วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการสร้างสังคมสันติสุข


บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการสร้างสังคมสันติสุข: กรณีถอดบทเรียนการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐

๑. บทนำ
             การเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างนิสิตที่สามารถสร้างเครือข่ายแห่งปัญญาให้เกิดขึ้น  ด้วยการเกิดสติและปัญญาบ่มเพาะโพธิแห่งปัญญา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษาผู้ที่จะประสบความสำเร็จตามหลักสูตรจะต้องประกอบด้วย    ประการ คือ
             ๑) “องค์ความรู้” เพราะความรู้คืออำนาจ เป็นเหมือนการที่เรามาต่อตา เรามีพันธุ์ไม้ของเราอยู่แล้ว เรานำมาต่อยอดการศึกษาไปต่อยอดให้สวยงามสมบูรณ์แบบ ออกแบบการเป็นผู้นำกระบวนการ โดยมีปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ
             ๒) “ฝึกทักษะ” เป็นการศึกษาทักษะการฟัง ทักษะการจัดกิจกรรม ทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่น ทักษะความแตกต่างทางความเชื่อ ระดับปริญญาเอกจะเน้นทักษะมากกว่าความรู้ ฝึกปฏิบัติ ทักษะการจัดการความขัดแย้ง ทักษะการสื่อสารกับคนอื่นต่างวัฒนธรรม  ระดับปริญญาเอกต้องออกไปทำงานเพื่อคนอื่นต้องมีทักษะที่สำคัญ การศึกษาดูงานจึงเป็นการเรียนรู้พัฒนาทักษะ
             ๓) “ทัศนคติ”  ในการทำงานรับใช้คนอื่น ต้องปรับทัศนคติตนเองก่อน มาเรียนเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ไม่เป็นคนไปสร้างความขัดแย้งเสียเอง คนมาเรียนต้องมีการโน้มเอียงเพื่อไปสร้างสันติภาพ มิใช่จะไปขัดแย้งเสียเอง แต่ก็มีคนประเภทบัวสี่เหล่า เราจึงต้องมาฝึกทัศนคติของตนเอง ด้วยคำว่า “ค้นหาตนเองให้เจอ” การเดินทางสู่โลกกว้างทำให้เราเติบโต จึงเป็นโอกาสในการปรับทัศนคติให้กับตนเอง เรียนรู้คนอื่นบ้าง เพื่อนำมาพัฒนาตนเอง
             ๔) “การสร้างเครือข่าย”  มาเรียนเพื่อสร้างเครือข่าย การทำงาน ให้คิดถึงสิ่งที่มี อย่านึกถึงสิ่งที่ขาด  เราจะมีวิธีการเครือข่ายอย่างไร?   เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ผลงานของเราไม่ธรรมดา  เพื่อนร่วมสถาบันเราเก่งอะไร ต้องสามารถเชื่อมโยงความถนัดของเพื่อนเราแต่ละคนเป็นเครือข่าย การศึกษาระดับปริญญาโท เป็นการ “ศึกษาความคิด เข้าใจความคิด จัดระบบความคิด นำเสนอความคิด” แต่ในระดับปริญญาเอกต้องสามารถลงมือทำ เรียนรู้เพื่อลงมือทำ ภาษาแห่งการเรียนรู้ เรียกว่า  “เอาธรรมไปทำ”  ทำให้เกิดผลต่อเพื่อนมนุษย์
             ดังนั้น หลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาเอก จึงได้กำหนดให้มีรายวิชา “มหาวิทยาลัยสงฆ์กับการเสริมสร้างสังคมสันติสุข” เป็นวิชาลงพื้นที่ภาคปฏิบัติ โดยนิสิตจะต้องลงพื้นที่สังเกตการณ์หรือร่วมกิจกรรม หรือเป็นอาสาสมัครร่วมดำเนินงานกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ และสรุปถอดบทเรียนหรือองค์ความรู้จากกิจกรรม ในครั้งนี้ได้กำหนดการถอดบทเรียนจากการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งที่ประเทศไทยและประเทศศรีลังกา โดยมีขอบเขตดังนี้
             ๑. ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
             ๒. อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
             ๓. บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการสร้างสันติภาพ
             ๔. บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก
             ๕. บทบาทนิสิตปริญญาเอกสันติศึกษากับการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกปี ๒๕๖๐
             ๖. ถอดบทเรียนมหาจุฬาฯกับการสร้างสังคมสันติสุขจากงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ 
             ๗. สรุป


๒. ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[๑]

    
         มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ซึ่งสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ มีชื่อเดิมว่า “มหาธาตุวิทยาลัย”  และมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”  เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ รูปที่ ๑๕ มีความประสงค์จะปรับปรุงการศึกษา ภายในสถาบันการศึกษาที่เป็นอยู่ในขณะนั้นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงได้รวบรวมความเป็นมาด้านการจัดการศึกษาของมหาธาตุวิทยาลัยทั้งปวง ปรึกษาหารือกับพระเถรานุเถระในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และต่างวัด โดยทุกรูปเห็นพ้องต้องกันว่า สมควร ที่จะได้จัดการศึกษาของพระสงฆ์ให้เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชทานไว้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในการรักษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น พระพิมลธรรม ( ช้อย ฐานทัตตมหาเถร) จึงจัดประชุมพระเถรานุเถระฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๕๗ รูป เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการจัดการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงในระดับมหาวิทยาลัย เปิดสอนระดับปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์เป็นคณะแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ และมีพัฒนาการตามลำดับ โดยมีการเปิดสอนคณะครุศาสตร์ และคณะมานุษยศาสตร์   พ.ศ. ๒๕๒๑ เริ่มขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค เริ่มตั้งวิทยาเขตแห่งแรกที่ จังหวัดหนองคาย และได้ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ๑๐ แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ ๔ แห่ง และศูนย์การศึกษา ๑ แห่ง  พ.ศ. ๒๕๒๖ มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรีใหม่ แบ่งออก เป็น ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และ คณะสังคมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๗ รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำเนินการ เสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา มีผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญา เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่รัฐให้การรับรอง
             พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัย มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เน้นจัดการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
            พ.ศ. ๒๕๔๒ นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสรได้ถวายที่ดินจำนวน ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแก่มหาวิทยาลัย รวมกับที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด ๓๒๓ ไร่     หลังจากนั้น ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทูลเกล้าถวายโฉนดที่ดินทั้ง ๒ แปลง เพื่อพระราชทานแก่มหาวิทยาลัย ต่อมา ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทรงวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานอธิการบดี จนกระทั่ง ในวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยได้ย้ายที่ทำการจากวัดมหาธาตุและ วัดศรีสุดาราม กรุงเทพมหานคร มายังที่ทำการแห่งใหม่ ณ กิโลเมตรที่ ๕๕ ถนนพหลโยธิน  ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ในที่สุด วันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดป้ายหอประชุม มวก ๔๘ พรรษา และเปิดป้ายมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ
             พ.ศ. ๒๕๔๔ เริ่มขยายการศึกษาไปสู่ต่างประเทศ โดยรับวิทยาลัยพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ ประเทศเกาหลีใต้เข้าเป็นสถาบันสมทบเป็นแห่งแรก ปัจจุบันมีสถาบันทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ จำนวน ๗ แห่ง ในปี ๒๕๔๗ รับมหาปัญญาวิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจิ้ง เจวี๋ย เมืองเกาสง ไชนิสไทเป เป็นสถาบันสมทบ หลังจากนั้น ในปี ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยได้รับวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ประเทศศรีลังกา  และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงคโปร์ เป็นสถาบันสมทบ ต่อมาในปี ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยได้รับมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ธรรมะเกต ปูดาเปสท์ ประเทศฮังการี เป็นสถาบันสมทบ การดำเนินการเปิดรับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจาก ๖ ประเทศเข้าเป็นสถาบันสมทบนั้น นับเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับขององค์กรทางการศึกษาในระดับนานาชาติ จนทำให้องค์กรต่างๆ มุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการนำระดับการจัดการศึกษา และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยไปเปิดสอนกลุ่มบุคคลที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ศึกษาและเรียนรู้พระพุทธศาสนาในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
             พร้อมกันนี้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับภารกิจการเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ เช่น วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยร่วมกันองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามจัดตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นให้องค์กรพระพุทธศาสนาได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในฐานะวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกสาร และความสามัคคีของกลุ่มชาวพุทธทั่วโลก โดยให้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (International Council for the Day of Vesak) ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ นับเป็นครั้งแรกที่วงการพระพุทธศาสนาไทย ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของยูเอ็น พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันส่งเสริมให้ยื่นเสนอขอรับรองเป็นองค์ที่ปรึกษาพิเศษดังกล่าว และได้มีกิจกรรมส่งเสริมงานของยูเอ็นอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานความร่วมมือกับชาวพุทธทั่วโลก เพื่อจัดประชุมวิสาขบูชาโลกแล้ว บูรณาการกับพันธกิจของการจัดตั้ง ๔ ด้าน คือ (๑) การพัฒนาที่ยั่งยืน (๒) สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อน) (๓) การศึกษา และ (๔) การสร้างสันติภาพ            สมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลกนี้ นับเป็นสะพานที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงชาวพุทธทั่วโลก ทั้งนิกายมหายาน วัชรยาน และเถรวาท ให้สามารถศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจซึ่งกันและกัน อันส่งผลในเชิงบวกต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในระดับท้องถิ่น (Local) และในระดับโลก (Global) ให้สอดรับกับวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
             นอกจากนี้ยังการจัดตั้งสถาบันภาษา ศูนย์อาเซียนศึกษา วิทยาลัยพระธรรมทูต เพื่อรองรับความเป็นนานาชาติดังกล่าว
             จากพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดังกล่าวสามารถประมวลตามโมเดลไทยแลนด์ ๔.๐ ดังนี้ มจร ๑.๐ ยุคราชวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนเฉพาะภาษาบาลีซึ่งใช้เวลา ๖๐ ปี  มจร ๒.๐ ยุคเรียนภาษาบาลีกับศาสตร์สมัยใหม่ใช้ระบบหน่วยกิตซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองปริญญา  มจร ๓.๐ ยุคเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีการรับรองปริญญา มีวิทยาลัยเขต มีเครือข่ายทั่วประเทศ มจร ๔.๐ ยุคมหาวิทยาลัยนานาชาติ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยย้ายจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ไปตั้งอยู่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  ตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  มีส่วนในการจัดทำหนังสือพระไตรปิฎกสากล ดังนั้น ผลงานของ มจร ๔.๐ จึงนับได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเชื่อมโยงกับนานาชาติ เพื่อการสื่อสารธรรม 

๓. อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[๒]
             อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยประกอบด้วย สุภาษิต ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ดังนี้
๑.      สุภาษิต
ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
                  แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
๒.      ปรัชญา
จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม
๓.      ปณิธาน
                  ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์
๔.      วิสัยทัศน์
(๑)    ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ
(๒)    สร้างคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ โดยผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำจิตใจและปัญญา มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม
(๓)    จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ โดยจัดการศึกษาและพัฒนากระบวนกการเรียนรู้ โดยบูรณาการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และสันติสุข
(๔)    บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ มุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา
(๕)    บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม จริยธรรม ความสำนึกรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
๕.      พันธกิจ
(๑)    ผลิตบัณฑิต ผลิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๙ ประกา คือ
                       M = Morality        มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส
                       A = Awaraness       รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม
                       H = Helpfulness     มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสตร์
                       A = Abuliby           มีความสามารถในการแก้ปัญหา
                      C = Curiosity                   มีความใฝ่รู้ใฝ่คิด
                       H = Hospitality       มีรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม
                       U = Universality     มีโลกทัศน์ กว้างไกล
                       L = Leadership       เป็นผู้นำาด้านจิตใจและปัญญา
                       A = Aspiration        มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม
(๒)   วิจัยและพัฒนา การวิจัยและค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนา คุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
(๓)   ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ตามปณิธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ประสานสอดคล้อง เอื้อต่อการส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรม เพื่อพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรทางศาสนา ให้มีศักยภาพในการธำรงรักษา เผยแผ่หลักคำสอน และเป็นแกนหลักในการพัฒนาจิตใจในวงกว้าง
(๔)    ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เสริมสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สนับสนุนให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

