วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เรื่องพระกับเงิน พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๕ ทบทวนความรู้เรื่องพระวินัย ?



          



วันที่ 22 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า เรื่องพระกับเงิน พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๕ ทบทวนความรู้เรื่องพระวินัย ?

@ วินัยและการบัญญัติพระวินัย

@ ก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องของเงินกับพระในแง่ของพระวินัยนั้น ผมว่าเรามาทำความเข้าใจในเรื่องของพระวินัยกันก่อนดีไหมครับว่า อะไรคือพระวินัย การเกิดมาของพระวินัยนั้นมีเหตุผลหรือมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง เพราะผมคิดว่าหากเราไม่เข้าใจว่าพระวินัยคืออะไร เราก็คงมานั่งเถียงกันแบบลื่นเหมือนปลาไหลเหมือนเดิม

เพราะธรรมดาคนเราหากปิดกั้นความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็ยากที่จะยอมรับความจริงในเรื่องนั้นๆได้ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจร่วมกันผมว่าเราเอาพระวินัยมาว่ากันก่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน คนที่รู้จะได้รู้มากขึ้น คนที่ยังไม่รู้จะได้รู้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ผมว่าเรื่องวินัยและการบัญญัติพระวินัย

เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจได้เพราะวินัยหรือการบัญญัติพระวินัยถือว่าเป็นแกนหลักหรือเครื่องมือหลักๆ ที่พระพุทธองค์นำมาใช้ในการปกครองคณะสงฆ์ การได้เรียนรู้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งกับพระและชาวบ้าน คือผมว่านะครับพระก็ไม่ควรไปว่าชาวบ้านว่ารู้มากกว่าพระ

เพราะการที่ชาวบ้านรู้เรื่องวินัยของพระนี้เป็นเรื่องที่ดีจะได้ทำตัวถูกจะได้จัดการถวายจตุปัจจัยถูกไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดกับพระสงฆ์ หรือต่อไปพระสงฆ์ก็จะได้กระตือรือร้นมากขึ้นว่า เออ ตอนนี้โยมเขาเรียนรู้พระไตรปิฎกมากขึ้นแล้ว เราเป็นพระก็ควรต้องเรียนรู้มากขึ้น จะได้ตื่นจากหลับใหลแล้วลุกขึ้นมาศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังและจะได้ไม่คิดเหมือนที่คิดว่าญาติโยมจะรู้อะไรเราทำไปอย่างไรเขาก็ไม่รู้กับเราหรอก

แต่เมื่อรู้ว่าญาติโยมรู้พระคุณเจ้าทั้งหลายก็จะได้สำรวมกายวาจาใจหมั่นรักษาปฏิบัติในครรลองของสงฆ์ ผมว่าการที่ญาติโยมรู้เรื่องพระวินัยนี่ดีครับช่วยกระตุ้นให้พระไม่ทำอะไรผิดๆ นี่ถ้าจำได้กันเรื่องอุบาสิกาผู้ได้ญาณคนหนึ่งบรรลุเจโตปริยญาณ คือญาณเป็นที่กำหนดรู้จิตใจคนอื่น เมื่อมีพระภิกษุมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมในที่ใกล้บ้านนางก็ไปรักษาศีลและกำหนดจิตเห็นความคิดของพระทุกรูปในพรรษานั้น

คือรู้ว่าพระอยากฉันอะไร หรือต้องการอะไรนางก็รู้หมดและนำเอาสิ่งที่พระนั้นต้องการไปถวายและบอกสำทับทุกครั้งว่า “ได้ข่าวว่าพระคุณเจ้าคิดอยากได้ อยากฉันสิ่งนี้ดิฉันเลยนำมาถวาย”ทำให้พระเกิดความกังวลขึ้นมาทันทีว่า “ตายห่าล่ะแบบนี้ก็แย่เพราะคนเราคิดแต่ล่ะวันนั้นมันเยอะแยะไปหมดเกิดวันหนึ่งคิดอยากมีอะไรกับสีกา อุบาสิกาคนนี้ไม่รู้ความคิดเราไปหมดเลยรึ ?

