วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"สปสช.เขต3นครสวรรค์-มจร-สสส."ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์




สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ จับมือ มจร และสสส. ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในกลุ่มพระสงฆ์ ภายใต้กรอบธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ



เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 นครสวรรค์ (สปสช. เขต 3)  ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตนครสวรรค์ และ สสส. จัดประชุมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ในกลุ่มพระสงฆ์ ภายใต้กรอบธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพแด่พระสงฆ์และชี้แจงทำความเข้าใจสิทธิและหลักเกณฑ์การเข้าถึง “กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลกับการพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์” กลุ่มเป้าหมายคือตัวแทนพระสงฆ์ 100 รูปและประธาน กรรมการ กองทุนฯ 100 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัย ชัยนาท กำแพงเพชร โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เป็นประธานและบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาท สปสช.กับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์



นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า “ในการประชุมวันนี้ ได้เรียนเชิญพระสงฆ์และกรรมการวัด รวมทั้ง อปท. ในจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท กำแพงเพชร และพิจิตร ได้กล่าวถึงภาพรวมของบทบาท สปสช.กับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยลำดับเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามกรอบของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ



หลังจากนั้นได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “อดีต ปัจจุบัน อนาคตธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” โดย พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มาร่วมเป็นวิทยากร ได้กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของธรรมนูญสุขภาพพพระสงฆ์แห่งชาติว่ามิใช่เป็นเพียงธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดพระศาสนาให้อยู่สืบไป “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่ประกาศใช้ไปเมื่อปลายปี 2560 สู่การปฏิบัติโดยความร่วมมือขององค์กรสงฆ์ภายใต้คณะกรรมการสาธารณสงเคราะห์มหาเถรสมาคม ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาสงฆ์ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ตัวอย่างกิจกรรมการขับเคลื่อนตามหมวดธรรมนูญ มีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ 20 พื้นที่ทั่วประเทศ  



พระมหาประยูรยังได้กล่าวชื่นชมทาง สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ ที่ได้มีการเชื่อมโยงธรรมนูญกับกองทุนสุขภาพตำบลที่มีอยู่ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการดูสุขภาพพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันนี้หากทุกพื้นที่โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำโดยการสนับสนุนของชุมชนและสังคม จัดทำโครงการที่ไปขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบลเพื่อนำมาดูแลสุขภาพพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลที่ดีต่อพระสงฆ์ รวมทั้งจะส่งผลต่อชุมชนและสังคมด้วย ถือเป็นการช่วยกันธำรงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือไปในตัว”



หลังจากนั้นได้มีการอภิปราย เรื่อง “แปลงธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ไปสู่การจัดบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้อย่างไร” โดยผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ 1. พระครูนิวิฐธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะอำเภอตาคลี เจ้าอาวาสวัดจันเสน ผู้นำในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดนครสวรรค์  2. ดร.ปฏิธรรม สำเนียง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณวิทยาเขตนครสวรรค์         3.นายพันท้าย จรูญวิทยา นายกเทศมนตรี ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท ดำเนินการอภิปรายโดย นายวิสุทธิ บุญญโสภิต รอง ผอ.สปสช.เขต 3 จากเวทีมีข้อค้นพบและข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่องสุขภาวะองค์รวมเชิงพุทธของพระสงฆ์:นโยบาย สิทธิประโยชน์ และรูปแบบการเกื้อกูลต่อชุมชนในสังคมไทย ของพระมหาประยูร โชติวโรและคณะ พบว่า ปัญหาด้านสิทธิด้านสุขภาพสำหรับพระสงฆ์นั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดหาใช่เรื่องสิทธิพิเศษเฉพาะสำหรับพระสงฆ์ไม่ แต่กลับเป็นเรื่องการรับรู้และข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของพระสงฆ์ 

จากการสำรวจ พบว่า พระสงฆ์ไทย ร้อยละ 58.8 ไม่ทราบว่าคนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรรัฐต่าง ๆ จะเป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท  พระสงฆ์ไทยร้อยละ 40.1 เข้าใจผิดคิดว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ  30 บาท เป็นสิทธิสงเคราะห์ พระสงฆ์ไทยร้อยละ 61.8 ไม่รู้จักสายด่วน สปสช. 1330  พระสงฆ์ไทยร้อยละ 64.9 ไม่รู้จักกองทุนตำบล เป็นต้น นอกจากนี้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิการใช้บริการด้านสุขภาพเช่น การขอเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำไม่เกินครั้งละ 4 ปี  การบริการฟอกไต ล้างไต และปลูกถ่ายไต การผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ หรือแม้แต่การตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็ง พบว่าพระสงฆ์ไทยมากกว่าร้อยละ 50 ยังไม่มีความรู้ในการเข้าถึงสิทธิในการรับบริการสุขภาพเหล่านี้


จากบทสรุปของเวทีมีประเด็นร่วม 5 ประเด็น คือ (1) การทำงานเชิงบูรณาการ (2) การสร้างการรับรู้ (3) การสร้างพระสงฆ์แกนนำ (4) บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลพระสงฆ์ และ(5) การเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาวะ

ต่อจากนั้น สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ โดยนายพนมศักดิ์ เอมอยู่ หัวหน้างาน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นมีเงินเหลือมาก เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปสู่การจัดทำโครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ  หลังจากนั้นได้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การดูแลสุขภาพพระสงฆ์แบบองค์รวม” โดย นพ.ศีล  เทพบุตร์ นายแพทย์ชำนาญการ รพ.สวรรค์ประชารักษ์  หลังจากนั้นได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมค้นหาแผนงาน โครงการ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มพระสงฆ์ “สิ่งที่อยากเห็นและอยากทำร่วมกัน” ภายใต้คำถาม อยากเห็นลูกหลาน อยากเห็นตนเอง อยากเห็นชุมชน เป้าหมายระยะยาว เป็นการร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง ค้นหาวิธีแก้ ใครบ้างที่จะมาช่วยได้ว่า สถานการณ์ปัญหา สิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้ คนที่น่าชักชวนมาเป็นคณะทำงานเพื่อค้นหาโครงการที่จะดำเนินงานร่วมกัน

 การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นการถวายความรู้แด่พระสงฆ์แกนนำและญาติโยมจากหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ให้พระสงฆ์ดูแลตนเองและดูแลกันเอง  ให้ญาติโยม องค์กรภาคีเครือข่ายดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย  และให้พระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาวะแก่ชุมชนและสังคม สู่ปรากฎการณ์ “พระแข็งแรง  วัดมั่นคง  ชุมชนเป็นสุข”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มส. เห็นชอบแต่งตั้ง "หลวงปู่ศิลา" ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต รายงานผลการดำเนินงาน "หมู่บ้านรักษาศีล 5"

แนะประยุกต์ใช้ AI ในการเสริมสร้างหมู่บ้านศีลห้าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาชุมชนไทยในทางที่ยั่งยืนและสันติสุข บนพื้นฐานของศีลธรรมและจริยธรรมในป...