๔. บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการสร้างสันติภาพ
             มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดคณะสงฆ์นอกจากจะมีหน้าที่ในการจัดการศึกษาทางพระพุทธศาสนาบูรณาการเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่แล้วยังมีหน้าที่ในการบริการสังคมดังนั้นเมื่อสังคมไทยและโลกเกิดความขัดแย้งรุนแรงอาจพัฒนาเป็นการทำสงครามเกิดขึ้นทำให้ได้เห็นองค์บทบาททั้งในนามองค์กรและบุคคลซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นการสร้างสันติภาพภายในและการสร้างสันติภายนอก
             ๔.๑ การสร้างสันติภาพภายใน
                    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ส่งเสริมการปฏิบัติบูชา การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรต่างๆของ มจร นั้นนอกจากจะมีภาคทฤษฎีแล้วยังจะต้องมีการภาคปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยระดับปริญญาตรี-โทต้องปฏิบัติธรรม ๓๐ วันและระดับปริญญาเอก ๔๕   วัน พร้อมกันนี้ได้เปิดหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐานโดยตรงระดับปริญญาโทซึ่งต้องไปปฏิบัติธรรมที่ประเทศเมียนมาร์ ๗ เดือน และมีนโยบายเปิดหลักสูตรปริญญาเอก ซึ่งบริหารงานของศูนย์พุทธวิปัสสนานานาชาติ มจร สร้าง อาคารวิปัสสนาธุระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)  ขึ้นมารองรับ  นอกจากจะมีการจัดการเรียนการสอบตามหลักสูตรแล้วยังได้มีการจัดให้พระนิสิตได้ปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ ช่วงก่อนปิดภาคเรียนทุกช่วงชั้น นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้กับประชาชนและพนักงานหน่วยงานทั่วๆไปได้เข้ามาปฏิบัติธรรม อย่างเช่น  เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองได้นำลูกสาว ๓  คนบวชศีลจาริณี 
                    พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยังได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาสันติศึกษาโดยร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า  พัฒนาหลักสูตรด้านนี้ขึ้นมา โดยมี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส(นิธิบุณยากร),รศ.ดร. เป็นผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  โดยเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโทรุ่นที่ ๑  ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ และในปีการศึกษา ๒๕๖๐ เป็นรุนที่ ๕ โดยมีผู้จบการศึกษาแล้วประมาณ ๗๐ รูป/คน และเปิดระดับปริญญาเอกในปีการศึกษา ๒๕๕๙ และในปีการศึกษา ๒๕๖๐ ขณะเป็นรุ่นที่ ๒ แล้ว  
             ๔.๒ การสร้างสันติภาพภายนอก สามารถแบ่งเป็นการสร้างสันติภาพนอกมหาวิทยาลัยและการสร้างสันติภาพโลก
                   ๔.๒.๑ การสร้างสันติภาพนอกมหาวิทยาลัย
                             มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีบทบาทที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนบุคคลภายนอกโดยการให้บริการความรู้ในระดับองค์กรและระดับบุคคล ดังจะเห็นได้จากการจัดการเรียนการสอนบุคคลภายนอกจากการเปิดการเรียนการสอนตามปรัชญาของพระมหาวิทยาลัยที่มุ่งให้พระภิกษุสามเณร แม่ชี ทั้งไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาศึกษาแล้ว ยังเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกไม่เลือกเชื้อชาติศาสนาและ อย่างเช่น  พูนสวัสดิ์ มูลศาสตร์สาทร  อดีตส.ส.สุรินทร์ อดีตนักมวยชื่อดัง  ปภัสรา เตชะไพบูลย์  หรือ ปภัสรา ชุตานุพงษ์  อดีตตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์ปี ๒๕๓๑  ดารานักแสดง  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์อดีตนักการเมือง  มีศิษย์เก่าผู้ที่จบการศึกษาแห่งนี้ที่เป็นนักการมืองก็หลายคนอย่างเช่น ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง”(เสียชีวิต)  อดิศร เพียงเกษ  จบถึงระดับปริญญาเอก  ศันสนีย์ นาคพงศ์  อดีตโฆษกรัฐบาลช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มีผลงานวิจัยเรื่อง สัมมาวาจากลไกสร้างความปรองดอง  เป็นต้น
                             มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยังมองเห็นภัยความขัดแย้งที่เกิดจากความสัมพันธ์และค่านิยมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศจึงได้ร่วมกับสำหนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ “พศ.”  ซึ่งได้ได้รับนโยบายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้มาหาแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติในมติทางศาสนา จัดประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียนที่ มจร   ปี ๒๕๕๗  ภายใต้ชื่อเรื่องว่า ขันติธรรมทางศาสนา” (Religious Tolerance) ได้ใช้รูปนกพิราบที่สื่อถึงสันติภาพเป็นสัญลักษณ์ของการจัดงาน  โดย “พระพรหมบัณฑิต”  เห็นว่า ขันติธรรม (Tolerance) เป็น หัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความแตกต่าง เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอดทดต่อความแตกต่างกันทางศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางความคิด แนวทางนี้จะนำไปสู่การเคารพ และการยอมรับนับถือกัน” “พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส(นิธิบุณยากร),รศ.ดร.”  ได้ตั้งทำถามภายหลังเสร็จการประชุมและทำปฏิญญาร่วมว่า “เมื่อไม่มีขันติ เราจะแสวงหาสันติได้อย่างไร และถ้าไม่มีสันติ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างไร”   อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เก็บตัวเงียบไม่ออกมาแสดงความเห็นชี้ถูกชี้ผิด เพราะหากออกมาแล้วขัดกับกลุ่มก่อการร้ายอาจจะไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นองค์กรหรือผู้ประสงค์จะสร้างสันติภาพภาคใต้จะต้องศึกษาปัญหาอย่างจริงจังแล้วลงพื้นที่อย่างจริงจัง ทำเพียงแค่จัดโครงการลงไป องค์กรศาสนาในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือส่งแต่ตัวแทนมาร่วมก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ
                              นอกจากการให้บริการความรู้แล้วในระดับบุคคลนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็มีบุคลกรที่มีบทบาทให้ความรู้สร้างสันติสุขชี้แนะแนวทางให้กับสังคมอาทิ “พระพรหมคุณาภรณ์” เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน เป็นศิษย์เก่า มจร รุ่นแรกๆ อดีตผู้บริหารได้มีผลงานแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพมากมายถูกอ้างอิงทางวิชาการอยู่เสนอและได้รับรางวัลสาขาสันติภาพด้านการศึกษาจากสหประชาชาติ “พระพรหมบัณฑิต” (ประยูร ธมฺมจิตฺโต, ป.ธ.๙) กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร  อธิการบดี มจร ได้สัมผัสกับคำว่าสันติภาพมานานมีบทความวิชาการก็มาจนกระทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก  มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักธรรมและวิธีการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งสร้างสันติภาพโลกตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ เช่น มัชฌิมาปฏิปทา ทศพิธราชธรรม ปัญญา ๓ เป็นฐานของการพัฒนาคนและประเทศแบบยั่งยืน  ส่งเสริมหลักขันติธรรม สร้างศาสนสัมพันธ์ในฐานะเจ้าอาวาสวัดประยูรวงสาวาส อีกทั้งยังส่งเสริมผู้ด่อยโอกาสทางการศึกษาชาวเขา สืบสานงานเจ้าประคุณ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  โดยให้ทุนการศึกษากับเยาวชนชาวเขาศึกษาในระดับปริญญาตรี  และเดินทางขึ้นเขาไปเยี่ยมทุกปี “พระมหาหรรษา ธฺมมหาโส(นิธิบุณยากร),รศ.ดร.” มีผลงานหนังสือเรื่อง “ปัญจสดมภ์: ค่านิยมแห่งชาติ”  และ “พุทธสันติวิธี”  ผลักดันให้มีการเปิดหลักสูตรสันติศึกษาขึ้นใน “มจร”  หลังจากนั้นได้สื่อสารเนื้อหาของหลักสูตรผ่านทางสื่อออนไลน์คือเฟซบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเช่นสันติสนทนา การสร้างทักษะในการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ทั้งในศาล การสื่อสารเพื่อสันติภาพ  และประชาสัมพันธ์หลักสูตรผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเมื่อปลายปี ๒๕๕๕ พร้อมสอดแทรกหลักคิดเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมด้วยหลักคิด “อภัยทาน” ให้หลักคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับการเมืองในงานวิจัยเรื่อง “แนวโน้วบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า” ได้รับทุนจากศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การนำของ "ปรีชา ช้างขวัญยืน”อดีตผู้อำนวยการ(ผู้ล่วงลับ) พร้อมกับเพาะเม็ดพันธ์แห่งสันติภาพในหัวใจเยาวชนอาเซียนทำโครงการยุวทูตอาเซียนศึกษาเพื่อสันติภาพ
                   ๔.๒.๒ การสร้างสันติภาพโลก
                            มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสถาบันทางการศึกษาที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวพุทธทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนาต่างๆ นักวิชาการพระพุทธศาสนาและกลุ่มคนทั่วไปได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมนานาชาติที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นตามลำดับดังต่อไปนี้
                            ๑) การจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ ๒ ในระหว่างวันที่ ๙ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์นิกายเนนบุตซูชุ ประเทศญี่ปุ่น จัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แห่งโลก ครั้งที่ ๒ ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม การประชุมครั้งนี้เน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวพุทธทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเผยแผ่ศาสนา และเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส มหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชมมายุครบ ๗๒ พรรษา
                            ๒) การประชุมสภาผู้นำศาสนาแห่งโลก ระหว่าง วันที่ ๑๒ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ จัดประชาสภาผู้นำศาสนาโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ การประชุมครั้งนี้ มุ่งสงเสริมเรื่องความร่วมมือทางศาสนาในการแก้ปัญหาความรุนแรงและสร้าง สันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก
                            ๓) การประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลกเพื่อสันติภาพ ระหว่างวันที่ ๒๔ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ จัดประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลกเพื่อสันติภาพ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติกรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นการสนับสนุนให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนความคิดความเห็น เรื่องสันติภาพและเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชน ให้ทำกิจกรรมส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน
                            ๔) การประชุมเถรวาทและมหายาน ระหว่าง วันที่ ๑๖ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางพระ พุทธศาสนา ในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ แสวงหาหนทางทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นที่สนใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่
                            ๕) การสัมมนาร่วมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามในประเด็นความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ศาสนาระหว่างอีหร่านกับไทย ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ทั้งนี้ มีนักวิชาการทั้งสองศาสนาเข้าร่วมกว่า ๙๕๐ รูป/คน
                            ๖) การประชุมการประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียน ครั้งที่ ๑ เรื่อง ขันติธรรมทางศาสนา ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ โดยมีผู้นำศาสนา ๕ ศาสนาจาก ๑๐ ประเทศในประชาคมอาเซียน ๘๐ คน รวมถึงคนไทยร่วมงานประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การดำเนินการของโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา มจร. โดยเริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ มจร.วังน้อย โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน
                            การประชุมครั้งนี้ผู้นำทั้ง ๕ ศาสนาเห็นชอบในปฏิญญาที่ตกลงร่วมกัน ดังนี้ คือ ๑.ส่งเสริมขันติทางศาสนาตามประกาศของยูเนสโก ปี ค.ศ.๑๙๙๕ ๒.จะดำเนินการเสวนาต่อไปและเสริมสร้างเครือข่ายของผู้นำศาสนา ส่งเสริมกันและกัน ๓.เพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีความรู้ในศาสนาของตนเองและศาสนา อื่นๆ ๔.เพื่อดำเนินแบบต่อเนื่องไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อสันติภาพ เข้าใจถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ๕.จะกระทำให้เกิดความคุ้นเคยระหว่างกันเพื่อความเป็นเอกภาพของผู้นำศาสนา และ ๖.เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ไม่ให้ศาสนาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและสื่อมวลชน[๓]

๕. บทบาทมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก
             จากบทบาทการสร้างสันติภาพโลกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่างๆนั้น อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการเป็นแม่งานในการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกปัจจุบันนี้เป็นครั้งที่ ๑๓ แล้ว   
             การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑
               เมื่อ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำชาวพุทธโลกว่าด้วยวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นส่งเสริมการศึกษา การปฏิบัติ การเผยแผ่ และปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งร่วมกันจัดการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาทั้งที่ศูนย์ประชุมใหญ่และศูนย์ ประจำภูมิภาค
             การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๒
               ระหว่าง วันที่ ๑๘ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ          การปะชุมครั้งนี้ เน้นส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างองค์กรทางพระพุทธศาสนาและส่งเสริมแลกเปลี่ยนแหล่ง ข้อมูลทางพระพุทธศาสนา
             การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๓
               ระหว่าง วันที่ ๗ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องสันติภาพโลก ความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ การพัฒนาแบบยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
             การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๔
               ระหว่าง วันที่ ๒๖ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย จัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชา วันสำคัญของสหประชาชาติ ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมปีนี้มีผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๒,๐๐๐ คน การประชุมปีนี้ เน้นเรื่องพระพุทธศาสนากับธรรมาภิบาล และเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา
             การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๕
               ระหว่าง วันที่ ๑๘ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมหาเถรสมาคม และรัฐบาลไทย จัดพิธีฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ การประชุมนี้มีผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมจำนวน ๑,๕๐๐ คน
             การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๖
               การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เรื่อง พระพุทธศาสนากับการแก้วิกฤติการณ์ของโลกวันที่ ๔- ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
             การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๗
               การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกเรื่อง การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ ”Global Recovery: The Buddhist Perspective เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๓ วันที่ ๒๓ - ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
             การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๘
               การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เรื่อง "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ" วันที่ ๑๒-๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร การประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
             การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๙
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๙ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง พุทธชยันตี : ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเรื่องพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อ ประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติวันที่ ๓๑ พฤษภาคม - ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม การประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
             การประชุมวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๐
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๐ เรื่อง การศึกษากับการเป็นพลเมืองของโลก: มุมมองของพระพุทธศาสนาระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
             การประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๑
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๑ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๑,๕๐๐ คน
             การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๒
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๒ เรื่อง พระพุทธศาสนากับวิกฤติการณ์ของโลกระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน
             การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๓
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๓ เรื่อง พระพุทธศาสนากับวิกฤติการณ์ของโลกระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๕,๐๐๐ คน[๔]
             การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ ๑๔
               การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๒ เรื่อง สติ : วิถีปฎิบัติและวิถีแห่งการประยุกต์บนฐานแห่งความกรุณา” (Mindfulness : Traditions and Compassionate Applications) ระหว่างวันที่  ๖-๘  พฤษภาคม ๒๕๖๐  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในการประชุมปีนี้มีอธิการบดี มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๓,๕๐๐ รูป/คนจาก ๘๔ ประเทศเข้าร่วม ขณะเดี่ยวกันการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในระดับนานาชาติมีประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง ๑๒-๑๔  พฤษภาคม ๒๕๖๐  ณ กรุงโคลัมโบ และเมืองแคนดี้  โดยมีชาวพุทธเข้าร่วมประมาณ ๑,๐๐๐ คน จาก ๗๒ ประเทศทั่วโลก อาทินายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ประธานาธิบดีประเทศเนปาล สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี (เทพ วงศ์) สมเด็จพระสังฆราชประเทศกัมพูชา พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิต 
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาตินั้นเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒  ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก ต่อมาได้มีการจัดเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา  วันสำคัญสากลของโลก โดยผู้นำชาวพุทธจาก ๑๓ ประเทศขึ้น ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗  นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้มีการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก และได้จัดกิจกรรมนานาชาติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่รัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน โดยได้อาราธนา/เชิญ สมเด็จพระสังฆราช พระมหานายกะ  ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนา และชาวพุทธจากนานาประเทศ มาร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ     
              ต่อมา ในการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๔  ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐  ที่ประชุมมีประกาศข้อตกลงมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา และมีมติให้จัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (International Association of Buddhist Universities: IABU)  มีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาทั่วโลกเป็นสมาชิก  และจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยคัดเลือกให้พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นประธาน และจัดกิจกรรมสืบเนื่องมาปี พ.ศ.๒๕๖๐ นี้เป็นครั้งที่ ๑๔

๖. บทบาทนิสิตปริญญาเอกสันติศึกษากับการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกปี ๒๕๖๐
             การเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือที่ประเทศไทยเป็นการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๔ และประเทศศรีลังกาได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพตามมติสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ

๖.๑ จัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๔ ที่ประเทศไทย 

                    การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๔  ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่  ๖-๘  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีกิจกรรรมการประชุมการประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา   โดยพระองค์ได้ทรงแสดงให้เป็นความสำคัญของสติในการดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำทาง เพราะดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก”  ที่จะทำให้มนุษย์ก้าวข้ามพ้นความมืดมนไปได้โดยการไม่แบ่งแยกกีดกั้นซึ่งกันละกัน
                    Mr. Gabor Fszekas  ประธานสมาคมสติและการประยุกต์ใช้สติตามวิถีจิตปฏิบัติแห่งประเทศฮังการี  ได้นปาฐกถาพิเศษ ชี้ให้ที่ประชุมได้เห็นความสำคัญของสติที่สามารถแก้ความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายมีปัญหาต่อสุขภาพได้ การเจริญสติจะช่วยให้เราผ่อนคลายความเครียด มีการทดลองบุคคลที่ไม่เคยฝึกสมาธิ กับคนที่ฝึกสมาธิจะมีความแตกต่างกัน คนฝึกสมาธิจะมีพลังมหาศาล สมองจะได้รับพลังจากการฝึกสมาธิ แต่ต้องสามารถนำสติมานำประยุกต์ไปใช้ได้ในชีวิตการทำงานได้อย่างถูกต้องเป็น  “สัมมาสติ” ตามอริยมรรคมีองค์ 8 ในต่างประเทศมีการสอนเรื่องสติในระดับปริญญาโท ซึ่งเป็นการสอนตามแนวของวิทยาศาสตร์ การฝึกสติสมาธิเริ่มจากความเมตตา การฝึกสติมิใช่ทำให้เรามีความสุขเท่านั้น แต่ส่งผลให้คนทั้งโลกมีสติ “สติส่วนบุคคลเป็นสันติสากลของโลก” ต้องสามารถฝึกสมาธิจิตได้ทุกศาสนาในโลกใบนี้ ดังนั้น สมาธิจิตกับวิทยาศาสตร์จึงมีความเชื่อมโยงเสมอ
 