เมื่อคิดแบบนี้ก็พากันเกิดความเครียดทันที ต่างคนต่างควบคุมความคิดตัวเองจนไม่เป็นอันปฏิบัติธรรมจนออกพรรษาก็ได้กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่าไม่เป็นไรต่อไปก็จะให้อาวุธไปสู้กับโยมว่างั้นนะครับ พระพุทธองค์เลยสอนว่า “ให้รักษาใจหรือรักษาจิตของตัวเองเท่านั้นพอ”

เมื่อพระกลับมาที่เดิมก็เร่งรักษาจิตในที่สุดก็บรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด นี่คือความจริงที่ว่าโยมรู้มากกว่าพระทำให้พระต้องพิจารณาเร่งความเพียรและสำรวมมากขึ้น ซึ่งผมว่ามันแตกต่างไปจากการที่ญาติโยมไม่รู้เรื่องอะไรของพระเลยก็จะทำให้พระละเมิดพระธรรมวินัยได้โดยเข้าใจว่าพระเท่านั้นที่รู้พระธรรมวินัยส่วนโยมไม่รู้เรื่องอะไร

ความเห็นผมนะครับไม่เกี่ยวกับใครแต่จากการพิจารณาจากเรื่องที่เล่ามาผมว่าก็น่าจะมีส่วนจริงอยู่บ้างนะครับ เอาล่ะเรามาว่ากันด้วยเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับพระวินัยและการบัญญัติพระวินัยกันดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(ก) ความหมายของคำว่า วินัย

สำหรับคำว่า วินัย นี้ มาจากศัพท์ วิ + นี วิ แปลว่า วิเศษ ส่วน นี แปลว่า นำไป เมื่อนำมารวมกันเข้าจึงได้ความหมายตามรูปศัพท์ว่า การนำไปให้วิเศษ คือ การที่วินัยสามารถทำให้คนมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น และทำให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดีเป็นความหมายทั้งในระดับ ปัจเจกบุคคลและสังคม เป็นได้ทั้งกฎหมายในเชิงการปกครอง

จะเห็นว่าการให้ความหมายเช่นนี้เป็นการให้ความหมายในมิติของภาพรวม ซึ่งมุ่งอธิบายให้เห็นกรอบของวินัยในแง่ของกฎหมายและการปกครอง ซึ่งหากมองในรายละเอียดก็จะพบว่าเฉพาะคำว่าวินัยมีความหมายค่อนข้างหลากหลาย

แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะนัยที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการปกครอง หรือรูปแบบสำหรับการฝึกปฏิบัติของสมาชิกในสังคม เพื่อความผาสุกแก่สังคม (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตตโต):๒๕๔๓:๓๙ - ๔๐)

ในสมันตปสาทิกามีความหมาย ๓ ประการคือ (๑) มีนัยหลากหลาย (๒) มีนัยเป็นพิเศษ (๓) อุบายสำหรับฝึกกายและวาจา (มหามกุฏราชวิทยาลัย :๒๕๓๕:๒๗)

อนึ่ง คำว่าวินัยนี้โดยอรรถแปลว่าอุบายเครื่องแนะนำของบัณฑิต วินัยตามนัยนี้หมายถึงศาสนา อีกนัยหนึ่ง แปลว่าการนำกายวาจาจิตไปโดยวิเศษ หมายถึงการนำกายวาจาจิตออกไปเสียจากความผิด วินัยตามนัยนี้หมายเอาทั้งพระบัญญัติและอาจาระ (มารยาท) (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส:๒๕๓๗:๙)

อนึ่ง คำว่าวินัย วินัย มีความหมายที่น่าสนใจและใกล้เคียงกับความหมายที่กล่าวมานี้ คือ วินัยที่ใช้ในคำว่าอริยวินัย ซึ่งเป็นคำที่พบบ่อย แปลได้ว่า แบบแผนของพระอริยะ ระเบียบชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมของอารยชน เทียบได้กับคำว่า สุคตวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความหมายไว้เองว่า หมายถึงพระธรรมอันได้แก่พรหมจรรย์ คือ หลักการครองชีวิตอันประเสริฐ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๔๙: ๔๕๒)

นอกจากนั้น คำว่า วินัย ยังหมายถึง ระเบียบแบบแผนสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีชีวิตที่ดีงามเจริญก้าวหน้าและควบคุมหมู่ชนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยดีงาม, ประมวลบทบัญญัติข้อกำหนดสำหรับควบคุมความประพฤติไม่ให้เสื่อมเสียและฝึกฝนให้ประพฤติดีงามเป็นคุณเกื้อกูลยิ่งขึ้น (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๔๓:๒๗๔)

(ข) การบัญญัติพระวินัย

สำหรับการบัญญัติพระวินัย พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ เมื่อแรกแห่งการประกาศพระศาสนาและสถาปนาสถาบันสงฆ์ พระบรมศาสดาก็ยังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ล่วงหน้า เนื่องจากบุคคลที่เข้ามาอุปสมบทในระยะแรกเป็นผู้ที่มีศรัทธาเข้ามาบวชมุ่งมั่นเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง

