วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

วิกฤติ"โรฮิงญา"!กับภูมิปัญญานักวิชาการไทย


 วิกฤติ"โรฮิงญา"!กับภูมิปัญญานักวิชาการไทย 

 : พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท และสำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน



ความขัดแย้งระหว่างโรฮิงญาที่กับประชาชนและรัฐ ที่รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนกระทั้งมาถึงจุดเดือดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2560 กลุ่มมุสลิมโรฮิงญาติดอาวุูธโจมตีด่านตำรวจหลายแห่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 71 ราย รวมถึงตำรวจและทหาร 12 ราย หลังจากนั้นสถานการณ์ลุกลามรัฐบาลเมียนมาใช้ทหารคุมเหตุชาวโรฮิงญาอพยพออกจากประเทศเมียนมาหลายแสนคน โลกมุสลิมออกมาประณามการกระทำของรัฐบาลเมียนมาพร้อมกับกล่าวหาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยูเอ็นประชุมมองเป็นการกระทำที่รุนแรง ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2560 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรผู้นำศาสนาสากล ณ NEW YORK HILTON HOTEL MIDTOWN,New york city โดยมีพระวิเทศรัตนาภรณ์ (ถนัด อตฺถจารี อินธิแสน ป.ธ. 5, Ph.D.) เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ประธานคณะกรรมการอำนวยการวัดไทยกรุงวอชิงตัน, ดี.ซี. ในฐานะผู้ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICDV)ได้เข้าร่วมด้วย




ตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นสงครามสื่อออนไลน์ได้ถูกนำมาใช้ทั้งข้อเท็จจริงและลวงโดยมุ่งหวังจะได้เปรียบ ขณะที่วงนักวิชาการทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอ.ปัตตานี ได้มีการระดมสมองหาทางออก รวมถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการสัมมนานาชาติ เรื่อง "พระพุทธศาสนาในยุคดิจิตัล" (Buddhism in Digital Era) โดยมีศาสตราจารย์ อาจารย์ นิสิต และผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 20 ชาติเข้าร่วมเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2560  ประเด็นปัญหาที่ยกขึ้นมาคือประเด็นข้อมูลข่าวสารทางสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรงฮิงญา




และวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2560 ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะพุทธศาสตร์ มจร ได้จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง "ศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน" ที่ห้องสันติศึกษา มจร ที่มีพระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน,ดร. รองคณบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธาน โดยมีดร.แสวง นิลนามะ หัวหน้าภาควิชาศาสนาและปรัชญา กล่าวรายงานพร้อมตั้งประเด็นให้ทรงคุณวุฒิได้แสดงความคิดเห็นซึ่งประกอบด้วยศ.ดร.สมภาร พรมทา ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา มจร  รศ.พิเชฏร์ กาลามเกษตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนศาสนาอิสลาม  ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้แทนศาสนาพุทธ รวมถึงพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท  นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ร่วมแสดงความเห็นด้วย


นอกจากประเด็นปัญหาและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญาแล้ว ประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นกันมากคือนิยามความหมายและบทบาทหน้่าที่ของ "นักวิชาการศาสนา" ควรเป็นอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางด้านศาสนาเกิดขึ้น


ศ.ดร.สมภาร มองว่า นักวิชาการศาสนาจะต้องมีการพัฒนาเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามศึกษาความจริงด้วยการผ่านการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาที่ปราศจากอคติ นักวิทยาศาสตร์ "ต้องศึกษาธรรมชาติโลกอย่างเป็นกลาง" ดังนั้น นักการศาสนาต้องศึกษาอย่างเป็นกลางเหมือนกัน โดยต้องตัดความชอบความชังออกไป ขณะที่มหาจุฬาฯจะมีนักวิชาการทางด้านศาสนาทุกศาสนา ด้วยการไม่สร้างความขัดแย้งในศาสนา แต่มุ่งให้ศาสนาอยู่ร่วมกันได้



พระอาจารย์ปราโมทย์  เห็นว่า ต้องชี้ให้เป็นกลางที่สุดด้วยการปราศจากอคติ ต้องไม่ไปเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือศาสนา หาวิธีในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากกว่า และต้องไม่ไปรบกับใคร