                    การเปิดตัวหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Text : CBT ) ที่มีพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ เป็นบรรณาธิการหลัก และนายปีเตอร์ ฮาร์วีย์ เป็นบรรณาธิการทั่วไป สรุปเนื้อหา แนวคิด รวบรวมคำสอนที่เป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา ๓  นิกายหลักคือ นิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน มารวมไว้เป็นหนึ่งเดียว มีการใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย ด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อนำไปจัดวางไว้ ณ สนามบิน และโรงแรมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเผยแผ่สู่ประชาคมโลก
                    กิจกรรมภาคบ่ายเป็นการประชุมพหุภาคีระหว่างสมาชิก สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติซึ่งมาจากหลายหลายประเทศ ร่วมกันประชุมโดยแบ่งออกเป็น ๕  หัวข้อ ได้แก่ ๑. Curriculum Development  ๒. IABU Members and Their Roles ๓. Ouality Assurance Quality Control  ๔. MOUS that have been signed between members since ๒๐๐๗ ๕. Meditation Practice in the Curriculum  มีการเสนอบทความจากผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างๆ โดยมีเนื่องที่น่าสนใจเช่นว่า “กฎระเบียบของวัดเซ็นในเวียดนามในต้นศตวรรษที่ ๑๘”  (Rules in Zen Monastery in Vietnam of Early XVIII Century) สติปัฏฐาน ๔ ในวิถีวัชรยาน: ทัศนะจากพระคัมภีร (The Four Mindfulnesses- Mindfulness in the Vajirayana Tradition from a Textual Viewpoint)  โดยProf. Dr. Tamas Agocs จาก ประเทศฮังการี  มหาสติปัฏฐานสูตร: การค้นหาอริยสัจ ๔ (Maha Satipatthana Sutta: Investigation of the Four Noble Truths) โดบMr. Seth Evans จาก ประเทศสหรัฐอเมริกา
                    “การเผยแผ่วิปัสสนาของศูนย์วิปัสสนาธุระทางพระพุทธศาสนา”  (The Presentation of Vipassana Thura Buddhist Center) โดย Most Ven. Him Bunthoeun (Preah Sasanamuni) จาก ประเทศกัมพูชา ความว่า “การจัดตั้งศูนย์วิปัสสนาธุระในประเทศกัมพูชา ก่อนหน้านั้นประเทศกัมพูชาเพิ่งผ่านปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ และพระพุทธศาสนาได้เสื่อมถอยลง แต่โชคดีได้มีนักปราชญ์ชาวพุทธมาประชุมกัน นำโดยท่านอาจารย์ Sam Buntoeurn  ได้พัฒนาหลักสูตรวิปัสสนาขึ้นมา  และได้ก่อตั้งศูนย์อยู่นอกกรุงพนมเปญประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ปัจจุบันมีพระศาสนามุนี ฮิม บันเทียน เป็นหัวหน้าศูนย์ หลักสูตรวิปัสสนาพื้นฐานคือแนวทางการปฏิบัติ มี ๒ แบบ ๑. แบบดั้งเดิม ตามแนวพระป่าแบบธุดงค์ ใช้แนวทางของอานาปานสติ ๒. แบบใหม่ นำแนวทางมาจากประเทศพพม่า โดยใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา  เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และ ธรรมานุปัสสนา ในประเทศกัมพูชา มีนิกาย ๒ นิกาย ประกอบด้วย เถรวาท และมหายาน ประชาชน ข้าราชการ และพระมหากษัตริย์เห็นความสำคัญกับพระพุทธศาสนา และให้การสนับสนุนและดำเนินการด้านศาสนาเป็นอย่างดี”
                    “สติและการประยุกต์ใช้ให้เห็นจริงเพื่อก่อเกิดความกรุณาอย่างไม่มีขอบเขต” (Mindfulness: Its Scientific Application as Taught by the Buddha with Infinite Compassion) โดย Shri Shyam Sundar Taparia จากประเทศอินเดีย โดยได้นำเสนอได้นำแนวทางของท่านโคเฮนกามาเป็นแนวปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญทั้งด้านปริยัติ และปฏิบัติหลักธรรมที่สำคัญ คือ อริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ และปฏิจจสมุปบาท  แนวทางปฏิบัติคือใช้อานาปานสติ โดยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก หลักสูตรมีตั้งแต่ ๑๐, ๒๐, ๓๐ วัน ถึง ๖๐ วัน และได้นำหลักสูตรนี้ไปฝึกในโรงเรียนกับเด็กๆ โดยสอดแทรกในกิจวัตรของเด็กคือฝึกกำหนดลมหายใจในตอนเช้าก่อนเรียนและก่อนกลับบ้าน วิธีการนี้เป็นประโยชน์มากเพราะช่วยทำให้เด็กๆมีจิตใจสงบ มีสมาธิ การเรียนดีขึ้น และมีความสุขในการเรียนหนังสือ เป็นต้น
                    “หลักสูตรสติปัฏฐานที่มหาวิทยาลัย Nan Hue University:  วิธีการสอนและการสะท้อนกลับของนักศึกษา” (Mindfulness Meditation Course in Nan Hua University: Teaching Method and Student’s Feedback) โดย Dr. Chue Ming จากไต้หวัน ความว่า มหาวิทยาลัย Nan Hua University เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในไต้หวันแห่งแรกที่ได้นำหลักสูตรสติปัฏฐานมาเปิดสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ทุกคนจากทุกสาขาวิชา ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นในปี ๒๐๑๓ โดยอดีตอธิการดีคนที่สามของมหาวิทยาลัยคือ ดร. ลิน (Dr. Lin) โดยวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้คือ ๑) เพื่อเสริมส่งจิตใจและสร้างความเข้าใจเรื่องสติให้ถูกต้อง ๒) เพื่อให้นักศึกษามีความสามารถด้านการจัดการความเครียดได้  ๓) เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้เข้าใจความหมายของชีวิตและรู้จักตัวเอง และ ๔) เพื่อให้นักศึกษาสามารถจัดการอารมณ์และความโกรธได้ ขอบข่ายเนื้อหาที่สอนในหลักสูตรนี้ เช่น วิธีการนั่งกรรมฐาน การกำหนดลมหายใจ การเดินกรรมฐาน การยืนกรรมฐาน และการตามรู้ธรรมชาติของจิต เป็นต้น
                    วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐  เป็นการประชุมวิชาการสัมมนากลุ่มย่อย ภายใต้หัวข้อ สติ : วิถีปฏิบัติและวิถีแห่งการประยุกต์บนฐานแห่งความกรุณา ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ หัวข้อย่อย ได้แก่  ๑. สติ  : คัมภีร์และแนวคิดหลัก ๒. สติ : วิถีปฏิบัติของนานาสำนัก ๓. สติ : การประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา            
                    วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ กิจกรรมจัดขึ้นที่ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร  ภาคเช้าเวลา ๐๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. มีการกล่าวสุนทรพจน์จากบุคคลสำคัญภายใต้การนำของพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ว่า  การประชุมวิชาการจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลวิสาขบูชา เป็นความต้องการของรัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคม เพื่อให้ระลึกว่าเป็นวันสำคัญของโลก
 

                    “เราให้เกียรติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา จึงมาร่วมกันในการเฉลิมฉลอง ณ องค์การสหประชาชาติ เพราะเรามีเป้าหมายร่วมกัน คือ "การสร้างสันติภาพ" ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระดับโลก   เราเปิดประตูเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กัน  เราเน้นการศึกษา  การสร้างสันติภาพของโลก การพัฒนาอย่างยั่งยืน  ถือว่าเราทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน”
                    จากนั้นรองเลขาธิการการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้อ่านสารของนายอังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ ความว่า “ในนามขององค์การสหประชาชาติ ขอร่วมแสดงความยินดีในการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา  เพื่อเป็นพุทธบูชา เราปฏิบัติตามพุทธกิจ พระพุทธเจ้าประสูติในฐานะเจ้าชายแต่พระองค์ยอมสละตนเองเพื่อออกไปช่วยเหลือมนุษย์ ถือว่าเป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า  วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่ง ซึ่งประเทศศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพในการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาในปีนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญตนจนสามารถช่วยเหลือมนุษย์ คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีการแบ่งแยกก่อให้เกิดสันติภาพ เราจะไม่เบียดเบียนกันในการอยู่ร่วมกัน เราต้องปราศจากความรุนแรง ซึ่งพระพุทธเจ้าให้เราอยู่ร่วมกันอย่างมีสติ ถือว่าเป็นมรดกของพระพุทธเจ้า เราต้องนำมรดกไปปฏิบัติให้เกิดผล  การประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเกิดผลไม่ได้ถ้าไม่ได้รับจากคณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทย”
                    และสารของนางอิรินา โบโกวาเลขาธิการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก (UNESCO) ความโดยสรุปว่า “วันวิสาขบูชาโลกนี้เป็นวันสะท้อนถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับสันติภาพ ความยุติธรรมของสังคม ซึ่งความจะเริ่มสร้างสติให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนตั้งแต่เด็ก”
                    นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ความตอนหนึ่งว่า “วันวิสาขบูชาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงทำใลกใบนี้มีความชุ่มฉ่ำเย็นด้วยธรรมะ  ซึ่งไทยมีการสนับสนุนให้จัดงานในครั้งนี้เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าจะช่วยให้โลกเกิดสันติภาพ โดยเฉพาะหลัก ของ อหิงสาคือการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ด้วยการเดินทางสายกลาง เริ่มจากสัมมาทิฐิไปจนถึงสัมมาสมาธิในการใช้ชีวิต ถ้าสังคมเรามีสติ เราจะอยู่ร่วมกัน  ธรรมะของพระพุทธเจ้าประสานมิติการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงเหมาะสมและทันสมัยอย่างยิ่ง  ขอบคุณผู้จัดงาน ซึ่งได้แก่มหาเถรสมาคม  และมหาจุฬาฯโดยมีรัฐบาลให้การอุปถัมภ์” 
                    และช่วงสำคัญคือเวลา ๑๔.๐๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเปิดงามเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก โดยมี ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กราบทูลถวายรายงาน จากนั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์นานาชาติและพิธีเวียนเทียน ณ ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
                    พร้อมกันนี้ในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชาโลกนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยภายใต้การดำเนินการของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ได้เชิญนักวิชาการ นัดคิด และนักปฏิบัติ ด้านสติและสมาธิจากทั่วโลก เดินทางมาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต และการปฏิบัติร่วมกันกับนักจิตวิทยา นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักแพทย์ศาสตร์ นักมนุษยศาสตร์ นักพุทธศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักชีววิทยา นักธุรกิจ นักรัฐศาสตร์ นักการตลาด นักการเงิน ที่ได้นำสติกับสมาธิไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่างๆ เพื่อพัฒนามนุษย์อย่างไร  นักปฏิบัติจากสำนักต่างๆ ทั้งสายเถรวาทและมหายานและวัชรยานจะร่วมกันให้คำตอบ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
             ๖.๒ จัดกิจกรรมวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๑๔ ที่ประเทศศรีลังกา
                   การจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในระดับนานาชาติที่ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๒  พ.ศ. ๒๕๖๐  ที่กรุงโคลัมโบอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีชาวพุทธเข้าร่วมประมาณ ๑,๐๐๐ คน จาก ๗๒ ประเทศทั่วโลก อาทินายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ประธานาธิบดีประเทศเนปาล สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี (เทพ วงศ์) สมเด็จพระสังฆราชประเทศกัมพูชา พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิต




                   ก่อนพิธีเปิดจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการมีการ “สมาทานศีล” ซึ่งนำโดยสมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกา ชาวพุทธคนร่วมสมานทานศีล ๕ จากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและพุทธศาสนา กล่าวต้อนรับโดยกล่าวถึงหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา คือ “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้สงบ” ต่อด้วยการแสดงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสวยงาม ตามด้วยพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ ได้ปาฐกถาพิเศษได้ยกพระไตรปิฎกฉบับสากล (Buddhist Common Text, CBT) เป็นความสำเร็จของชาวพุทธทั่วโลกที่มีหัวใจแห่งขันติธรรมทางพระพุทธศาสนาและหัวใจแห่งการหลอมรวมไม่แบ่งแยกขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง
                   ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ ระบุว่า “หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากลมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้ ประการแรก โครงการพระไตรปิฎกฉบับสากลเป็นการฟื้นฟูเอกภาพที่ตกลงกัน ณ กรุงโคลัมโบ ในปี ค.ศ. ๑๙๖๖  ระหว่างผู้นำสงฆ์ฝ่ายเถรวาท กับ ฝ่ายมหายาน เพราะเราได้รับเอาโครงสร้างทางปรัชญาของทั้งสองนิกายมาใช้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก
                   ภายใต้การอุปถัมภ์ของสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ เราได้ต่อยอดหัวใจแห่งเอกภาพ ณ กรุงโคลัมโบ โดยการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ในหนังสือเล่มนี้ แทนที่จะใส่ความเห็นส่วนตัวเข้าไป เราเปิดโอกาสให้คัมภีร์ดั้งเดิมพูดด้วยตัวคัมภีร์เอง เราใช้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นหัวข้อหลักของหนังสือ และมีการเพิ่มหัวข้อย่อยๆ ที่ครอบคลุมคุณค่าทางตามประเพณีและการประยุกต์ใช้ในสมัยใหม่
                   ภายใต้หัวข้อเหล่านี้ เราได้ใส่ข้อมูลที่ได้จากการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกของเราเอง ดังนั้น หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากลนี้จึงเป็นการแปลใหม่ซึ่งพระสูตรจำนวน ๒๗๐ สูตรที่คัดสรรมาจากคัมภีร์เถรวาท มหายาน และวัชรยาน  ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ คณะกรรมการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากล ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการประมาณ ๒๐ ท่านจากทั้งสามนิกาย ทั้งจากประเทศตะวันออกและตะวันตก ได้รับมอบหมายงานภายใต้การกำกับของสมาคมมหาวิทยาพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) ให้สร้างความสมดุลระหว่างความเข้มข้นทางวิชาการกับการทำให้คนอ่านจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้
 

                   คณะกรรมการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากลได้จัดประชุมสัมมนาถึง ๑๒ ครั้งเพื่อทำงานสร้างความเข้าใจและหาข้อตกลงร่วมกัน ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕  นักวิชาการอิสระและผู้นำชาวพุทธได้พิจารณาร่างพระไตรปิฎกฉบับสากลและเสนอข้อแนะนำเพื่อการแก้ไขปรับปรุง ในปี ค.ศ.  ๒๐๑๕   สภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติได้มติรับรองร่างพระไตรปิฎกฉบับสากล การพิจารณารอบที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ.  ๒๐๑๖  โดยนักวิชาการอิสระทั้งจากประเทศตะวันออกและตะวันตก สุดท้าย ในปี ค.ศ.  ๒๐๑๖ สภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติก็ได้มีมติรับรองร่างพระไตรปิฎกฉบับสากลนั้น เมื่อเป็นที่พอใจของผู้พิจารณาตรวจสอบทั้งหมดแล้ว เราจึงได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากลขึ้น โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับโอกาสเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการจัดทำทั้งหมด
                   เรามีแผนที่จะดำเนินการแปลพระไตรปิฎกฉบับสากลเป็นภาษาขององค์การสหประชาชาติทั้งหมด เราหวังว่า จะแจกจ่ายหนังสือเล่มนี้ตามโรงแรมทั้งหมดและแจกจ่ายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ร้านหนังสือ เป็นต้น ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ ในฐานะบรรณาธิการหลักหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล ผม/อาตมา รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ออกผลงานครั้งประวัติศาสตร์แห่งความเป็นเอกภาพในรูปของพระไตรปิฎกฉบับสากล ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติ ปี ค.ศ.  ๒๐๑๕  ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา”
                   ต่อจากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์จากบุคคลสำคัญอาทิ นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย โดยได้ยกพระพุทธพจน์ที่ว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” แปลความว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” ความสงบเท่านั้นจะทำให้เกิดสันติสุขภายโลกใบนี้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีสันติสุข ในฐานะชาวพุทธต้องไปถึงความสงบสันติปราศจากความขัดแย้ง


                   ทั้งนี้ก่อนที่นายโมดิจะเดินทางถึงประเทศศรีลังกา ได้โพสต์ข้องความในเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า “นี้เป็นการเยือนแบบทวิภาคีครั้งที่ ๒  ของผมในเวลา ๒  ปี เป็นสัญญาณแห่งความสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างสองประเทศ ระหว่างการเยือน ผมจะเข้าร่วมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในกรุงโคลัมโบ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม จะได้พบปะกับผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ และนักวิชาการทางศาสนา นับว่าเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองครั้งนี้ พร้อมกับประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา และนายรัฐมนตรีรานิล วิคเกรเมสิงเห  การเยือนของผมเป็นการเน้นย้ำสายสัมพันธ์อันยาวนานที่สุดระหว่างอินเดียกับศรีลังกา คือการมีมรดกทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน
                   เมื่อสองปีที่แล้ว ๒๐๑๕  ผมได้ไปเยือนศรีลังกา มีโอกาสไปเยี่ยมชมเมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายศตวรรษ สำหรับครั้งนี้ ผมจะมีโอกาสไปนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี การเยือนของตนครั้งนี้จะเริ่มต้นที่กรุงโคลัมโบ โดยจะไปเยี่ยมชมสีมา มาละกะ ที่วัดคงคาราเมยยะ พร้อมเข้าร่วมประเพณีจุดเทียนตามประทีป ผมจะไปเยี่ยมพื้นที่ชนบทของศรีลังกา เพื่อทำพิธีเปิดโรงพยาบาลดิกโกยะ ซึ่งรัฐอินเดียให้ความช่วยเหลือด้านการก่อสร้าง และจะพบปะสังสรรค์กับชุมชนชาวทมิฬเชื้อสายอินเดีย”
                   พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเดินทางไปร่วมงานด้วยสะท้อนความเห็นว่า “ฉะนั้นพิธีเปิดในช่วงเช้าเห็นพลังของผู้นำชาวพุทธ ผู้นำทางการเมือง ให้การสนับสนุนอย่างแท้จริง ศาสนาจะอยู่รอดผู้นำจึงมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อน เป็นต้นแบบที่ดีของคนในชาติ ประเทศศรีลังกาถือว่าประสบความสำเร็จในการที่มีผู้นำหัวใจพุทธศาสนา ขับเคลื่อนประเทศศรีลังด้วยพระพุทธศาสนาเป็น “วิถีพุทธ วิถีปฏิบัติ วิถีชีวิต” ถือว่าเป็นความชัดของศรีลังกาที่หลายประเทศต้องกลับมาทบทวน ว่าเราจะเป็น “พุทธปริมาณ หรือ พุทธคุณภาพ”  ผู้นำจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการสนับสนุน
                   ประเทศศรีลังกาเป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทั่วโลกยอมรับว่า เป็น “วิถีพุทธ” คือนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างแท้จริง เป็น “วิถีชีวิต”  คือ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในศรีลังกา และ “วิถีปฏิบัติ”  คือ ปฏิบัติจน DNA ของความเป็นชาวพุทธเข้าไปสู่จิตใจอย่างเป็นรูปธรรม ชาวพุทธศรีลังกา เป็นชาวพุทธโดยสายเลือด ไม่ได้เป็นชาวพุทธตามสำเนาทะเบียนบ้าน จึงมีความรัก ความหวงแหน และความผูกพันในพระพุทธศาสนามาก