อีกทั้งยังเป็นพระอริยบุคคลเป็นส่วนใหญ่หรือในระยะเริ่มแรกของการประกาศพระศาสนา บุคคลผู้เข้ามาบวชในองค์กรคณะสงฆ์มีจำนวนไม่มาก พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตั้ง กฎเกณฑ์ กำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องการจะบวช ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงทำหน้าที่ในการคัดเลือกและให้การบวชเอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา และผู้ที่เข้ามาบวชก็ล้วนเป็นผู้ที่ได้อบรมอินทรีย์มาเป็นอย่างดีแล้ว

การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นไปตามจารีตของนักบวชสมัยนั้น ที่ต้องถือปฏิบัติตามรูปแบบที่เป็นธรรมเนียมของนวังคสัตถุสาสน์ พระพุทธเจ้า ว่าด้วยหลักการที่เป็นทั้งคำสั่งและคำสอนรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งจัดเป็นจารีตศีล เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” เท่านั้น ซึ่งคำว่า ปาติโมกข์มี ๒ ประเภท

ได้แก่ ๑.โอวาทปาติโมกข์ ๒. อาณาปาติโมกข์ โอวาทปาติโมกข์ คือหลักคำสอนสำคัญหรือหัวใจของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ ได้แก่ ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๒. การบำเพ็ญแต่ความดี ๓. การทำจิตของตนให้ผ่องใส ซึ่งแต่เดิม

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมนี้ในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือนเป็นเวลา ๒๐ พรรษาก่อนที่ต่อมาจะทรงโปรดให้สวดปาติโมกข์อย่างปัจจุบัน ปาติโมกข์อย่างหลังนี้จัดว่าเป็นอาณาปาติโมกข์(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘:๔๔๐-๔๔๑)

ภายหลังจากที่ส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนา ปรากฏว่ามีผู้เลื่อมใสต้องการจะมาบวชด้วยเป็นจำนวนมาก พระสาวกเหล่านั้นก็นำมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อประทานการบวชให้ แต่บางท่านก็อยู่ในสถานที่ไกลการคมนาคมไม่สะดวก อีกทั้งผู้ต้องการบวชก็เพิ่มจำนวนปริมาณมากขึ้นทุกขณะ

พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาให้มอบอำนาจในการพิจารณารับ และให้การอุปสมบท โดยทรงวางหลักเกณฑ์ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะบวชเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของพระสาวก ส่งผลให้สมาชิกขององค์กรคณะสงฆ์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน

ทั้งนี้เพราะต่างผู้คนต่างมีทิฐิ ความเห็นที่แตกต่าง อันเนื่องมาจากภูมิหลังของคนเหล่านั้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และมีระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติในทำนองเดียวกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติ

เพื่อส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติให้ถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระศาสนา การบัญญัติสิกขาบทจึงเป็นการจัดตั้งองค์กรคณะสงฆ์ วางระบบ การประพฤติปฏิบัติให้เกิดมีในองค์กรคณะสงฆ์

ในระยะต่อมา (พรรษาที่ ๑๒ ของพระพุทธเจ้า) ขณะที่พระพุทธองค์ประทับจำพรรษา ณ ป่าไม้สะเดา ใกล้เมืองเวรัญชา พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกเอตทัคคะด้านปัญญา ได้กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุสงฆ์เอาไว้ล่วงหน้า

เนื่องจากพระเถระเกิดปริวิตกถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในอนาคตกาล แต่พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงบัญญัติพระวินัยตามที่กราบทูลขอ ดังปรากฏในเวรัญชกัณฑ์ ในวินัยปิฎกพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“จงรอไปก่อนเถิดสารีบุตร ตถาคตรู้เวลาที่จะบัญญัติ 
สิกขาบท ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก ไม่ยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดอาสวัฏฐานิย
ธรรมคือธรรมเป็นที่ตั้งอาสวะ ความชั่วต่าง ๆ เช่น การกล่าว
ให้ร้ายคนอื่นความเดือดร้อนและการจองจำ (วิ.ม. (ไทย) ๑/๒๑/๑๓.)

ในสงฆ์เมื่อเกิดอาสวัฏฐา นิยธรรมในสงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น สารีบุตร ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด ไม่มีโทษไม่มีสิ่งมัวหมอง บริสุทธิ์ผดผ่องดำรงอยู่ในสารคุณ แท้จริงในภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้มีคุณธรรมอย่างต่ำก็ชั้นโสดาบัน จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า” (วิ.ม. (ไทย) ๑/๒๑/๑๑-๑๒, วิ.ม. (ไทย) ๑/๒๑/๑๓-๑๔.)