ขณะที่รศ.พิเชฏร์ กาลามเกษตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนศาสนาอิสลาม ระบุว่า นักวิชาการศาสนาต่อการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ทั้ง " ความรู้สึก ความเข้าใจ การกระทำ " ด้วยจุดยืน " ความจริง ความดี ความงาม ความเป็นกลาง และความศรัทธา"  ต้องถือว่าทุกทุกทางไม่ใช่ทางเดียว อาศัยเครื่องมือสานเสวนาหาทางออกร่วมกัน "สานศาสนสัมพันธ์" หรือ สานเสวนาจะต้องมีกติกา 10  ประการ  1) ไม่มีสาระซ่อนเร้น 2) ปฏิสัมพันธ์กันอย่างมนุษย์  3) เท่าเทียม 4) จุดยืนชัดเจน
5) ไม่ด่วนสรุปตัดสิน  6) ใจกว้าง  7) ซื่อสัตย์จริงใจ  8) ไว้วางใจผู้อื่น  9) ไม่ปะปนหลักการกับการปฏิบัติ  10 ) สานเสวนามิใช่ทางออกของปัญหา


ทางด้าน ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้แทนศาสนาพุทธ ได้ยกปณิธานพุทธทาสภิกขุ คือ "การทำความเข้าใจแก่นแท้ในศาสนาของตน การทำความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนา และการถอนตนออกจากวัตถุนิยม" ให้นักวิชาการศาสนาและศาสนิกทั้งหลายได้ปฏิบัติ พร้อมเสนอว่า บทบาทของนักวิชาการศาสนาต้องแสวงหาความรู้แล้วนำมาตกผลึกแล้วนำเสนอให้ผู้คนได้รับทราบ นักวิชาการต้องมี 2 ส่วน คือ "วิชาและจรณะ"


"นักวิชาการจึงต้องแสวงหาความรู้ หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า "เราจึงควรถือหลักว่า พระศาสดาทั้งหลายในโลก เกิดขึ้นมาเพื่อร่วมมือกัน ทำให้โลกสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้รับ" เราสามารถศึกษาไปถึงแก่นของศาสนาของตนให้ได้ อย่าศึกษาแค่เปลือกเท่านั้น เพราะบางครั้งการตีความในศาสนาเดียวกันยังมีความแตกต่างกัน" ผศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวและว่า


และให้ถือว่ามุมมองนักวิชาการความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติแต่ต้องใช้ฐานศาสนา ทุกวันนี้ความจริงไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกอารมณ์ เช่น กรณีข่าวสารในสื่อออนไลน์ เข้าลักษณะว่า " ความรู้สึกอารมณ์จะอยู่เหนือความจริง "  ต้องก้าวข้ามอัตลักษณ์ของเราและของคนอื่น เหลือไว้เพียงเพื่อมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้น นักวิชาการจะต้องกล้าแสดงออกจากจริยธรรม ในโลกนี้มี 2 ประเภท คือ "คนเก่งที่ชั่วๆ และดีที่โง่ๆ" เป้าหมายหลักของศาสนาต้องส่งเสริมศีลธรรม จึงเปรียบเทียบเหมือนลาที่แบกคัมภีร์แต่ไม่ได้ประโยชน์จากคัมภีร์ เลยเราต้องนำศาสนามาทำให้สังคมดีขึ้น ความกล้าหาญทางวิชาการมิใช่ขวานฝ่าซาก แต่นักวิชาการต้องเทคนิคกระบวนการที่นุ่มนวล ความดีกับความเก่งต้องเป็นหนึ่งเดียว การศึกษาศาสนาต้องไม่หัวขาด ต้องเก่งและต้องดี นักวิชาการศาสนาจึงโยงกับสถาบันที่ตนเองอยู่ มองว่ามหาจุฬามีนักวิชาการเยอะเราต้องกล้าเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์


ขณะที่ ศ.ดร.สมภาร ได้เสริมว่า "เราไม่ต้องสนใจว่าใครกล้าไม่กล้าทางวิชาการ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ความสำนึกรับผิดชอบว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างไร ? เราควรจะช่วยอย่างไร? สิ่งสำคัญเราต้องใช้ปัญญาในการขับเคลื่อน"


ประเด็นจึงมีอยู่จะทำอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง เกิดขึ้น จะมีสะพานให้นักวิชาการศาสนาได้เสนอมุมมองแทนที่จะอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

​"รัดเกล้า" ชี้ราคายางสูงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากปราบปรามการลักลอบนำยางเถื่อนข้ามพรมแดนของรัฐบาล

​"รัดเกล้า" ชี้ ราคายางในประเทศสูงขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการ ปราบปรามการลักลอบนำยางเถื่อนข้ามพรมแดนของรัฐบาล วอนโลกโซเชียล อย่...