                   สาเหตุที่ชาวพุทธศรีลังกาหวงแหนพระพุทธศาสนามาก เพราะครั้งหนึ่งเคยถูกเบียดเบียนบีบคั้นจากศาสนาอื่น ถูกย่ำยีทำลายหัวใจด้วยการทำลายสิ่งที่เคารพนับถือนั้นคือ "พระเขี้ยวแก้ว" เมื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลของต่างศาสนาทำให้ชาวพุทธศรีลังการักและหวงแหนพระพุทธศาสนามาก วิถีชีวิตชาวพุทธในลังกายังเป็นพุทธที่บริสุทธิ์ สวดมนต์ไหว้พระ สมาทานศีลเองทุกวัน ไม่มีพุทธพานิชย์ ไม่มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ชาวพุทธศรีลังกาไม่ติดยึดในเรื่องเครื่องรางของขลัง มีงานใดๆ ไม่ว่าจะงานศพ งานสำคัญทางศาสนา พระสงฆ์และชาวพุทธศรีลังกาจะไม่เน้นการสวดมนต์หรือทำแต่พิธีกรรม มีงานอะไรก็ตามจะเน้นการบรรยายธรรม สนทนาธรรม ปาฐกถาธรรม เน้นการปลูกฝังทางสติปัญญามากกว่าพิธีกรรม พ่อแม่ครอบครัวจะเป็นตัวอย่างที่ดี คือ รักษาศีลให้ลูกหลานดู กตัญญูให้ลูกหลานเห็น สุขสงบเย็นให้ลูกหลานสัมผัสได้ วันพระวันอาทิตย์ พ่อแม่จะพาลูกหลานไปวัด สวดมนต์ สมาทานศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ภาวนา การบูชาพระของชาวพุทธศรีลังกา ไม่เน้นการจุดธูปเทียนให้แสบจมูก แต่จะนำแต่ดอกไม้ไปวางเรียงหน้าพระพุทธรูปหรือสิ่งสักการะอย่างสวยงาม
                   ชาวพุทธทุกคนถือว่าเป็นหน้าที่ในการทำนุบำรุงปกป้องพระพุทธศาสนา ใครไปยืนหันหลังถ่ายรูปกับพระพุทธรูป ชาวพุทธศรีลังกาจะมาตะเพิดไล่ทันที ถือว่าไม่ให้ความเคารพ ทุกคนมีหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนามิใช่ให้แต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ปกป้อง คณะสงฆ์ศรีลังกาจะเข้มแข็ง เพราะมีกระบวนการกลั่นกรองคนที่เข้ามาบวชอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ใครนึกจะบวชก็บวชได้ คนที่จะบวชต้องมาอยู่วัดดูนิสัยใจคอกันเป็นปีๆ ต้องศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจนเข้าใจ เมื่อเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมแล้ว จึงจะนำมาบวชกับประธานสงฆ์ของนิกายนั้นๆ ซึ่งแต่ละนิกายก็จะมีสังฆสภา คอยพิจารณากลั่นกรองว่าจะให้ใครบวชไม่ให้บวช เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะตัดสินกันในสังฆสภา พระมีน้อยประมาณ ๓,๐๐๐ รูป แต่มีคุณภาพจริงๆ
                   ฉะนั้น พระพุทธศาสนาที่แท้ไม่มีนิกาย ไม่มีมหายาน ไม่มีเถรวาท ไม่มีวัชรยาน ไม่มีธรรมยุตไม่มีมหานิกาย มีแต่ศิษย์ตถาคต คือลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเหมือนกัน ขอให้แต่ละท่านแต่ละคนทำหน้าที่ของตนที่มีที่เป็นให้สมบูรณ์ ให้ถูกต้อง เพราะบุคคลใดก็ตามปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง บุคคลนั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรม นี่คือ มุมมองของศรีลังกาที่ข้าพเจ้ารู้จัก วันนี้นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษาจึงลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนในศรีลังกา สิ่งหนึ่งที่สุดยอด คือ “เข้าวัดกันแบบครอบครัว”  
                   ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของสมณทูต ณ ศรีลังกา ได้ยึดการเผยแผ่ ๔  ประการ คือ “วิชายอด จรณะเยี่ยม เปี่ยมด้วยกรุณา ยื่นดวงตาให้กับชาวโลก” " ซึ่งในราว พ.ศ. ๒๓๖  เป็นต้นมา”[๕]
                   กิจกรรมในวันที่ ๑๓  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นการเสนอผลงานทางวิชาการโดยแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม โดยมีผู้บริหาร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมด้วย ในจำนวนนั้นมีพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา โดยระบุว่า “เป็นการเสนอผลงานเชิงประจักษ์ของหมู่บ้านสันติสุข (Peaceful Village) เพื่อที่จะบอกว่า “สันติภาพโลกเริ่มต้นจากสันติภาพในหมู่บ้าน และสันติภาพในหมู่บ้านเริ่มต้นจากสันติภาพภายในใจของทุกคน" เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและนักปฏิบัติทั่วโลก”


                   ทั้งนี้พระมหาหรรษา ระบุว่า  “หมู่บ้านสันติสุขมีการวิจัยที่ลงพื้นที่จริง ๆ เราต้องนำทฤษฎีลงไปปฏิบัติจริง ถ้าเราพิสูจน์เอง เราจะจำจนถึงวันตาย ธรรมะทุกอย่างถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างไปเพิ่งเชื่อ ต้องพิสูจน์ด้วยตนเองเท่านั้น เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีความทุกข์ ไม่จำเป็นต้องนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเกิดมาจากความทุกข์ รูปแบบการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด หรือ สันติสุขมี ๔ ป. ในการปราบปรามการทุจริต คือ “ปลูก ปลุก ปรับ เปลี่ยน” เปลี่ยนฐานความคิดคนในทุกภาคส่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ ช่อสะอาด เป็นฐานเพื่อความเจริญของชาติ แต่ที่ผ่านมาเป็นแค่เอกสาร จึงเกิดแนวคิดว่าจะลงพื้นที่ทำจริงอย่างไร? เพราะงานระดับปริญญาเอกต้องพื้นที่จึงเป็นเสน่ห์ ช่อสะอาดหมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริต
                   มีคำกล่าวว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตคือฐานของบ้าน”  เพราะหมู่บ้านช่อสะอาด คือ กายสะอาด พฤติกรรมสะอาด จิตใจสะอาด ปัญญาสะอาด ถือว่าเป็นภาวนา ๔ ในหลักพระพุทธศาสนา ต้องอยู่ในฐานของบวร " ช่อสะอาดในสังคม เริ่มต้นจากหมู่บ้าน" เพราะ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน อยากรู้คำตอบต้องกลับไปที่หมู่บ้าน ฐานสำคัญคือ หมู่บ้านศีล ๕ เป็นช่อสะอาด คือ กายสะอาด คือ สิ่งแวดล้อมดี เลี้ยงชีวีแบบพอเพียง พฤติกรรมสะอาด คือ ไม่มีพฤติกรรมทุจริตคิดคด จิตใจสะอาด คือ ใจปราศจากการทุจริตคิดคด ปัญญาสะอาด คือ ไม่ใช้ปัญญาหาช่องทางทุจริต โดยมีพระราชดำรัสของในหลวงว่า... “ความซื่อสัตย์สุจริตเท่ากับชีวิตที่สะอาด”  ก่อนที่เราจะทำงานเราต้องศึกษาเอกสาร จึงลงมือการทำ SWOT บ้าน วัด โรงเรียน วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เพราะความซื่อสัตย์เป็นฐานของบ้าน
                   เราเวลาทำงานมักจะคิดถึงเงิน มันก็จบ เราต้องสร้างงานก่อน เงินจะมาเอง เพราะเขาเห็นสิ่งที่เราทำมากกว่าสิ่งที่เราพูด ถ้าเราจะลงพื้นที่ปริญญาเอกต้องมีโมเดลก่อน เหมือนหมู่บ้านช่อสะอาด มีโครงการวิจัยพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด ด้วยการลงพื้นที่จริง ยุทธศาสตร์ที่ ๑ กายสะอาด ด้วยการปรับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมหน้าบ้านหน้ามอง กิจกรรมลานวัด ลานธรรม ลานใจ มีการย้ายกระดูกพ่อแม่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก จึงอาศัยการพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจในการพัฒนาวัด จึงได้รับความร่วมมือ เราทำงานด้านสันติภาพ เราต้องเป็นนักเสียสละ นี่คือการเริ่มจากให้ เราต้องช่วยเขาก่อน ส่งเสริมให้มีการออม ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การทุจริตคอรัปชั่น มีกิจกรรมสนับสนุนให้ชุมชนคืนสมบัติสาธารณะ “คืนทางให้ลูกหลาน”  เพราะมีการรุกล้ำ มีการทำแผนผังหมู่บ้านในอนาคต ตั้ง ป.ป.ม. คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตประจำหมู่บ้าน ยุทธศาสตรที่ ๓ การพัฒนาด้านจิตใจ กิจกรรมครอบครัว ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาการใช้ปัญญา ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย อดีตมีเจ้าโคตรคอยไกล่เกลี่ย พูดคุยกัน สร้างความสัมพันธ์ แต่มีกฎหมายเข้ามาทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้ง มีอะไรก็ไม่คุยกัน จะฟ้องกันอย่างเดียว ถือเป็นประเด็นสำคัญมาก
                   ฉะนั้น ปัจจัยที่จะทำชุมชนสันติสุขเกิดความสำเร็จ คือ ๑. Leaders ตัวผู้นำสำคัญที่สุด ภาวะผู้นำสำคัญที่สุด ๒. Social capital ทุนทางสังคม มีอะไรดีๆในหมู่บ้าน เช่น ปู่ตา คนสำคัญในหมู่บ้าน อดีตมีปู่ตาสองที่ จึงหลอมเป็นหนึ่งเดียว ๓. External Factors ดึงให้มีส่วนร่วม เพราะเขาสร้างมาด้วยกัน จึงมีความภูมิใจ ๔. Participation ต้องหาคนข้างนอกมาช่วยชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆ พร้อมจะให้เงินเรา ปัจจุบันหมู่บ้านช่อสะอาดได้รับความสนใจมาก เพราะใช้  “ป่าล้อมเมือง”  ย้ำเตือนว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”
                   หมู่บ้านสันติสุขนับได้ว่าตั้งอยู่บนฐานของศีล ๕ เป็นอันดับแรก และพิธีเปิดการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในระดับนานาชาติที่มีประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ก็เริ่มสมเด็จพระสังฆราชของประเทศศรีลังกานำผู้เข้าร่วมที่เป็นฆราวาสสมาทานศีล ๕ เป็นอันดับแรก รวมถึงสาส์นจากผู้นำศาสนาแต่ละประเทศที่นำเสนอทั้งจากพระสังฆราชศรีลังกา ไทย แคนนาดา บังคลาเทศ อินโดนีเชีย กัมพูชา เมียนม่าร์ เวียดนาม มองโกเลีย จีน ลาว เป็นต้น มีสาระสำคัญ คือ “การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การไม่ใช้ความรุนแรง ความสามัคคีนำมาซึ่งพร้อมเพียงในหมู่ชาวพุทธ” และศีล ๕ ถือว่าเป็นจริยธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนา เรียกว่า “มนุษยธรรม” หรือ ธรรมพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ดังนั้น โครงการหมู่บ้านสันติสุขจึงเป็นการประกาศหลักการวันวิสาขบูชาวันสันติภาพโลก
                   กิจกรรมวันอาทิตย์ที่ ๑๔  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๐๐น. พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.)  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)นำคณะมหาจุฬาฯ เข้าคารวะพระมหานายกะอัศคิริยะแห่งสยามนิกายที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง เพื่ออาราธนาเข้ารับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ประเทศไทย และได้เข้าสักการะพระธาตุเขี้ยวแก้วที่เปิดแสดงเป็นพิเศษสำหรับงานประชุมวิสาขบูชาโลก ๒๕๖๐  ซึ่งมีคนเข้าแถวรอสักการะกันอย่างล้นหลาม ณ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา

                   ต่อมาเวลา ๑๘.๐๐ น.เป็นพิธีปิดงานวันวิสาขบูชาโลกในระดับนานาชาติ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ด้วยการประกาศปฏิญญาแคนดี้จำนวน ๙  ข้อ โดยพระพรหมบัณฑิตลก และนางพิทยาเทวี บันดารี ประธานาธิบดีเนปาลได้แสดงปาฐกถาปิดงาน

                   การที่ประเทศศรีลังกาได้เชิญประธานาธิบดีเนปาลร่วมในพิธีนั้น เพราะประเทศเนปาลเป็นแผ่นดินของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า นายพิทยาเทวี ได้กล่าวว่า รัฐบาลเนปาลขอขอบคุณประเทศศรีลังกาในการสนับสนุนประเทศเนปาลมาตลอดในด้านพระพุทธศาสนา "ศรีลังกา เนปาล อินเดีย " จึงเป็นประเทศด้านผู้นำทางศาสนา ถึงในประเทศจะมีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่ประเทศศรีลังกา เนปาล อินเดีย จะร่วมกันรักษาส่งเสริมสนับสนุนอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอดไป โดยทั้งสามประเทศขับเคลื่อนประเทศด้วยพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานชีวิตของผู้คนทั้งสามประเทศ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านศาสนาและวัฒนธรรม ด้วยการท่องเที่ยวรวมถึงแสวงบุญในแดนพุทธภูมิ พระพุทธเจ้าทำให้อินเดียเนปาลศรีลังกา มีเงินตราเข้ามาหลายหมื่นล้านรูปี นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน ผู้นำเนปาลย้ำว่า " เนปาลเป็นแดนดินกำเนิดพระบรมศาสดาของโลก ด้วยคำกล่าวว่า “อคฺโค เป็นผู้เลิศที่สุด เชฏฺโฐ เป็นผู้เจริญที่สุด เสฎฺโฐ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด” ลุมพินีวันจึงจุดเริ่มต้นของชีวิตในการสร้างสันติภาพ
                   หลังจากนั้นเวลา ๑๘.๓๐ น.  พระพรหมบัณฑิตได้เข้าพบกับนายไมตรีปาละ ศิริเสนา ประธานาธิบดีประเทศศรีลังกา ณ ทำเนียบประธานาธิบดี เมืองแคนดี้ เป็นกรณีพิเศษตามคำอาราธนาของประธานาธิบดีที่ต้องการกล่าวขอบคุณพระพรหมบัณฑิตที่ให้การสนับสนุนการจัดงานวิสาขบูชาโลกที่ศรีลังกาจนประสบความสำเร็จด้วยดี โดยมีนายชัยทสะ ราชปักษะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระพุทธศาสนาของศรีลังการ่วมสนทนาอยู่ด้วยในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานด้วย