การที่พระพุทธเจ้า ตรัสดังนี้เพราะทรงมีอุบายให้เหตุผลว่าจะต้องรอให้เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม คือ ธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของอาสวกิเลส กิเลสที่ดองสันดานมีมากขึ้น(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช:๒๕๔๑:๔) ได้แก่

๑. ภิกษุ (ที่เป็นปุถุชน) มีจำนวนมากขึ้นเป็นหมู่ใหญ่

๒. บรรดาลาภสักการะต่างๆ ได้บังเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์เป็นจำนวนมาก

๓. ภิกษุศึกษาพระพุทธพจน์ แต่ไม่ใคร่ครวญโดยแยบคาย แล้วไปแสดงธรรมเทศนาแบบผิดๆ

๔. ภิกษุได้ประพฤติตนเสื่อมเสียก่อน จนเป็นที่ติเตียนทั้งจากคฤหัสถ์และภิกษุด้วยกันแล้ว พระองค์จึงจะทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น(มหามกุฏราชวิทยาลัย:๒๕๓๖:๓๕๘-๓๖๐)

ต่อมาเมื่อจำนวนของภิกษุมีมากขึ้นและอยู่กระจายไปในทิศต่างๆ อีกทั้งท่านเหล่านั้นมาจากต่างตระกูล มีอัธยาศัยต่างกัน มีปฏิปทาต่างกัน มีความประพฤติต่างกัน ทำให้ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายจึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ซึ่งลำพังโอวาทปาติโมกข์อย่างเดียวไม่เพียงพอที่ใช้การปกครองสงฆ์แล้ว จำเป็นที่จะต้องมีหลักการที่จะช่วยสนับสนุนในการปกครองเพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเป็นกลไกสำหรับป้องปรามและกำจัดบุคคลผู้มีความประ พฤติไม่เหมาะสม

เหตุนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติกฎอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกว่าพระวินัยซึ่งมีการปรับโทษแก่ภิกษุที่ละเมิดไว้หนักบ้างเบาบ้าง เรียกว่า “อาบัติ”

พระวินัยนี้ทรงบัญญัติไว้สำหรับควบคุมความประพฤติของภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามเหมาะสมแก่สมณะสารูป อีกทั้งจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใส และเป็นเหตุให้บุคคลที่เลื่อมใสอยู่แล้วเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป

วินัยนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนกับด้ายที่ร้อยดอกไม้เข้าด้วยกันซึ่งช่วยทำให้ดอกไม้ไม่กระจัดกระจายไป เมื่อกล่าวโดยสรุปพระวินัยนี้แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ (๑) พุทธบัญญัติ (๒) อภิสมาจาร พุทธบัญญัติหมายรวมทั้งข้อที่ทรงห้ามและทรงอนุญาต

ส่วนอภิสมาจาร หมายถึงข้อวัตร คือธรรมเนียมหรือมารยาทที่พระสงฆ์จะพึงปฏิบัติต่อบุคคล หรือในสถานที่นั้น เช่น ข้อวัตรที่สัทธิวิหาริกจะพึงปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์ และข้อวัตรที่ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อเสนาสนะ เป็นต้น

พระวินัยไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นคือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สมควรอันจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทวินัย ห้ามไม่ให้ภิกษุประพฤติเช่นนั้นอีก แม้อภิสมาจารก็ทรงบัญญัติโดยนัยนั้น

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้านั้น พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้เหตุผลไว้ในอรรถกถาพระวินัย ๒ ประการด้วยกัน คือ

๑. หากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ล่วงหน้า ก็จะถูกมหาชนติเตียนได้ว่า พระสมณโคดมจะผูกมัดบังคับภิกษุทั้งหลายด้วยสิกขาบทต่างๆ ทั้งๆ ที่ภิกษุเหล่านั้นต่างสละทรัพย์สินยศถาบรรดาศักดิ์เข้ามาบวช ไหนเลยจะประพฤติผิด เช่น เสพเมถุนธรรม เป็นต้นได้

๒. เปรียบเสมือนกับแพทย์ทำการรักษาโรคแก่ผู้ที่เป็นปกติยังไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยจริงๆ เช่น การผ่าตัด เป็นต้น ย่อมแสดงว่าแพทย์ไม่ฉลาด คนไข้ก็เจ็บตัวโดยใช่เหตุ ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งยังส่งผลร้ายต่อคนไข้อีกด้วย แพทย์ผู้ทำการรักษาก็ย่อมถูกติเตียนเป็นอันมาก เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าหากบัญญัติสิกขาบทไว้ล่วงหน้าก็ย่อมถูกติเตียนจากมหาชนในเรื่องสัพพัญญุตญาณของพระองค์ (มหามกุฏราชวิทยาลัย:๒๕๓๖: ๓๕๕-๓๕๘)

