วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

"พุทธะอิสระ"ยังปลงไม่ตก"พงศ์พร"โดนเด้ง



"พุทธะอิสระ"ยังปลงไม่ตก"พงศ์พร"โดนเด้ง โพสต์ถาม"บิ๊กตู่-วิษณุ"ที่เคยการันตีเป็นคนดี


วันที่ 9 ก.ย.2560 เฟซบุ๊กหลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) ได้โพสต์ข้อความโดยให้หัวข้อว่า "ขออนุญาตสงสัยในเรื่องโลกๆ แบบคนโง่ไร้เดียงสาหน่อยนะจ๊ะ" ทั้งนี้เป็นการตั้งคำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยยกคำที่บุคคลทั้งสองให้สัมภาษณ์ในลักษณะระบุว่า พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์  ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นคนดี แต่ทำไมถึงมีคำสั่งย้ายไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย


อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2560    เฟซบุ๊กหลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) ได้โพสต์ข้อความว่า เรามาทำความเข้าใจกระบวนการของจิตให้แจ่มชัดกันอีกซักหน่อย

หลังจากออกไปดู ไปเชียร์ ชาวโลกเขาแย่งกระดูก แย่งตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธกันแล้ว

ทำให้รู้สึกเกิดอารมณ์เสียดแทงจิตใจ พอหอมปากหอมคอ ตามวิถีของโลกแห่งสมมุติ

เรากลับมาเห็นแก่ตัวอยู่กับโลกปรมัตถ์ ที่ไม่มีอาลัยมาทิ่มแทงจิตใจกันดีกว่า

รับอารมณ์ จำอารมณ์ คิดในอารมณ์ รู้ในอารมณ์ ล้วนเป็นหน้าที่ของจิต

อารมณ์ทั้งปวงทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลเข้ามาสู่จิตด้วยกัน 6 ทาง ได้แก่

จักษุปสาทะ เห็นทางตา โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ที่ตาเห็นรูป

โสตะปสาทะ ได้ยินทางหู โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ที่เกิดจากเสียงทั้งหลาย

ฆานะปสาทะ ได้กลิ่นทางจมูก โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ที่เกิดจากลิ่นทั้งหลาย

ชิวหาปสาทะ รับรสทางลิ้น โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ที่เกิดจากรสทั้งหลาย

กายปสาทะ สัมผัสทางกาย โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ที่เกิดจากการสัมผัสทั้งหลาย

มโนปสาทะ การกระทบทางใจ โดยไม่มีปัญญา เป็นเหตุให้อารมณ์ที่เกิดทางจิตทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่าอายตนะ 6 หรือทวารทั้ง 6 และวิญญาณทั้ง 6 คือการรับรู้ 6 ทาง

เมื่อทวารทั้ง 6 รับเอา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้ามาด้วยความโง่ ไม่รู้จริง

จิตที่ทำหน้าที่รับ จำ คิด รู้ จึงเกิดการปรุงแต่งใน

รูป ที่เห็นทางตา

เสียง ที่ฟังทางหู

กลิ่น ที่ดมทางจมูก

รส ที่ได้รับทางลิ้น

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กายนี้ได้สัมผัส

เมื่อ รูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นั้นมาปรากฏแก่จิต ที่ไม่มีปัญญารู้ตามธรรมชาติแห่งความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ

สุขและทุกข์ที่เรียกว่าเวทนาก็เกิดกับจิต

จึงเกิดความทะยานอยาก มีอยากเป็น และไม่อยากเป็น ที่เรียกว่าตัณหา ก็เกิด

จึงเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือ ที่เรียกว่า อุปาทาน

และด้วยเพราะมีความยึดถือ พร้อมกับหน้าที่ของจิต รับ จำ คิด รู้ นี่แหละ

สิ่งที่รับมาจำไว้ คิดอยู่ รู้สึก จึงกลายเป็นเหตุปัจจัยให้ภพ แดนเกิด ปรากฏ

เช่นถ้าขณะจิตใด รับ จำ คิด รู้ อยู่ในอารมณ์กุศล สุคติภพจึงปรากฏ

หากขณะจิตใด รับ จำ คิด รู้ อยู่ในอารมณ์ที่เป็นอกุศล ทุคติภพจึงปรากฏ

รวมความว่า คราใดที่จิตนี้ถูกอารมณ์กุศลครอบงำบ่อยๆ

สุคติภพก็จักบังเกิดแก่จิตบ่อยๆ

ก็จักเป็นเหตุปัจจัยให้ จิตสุดท้ายก่อนตายมีกุศลจิตอยู่ จักได้ไปบังเกิดในสุคติภพ

แต่หากทุกขณะจิตนี้ซ่องเสพแต่อารมณ์อกุศลอยู่เป็นประจำ

แม้จิตสุดท้ายก็ยังเสพอารมณ์อกุศล ทุคติภพจักบังเกิดแก่ผู้นั้น

ฉะนั้น ผู้ศึกษาวิถีจิต จึงควรสำเหนียกว่า

อารมณ์กุศลก็ดี อกุศลก็ดี ไม่ควรเสพทั้งนั้น

เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยให้สร้างภพ

ควรจักต้อง รับ จำ คิด รู้ อยู่ในคำว่า

“วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา”

“จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป

มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา”

และหากจะถามว่า สติสัมปชัญญะ อยู่ไหน

ตอบว่า จิตที่ทำหน้าที่ รับและจำ เป็นสติความระลึกได้

ส่วนจิตที่ทำหน้าที่คิดกับรู้ เป็นสัมปชัญญะ ความรู้ตัว (คือปัญญานั่นเอง)

พุทธะอิสระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...