ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ แนะใช้ "๕ ๓ ๘ โมเดล" หัวใจการขับเคลื่อนวิทยาลัยอาชีวคุณธรรมระดับจังหวัด น้อมนำศาสตร์พระราชาที่หัวใจมาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องมือสู่สังคมสันติสุข
พระราชธรรมสารสุธี ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นประธานโครงการอบรมสถานศึกษาคุณธรรม น้อมนำศาสตร์พระราชา อาชีวศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่าง วันที่ ๙-๑๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายอักษรศิลป์ แก้วมหาวงศ์ ประธานกรรมการอาชีวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถวายรายงานความว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนคุณธรรมระดับจังหวัดสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาโดยมีวิทยากรต้นแบบของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณี ซึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวคุณธรรมชั้นนำ เป็นวิทยากรกระบวนการ โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท วิทยากรธรรมะโอดีพัฒนาองค์กร และคุณแม่อุบาสิการะเบียบ ถิรญาณี วิทยากรต้นแบบวิถีพุทธ และคณะ
พระราชธรรมสารสุธี กล่าวว่า วิทยาลัยสงฆ์มีต้นรักเยอะ ใครยังไม่รักกันต้องมาที่นี่ เพื่อสร้างความรักกันความเมตตาต่อกัน อาชีวศึกษาเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศ หรือ เรียกกันว่า ๔.๐ หรือ ๐.๔ เราจะพัฒนาตนเองไปถึงบุคคลที่พัฒนาแล้ว โดยมีศาสตร์พระราชา เป็นเครื่องมือในการพัฒนา จริงๆ แล้วเรามีศาสตร์ดีๆ เยอะ แต่เรามักจะให้ตะวันตกมารองรับจึงจะทันสมัยหรือยอมรับ เราต้องไม่เป็นคนตกยุค ศาสตร์พระราชาคือ ทศพิธราชธรรม เป็นการปกครองโดยธรรม การปกครองจึงมี ๒ ประการคือ
๑) "ธรรมเป็นอำนาจ" จะเกิดสันติสุขเพราะใช้ธรรมะ ศาสตร์พระราชาเราใช้ธรรมะเป็นใหญ่ ๒) "อำนาจเป็นธรรม" มักจะมุ่งเกิดความวุ่นวาย เกิดความขัดแย้งภายในสังคมเพราะเน้นใช้อำนาจมากกว่าใช้ธรรม จึงไม่สงบสุข
ศาสตร์พระราชากับพระพุทธศาสนาจึงเป็นอันเดียวกัน เหมือนการวิเคราะห์ Swot สอดรับการอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ของมนุษย์มันเป็นจุดด้อย หรือ ธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา คุณธรรมเป็นคำกลางๆ ธรรมที่ทำให้เรามุ่งมั่น ๕ ประการ คือ ๑) "ศรัทธา" เรามาในนามสถาบันจึงต้องตั้งใจ คนที่ฝึกตนเองได้เท่านั้น จะเป็นประเสริฐ ศรัทธาต่อสถาบัน ต่อคุณธรรม ต่อพระราชา ๒) "ศีล" จัดระเบียบวินัยให้ตนเอง ตั้งใจฟังจึงจะเกิดความรู้ พระพุทธเจ้ากล่าว ความรู้เกิด ๒ ทาง คือ จากปรโฆสะ จากคนอื่นจากครูอาจารย์ และ โยนิโสมนสิการ การพิจารณาใคร่ครวญ โดยมีกระบวนการ คือ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา ถือว่าเป็นองค์แห่งความรู้ ๓) "สติ" มีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ๔)วิริยะ มีความเพียรพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ๕)ปัญญา ใช้การไตร่ตรองด้วยสติในแก้ปัญหาชีวิต
การพัฒนาตนจึงต้องมีกระบวนการ ๔ ประการ คือ " ด้านกาย ด้านศีล ด้านจิตใจ ด้านปัญญา " การพัฒนาจะต้องเกิด ๔ ด้าน เราจึงภูมิใจในวิชาจรณะ วิชาจะทำให้เราเลี้ยงชีพได้ จรณะ วิชาจะทำให้เรามีความสุขในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันศาสตร์พระราชาไปทั่วโลกแล้วคนไทยตื่นตัวกับศาสตร์พระราชาอย่างไร ? แคนนาดานำศาสตร์พระราชาไปใช้ เขาบอกว่าอีกไม่นานคนไทยต้องมาดูงานศาสตร์พระราชา ที่เเคนนาดา เพราะนานาชาติเวลาทดลองเขาทำจริง ต่างจากคนไทยไม่ค่อยทำอะไรจริงจัง ต่อจากนี้อาชีวศึกษาจะต้องทำด้านคุณธรรมอย่างจริงจัง ลงมือปฏิบัติ
"ฉะนั้น การขับเคลื่อนคุณธรรมสู่สถานศึกษาจะต้องเริ่มจากผู้บริหารและครูจึงสู่นักศึกษา เพราะครูผู้บริหารเป็นต้นแบบด้านคุณธรรม จึงต้องขับเคลื่อนด้วยหลักสูตร ๕ ๓ ๘ คือ องค์กรคุณธรรมจะต้องขับเคลื่อนด้วยศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หมายถึง การไม่เบียดเบียนตนเองและบุคคลอื่น องค์กรคุณธรรมจะต้องขับเคลื่อนด้วยไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สู่การวิถีปฏิบัติ และองค์กรคุณธรรมจะต้องขับเคลื่อนตามอริยมรรค ๘ เริ่มต้นจากสัมมาทิฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง มีวาจาที่ถูกต้อง มีการเลี้ยงชีพถูกต้อง มีสติที่ถูกต้อง เป็นต้น" พระราชธรรมสารสุธี กล่าว
.................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น