                   หลังจากนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมพิธีปิดงานวิสาขบูชาโลก ณ เมืองแคนดี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ลงพื้นที่สถานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในศรีลังการะหว่างวันที่ ๑๕-๑๘  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา ซึ่งการศึกษาศรีลังกาทำให้นึกถึงคำที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นในมิติต่างๆ ด้วยคำว่า “สันติภาพ ความศรัทธา ความขัดแย้ง พหุวัฒนธรรม พระพุทธศาสนา วิถีพุทธวิถีชีวิต ความรุนแรง ศาสนา พระเขี้ยวแก้ว ผู้นำวิถีพุทธ และอายุบวร”  ซึ่งคำว่า “อายุบวร”  เป็นคำกล่าว “สวัสดี” ของคนศรีลังกา ถ้าจะแปลให้ตรงตัว ก็หมายถึง “ขอให้อายุมั่นขวัญยืน” ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา โดยประมวลจากสถานที่ตามประวัติศาสตร์แบ่งตามเมืองหลวงที่สำคัญในอดีตตามกาลเวลาคือเมืองอนุราธปุระและเมืองโปโลนนารุวะ ดังนี้
                   ๑. เมืองอนุราธปุระ
                       เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๐๖ กิโลเมตร ชาวสิงหลได้อพยพมาจากประเทศอินเดียตอนเหนือมาอยู่ที่เกาะลังกา เมื่อประมาณ ๕๔๓ ปีก่อนคริสตกาล ตามพงศาวดารคัมภีร์มหาวงศ์ เล่าไว้ว่า เจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหพาหุ ผู้ครองนครสีหบุรีรัตนราชธานี มีความประพฤติเกกมะเหรกเกเร ซ่องสุมอันธพาลก่อความเดือดร้อนในแผ่นดิน เมื่อพระราชบิดาทรงทราบได้ทรงเนรเทศเจ้าชายวิชัยและบริวารออกไปจากราชธานี โดยจับโกนศีรษะครึ่งหนึ่งแล้วใส่เรือปล่อยไปในทะเล และเรือลำนั้นได้ไปถึงเกาะลังกา กล่าวกันว่าวันที่เจ้าชายวิชัยถึงเกาะลังกาเป็นวันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานเมื่อมาถึงลังกา เจ้าชายวิชัยพบว่า ณ เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนของพวกยักษ์ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่บนเกาะ พระองค์เลยทรงผูกมิตรกับนางกุเวนิ บุตรสาวหัวหน้ายักษ์ ได้นางเป็นชายา ในที่สุดนางกุเวนิได้มีส่วนช่วยพระองค์ปราบปรามยักษ์จนอยู่ในอำนาจ จากนั้นเจ้าชายวิชัยทรงส่งบริวารของพระองค์แยกย้ายกันออกไปสร้างเมืองต่าง ๆ ตามชื่อของบริวารนั้นๆ ได้แก่ อุปติสสคาม อนุราธคาม อุเชนิคาม อุรุเวลคาม และวิชิตคาม
                       เมื่อเจ้าชายวิชัยมิได้สถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในเบื้องแรก เพราะยังทรงหาพระราชินีมาร่วมราชบัลลังก์ยังไม่ได้ ต่อมามีพระราชสาส์นไปขอเจ้าหญิงราชธิดาของพระเจ้าปัณฑราชแห่งเมืองมถุรา ที่อินเดียตอนใต้ พระเจ้าปัณฑราชไม่ขัดข้อง ทรงส่งพระราชธิดา กุลสตรีมีตระกูล ๑๐๐ นาง และชาวเมืองมถุรา ๑๐๐๐ ครอบครัว เดินทางมาเกาะลังกาเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในเมืองใหม่ คนเหล่านี้ก็ได้มาแต่งงานกับข้าราชบริพารของเจ้าชายวิชัย มีลูกหลานสืบต่อกันมา เรียกว่า ชาวสิงหลเมื่อเจ้าชายวิชัยได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาพระเจ้าปัณฑราชแล้ว ได้สถาปนาพระองค์เองเป็นพระมหาษัตริย์ปกครองบ้านเมืองต่อมา แต่ไม่ทรงมีพระราชโอรสสืบต่อพระราชบัลลังก์เลย จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปทูลเชิญเจ้าชายสุมิตรพระอนุชาของพระองค์ที่เมืองสีหบุรีรัตน์มาครองราชย์สืบแทน เจ้าชายสุมิตรทรงส่งพระราชโอรสองค์เล็กคือ เจ้าชายปัณฑวาสุเทวะ พร้อมข้าราชบริการมายังเกาะลังกา เจ้าชายปัณฑสุเทวะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงภัทธกัจจายะ เจ้าหญิงเผ่าอารยันจากอินเดีย มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๑๑ พระองค์ เมื่อพระเจ้าปัณฑวาสุเทวะเสด็จสวรรคต เจ้าชายอภัย พระราชโอรสองค์ใหญ่ได้ครองราชย์สืบต่อมา
                       เจ้าชายอภัยมีพระขนิษฐาองค์สุดท้องคือเจ้าหญิงจิตรกุมารี ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายฑีฑามนี พระโอรสของพระปิตุลา ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระนางภัทธกัจจายะ มีพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ เจ้าชายปัณฑุกาภัย พระเจ้าอภัยทรงมีพระเมตตาต่อเจ้าหญิงจิตรกุมารีและเจ้าชายปัณฑุกาภัย พระนัดดามาโดยตลอด แม้ว่าโหราจารย์ได้ทำนายไว้ว่าพระโอรสของเจ้าหญิงจิตรกุมารีจะปลงพระชนม์พระปิตุลาทุกพระองค์ ฝ่ายพระอนุชาอีก ๙ องค์ของพระเจ้าอภัย ทรงเชื่อคำทำนายของโหราจารย์ จึงเกลียดชังเจ้าชายปัณฑุกาภัยยิ่งนัก วางแผนกำจัดพระนัดดาให้สิ้นพระชนม์ไป ก่อนที่พวกพระองค์จะโดนปลงพระชนม์ตามคำทำนายของโหราจารย์ ปรากฎว่าเจ้าชายปัณฑุกาภัยเอาพระชนม์ชีพรอดมาได้ทุกครั้ง เกิดความแค้นเคืองฝังแน่นในพระอุระ จึงได้พยายามฝึกฝนวิทยายุทธ์ต่างๆ และซ่องสุมชายฉกรรจ์จนมีกำลังมาก ความทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าอภัย แทนที่พระองค์จะทรงระแวงภัย กลับเข้าข้างพระนัดดา ทำให้พระอนุชาไม่พอพระทัยมาก ในที่สุดก็ทรงรวมกันบังคับให้พระเจ้าอภัยสละราชสมบัติให้เจ้าชายดิศราชกุมารพระอนุชาองค์ถัดมาเจ้าชายปัณฑุกาภัยจึงใช้โอกาสนี้ประกาศสงครามกับพระปิตุลาทั้งเก้า พระปิตุลาทั้งเก้าสิ้นพระชนม์ในการรบ เหลือเพียงพระเจ้าอภัยพระองค์เดียวที่ไม่ได้โดนปลงพระชนม์ เมื่อเจ้าชายปัณฑุกาภัยได้ชัยชนะ ในปีพ.ศ.๑๐๕ พระเจ้าปัณฑถุกาภัยก็ทรงย้ายไปตั้งเมืองหลวงที่อนุราธคาม ซึ่งกลายมาเป็นเมืองอนุราธปุระตั้งแต่นั้นมา ต่อมาทรงสถาปนาเป็นราชธานี ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงสุวรรณบาลีขัตติยา ทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๔ ของศรีลังกา
                       การปกครองในรัชกาลเจ้าชายปัณฑุกาภัยนี้ จัดเป็นยุครุ่งเรืองในประวัติศาสตร์ศรีลังกาเป็นการปกครองด้วยระบบเทศบาล การก่อสร้างเจริญก้าวหน้า สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำได้ในสมัยนี้ ในปีพ.ศ.๑๓๗๖-๑๓๙๖ เป็นรัชกาลของพระเจ้าเสนะที่ ๑ ในรัชกาลนี้เอง กองทัพราชวงศ์ปาณฑยะจากอินเดียตอนใต้ ก็เคลื่อนกำลังเข้ามารุกรานลังกา ยึดภาคเหนือไว้ได้ทั้งหมด เมืองอนุราธปุระถูกปล้นสะดมยับเยิน พระเจ้าเสนะต้องอพยพไปประทับที่เมืองโปลอนนารุวะจนสิ้นรัชกาล ในปีพ.ศ. ๑๔๗๖ เมืองอนุราธปุระถูกทำลายพินาศถึงกาลอวสาน ชาวสิงหลต้องถอยร่นไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เมืองโปโลนนารุวะ เมื่อเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองสำคัญในอดีตจึงมีโบราณสถานที่สำคัญ ดังนี้
                       “เขามหินตเล” เป็นสถานที่พระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เสด็จมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา แก่พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ที่เพิ่งเสวยราชสมบัติ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๖  แสดงพระธรรมเทศนาชื่อ หัตถิปโทปมสูตรให้ทรงสดับ เมื่อแสดงจบพระราชาพร้อมทั้งข้าราชบริพารทั้งหลายได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะทันที พระพุทธศาสนาจึงได้ลงรากฐานตั้งมั่นในเกาะตัมพปัณณทวีป ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ณ ที่แห่งนี้ได้มีการสร้างเจดีย์อัมพัฏฐะ (Ambattha Cetiya) ซึ่งแปลว่า เจดีย์บนเนินต้นมะม่วง เพื่อบรรจุพระธาตุของพระมหินทเถระ ผู้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในเกาะลังกาเป็นครั้งแรก เป็นความร่วมมือกันเพื่อประโยชน์สุขให้กับเพื่อนมนุษย์
                       “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” เป็นส่วนหนึ่งของกิ่งที่นำมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ปลูกไว้ที่เมืองอนุราธปุระ พ.ศ.๒๓๕ รวมแล้วมีอายุกว่า ๒๖๐๐ ปี นับเป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนนานที่สุดในโลก เนื่องจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาในอินเดียนั้นนับเป็นต้นที่สืบต่อมาเป็นช่วง ที่ ๔ จากจุดที่พระพุทธองค์ประทับบำเพ็ญเพียร ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิมนั้นถูกทำลายไปถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา ต้นที่อยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบันเซอร์คันนิ่งแฮมได้นำหน่อที่พบในบริเวณที่เป็นจุดบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้และปลูกเอาไว้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรุ่นที่ ๔ แล้วในจุดเดิม
                       “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นนี้ ชาวศรีลังกาบูชาและรักยิ่งชีวิต จึงไม่อนุญาตให้ขึ้นไปกราบใกล้ชิดถึงด้านบน การที่พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้มอบหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์มาศรีลังกากับพระนางสังฆมิตตาเถรี ด้วยเหตุว่า เป็นการประกันความเสี่ยงของพระพุทธศาสนาว่าถ้าอยู่ประเทศอินเดียจะถูกทำลายถือว่าเป็นการมองการไกลอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสังเกตก็คือต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ประเทศศรีลังกาต้นใหญ่โตแต่ใบเล็กเปรียบเหมือนคนเรายิ่งตำแหน่งสูง ขึ้นสูงเท่าไหร เราต้องทำตัวให้เล็ก ทำตัวเล็กอยู่ที่ไหนก็ได้  ความร่มเย็นเป็นสุขในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น ต้องประกอบด้วย “ร่มไม้ ชายคา ศาลา วารี”  เป็นการเปรียบเทียบว่า ร่มเย็นเป็นสุขเป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทร ชายคาเป็นที่หลบแดดหลบฝน ศาลาก็เป็นที่พักร้อนพักผ่อน และวารีก็ทำให้สรรพสิ่งมีชีวิตเป็นอยู่ได้ จึงมีขนาดแคระแกรน ทางเมืองอนุราธปุระจึงพยายามรักษาด้วยการทำไม้ค้ำหุ้มทองคำค้ำยันกิ่งก้านสาขาของต้นศรีมหาโพธิ์ไว้เป็นจำนวนมาก ในบริเวณเดียวกันมีต้นศรีมหาโพธิ์ที่แตกหน่อขยายจากต้นเดียวกันดั้งเดิมอีกหลายต้น ต้นที่แตกใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นเดิมมาก ดังนั้นต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ จึงถือเป็น " ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่แท้แน่นอนและมีอายุยืนนานที่สุดในโลก " ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาในอินเดียนั้นนับเป็นต้นที่สืบต่อมาเป็นช่วง ที่ ๔ จากจุดที่พระพุทธองค์ประทับบำเพ็ญเพียร ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิมนั้นถูกทำลายไปถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา ต้นที่อยู่ที่พุทธคยาในปัจจุบันเซอร์คันนิ่งแฮมได้นำหน่อที่พบในบริเวณที่เป็นจุดบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้และปลูกเอาไว้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นรุ่นที่ ๔ แล้วในจุดเดิม ดังนั้นถ้าว่าถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก็คือต้นที่พระนางสังฆมิตตาเถรีได้นำมาปลูกที่เมืองอนุราธปุระต้นนี้ซึ่งเป็นต้นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก และแล้วก็โดนทำร้ายจริงๆ ในอินเดียตามที่เรารับรู้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงเป็นหัวใจของคนศรีลังกา รักษาไว้ด้วยชีวิต จึงเห็นบรรยากาศผู้คนในศรีลังมากราบสักการะ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ด้วยพลังศรัทธายิ่งฉะนั้น จึงย้อนกลับมาถึงพระพุทธศาสนาในไทยว่าการประกันความเสี่ยงไว้บ้างหรือยัง ซึ่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เพื่อรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป
                       “วัดมหาวิหาร” วัดแห่งแรกที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะสร้างถวายแก่พระมหินท์พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชจากประเทศอินเดียได้เสด็จมาเผยแผ่พุทธศาสนาในเกาะลังกา ราว พ.ศ. ๓๐๐   อยู่ทางใต้ของเมือง บริเวณนี้เคยเป็นอุทยานของพระเจ้ามุฏสิวะ พระราชบิดาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ
                       “เจดีย์ถูปาราม”  เป็นเจดีย์ทางพุทธศาสนาองค์แรกที่สร้างขึ้นในเกาะลังกา โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ทรงสร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๓๐๐ นับเป็นเจดีย์หรือสถูปที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองอนุราธปุระและในเกาะลังกา เป็นที่ประดิษฐานกระดูกพระรากขวัญ(ไหปลาร้า)เบื้องขวาของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเดิมสร้างเป็นรูปลอมฟาง มีเสาหินเรียงรายอยู่ ๓ แถว แสดงว่าเคยมีหลังคาเครื่องไม่มุงกระเบื้องคลุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ลักษณะเจดีย์แบบนี้ในลังกาเรียกว่า “วฏะทาเค” ตั้งอยู่บนลานทักษิณ ทุกคนต้องถอดรองเท้าก่อน แล้วเดินขึ้นบันได ๘ ขั้น จึงจะถึงลานองค์เจดีย์มีการซ่อมแซมหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕
                       “โลหะปราสาท”  เป็นโบราณสถานหนึ่งในสามแห่งของโลก แห่งแรกอยู่ที่อินเดีย แห่งสุดท้ายอยู่ที่วัดราชนัดดา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ยังสมบูรณ์อยู่ ขณะที่ในอินเดียและศรีลังกาได้พังทลายลงไปหมดสิ้นแล้ว โลหะปราสาทที่อนุราชปุระนี้ สร้างในครั้งแรกโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ต่อมาในสมัยพระเจ้าทุฏฐคามณี ได้สร้างเพิ่มถวายเป็นพุทธบูชาสำหรับพระของวัดมหาวิหารจำพรรษา ปราสาทแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง ๙ ชั้น แต่ละชั้นมี ๑๐๐ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องด้วยโลหะทองแดงผสม ทำให้ได้ชื่อว่า โลหะปราสาท แต่ละห้องประดับด้วยอัญมณีมีค่าชนิดต่างๆ สำหรับพระสงฆ์ผู้ทรงภูมิความรู้ได้พักอาศัยและนั่งวิปัสนากรรมฐาน โละปราสาทนี้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดในสมัยพระเจ้าลัญชติสสะ ผู้ครองราชต่อจากพระเจ้าทุฏฐคามณี พระองค์จึงสร้างขึ้นใหม่เพียง ๗ ชั้นเท่านั้น ต่อจากนั้นก็มีการซ่อมแซมหลายครั้งมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถูกทำลายโดยพวกโจฬะ ที่ชอบมารุกรานเกาะลังกา ซากที่เห้นกันอยู่ในปัจจุบัน สร้างขั้นใหม่ใยสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ มหาราช ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงชั้นฐานของอาคาร มีซากของเสาหินตั้งเรียงรายอยู่ ๑๖๐๐ ต้น แบ่งออกเป็น ๔๐ แถว แถวละ ๔๐ ต้น"กุฏฏัมและโปกุณะ" สระสรงน้ำสองสระคู่ (สระแฝด) เป็นสถานที่สรงน้ำของกษัตริย์ลังกา พระมเหสีและพระสนมทั้งหลาย เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุม สร้างด้วยหินมีลวดลายแกะสลักงดงาม มีเครื่องหมายเป็นหม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ เรียกว่า ปุรณฆฏะ สลักจากหินรูปร่างกลมมีลายดอกไม้ใบไม้ ประดับอยู่ขอบสระสองข้างบันทางลง และมีรูปพญานาคสลักอยู่ด้วย ถือกันว่าเป็นผู้คุ้มครองสระน้ำทั้งสองแห่งนี้
                       “วัดอิสุรุมุณิยะ” สร้างโดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เดิมเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์มาก่อน เพราะตัวศาสนสถานเจาะเข้าไปในหิน ประวัติความเป็นมาไม่แน่นอน แต่เดิม มีถ้ำที่เคยเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ในยุคแรก แต่ก็มีงานประติมากรรมที่ไม่ได้เป็นงานทางศาสนารวมอยู่ด้วย เฉพาะงานประติมากรรมได้รับยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของยุคอนุราธปุระด้วยเช่นกัน
                       “เจดีย์รุวันเวลิ”  หรือ มหาถูปา หรือ สุวรรณมาลิกเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองอนุราชปุระ มีขนาดกว้าง ๑๐๐ เมตร สูง ๑๐๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงกลมฟองน้ำ มีกำแพงประดับด้วยช้างหินล้อมรอบรวม ๓๖๒ เชื่อก มีเนื้อที่ ๑๒.๕ ไร่ ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะมีพระประสงค์จะสร้างพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งตรงบริเวณที่เป็นเจดีย์รุวันเวลิในเวลาต่อมา และพระมหินทเถระได้พยากรณ์การก่อสร้างไว้ให้ แต่ยังมิทันได้สร้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เจดีย์รุวันเวลิสร้างสำเร็จโดยพระเจ้าทุฎฐาคามีนีอภัย โดยพระเจดีย์รุวันเวลิสร้างเสร็จในวันที่พระองค์เสด็จสวรรคต
                       “วัดอภัยคีรีวิหาร” (อุตตราวิหารหรือวัดเหนือ)  เมืองแคนดี้  สร้างโดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยครองราชย์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๔๔๐ ต่อมาเสียราชบัลลังก์ให้แก่พวกทมิฬจากอินเดียใต้ และชิงคืนมาได้เมื่อ พ.ศ. ๔๕๔-๔๖๖ เคยเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา เป็นที่อยู่ของพระ ๕,๐๐๐ รูป มีพื้นที่มากกว่า ๕๐๐ เอเคอร์ มีโบราณสถานที่สำคัญคื “อภัยคีรีเจดีย์”  เป็นเจดีย์ยืนขนาดใหญ่และมีความสำคัญมาก ตั้งอยู่ใน สูง ๑๑๓ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๑๐  เมตร เป็นเจดีย์ใหญอันดับสองรองจากเจดีย์เชตวัน วัดอภัยคีรีวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธศาสนาลัทิมหายานเจริญรุ่งเรืองอยู่ บริเวณวัดอภัยคีรีมีพระพุทธรูปแกะสลักจากหินองค์ใหญ่ นั่งปางสมาธิครองจีวรเรียบไม่มีริ้ว ศิลปะอนุราธปุระ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙ ๑๐ เดิมมี ๔ องค์ล้อมรอบต้นโพธิ์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงองค์เดียว ทางรัฐบาลได้สร้างหลังคาคลุม ให้ภายหลัง ด้านหน้าองค์เจดีย์มีวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ก่ออิฐถือปูนทาสีสดใสยาวประมาณ ๑๐ เมตร
                       “วัดอาโลกวิหารสถาน” เมืองแคนดี้ หรือเมืองอนุราธบุรีในอดีต เป็นสถานที่พระสงฆ์ ๕๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎกโดยการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกลงในใบลานเมื่อราว พ.ศ. ๔๕๐ นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระพุทธศาสนา โดยปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายมหาวิหารกับฝ่ายอภัยคีรีวิหาร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นช่วงที่พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยกำลังเตรียมชิงบัลลังก์คืนจากพวกทมิฬเป็นครั้งที่ ๒ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๔๓๙ อยู่ได้ ๗ เดือนก็ถูกกองทัพทมิฬชิงบัลลังก์ พระองค์หนีไปซ่องสุมกำลังพลอยู่ ๑๔ ปี จึงตีเมืองอนุราธบุรีคืนได้
                       “วัดถ้ำดัมบุลลา” และ “ถ้ำดัมบุลลา”  ตั้งอยู่บนภูเขาห่างจากสีกิริยา ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดราชมหาวิหารตั้งอยู่ที่ตำบลดัมบุลลาด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่สีทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ ซึ่งพระเจ้าวาลากัมบา หรือ พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย กษัตริย์องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงอนุราธปุระ เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๔๔๐  เมื่อมีการผลัดแผ่นดินจึงเป็นช่องทางให้ศัตรูผู้รุกรานคือ พวกทมิฬหาโอกาสบุกเข้ายึดกรุงอนุราธปุระจนเสียกรุงให้แก่พระเจ้าปุลหัตถ์ซึ่งภายหลังตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงอนุราธปุระ พวกทมิฬยึดกรุงแล้วเข้าทำลายพุทธศาสนาทันที จนพระเณรหนีตายไปอยู่ตามป่าตามถ้ำ พวกทมิฬเข้าครองอนุราธปุระเป็นเวลา ๑๔ ปี พระองค์ต้องเสียราชบัลลังก์ เสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลัง ระหว่างนั้นทรงได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหาติสสะ และอาศัยอยู่ในถ้ำที่ดัมบุลลานี้เมื่อพระองค์ทรงรบชนะ และเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงสร้างวิหารศิลาภายในถ้ำ ที่ดัมบูลลานี้ และได้ทรงให้ทำการสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่อาโลกวิหาร และได้ทำการจารึกพระพุทธพจน์ลงในใบลานเป็นครั้งแรก
                       วัดนี้ประกอบด้วยถ้ำ ๕ ถ้ำ ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดคือถ้ำลำดับที่ ๔ เป็นถ้ำที่มีความน่าสนใจที่สุด มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มไปทั้งเพดานถ้ำ ภาพเขียนคล้อยไปตามรอยคดโค้งของผนังถ้ำได้อย่างเหมาะเจาะ รอบผนังถ้ำเป็นรูปบุคคลมากมาย เฉพาะรูปของพระพุทธเจ้ามีถึง ๔๘ ภาพและภาพของเทวดา เช่น พระอุปุลวัน และพระสมัน เป็นเทวดาประจำแคว้น ประทับอยู่ที่ยอดเขาศรีปาทะในภูเขาอาดัมส์ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้มีอายุอยู่ในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถ้ำแรกชื่อว่าถ้ำเทวราชา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนิพพานยาว ๑๔ เมตร ประทับบน แท่นหิน มีพระสาวก คือ พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ อีก ๔ องค์ มีพระศิวะและพระวิษณุ ซึ่งชาวพุทธศรีลังกาก็บูชาด้วย เพราะตามศาสนาฮินดูพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระวิษณุ ด้านหน้ามีแผ่นหินสลักภาษาพราหมีเกี่ยวกับประวัติการสร้างถ้ำด้วยถ้ำที่สองชื่อว่าถ้ำมหาราชา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ๔๐ องค์ ประทับยืน ๑๖ องค์ มีเทวดาสมัน วิษณุ มีรูปปั้นของกษัตริย์พระเจ้าวาลากัมบา หรือพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย ผู้ริเริ่มการสร้างวัดถ้ำดัมบูลลา รูปปั้นกษัตริย์นิสสังกมัลละ พระโพธิสัตว์เมตไตรยะ พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร มีองค์เจดีย์สูงจากพื้นถึงเพดานถ้ำ มีจิตรกรรมที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ ตำนานที่พระเจ้าวิชัยเสด็จมาที่ศรีลังกา การรับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ และสงครามต่อต้านชาวทมิฬ ฯลฯ เป็นต้น ส่วนน้ำที่หยดลงมาถือว่าเป็นน้ำทิพย์หรือน้ำมนต์ที่นำไปใช้ในพิธีต่างๆ
                       ถ้ำนี้เป็นที่มาของชื่อว่า “ดัมบุลลา”  ดัมแปลว่าก้อนหิน และ บุลละแปลว่าน้ำพุ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่และสำคัญที่สุดถ้ำที่สามชื่อว่ามหาอลุวิหาร ถ้ำนี้สร้างโดยกษัตริย์เมืองแคนดี้พระนามว่าพระเจ้ากิติศรีราชสิงหะ โดยคำแนะนำจากพระภิกษุ ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ถ้ำนี้มีพระพุทธรูปทั้งยืนและนั่ง ๕๐ องค์ และรูปปั้นเท่าองค์จริงของกษัตริย์ถ้ำที่สี่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง สถูปขนาดเล็ก งานแกะสลักพระของถ้ำนี้จะมีความแตกต่างไม่งดงามเท่ากับ ถ้ำที่ ๒ และ ๓ เพราะเป็นชาวบ้านแกะสลัก และถ้ำมีขนาดเล็กถ้ำที่ห้า เป็นถ้ำขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และมีพระพุทธรูปหลายองค์ งานพุทธศิลป์เหล่านี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา พระพุทธประวัติ มวลเหล่าเทวดาประจำแคว้น รวมถึงลวดลายทางพุทธศิลป์ต่าง ที่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ รวมถึงประชาชน รังสรรค์ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยศรัทธาที่มั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นที่น่าอนุโมทนาบุญเป็นอย่างยิ่งฉะนั้น ถ้ำดัมบุลลามีความสวยงามยิ่งนัก ถือว่าเป็นการวัดพลังศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของผู้คนในอดีต ขอบคุณที่สืบทอดพระพุทธศาสนาผ่านพุทธศิลป์ จนทำให้เราได้มีโอกาสมากราบไหว้ สาธุ...
                       “วัดเชตะวัน” เป็นวัดที่สร้างล้อมรอบพระเจดีย์เชตวันมีซากอาคารโบราณหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น อาคารที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา กุฏิพระ ที่สรงน้ำพระ ศาลาโรงธรรม อ่างเก็บน้ำ  สำหรับ “เจดีย์เชตะวัน” นั้น ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมหาถูปา เป็นพระเจดีญ์ใหญ่สร้างด้วยอิฐทั้งองค์ในสมัยพระเจ้ามหาเสนะครองราช พ.ศ. ๘๑๙ ๘๔๖ เป็นเจดีย์ มีความสูง ๑๒๒ เมตร เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในโลก และ เป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงเป็นอันดับ สาม ของโลกในยุคสมัยเดียวกัน เป็นรอง ปิรามิด สองแห่งในอียิป ฐานเจดีย์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๑๓ เมตร
                       “วัดพระอุบาลี” หรือวัดบุปผาราม  เมืองแคนดี้ หรือเมืองอนุราธบุรีในอดีต ประเทศศรีลังกา  ตั้งอยู่ริมทะเลสาบแคนดี้ เป็นวัดที่พระอุบาลีและคณะสมณฑูตจากกรุงศรีอยุธยามาทำการบรรพชาอุปสมบทสามแก่เณรสรณังกรและชาวศรีลังกา ตามพระประสงค์ของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ จึงได้ส่งราชทูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีอยุธยา สมัยพระเจ้าบรมโกศ เป็นจุดเริ่มต้นของ นิกายสยามวงศ์กำเนิดพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์  โดยได้เข้ากราบสักการะพระมหานายกะศรีลังกา หรือพระสังฆราชของศรีลังกา พร้อมถวายพระไตรปิฎกฉบับสากล