ครั้นทรงบัญญัติ สิกขาบทขึ้นแล้ว แต่สิกขาบทนั้น ยังไม่เหมาะสม หรือรัดกุม ด้วยเหตุบางประการ พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมอีก เช่นทรงตั้งพระบัญญัติห้ามไม่ให้ฆ่ามนุษย์แล้ว ทรงบัญญัติห้ามตลอดถึงการพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือการแนะนำให้เขาฆ่าตัวตายด้วย เป็นต้น

แม้ในสิกขาบทอื่นๆ ก็มีการบัญญัติเพิ่มเติมด้วย ข้อใดทรงบัญญัติไว้ตึงเกินไปพระสงฆ์ปฏิบัติตามได้ยาก พระองค์ก็ทรงบัญญัติเพิ่มเติมสิกขาบทนั้นให้เบาลง พระบัญญัติที่ทรงตั้งไว้เดิม เรียกว่ามูลบัญญัติ

ข้อที่ทรงเพิ่มเติมภายหลัง เรียกอนุบัญญัติ ทั้งมูลบัญญัติและอนุบัญญัติข้อหนึ่งๆ เรียกว่าสิกขาบท ธรรมเนียมที่พระศาสดาทรงปฏิบัติเกี่ยวกับการบัญญัติพระวินัย คือเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วก่อนจะพระบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆ พระองค์จะรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้ว ตรัสถามภิกษุผู้เป็นต้นเหตุ

จนได้ทราบความจริงแล้ว ก็จะทรงชี้ให้เห็นโทษแห่งความประพฤติเช่นนั้น และอานิสงส์แห่งความสำรวมแล้ว ต่อจากนั้นจึงทรงตั้งพระบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป วางโทษคือปรับอาบัติไว้หนักบ้าง เบาบ้าง ตามสมควรแก่เหตุ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส:๒๕๔๑:๘-๑๑)

สำหรับประเด็นการบัญญัติพระวินัย ยังมีกล่าวถึงในคัมภีร์มิลินทปัญหา (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต):๒๕๕๒:๓๕) โดยปรากฏในสัมปัตตกาลปัญหาที่ ๒ และสิกขาปทอปัญญาปนปัญหาที่ ๒ ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายกับอรรถาธิบายของพระพุทธโฆสาจารย์ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา

ในคัมภีร์ มิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ ได้ตรัสถามพระนาคเสนเกี่ยวกับเหตุที่ไม่ทรงมีพระพุทธบัญญัติไว้ล่วงหน้าว่าเปรียบเหมือนคนไม่ป่วยไข้จะกินยารอไว้ก่อนไม่ได้การกินยารักษาต้องเกิดในขณะที่มีอาการป่วยไข้แล้วเท่านั้น (มหามกุฏราชวิทยาลัย:๒๕๔๓:๙๑)

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายดังกล่าวก็ยังเป็นหลักการของฝ่ายเถรวาทที่ยืนยันว่าพระพุทธองค์ไม่ได้บัญญัติสิกขาบทล่วงหน้าก่อนการเกิดขึ้นของโทษในพระศาสนา เป็นการบัญญัติตามเหตุปัจจัยไม่ได้บัญญัติล่วงหน้า ซึ่งระยะเวลาในการบัญญัติพระวินัยเป็นครั้งแรก ยังไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัด

เนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ในพระไตรปิฎก แต่พบในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา คือ อรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา (วิ.ม.อ. (ไทย) ๑/๓๘๒-๓๘๓.) ซึ่งเป็นอรรถกถาที่แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์

(ค) วิธีการบัญญัติพระวินัย

การบัญญัติพระวินัยหรือสิกขาบท เป็นพุทธกิจประการหนึ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้าในพุทธัตถจริยา คือ พุทธกิจที่ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า หรือพุทธาจิณณะคือความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้าเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาและบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ยั่งยืนสืบมาถึงปัจจุบันกาล (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช:๒๕๔๐:๑๖)

ในการบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า มีวิธีการดำเนินการดังต่อไปนี้

๑. ภิกษุประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสียก่อน เช่น กรณี สิกขาบทปฐมปาราชิก พระสุทินน์กลันทบุตร ได้กระทำการเสพเมถุนกับอดีตกับภรรยาของตนก่อน เป็นต้น

