วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

หลวงปู่เสงี่ยมพระเถระ5แผ่นดินมรณภาพแล้ว


วันที่ 6 ก.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระมงคลชัยวัฒน์ (เสงี่ยม อริโย/แขวงอินทร์ ป.ธ.4) อายุ 93 ปี ทป.เจ้าคณะอำเภอเมือง จ.นครปฐม เจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้  มรณภาพ เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 5 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 กรุงเทพฯ



โดยทางวัดได้กำหนดการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ณ ศาลาสามัคคีธรรม

08.30 น. ลูกศิษย์และคณะนักเรียน ตั้งขบวนรับศพที่บริเวณสะพาน ซอย 6.
13.00 น. เปิดให้ญาติโยมบุคคลทั่วไปสรงน้ำศพ
16.00 น. น้ำหลวงอาบศพพระราชทาน
19.30 น. สวดอภิธรรมทุกวัน



หลวงพ่อเสงี่ยม เกิดในสกุล แขวงอินทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.2467 ปีชวด ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 3 ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก่อนอุปสมบทเป็นตำรวจขบวนการเสรีไทย และได้อุปสมบทเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มิ.ย.2492 ณ วัดหนองสองห้อง ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มีหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพธิ์หัก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา อริโย  หลังจากนั้นได้ศึกษาตำราวิทยาคม ตำรับตำราอักษรเลขยันต์กับหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง อยู่ 2 ปี จากนั้นย้ายมา จำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เพื่อศึกษาภาษาบาลีจนสามารถสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จากนั้นเป็นครูสอนภาษาบาลี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2499-2527 รวม 28 ปี และปีพ.ศ.2527 ก็ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้



ตำแหน่งหน้าที่ พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ ในราชทินนาม พระครูทักษิณานุกิจ พ.ศ.2507 เป็นพระธรรมทูตประจำอำเภอเมืองนครปฐม พ.ศ.2518 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม พ.ศ.2519 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2527 เป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ พ.ศ.2528-ปัจจุบัน พ.ศ.2536 เป็นประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม พ.ศ.2537 เป็นผู้อำนวยการศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะ พ.ศ.2541 เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธ ศาสานา วันอาทิตย์ พ.ศ.2547 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม พ.ศ.2549 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม


นอกจากจะเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแล้ว หลวงพ่อเสงี่ยมยังเป็นพระนักปกครอง นักเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลังจากจำพรรษาครองวัดห้วยจระเข้ ได้พัฒนาวัดห้วยจระเข้ ทั้งในด้านศาสนวัตถุ กุฏิสงฆ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถนนพื้นภายในวัดให้เจริญเรียบร้อยดูสวยงามร่มรื่นสะอาดตา ท่านพัฒนาวัดจนวัดห้วยจระเข้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปีพ.ศ.2539 และเป็นวัดพัฒนาที่มีผลงานดีเด่น เมื่อปีพ.ศ.2543



ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  เป็นประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม เป็นนักเทศน์ที่มีฝีปากกล้าสำนวนโวหารเป็นที่ไพเราะจับหูผู้ฟัง ตอนเช้ามืดเวลาประมาณ 05.00 น. จะบรรยายธรรมตามสายเครื่องกระจายเสียงของทางวัดทุกวัน พร้อมกันนี้หลวงพ่อเสงี่ยมเคร่งครัดกฎระเบียบและพระธรรมวินัยมาก ท่านจะสอนให้พระเณรฟังเสมอเรื่องข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ-สามเณร เรื่องกฎระเบียบพระธรรมวินัยแล้ว ยังสอนพระภิกษุ-สามเณรเป็นประจำว่า รู้จักหน้าที่ทำตามหน้าที่จะเกิดศักดิ์ศรีทั้งทางโลกและทางธรรม อีกทั้งยังได้สนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ทุกระดับ ทำให้วัดห้วยจระเข้ มีพระมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค และประโยคอื่นๆ หลายรูป และส่งพระสงฆ์ไปเรียนระดับปริญญาตรี-โท-เอกจำนวนมาก



การปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเสงี่ยมจะให้การสนับสนุนมาโดยตลอด นำผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเองทุกครั้ง แต่ละปีมีนักเรียนและประชาชนทั่วไปเข้าปฏิบัติปีละประมาณ 1,500 คน  ส่วนด้านวิทยาคมนั้น หลวงพ่อเสงี่ยมเรียนตำราต่างๆ ทั้งคาถาอาคมอักษรขอมมาจากหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน จากนั้นได้เรียนคาถาอาคมพร้อมทั้งการสร้างพระปิดตาเนื้อเมฆพัด กับพระครูอุตรการบดี (หลวงปู่ล้ง เลมิกุล) อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ซึ่งหลวงปู่ล้งก็ได้เรียนการดำน้ำจารอักขระบนองค์พระปิดตาเนื้อเมฆพัดรุ่นแรกของท่านเมื่อปีพ.ศ.2527 พระรุ่นนี้ก็เป็นที่นิยมของนักสะสมทั่วไป


หลวงพ่อเสงี่ยมกล่าวปรารภว่า "ตำราคาถาของวัดและสำนักต่างๆ ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่สืบทอดมาจากของเดิมที่ครูบาอาจารย์ในอดีตถ่ายทอด แต่เหนือสิ่งอื่นใดจิตต้องนิ่งเป็นสมาธิคาถาจึงมีความเข้มขลัง ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ถ้าจิตนิ่งเป็นสมาธิ บริกรรมคาถาบทใดก็เข้มขลัง ที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องตั้งอยู่ในศีลมั่นอยู่ในธรรม"




...............

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากโพสต์นิวส์ :ข่าว, วัดห้วยจรเข้ นครปฐม :ภาพ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...