                   ๒. เมืองโปโลนนารุวะ
                       นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๑๕๙๘-๑๗๗๙ นับเป็นสมัยโปโลนนารุวะ กษัตริย์ที่ทำให้ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือ “พระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑”  ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๕๙๘-๑๖๕๓ เดิมทีนั้น พระเจ้าวิชัยพาหุทรงปกครองอาณาจักรโรหณะอยู่ก่อนแล้ว เมื่อทรงเห็นว่าลังกาตกอยู่ในสภาพถูกรุกรานต้องระส่ำระสายไม่เป็นอันพัฒนาประเทศ ก็ทรงรวบรวมกำลังชาวลังกาทั้งหมด เรียกร้องให้ผนึกกำลังกันครั้งใหญ่ โดยไม่แบ่งแยกชาวอาณาจักรเหมือนเมื่อก่อน เพื่อให้ทุกคนสำนึกในความเป็นชาติเดียวกัน เพื่อจะได้สู้รบกับคนต่างชาติคือกองทัพโจฬะซึ่งครอบงำลังกาในยุคนั้น ก็ได้ถูกชาวสิงหลโดยการนำของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ขับไล่จนต้องพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดหลังจากเอาชนะข้าศึกได้แล้ว พระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ก็ทรงสถาปนาเมืองโปโลนนารุวะเป็นราชธานี ด้วยทรงเห็นว่าสถานที่ตั้งของเมืองนี้มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงกว่าเมืองอนุราธปุระหลายประการ ที่สำคัญคือมีความเหมาะสมทางด้านยุทธศาสตร์ เพราะอยู่ห่างจากภาคเหนือของเกาะ ไม่ล่อแหลมต่อการถูกรุกรานจากอินเดียตอนใต้ ทรงสร้างราชวังใหม่ที่เมืองโปโลนนารุวะ มีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง มีการส่งราชฑูตไปบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา มาประดิษฐานไว้ที่เมืองโปโลนนารุวะ ต่อมาในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ได้ยึดครองอาณาจักรโปโลนนารุวะได้ทั้งหมด ทรงครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.๑๖๙๖-๑๗๒๙ ทรงเป็นกษัตริย์มหาราช ในด้านต่างๆ คือ
                       ๑) ทางด้านศาสนา ทรงสร้างวิหารประดิษฐานพระธาตุเขี้ยวแก้ว ที่เมืองโปโลนนารุวะ เป็นวิหารทรงกลม สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดในลังกา สร้างวิหารลังกาดิลกอันสะท้อนศิลปะแบบฮินดู แกะสลักพระพุทธรูปที่กัลป์วิหาร
                       ๒) ทางอารยธรรม ทรงสร้างพระราชวังที่ใช้ทองคำฉาบพื้นพระราชวัง ภายในมีห้อง ๑๐๐๐ ห้อง สูง ๗ ชั้น ทรงสร้างป้อมพระนคร สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ
                       ๓) ทางด้านชลประทาน ทรงสร้างเขื่อน ๑๖๘ แห่ง ขุดคลอง ๓,๙๑๐ คลอง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ๒,๓๗๖ แห่ง อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดกินเนื้อที่ถึง ๕,๙๔๐ เอเคอร์ระหว่างปีพ.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๕๑ เมืองโปโลนนารุวะก็ถูกทหารทมิฬทำลายอีกครัง ลังกาในช่วงเวลานี้ ตกเป็นฝ่ายรับมือข้าศึกจนไม่เป็นอันพัฒนาบ้านเมืองได้เลย จนเรียกได้ว่าเป็นจุดจบของอาณาจักรโปโลนนารุวะ
                       สถานที่และโบราณสถานที่สำคัญในเมืองโปโลนนารุวะ คือ
                       กัลวิหาร : แปลว่า วิหารหิน หรือ อารามหิน เดิมชื่อ อุตตราราม สร้างโดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ใน พ.ศ. ๑๖๙๖ ๑๗๒๙ เป็นวิหารที่สลักบนวิหารหินแกรนิต โดยสลักเป็นพระพุทธรูป ๔ องค์เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน องค์แรก เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ มีขนาดใหญ่ ขัดสมาธิราบ ครองจีวรริ้ว เป็นริ้วคู่ขนานกันเป็นคู่ๆ ที่ฐานของพระพุทธรูปสลักเป็นรูปสิงห์นั่งสลับกับวัชระหรือสายฟ้า ด้านหลังของพระพุทธรูปสลักเป็นภาพอาคารเลียนแบบเครื่องไม้ มีตัวมกรและอาคารย่อส่วนขนาดเล็กวางซ้อนกันขึ้นไป
                       องค์ที่สอง เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ มีขนาดเล็กกว่าองค์แรกสลักไว้ในถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปในภูเขา ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ มีเทวดาอยู่ทั้งสองข้าง พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ พระพุทธรูปประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบปาละ
                       องค์ที่สาม พระพุทธรูปประทับยืนในท่าที่ใช้พระหัตถ์ทั้งสองขึ้นไขว้กันในระดับพระอุระ(หน้าอก) ที่เรียกว่า “พระพุทธรูปปางรำพึง” มีความสูงถึง ๗ เมตร
                       องค์ที่สี่ สลักเป็นพระพุทธรูปนอน ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน สลักจากภูเขา มีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่น มีความยาวถึง ๑๔ เมตร ทรงประทับนอนตะแคงขวา วางพระกรราบ พระเศียรหนุนอยู่บนพระเขนย (หมอน) รูปทรงกระบอกยาว พระกรงอเข้าหาลำตัว พระหัตถ์ขวาวางราบบนพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางราบไปกับลำตัว ปลายพระบาททั้งสองข้างสนิทกันซ้อนพอดี เดิมมีวิหารก่ออิฐปกคลุ่มอยู่โดยรอบพระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์ มีร่องรอยของอาคารปรากฏอยู่ เป็นแนวฐานก่อด้วยอิฐวิหารวฏะทาเค : เป็นรูปทรงแบบลอมฟางมีเสาหินเรียงรายอยู่ ๓ แถวโดยรอบแต่เดิมมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องครอบอยู่ ตรงกลางเป็นเจดีย์ทรงกลม มีพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานอยู่หน้าเจดีย์ทั้ง ๔ ด้านพระพุทธรูปครองจีวรเรียบไม่มีริ้ว บนพระเศียรไม่มีขมวดพระเกศาองค์เจดีย์ทำด้วยอิฐ และหินมีการสลักลวดลายอย่างสวยงามประกอบอยู่บริเวณฐานและผนังเป็นลายสิงโต คนแคระ ดอกไม้ และพันธ์พฤกษาต่างๆ ทางด้านเหนือมีมุขขนาดเล็กสร้างปรากฎอยู่ สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้านิสสังกมัลละเมเติมขึ้นภายหลัง ส่วนทวารบาลสลักหินที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์แห่งนี้เป็นทวารบาลที่สลักได้งดงามที่สุดในศิลปะแบบโปโลนนารุวะ เป็นรูปมนุษย์นาค (ผู้ชายมีนาคแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง) มือซ้ายถือดอกบัวมือ ขวาถือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ (ปูรณฆฏะ) และมีคนแคระ ๒ คนยืนอยู่สองข้างยกแขนขึ้นทั้งสองแขนอยู่ในแผ่นสลักหินชิ้นเดียวกันตรงกันข้ามจะมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมชื่อว่า อาตะทาเคเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว เพราะฉะนั้นลานแห่งนี้จึงเรียกว่าลานพระเขี้ยวแก้วซึ่งจะมีกลุ่มโบราณสถานสำคัญรวม ๑๒ แห่งมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกมีอ่างน้ำขนาดยาวอยู่หนึ่งใบเอาไว้ล้างเท้าก่อนจะขึ้นไปบนลานอันศักดิ์สิทธิ์
                       “อาตะทาเค” นี้สร้างในสมัยพระเจ้านิสสังกมัลละมีกำแพงหินล้อมรอบ ตัววิหารก็สร้างด้วยหินภายในเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีพระพุทธรูยืน ๓ องค์ประดิษฐานอยู่มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ที่ผนังของมุขด้านหน้ามีอักษรจารึกเรื่องราวของพระเจ้านิสสังกมัลละและมีภาพหงส์สลักยาวเป็นแนวอยู่ด้วย ประตูทางเข้าจะประดับด้วยรูปนักฟ้อนรำนักดนตรี ทำจากปูนปั้นหน้าบันไดทางขึ้นจะมีทวารบาลและอัฒจันทร์อยู่ด้วย วิหารนี้แต่เดิมเป็น ๒ ชั้น แต่ชั้นบนเป็นไม้ได้พังไปหมดแล้ว อาตะคาเท : เคยเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของเมืองโปโลนารุวะ บางครั้งจึงเรียกว่า วิหารพระเขี้ยวแก้วสร้างโดยพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๙๘ ๑๖๕๓) เป็นอาคาร ๒ ชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปบริเวณด้านหลัง พระเขี้ยวแก้วคงจะประดิษฐานอยู่ชั้นบนด้านหน้า ซึ่งสร้างด้วยไม้ ปัจจุบันได้หักพังทลายไปหมดแล้ว ภาพสลักบนเสาหินทำเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดในวิหารนี้ ซึ่งยังคงรักษาอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบคุปตะไว้ได้เป็นอย่างดี ด้านหลังวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยื่นยาวออกมาทางด้านหน้า คำว่า อาตทาเคหมายถึง วิหารของพระเขี้ยวแก้ว ๘ องค์เจดีย์กิริเวเหระ เชื่อกันว่าสร้างโดยพระมเหสีของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช มีพระนามว่า สุภัทธาเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มีขนาดสูงใหญ่ที่ฐานมีลวดลายประดับเป็นลาบลวดบัว ๓ ชั้น ส่วนบัลลลังก์ที่อยู่เหนือองค์ระฆังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีลวดลายขัดแตะ และลายธรรมจักรประกอบ เหนือบัลลังก์มีก้านฉัตรรองรับปล้องไฉนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงปลียอด (ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงมีพระดำริเอาไว้ว่า เจดีย์แห่งนี้มีรูปแบบลักษณะคล้ายคลึงกันมากกับพระบรมธาต์เจดีย์ที่วัดพระมหาธาต์วรมหาวิหาร อ.เมืองจ.นครศรีธรรมราช”) นักโบราญคดี ได้ขุดค้นพบสุสานฝังศพ ส้วม ลานอาบน้ำ และโรงพยาบาลในบริเวณวัดแห่งนี้ในปี พ.ศ.๒๕๒๖
                       “วิหารลังกาดิลก” สร้างด้วยอิฐถือปูน มีความยาว ๕๒ เมตร กว้าง ๑๘ เมตร สูง ๑๗.๕๐ เมตร ภายในห้องขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ท้ายสุดของห้องด้านใน มีร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม อยู่ทั้งสามด้านของห้อง มีพระพุทธรูปปางประทับยืน ขนาดใหญ่เป็นพระประธานในวิหารแต่เศียรของพระได้สูญหายไปแล้ว ผนังด้านนอกของวิหารจะพบอัฒจันทร์และทวารบาล และสลักจากหินเป็นลวดลายคล้ายกับที่เมืองอนุราธปุระ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชทรงสร้างวิหารแห่งนี้ และพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๔ ทรงบูรณะ (พ.ศ. ๑๘๑๓ ๑๘๑๕) ภายในห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน มีการก่อผนังเป็น ๒ ชั้น มีทางเดินโดยรอบสำหรับเดินประทักษิณได้ ด้านหน้าของวิหารลังกาดิลก มีมณฑป ที่เอาไว้เป็นศาลาสำหรับเล่นดนตรีประกอบพิธีกรรมต่างๆ
                       “วิหารติวังก” เป็นโบราณสถานที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในบริเวณวัดเชตวัน วิหารติวังกะ หรือวิหารเหนือสร้างโดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ปัจจุบันคงเหลือแต่วิหารที่สร้างด้วยอิฐ หลังคาได้พังไปหมดแล้ว วิหารติวังกะนี้ น่าสนใจและน่าศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างศิลปะลังกากับศิลปะไทยสมัยสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
                       “สัตตมหาปราสาท” เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมทึบก่อด้วยอิฐซ้อนกันขึ้นไปรวม ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มตรงกลาง ๑ ซุ้ม ภายในซุ้มมีรูปเทวดาปูนปั้นยืนอยู่ด้วยท่าตริภังค์ (เอียงสะโพก) และยกมือข้างหนึ่ง สัตตมหาปราสาทแห่งนี้ เป็นอาคารที่มีรูปทรงแปลก มีเพียงแห่งเดียวในเกาะลังกา (แต่ในเมืองไทยมีอยู่หลายแห่ง เช่น เจดีย์วัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี จ.ลำพูน และเจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย) ชั้นล่างของสัตตมหาปราสาทยังมีร่องรอยของการก่อสร้างอิฐเป็นรูป ๘ เหลี่ยม แล้วจึงสร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมครอบทับภายหลัง อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้รับอิทธพลมาจากความเชื่อในศาสนาพุทธนิกายมหายานดังที่ตรัสไว้ว่า “ผู้ที่ชนะคนล้านคน ในสงคราม ไม่ชื่อว่า เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียว ถือว่าเป็นยอดแห่งคนผู้ชนะในสงคราม”
             จากประประสบการณ์ทัศนศึกษาพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาประเทศศรีลังกาทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเชิงลึก ทั้งวิถีพุทธ วิถีชีวิต วิถีปฏิบัติต้องศรีลังกา  ใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงของศรีลังกาต้องใช้พระพุทธศาสนาในการบริหารบ้านเมือง