๒. ความประพฤติที่เสื่อมเสียของภิกษุรูปนั้น ได้รับการติเตียนทั้งจากภิกษุด้วยกันและจากคฤหัสถ์ ตลอดจนถึงบรรดานักบวชนอกศาสนาอื่นๆ

๓. เมื่อความทราบถึงพุทธสำนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงกระทำเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

๓.๑ ทรงเรียกประชุมสงฆ์ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

๓.๒ ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับ จนได้ความเป็นสัตย์

๓.๓ ทรงชี้โทษแห่งการประพฤติผิด และติเตียนต่อพฤติกรรมอันเสื่อมเสียนั้นพร้อมทั้งแสดงอานิสงส์แห่งการสำรวมตนที่สมควรแก่สมณสารูป

๓.๔ ทรงวางโทษคือปรับอาบัติไว้หนักเบาแตกต่างกันไป ตามแต่ความผิดนั้นๆ (คณะกรรมการกองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย:๒๕๔๐:๘)

บัญญัติขึ้นเป็นสิกขาบท มิให้พระสงฆ์ประพฤติล่วงละเมิดอีกต่อไป โดยยกเอาประโยชน์แห่งพระวินัย ๑๐ ประการเป็นที่ตั้ง ส่วนภิกษุที่กระทำผิดเป็นคนแรก เรียกว่า อาทิกมมิกะ พระองค์จะไม่ทรงปรับอาบัติลงโทษแต่ประการใด (ประสาร ทองภักดี:๒๕๔๐:๑๐๔)

ซึ่งการบัญญัติสิกขาบทนี้ เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือมาติกา คือ ข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้เดิม (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘:๒๓๖)

๔. ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทที่เป็นมูลบัญญัติไว้แล้ว หากสิกขาบทไม่ครอบคลุม รัดกุมเพียงพอ หรือเข้มงวดเกินไป พระองค์ก็จะทรงบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในท้ายสิกขาบทเดียวกัน เรียกว่า อนุบัญญัติ คือ บัญญัติเพิ่มเติม หรือบทแก้ไขเพิ่มเติมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเสริมหรือผ่อนพระบัญญัติที่วางไว้เดิม (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘:๒๓๖)

เพื่อให้สิกขาบทครอบคลุม รัดกุมเพิ่มขึ้น หรือไม่เข้มงวดเกินไป อาทิ

๔.๑ กรณีที่สิกขาบทยังไม่ครอบคลุม รัดกุมเพียงพอ พระพุทธองค์ก็จะทรงบัญญัติเพิ่มเติมในท้ายของสิกขาบทเพื่อให้ครอบคลุมรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีนี้เกิดจากภิกษุตีความสิกขาบทตามอำเภอใจของตน และมีปฏิปทาที่ย่อหย่อนไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย เช่น ในสิกขาบทปฐมปาราชิกระบุว่า “ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้” (วิ.ม. (ไทย) ๑/๓๙/๒๙.)

ต่อมาได้มีภิกษุตีความสิกขาบทดังกล่าวว่า ห้ามเสพเมถุนกับเฉพาะสตรี เพศเท่านั้น จึงทำการเสพเมถุนกับลิงเพศเมียที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เมื่อความทราบถึงพระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติม โดยระบุอย่างชัดเจนให้ครอบคลุมไปถึงสัตว์เดรัจฉานด้วยว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”(วิ.ม. (ไทย) ๑/๔๑-๔๒/๓๐-๓๑.)

ซึ่งเป็นการบัญญัติสิกขาบทตามแนวเหตุปัจจัยที่มุ่งถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นหลัก

๔.๒ กรณี ที่สิกขาบทเข้มงวดเกินไป จนภิกษุสงฆ์ปฏิบัติลำบาก พระพุทธองค์จะทรงบัญญัติเพิ่มเติมในท้ายสิกขาบทนั้น เพื่อผ่อนคลายความเข้มงวดของสิกขาบทนั้นลง จนภิกษุสามารถปฏิบัติตามได้

เช่น ในสิกขาบทที่ ๖ จีวรวรรค นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ซึ่งมูลบัญญัติระบุว่า “อนึ่ง ภิกษุใดขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดีผู้มิ ใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” (วิ.ม. (ไทย) ๒/๕๑๖/๔๑. วิ.ม. (ไทย) ๒/๕๑๖/๔๑.)

