สามารถแบ่งปันในชุมชนได้ ซึ่งการแบ่งปันแบบยั่งยืน คือ การแบ่งพันธุ์ต้นกล้าเมล็ดพันธุ์ขยายผล "ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน" ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน รวมถึงได้ทำการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน และยังช่วยสร้างจุลินทรีย์และอินทรีย์วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ทรัพยากรดินและน้ำ ตามเจตนาการขับเคลื่อนวันดินโลก (World Soil Day) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนให้ครอบครัว เเละชุมชน
“จังหวัดนครพนมได้ยึดแนวทางที่ว่า “ผู้นำต้องทำก่อน” ตนจึงได้ขยายผลจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ไปใช้พื้นที่ในบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมด้วย เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนได้เห็นเป็นตัวอย่างและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน อันจะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนตาม UN SDGs 17 เป้าหมาย ร่วมกับพี่น้องประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จังหวัดนครพนมได้ขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "สืบสาน รักษา และต่อยอด" และเน้นย้ำให้ทุกอำเภอได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนหลักการพึ่งพาตนเอง ประชาชนทุกคนมีกินมีใช้ เกิดความรักความสามัคคี เกิดความเข้มแข็งของคนในชุมชน ประชาชนทุกคนมีความสุข นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) อย่างมีความสุข สนุกสนาน สร้างความรักสามัคคีให้กับชุมชน" นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น