๗. ถอดบทเรียนมหาจุฬาฯกับการสร้างสังคมสันติสุขจากงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ 
             การที่นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกา เป็นไปตามตามองค์ประกอบของหลักสูตร    ประการ คือ องค์ความรู้  ฝึกทักษะ ทัศนคติ และการสร้างเครือข่ายนั้น สามารถะถอดบทเรียนบูรณาการเข้ากับหลักสัปปุริสธรรมลักษณะของคนดี ๗ ประการ  คือรู้จัก “เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล และชุมชน” ได้ดังนี้
             ๑. องค์ความรู้ คือ ต้องรู้จักเหตุและผล
                 องค์ธรรม ๒ ประการนี้เท่ากับองค์ธรรมแห่งอริยสัจ ๔ ประการคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค สามารถถอดบทเรียนได้ดังนี้
                 ๑.๑ ทุกข์ คือ สภาวธรรมที่สามารถบูรณาการเข้าเนื้อหาแห่งสันติศึกษาอันประกอบด้วยปัญหาความขัดแย้ง รุนแรง สงคราม กิจกรรมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้สภาพของปัญหาขึ้นให้โดดเด่นมากนักหากจะมีการระบุถึงจะระบุให้เชิงประเสธอย่างเช่นเนื้อหาในการประทานพระโอวาทของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก โอกาสเสด็จเปิดการประชุมการประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา งานการจัดกิจกรรมวิสาขบูชา วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ความว่า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” ที่จะทำให้มนุษย์ก้าวข้ามพ้นความมืดมนไปได้โดยการไม่แบ่งแยกกีดกั้นซึ่งกันละกัน หรือการระบุว่า “สติที่สามารถแก้ความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายมีปัญหาต่อสุขภาพได้” ในการปาฐกถาพิเศษของ Mr. Gabor Fszekas  ประธานสมาคมสติและการประยุกต์ใช้สติตามวิถีจิตปฏิบัติแห่งประเทศฮังการี ในคราวเดียวกันนี้
                   แต่สภาวธรรมนี้ปรากฏชัดในการ่วมกิจกรรมงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ที่
ประเทศศรีลังกาคราวทัศนศึกษาทั้งเมืองอนุราธปุระและเมืองโปโลนนารุวะทั้งระดับความขัดแย้งระหว่างคน ๒ ชาติพันธุ์คือชาวสิงหลและชาวทมิฬพัฒนาเป็นความรุนแรงและสงครามแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานจนกระทั้งมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต่อมาในยุคล่าอาณานิคมชน ๒ ชาติพันธุ์ก็รวมกันต่อต้านจึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเพราะนักล่าอาณานิคมนอกจากเป้าหมายคือผลประโยชน์แล้วยังแฝงด้วยชาติพันธุ์และความเชื่อตามมา
                 ๑.๒ สมุทัย คือ สาเหตุของความขัดแย้ง รุนแรง และสงคราม อันได้แก่ข้อมูลข่าวสาร โครงสร้าง ผลประโยชน์ ความสันพันธ์หรือชาติพันธุ์  และความเชื่อ จากการถอดบทเรียนก็มีลักษณะเช่นเดียวกับทุกข์คคือในประเทศไทยจะไม่มีการะระบุชัดเจนนักขณะที่ประเทศศรีลังกาจะปรากฏชัด โดยสาเหตุที่เกิดจากโครงสร้าง ผลประโยชน์ และความสันพันธ์ นั้นจะปรากฏชัดตั้งแต่อดีตยุคกษัตริย์ปกครองจะมีการแย่งชิงกันของคน ๒ กลุ่มคือชาวสิงหลกับทมิฬ แม้จะมีสาเหตุจากความเชื่อบ้างและแต่อิทธิพลของพระพุทธศาสนาจึงทำให้ไม่ใช่สาเหตุหลัก ต่อมาภายหลักในยุคล่าอาณานิคมและยุคปัจจุบัน สาเหตุด้านความเชื่อจะทวีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม
                 ๑.๓ นิโรธ คือ สันติภาพ หรือ สันติสุข จากการถอดบทเรียนพบว่ามีลักษณะโดดเด่นทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกาเนื่องจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นปรารภวันวิสาขาบูชาโลกนับเป็นวันที่เป็นลักษณะของสันติภาพของโลกอย่างเช่นตามที่ระบุในสารของบุคคลที่อ่านในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก อย่างเช่นพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ว่า  “การประชุมวิชาการจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลวิสาขบูชา เป็นความต้องการของรัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคม เพื่อให้ระลึกว่าเป็นวันสำคัญของโลก เราให้เกียรติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา จึงมาร่วมกันในการเฉลิมฉลอง ณ องค์การสหประชาชาติ เพราะเรามีเป้าหมายร่วมกัน คือ การสร้างสันติภาพ  ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระดับโลก   เราเปิดประตูเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กัน  เราเน้นการศึกษา  การสร้างสันติภาพของโลก การพัฒนาอย่างยั่งยืน  ถือว่าเราทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน”
                       สารของนายอังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ ความว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มีการแบ่งแยกก่อให้เกิดสันติภาพขณะที่สารของนางอิรินา โบโกวาเลขาธิการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า วันวิสาขบูชาโลกนี้เป็นวันสะท้อนถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับสันติภาพ ความยุติธรรมของสังคม ซึ่งความจะเริ่มสร้างสติให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนตั้งแต่เด็ก
                       อย่างไรก็ตามการได้เดินทางไปร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศศรีลังกาเป็นเจ้าภาพได้เห็นบรรยากาศของวิถีพุทธที่เป็นสังคมสันติสุขอย่างชัดเจนตั้งแต่บุคคลชั้นปกครองจนถึงประชาชนทั่วไปได้น้อมนำหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำจนเป็นวิถีชีวิต
                 ๑.๔ มรรค คือพุทธสันติวิธี จากการถอดบทเรียนพบว่า มีลักษณะโดดเด่นทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกาเหมือนกัน เพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นดำเนินตามมรรควิธีทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตามในประเทศไทยนั้นมีการระบุทั้งในภาพกว้างอย่างเช่นนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ความตอนหนึ่งว่า เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าจะช่วยให้โลกเกิดสันติภาพ โดยเฉพาะหลักของอหิงสาคือการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน (สัมมากัมมันตะ) ด้วยการเดินทางสายกลาง เริ่มจากสัมมาทิฐิไปจนถึงสัมมาสมาธิในการใช้ชีวิต ถ้าสังคมเรามีสติ เราจะอยู่ร่วมกัน  ธรรมะของพระพุทธเจ้าประสานมิติการอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงเหมาะสมและทันสมัยอย่างและมีการระบุองค์ธรรมเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเฉลิมฉลองในครั้งนี้ได้ยกองค์ธรรมแห่งสัมมาสังกัปปะและสัมมสติขึ้นมาสานเสวนาเป็นการเฉพาะตามหัวข้อในการจัดงานคือสติ : วิถีปฎิบัติและวิถีแห่งการประยุกต์บนฐานแห่งความกรุณา” (Mindfulness : Traditions and Compassionate Applications) ซึ่งกรุณาก็คือ “สัมมาสังกัปปะ” นั่นเอง โดยให้ความสำคัญกับองค์ธรรมแห่งสติเป็นหลัก อย่างเช่นพระโอวาทสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก คราวเสด็จเปิดงานวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ทรงแนะให้ใช้สติในการดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำทาง
                       จากการยกองค์ธรรมแห่งสติขึ้นมาเป็นประเด็นในการจัดงานครั้งนี้ ผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างๆ ได้นำเสนอสำนักปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐานภายในประเทศของตน พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัย Nan Hua University เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในไต้หวันแห่งแรกที่ได้นำหลักสูตรสติปัฏฐานมาเปิดสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ทุกคนจากทุกสาขาวิชา เริ่มต้นในปี ๒๐๑๓ เป็นต้นมา เพราะสรรพคุณแห่งสติมีมากมายสามารถรักษาโรคเครียดได้
                       องค์ธรรมที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ “สัมมาวาจา” การสื่อสารเพื่อสันติภาพ นั่นก็คือ หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Text : CBT)  ที่ใช้ “สัมมาวายามะ” นานถึง ๗ ปีจึงแล้วเสร็จ โดยมีพระพรหมบัณฑิตเป็นบรรณธิการร่วม โดยได้เปิดตัวหนังสือ นำเสนอและนอบให้กับผู้นำชาวพุทธ ผู้ร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกทั้งที่ประเทศไทยและประเทศศรีลังกา อันเป็นผลเกิดจากการทำสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา ครั้งที่ ๕ ที่ วัดอาโลกวิหารสถานเมืองแคนดี้ หรือเมืองอนุราธบุรีในอดีต ประเทศศรีลังกา ในครั้งนี้มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกลงในใบลานเมื่อราว พ.ศ. ๔๕๐ การสังคายนาจึงเป็นวิถีแห่ง “สัมมวาจา” เป็นหลักการหนึ่งในวิธีการสื่อสารเพื่อสันตินั่นก็คือ “การทวนคำ” หลักจากที่มีการตั้งอย่างตั้งใจและเข้าใจตรงกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “มุขปาฐะ” หรือ “สังคายนา” ก็ล้วนแต่มีการทวนคำทั้งสิ้น
                       พร้อมกันนี้ยังมีองค์ธรรมที่มีการระบุถึงอย่างเช่น เมตตาในพรหมวิหาร ๔ ศีล ๕ พละ ๕ อปริหานิยธรรม ๗ อีกทั้งยังได้ทัสนานุตริยะสักการะสถูปเจดีย์ (ตามแนวคิดไทย) ๔ ประการคือ  
                       ๑) ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์พระปรินิพพาน  คือ เขี้ยวแก้ว พระรากขวัญ ประเทศศรีลังกา
                       ๒) บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า คือ ต้นโพธิ์
                       ๓) ธรรมเจดีย์ คาถาที่แสดงพระอริยสัจ หรือ คัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก คือ หนังสือพระไตรปิฎกสากล
                       ๔) อุเทสิกะเจดีย์ ของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแด่พระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร เช่น สร้างบัลลังก์ให้หมายแทนพระพุทธองค์  คือ พุทธมณฑลประเทศไทย โบราณสถานโบราณวัตถุทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกา
                   แต่องค์ธรรมที่สำคัญยิ่งคือ “สัมมาทิฏฐิ” เพราะชาวพุทธทั้งมวล สหประชาชาติ ยูเนสโก เห็นความสำคัญของพระรัตนตรัยโดยเฉพาะพระพุทธเจ้าที่สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นกับชาวโลกได้จึงได้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก พร้อมการกำหนดเป็นแบบแผนในการปฏิบัติทั้งในรูปแบบการปกครองและชีวิตประจำวันอย่างเช่นที่ประเทศศรีลังกาได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “สนับสนุนพระพุทธศาสนาเป็นที่หนึ่ง และสนับสนุนศาสนาอื่น ๆ” แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลประเทศศรีลังกาให้ความสำคัญพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งมีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๖๗ เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา คือ “ผู้นำประเทศ”  ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาเป็นอันดับที่ ๑ ซึ่งนำมาซึ่งความสุขมวลรวมของคนในชาติของศรีลังกาเฉกเช่นประเทศภูฏาน