ต่อมาได้เกิดเหตุภิกษุถูกโจรแย่งชิงเอาจีวรไปหมดขณะเดินทาง ไม่มีผ้านุ่งห่มปิดกาย แต่ก็ไม่กล้าขอผ้าจากชาวบ้านมานุ่งห่ม เพราะกลัวต้องอาบัติ จึงเดินเปลือยกายมาถึงวัด จนใครๆ คิดว่าเป็นอาชีวก (นักบวชเปลือยกายประเภทหนึ่ง) เมื่อความทราบถึงพระพุทธองค์

ก็ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ขอผ้าจากคนอื่นได้ พร้อมทั้งทรงบัญญัติเพิ่มเติมในสิกขาบทดังกล่าวว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ขอจีวรต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นอกจากสมัย เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ในคำนั้น ดังนี้ ภิกษุเป็นผู้มีจีวรถูกชิงเอาไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี นี้สมัยในคำนั้น”(วิ.ม. (ไทย) ๒/๕๑๖/๔๑.)

ทั้งมูลบัญญัติและอนุบัญญัติในพระวินัยข้อหนึ่งๆ เรียกว่า สิกขาบท โดยสิกขาบทส่วนที่เป็นพระพุทธบัญญัติหรืออาทิพรหมจาริยกาสิกขานั้นจะถูกรวบรวมเข้าเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “อุเทส” และรวบรวมอุเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด ๙ อุเทศด้วยกันเป็นปาติโมกข์หรือปาติโมกข์เรียกสิกขาบทประเภทนี้ว่า สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาณาปาติโมกข์” ซึ่งมีจำนวน ๒๒๗ สิกขาบท แต่ในพระสูตรว่ามี ๑๕๐ สิกขาบท (อง.เอก. (ไทย) ๒๐/๘๕/๓๑๐-๓๑๑.) ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งกันในปัจจุบัน

ส่วนสิกขาบทนอกนั้นที่เป็นอภิสมาจาร จัดเป็นสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ มีจำนวนหลายร้อยสิกขาบท นอกจากนี้ ยังมีสิกขาบทที่พระคันถรจนาจารย์บัญญัติเพิ่มเติมเข้าไปภายหลังเรียกว่า บาลีมุตตกทุกกฎ คือ อาบัติทุกกฎที่มานอกพระบาลี อีกเป็นจำนวนมาก จนนับจำนวนสิกขาบทไม่ได้ (กรมการศาสนา, กองศาสนศึกษา:๒๕๔๑:๒๔) ซึ่งก็จัดว่าเป็นสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์เช่นกัน

ส่วนโครงสร้างของพระวินัยโดยสรุปมี ๒ อย่าง คือ

(๑) การฝึกให้มีความประพฤติเป็นระเบียบแบบแผน หรือการควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบแบบแผนต่างๆ วินัยจึงเป็นเครื่องจัดระเบียบความประพฤติ ความเป็นอยู่ของคน

(๒) ระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่ว่างลงไว้เป็นหลักหรือเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ฝึกคน ซึ่งใช้จดระเบียบความประพฤติของคนและกิจการของหมู่ชนให้เรียบร้อยดีงาม (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๓๘:๒๓๑-๒๕๔)

มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อพระผู้พระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาแล้ว จะไม่มีการยกเลิกหรือเพิกถอนสิกขาบท เว้นแต่มีการผ่อนผันไปตามกาลที่วิกฤติคับขัน เช่น กรณี ทุพภิกขภัยที่เมืองวัชชีบุตร แคว้นเวสาลี ทรงผ่อนผันสิกขาบทจากที่ทรงห้ามสะสมอาหาร ก็ผ่อนผันให้ภิกษุสะสมอาหารเอาไว้สำหรับฉันในวันต่อไปได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นต้น แต่หลังจากที่วิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงให้คงสิกขาบทไว้ตามเดิม (รังสรรค์ สว่างศรี:๒๕๔๖: ๒๐.)

(ง) ลักษณะของพระวินัยและอาบัติต่างๆ

พระวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อห้ามและเพื่ออนุญาตให้ภิกษุได้ประพฤติตามที่เรียกว่า สิกขาบท (แปลก สนธิรักษ์:๒๕๓๒:๓๔๓,พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต):๒๕๔๓: ๓๓๙.) แม้ว่าจะมีนัยที่หลากหลาย แต่ก็สามารถสรุปได้เป็น ๒ ประการคือ

๑. อาทิพรหมจริยกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติ หรือข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณา (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต):๒๕๔๓: ๑๙๔).

เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย และวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดโดยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้างพระสงฆ์สวดทุกกึ่งเดือน เรียกว่า พระปาติโมกข์มีอยู่ ๗ อย่าง คือ (๑) ปาราชิก, (๒) สังฆาทิเสส, (๓) ถุลลัจจัย, (๔) ปาจิตตีย์ (๕) ปาฏิเทสนียะ, (๖) ทุกกฎ, (๗) ทุพภาษิต และรวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาอันเนื่องด้วยพระวินัยอีก ๗ ประการเรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ ด้วย

๒. อภิสมาจาริกาสิกขา หมายถึง หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมรรยาท และความเป็นอยู่ที่ดีงามสำหรับชักนำความประพฤติ ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณค่าน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้นไป เช่น สิกขาบทที่ว่าด้วยเรื่องของเสขิยวัตรต่างๆจำนวน ๗๕ ข้อ

อนึ่ง พระวินัย ได้แก่ ศีล ๒๒๗ ข้อ สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑. ระดับทั่วไป ได้แก่ ระดับธรรมะคือเป็นข้อแนะนำสั่งสอนที่เป็นหลักความประพฤติซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติไปตามกฎแห่งธรรมชาติหรือกฎแห่งกรรม ผู้ที่รักษาศีลย่อมได้รับผลดีส่วนผู้ที่ละเมิดศีลย่อมได้รับผลชั่ว

๒. ระดับวินัยคือเป็นแบบแผนข้อบังคับ ที่ทรงบัญญัติไว้ทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายเพื่อกำกับความประพฤติของสมาชิกในหมู่ชน โดยสอดคล้องกับความมุ่งหมายของหมู่คณะหรือประชุมชนนั้นๆ ผู้ที่ละเมิดวินัยนี้จะมีความผิดตามโทษของหมู่คณะ

(จ) วัตถุประสงค์และความสำคัญของพระวินัยและการบัญญัติพระวินัย

ในการบัญญัติพระวินัยเพื่อใช้เป็นกรอบในการฝึกหัดหรือเป็นกรอบในการศึกษาของสงฆ์ หรือของพระภิกษุที่อยู่ในสังคมสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงมีวัตถุประสงฆ์หรือความมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้

๑. เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์

๒. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์

๓. เพื่อข่มบุคคลไม่รู้จักอาย

๔. เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

๕. เพื่อป้องกันอาสวะที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

๖. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในอนาคต

๗. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส

๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม

๑๐. เพื่อถือตามพระวินัย

(หรือทรงมีวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของการบัญญัติพระวินัยก็คือ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน วิ.ม. (ไทย) ๑/๓๙/๒๘-๒๙.)

จากประโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการจะพบว่าการที่พระสาวกของพระพุทธองค์มีศีลมีวินัยเป็นกรอบในการฝึกหัดย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีความสงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นเหล่าพระสาวกย่อมเป็นผู้เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้อันจะเป็นบรรทัดฐานของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้

(ฉ) ประโยชน์ของพระวินัยและการบัญญัติพระวินัย

สำหรับประโยชน์ของพระวินัยและการบัญญัติพระวินัยมีอยู่ ๒ ประการ คือ

(๑) ประโยชน์เพื่อตนเอง หมายถึงพระวินัยและการบัญญัติพระวินัยมุ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่ได้ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัดย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของตนเอง คือเป็นผู้ที่มีศีลเป็นปกติไม่เดือดร้อนเพราะการเข้าไปเบียดเบียนใคร เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาย่อมมีโอกาสในการบรรลุธรรมได้ เนื่องจากจิตใจไม่กังวลกับการละเมิดพระวินัยการปฏิบัติธรรมย่อมเข้าถึงเป้าหมายได้ง่าย

(๒) ประโยชน์สังคม หรือประโยชน์แก่พระศาสนา เมื่อชาวพุทธคือ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ได้พร้อมใจกันปฏิบัติตามพระวินัยไม่ละเมิดพระวินัยก็จะทำให้สังคมโดยภาพรวมเกิดความสามัคคีและเกิดความสงบ เมื่อสังคมโดยภาพรวมสงบพระศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรือง สังคมโดยรวมก็จะมีพัฒนาการไปสู่ความเจริญได้ง่ายเพราะไม่ต้องมาเสียเวลากับการจัดการปัญหาที่เกิดจากการละเมิดพระวินัยนั่นเอง

@ เอาล่ะครับยาวนิดหน่อยเพื่อความเข้าใจเรื่องพระวินัยให้กับชาวบ้าน หากพระคุณเจ้ารู้แล้วก้อ่านพอผ่านๆนะครับตอนนี้มุ่งให้ชาวบ้านทำความเข้าใจพระธรรมวินัยก่อน จากนั้นตอนที่ ๖ จะเข้าสู่เรื่องเงินกับพระวินัย เรื่องการรับเงินรับทอง

ขอบคุณมากครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...