วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

เป็นบุญตายิ่งนัก!เถ้าพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า



“รัฐคุชราต” ที่พุทธศาสนาได้วางรากฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ เมื่อประมาณ ๒,๓๐๐ กว่ามาแล้ว ปัจจุบันฝ่ายโบราณคดีของชาวภารตะได้ขุดพบซากโบราณสถานและวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยพุทธอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในรัฐคุชราตแต่ครั้งโบราณกาล เมื่อปี ค.ศ. 1957 ศาตราจารย์ B. Subbrao และทีมนักโบราณคดี จากภาควิชาโบราณคดี และประวัติศาสตร์โบราณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาราชาสยาจิเราแห่งบาโรดา (Maharaja Sayajirao University of Baroda) เมืองวาโรดารา ได้ไปทำการขุดเจาะซากสถูปใหญ่ที่เมืองเทวนิโมรี ทางตอนเหนือของรัฐคุชราต ซึ่งการขุดเจาะสถูปนี้ พวกเขาได้พบผอบ ๒ ใบ


ใบแรก ฝังอยู่ใต้ดินชั้นล่างของสถูป ลักษณะเป็นหินเจาะตรงกลางและมีฝาปิด แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่บรรจุสิ่งใด



ใบที่สอง อยู่ช่วงกลางของสถูป มีการก่อหินล้อมไว้อย่างดี ผอบมีลักษณะทรงกลมมีฝาปิด ทำจากหินแปรสีเขียว (chlorite schist) มีอักษรพราหมีจารึกไว้ทุกรอบด้าน นักวิชาการโบราณคดีทีมของศาตราจารย์ V. H. Sonawane จึงได้ช่วยกันแกะ และแปลอักษรพราหมีในจารึก พวกเขาจึงได้รู้ว่า จารึกนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน อีกทั้งยังได้ทราบว่า เป็นเถ้าพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า


จารึกส่วนแรกนั้น กล่าวถึง "ปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งเป็นหลักธรรมที่อธิบายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย ๑๒ ประการเกิดขึ้นสืบๆเนื่องกันมาตามลำดับ


จารึกส่วนที่สอง กล่าวถึงความเป็นมาของสถูป ความดังนี้  "...สถูปนี้สร้างในสมัยของพระเจ้ารุทราเสน (Rudrasena) แห่งราชวงศ์กธิกะ (Kathika) โดยการกำกับดูแลของพระสงฆ์ ๒ รูปได้แก่ พระอัคนีพรหม (Agnivarmma) และพระสุทรสนะ (Sudarsana) ที่ใกล้ๆ กับเมืองกรมันฏิกะ (Karmantika) และปสันฏิกะ (Pasantika) สำหรับผอบนั้นสร้างถวายเป็นที่ประดิษฐานของ ทศพลสรีระ (Dashabalasharira) โดยพระเจ้าวรหะ โอรสของพระเจ้าเสนะ มีพระภิกษุมหาเสนะเป็นผู้จัดเตรียมผอบเพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุ..."


นอกจากคำว่า ทศพลสรีระแล้ว ก็ยังมีคำจารึกพระนามอื่นของพระพุทธเจ้าอีก คือ ศากยภิกษุอวตาร (Sakyabhikshukavatr) ส่วนสาเหตุที่เถ้าพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไปอยู่ไกลถึงตอนเหนือ ของรัฐคุชราตนั้น เกิดจากพระเจ้าอโศกได้แบ่งพระบรมสาริกธาตุและเถ้าพระบรมสารีริกธาตุใหม่ แล้วนำไปประดิษฐานตามวัดพุทธวิหารต่างๆ ถึง ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วชมพูทวีป ในเวลาต่อมากษัตริย์เมืองเทวนิโมรีก็ได้รับมาด้วยเช่นกัน จึงได้สร้างสถูปเจดีย์ครอบไว้ เมื่อราว พุทธศักราช ๗๐๐-๘๐๐


ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุ ที่ทางคณะฯ ได้ขุดค้นพบและเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟอย่างดีในห้องทำงานของหัวหน้าภาควิชา และชั้นล่างมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงแสดงพุทธอารยธรรมในรัฐคุชราตที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง...


เรียบเรียงโดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  ขอบคุณ ภาพ/ข้อมูล: Phramaha Anuchon Khammee

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...