             ๒. ฝึกทักษะ คือ ต้องรู้จักประมาณและกาล


                 องค์ธรรม ๒ ประการนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่นิสิตสันติศึกษาระดับปริญญาโทและเอก มจร ได้ฝึกทักษะในด้านต่างๆ เนื่องจากหลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นกลไกหนึ่งของการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกทั้งที่ประเทศไทยและเข้าร่วมที่ประเทศรีลังกา ทักษะที่ได้ปฏิบติอย่างเช่น การต้อนรับผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างๆเดินทางมาร่วมงาน การจัดสถานที่ การจัดเวที การลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรการประชุมวิชาการนานาชาติสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ ๓ ในวันที่  ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พิธีกรเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ทั้งที่  มจร อ.วังน้อย และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร การสื่อสารข้อมูลข่าวสารการจัดงานให้กับองค์กรภายในและภายนอกได้ทราบผ่านสื่อทั้งกระแสหลักและสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจำเป็นจำต้องมีทักษะและต้องรู้จักประมาณและระยะเวลาที่ชัดเจนรวมถึงปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดการที่ได้วางไว้ นอกจากนี้นิสิตเองจะต้องมีการกำหนดเวลาที่ตัวเองสามารถเข้ามีส่วนร่วมโดยไม่ทำให้การทำงานปกติเสีย

             ๓. ทัศนคติ คือ ต้องรู้จักตน
                 องค์ธรรมข้อนี้มีส่วนช่วยในการปรับในการทัศนคติและประเมินตัวเองว่ามีความรู้ความสามารถด้านใดเป็นพิเศษที่จะสามารถเข้ามาสนองงานในการจัดงานครั้งนี้ พร้อมกันนี้การเข้ามาส่วนหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้ยังสามารถในการปรับทัศนคติของตัวเองเพื่อที่จะสามารถทำงานเป็นทีมหรือร่วมกับบุคคลอื่นได้ดี

             ๔. การสร้างเครือข่าย คือต้องรู้บุคคลและชุมชน

                 องค์ธรรม ๒ ประการนี้สามารถมีส่วนช่วยในการสร้างเครือยข่ายได้เป็นอย่างดียิ่ง และการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ทำให้รู้บุคคลและชุมชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างสันติภาพในโอกาสต่อไป โดยจะแบ่งให้ชัดเจนดังนี้
             ๔.๑ รู้บุคคล
                   การจัดงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกานั้นทำให้ทราบบุคคลมีส่วนร่วมให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์คือ
             ๔.๑.๑ การจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทย มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ 
                     ๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเปิดงานในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
                      ๒. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเสด็จเปิดงามเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
                      ๓. พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลก  และบรรณาธิการร่วมจัดทำหนังสือหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Text : CBT ) นับได้ว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญยิ่งในการจัดงานเริ่มตั้งแต่เป็นประธานประชุมเตรียมการ กล่าวรายงานและปาฐกถานำ พิธีกรนำกล่าวสุนทรพจน์ แนะนำหนังสือพระไตรปิฎกฉบับสากล ประกาศปฏิญญาแคนดี้ 9  ข้อที่ประเทศศรีลังกา แถลงข่าวให้สัมภาษณ์ทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกา
                      ๕. พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดงานมีหน้าที่การประสานงานในด้านต่างๆ
                      ๖. พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร มีส่วนในการแปลข้อมูลของบุคคลสำคัญในงานที่ประเทศศรีลังกาเผยแพร่ให้สาธารณสุขได้ทราบอย่างกว้างขวาง
                      ๗. ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กราบทูลถวายรายงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
                      ๘. นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
                      ๙. นายอังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ ส่งสารร่วมงาน
                      ๑๐. นางอิรินา โบโกวา เลขาธิการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก (UNESCO) ส่งสารร่วมงาน
             ๔.๑.๑ การจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศศรีลังกา มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ               ๑. พระมหานายกะอัศคิริยะ สมเด็จพระสังฆราชแห่งสยามนิกาย  ประเทศศรีลังกา
                      ๒. สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี (เทพ วงศ์) สมเด็จพระสังฆราชประเทศกัมพูชา
                      ๓. พระพรหมบัณฑิต นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนิสิตเข้าร่วม ปาฐกถาพิเศษและนำความสำเร็จในการจัดทำหนังสือพระไตรปิฎกสากล และประกาศปฏิญญาเมืองแคนดี้ ๙ ข้อวันปิดงาน นำคณะเข้าสักการะพระธาตุเขี้ยวแก้ว ณ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้
                      ๔. พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา  เสนอบทความวิชาการเรื่อง “ผลงานเชิงประจักษ์ของหมู่บ้านสันติสุข (Peaceful Village)
                      ๕. พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา ได้รายงานกิจกรรมผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างต่อเนื่องทำให้คนไทยได้ทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง
                      ๖. นายไมตรีปาละ ศิริเสนา ประธานาธิบดีประเทศศรีลังกา นำทุกภาคส่วนจัดงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                      ๗. นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์วันเปิดงาน
                      ๘. นางพิทยาเทวี บันดารี ประธานาธิบดีเนปาลได้แสดงปาฐกถาปิดงาน
             ๔.๒ ชุมชน   
             ๔.๒.๑ ระดับสถานบัน
                      ในที่นี้คือชุมชนชาวพุทธทั่วโลกที่ร่วมงานที่ประเทศไทยมีชาวพุทธเดินทางมาร่วมประชุมประมาณ ๓,๕๐๐ รูป/คนจาก ๘๔ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ขณะที่ประเทศศรีลังกา ณ กรุงโคลัมโบ และเมืองแคนดี้  โดยมีชาวพุทธเข้าร่วมประมาณ ๑,๐๐๐ คน จาก ๗๒ ประเทศทั่วโลก

             ๔.๒.๒ ระดับประเทศ
                      ประเทศที่มีส่วนสำคัญในการจัดงานคือ ประเทศไทยในฐานที่ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาของสหประชาชาติเป็นคนไทย และมีผู้เข้าร่วมงานที่ประเทศศรีลังกาเป็นจำนวนมา ประเทศศรีลังกาในฐานะเจ้าภาพ ประเทศอินเดียนับเป็นประเทศพุทธภูมิมีนายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ที่ประเทศศรีลังกา ประเทศเนปาลนับเป็นประเทศมาตุภูมิมีนางพิทยาเทวี บันดารี ประธานาธิบดีแสดงปาฐกถาวันปิดงานที่ประเทศศรีลังกา พร้อมกันนี้ประเทศฮังการีนับได้ว่ามีความโดดเด่นจากการปาฐกถาพิเศษของ Mr. Gabor Fszekas  ประธานสมาคมสติและการประยุกต์ใช้สติตามวิถีจิตปฏิบัติ ที่นำเสนอการใช้สติในการแก้ปัญหาโลกเครียด
             ๔.๒.๓ ระดังองค์กร
                      มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) นับได้ว่าเป็นองค์กรที่โดดเด่นในกาจัดงานงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งในประเทศไทยและประเทศศรีลังกา เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทยให้เป็นแม่งานในการจัดงานติดต่อกันมาหลายปี ได้เห็นบทบาทของ มจร ทุกภาคส่วนจึงทำให้การจัดงานผ่านลุล่างได้ด้วยดี เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและสถานที่รับการจัดงาน พร้อมกันนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือจากองค์กรภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศอันเป็นผลพวงมาจากนโยบายของการบริหารงานภายใต้การนำของพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลกเป็นสำคัญ พร้อมกันนี้ยังมีวิสัยทัศน์พัฒนา มจร ให้เป็น มจร ๔.๐ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมยุคดิจิทัลและไทยแลนด์ ๔.๐  

๘. สรุป

              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ซึ่งสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติรับรองเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับของรัฐบาลใน พ.ศ. ๒๕๔๐  ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เริ่มขยายการศึกษาไปสู่ต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยร่วมกันองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามจัดตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นให้องค์กรพระพุทธศาสนาได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกปัจจุบันนี้เป็นครั้งที่ ๑๔ แล้ว และได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเป็นแม่งานในการจัดงานต่อเนื่องมา
              พร้อมกันนี้ได้พัฒนายกระดับมหาวิทยาลัยนานาชาติ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยย้ายจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ไปตั้งอยู่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  ตั้งวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  มีส่วนในการจัดทำหนังสือพระไตรปิฎกสากล ดังนั้น ผลงานของ มจร ๔.๐ จึงนับได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเชื่อมโยงกับนานาชาติ เพื่อการสื่อสารธรรม พัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งปัญญาที่เป็นแสงสว่างในโลก โดยบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมตั้งแต่ระดับชุมชนและระดับโลก   

โดยตั้งหลักสูตรสันติศึกษาเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ฝึกทักษะ ทัศนคติและการสร้างเครือข่ายให้กับบุคลากรและนิสิตในการสร้างสันติภาพโลกในโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ให้สมกับพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาแห่งสันติภาพตามที่สหประชาชาติรับรองวันวิสาขบูชาเป็นสำคัญของโลก ดังนั้น การที่นิสิตและบัณฑิตสาขาสันติศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดงานวันวิสาขบูชาเป็นสำคัญของโลกประจำปี ๒๕๖๐ ทั้งที่ประเทศไทยและประเทศศรีลังกาเป็นบททดสอบศักยภาพของมหาวิทยาลัยอีกระดับหนึ่ง ทำให้บัณฑิตที่จบการศึกษาได้ทั้งประสบการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่ออกไปรับใช้สังคม แต่บัณฑิตต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและพัฒนาตัวเองตลอดตามพระโอวาทของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สทเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ในพิธีประสาทปริญญาประจำปี ๒๕๖๐ ของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ท้ายที่สุดนี้ นิสิตเองมีความปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นนิสิตของ มจร  เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ ปฏิบัติ บำเพ็ญภาวนา ให้เรารู้ตื่นตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวนิสิตเองและครอบครัว คนครอบข้างได้รับอานิสงส์จากการปฏิบัติของของนิสิตได้จากการทำไปเผยแผ่ให้คนรอบข้างนั้นเอง       
นิสติเองรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ มจร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติกับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมเกิดสันติธรรมเกิดสันติภาพนั่นเอง การที่จะเกิดความสุข การที่จะเกิดสันติธรรม สันติภาพนั้นต้องเริ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัยแล้วนำไปเผยแพร่ต่อไป ถึงแม้ตัวนิสิตเองได้เรียนระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอื่นแล้วก็ตาม แต่ตัวนิสิตมองเห็นคุณค่าของ มจร ตรงที่เปิดกว้างในด้านวิสัยทัศน์ไม่วางกรอบเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นและที่สำคัญนิสิตมองว่าการได้มาเรียนเกี่ยวกับพุทธ ได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วได้ใบปริญญาด้วยถือว่า สุดยอดในการศึกษาที่สุด
              นิสิตหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มจร เป็นแหล่งผลิตผู้มีจิตใจที่มีสันติธรรมและสันติภาพในใจ เพื่อให้สังคมเกิดคุณธรรมมาจากภายใน สังคมก็จะเกิดสันติสุขและความปรองดองภายในนั่นเอง



บรรณานุกรม


เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์วิทยาลัย. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.banmuang.co.th/news/
             education/80615 [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].  
เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.mcu.ac.th
              /site/history.php [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].





                      [๑]ดูรายละเอียดใน เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.mcu.ac.th/site/history.php [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].
                 [๒]ดูรายละเอียดใน เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.mcu.ac.th/site/history.php [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].
      [๓]ดูรายละเอียดใน เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.mcu.ac.th/site/history.php [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].
                      [๔]ดูรายละเอียดใน เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.mcu.ac.th/site/history.php [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].  
[๕]เว็บไซต์บ้านเมืองออนไลน์วิทยาลัย, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.banmuang.co.th/news/education/80615 [๑๖ พ.ค.๒๕๖๐].  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...