วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561
"นิด้า"เสริมรู้ศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษกิจพอเพียง100นศ.นานาชาติ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดโครงการ Summer Camp ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “Economic Development versus Sustainable Development) ระหว่างวันที่ 11-20 มิถุนายน 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษาต่างชาติจำนวน 100 คน จากประเทศในแถบเอเชียและโอเชียเนีย อาทิ นิวซีแลนด์ อินเดีย พม่า ลาว ไต้หวัน ฯลฯ
ดร.มลฤดี สระฏัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามนุษย์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้รับเชิญให้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ศาสตร์ของพระราชา” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้เป็นแนวทางและแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ดร. มลฤดี กล่าวถึงความเป็นมาและความเชื่อมโยงของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นกระแสของการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น เราเข้าใจผิดกันไปว่า “การพัฒนา” คือการพัฒนาเพื่อความเจริญด้านวัตถุและเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ผู้คนมองแต่การเติบโตของตัวเลขและการสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุด ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างน่าเหลือเชื่อ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ในทางกลับกัน เราไม่ได้มองว่าการเติบโตทางตัวเลขที่น่าประทับใจนั้นต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง เพราะการที่ประเทศมีรายได้มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าทุกคนในประเทศจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเสมอไป
ดร.มลฤดีชี้ให้เห็นว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียวดังกล่าวกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น นำไปสู่การเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดในสังคม
ดร.มลฤดีกล่าวว่า ในมิติของสิ่งแวดล้อม เราใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างล้างผลาญราวกับทรัพยากรจะไม่มีวันหมด มีนักวิจัยพบว่า ปัจจุบันเราบริโภคทรัพยากรในอัตราที่เทียบเท่าขนาดโลกถึง 1.7 ใบ เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด ซึ่งหมายถึงประชากรรุ่นลูกรุ่นหลานของเรามีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรงในอนาคต ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นยังรวมถึงปัญหาขยะล้นโลก ภาวะโลกร้อน มลภาวะทุกรูปแบบ ซึ่งล้วนแต่เกิดจากการผลิตและบริโภคอย่างไม่ยั้งคิดและไม่ระมัดระวังทั้งสิ้น
ดร.มลฤดี อธิบายต่อไปว่า ที่ผ่านมาเราพัฒนาแบบไม่สมดุลโดยเน้นที่มิติวัตถุและเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เกิดกระแสการปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เน้นการพัฒนาที่สมดุล ลงตัว และครอบคลุมในทุกด้าน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของโลกใบนี้
ดร.มลฤดี กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทอดพระเนตรเห็นผลพวงจากความเสียสมดุลเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง และทรงงานอย่างหนักในการพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ จนเมื่อปี 2540 ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และได้พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้พสกนิกรได้นำไปยึดถือปฏิบัติและปรับใช้ในการดำเนินงานทุก ๆ อย่าง ให้มีความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม และสนับสนุนด้วยเงื่อนไขสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน โดยสามารถนำไปใช้กับการตัดสินใจได้ทุกเรื่อง
ดร.มลฤดี อธิบายว่า แท้ที่จริงแล้ว ทรงใช้หลักดังกล่าวเป็นหลักคิดสำคัญในการทรงงานทุกรูปแบบ หรือจะเรียกว่าเป็นแก่นสำคัญของศาสตร์ของพระราชาเลยก็ว่าได้ โดยพระองค์ทรงเคยให้แนวคิดไว้ว่าการพัฒนาใด ๆ ก็ตามต้องทำแบบเป็นขั้นเป็นตอน และต้องเริ่มจากทุกคนมีปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มั่นคง นั่นคือพออยู่ พอกิน สามารถเลี้ยงปากท้องตนเองได้อย่างไม่ขัดสนเสียก่อน เมื่อมีสิ่งเหล่าแล้ว จึงค่อย ๆ ขยายการพัฒนาต่อไปตามกำลังและความเหมาะสม
ในส่วนขอความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ดร.มลฤดีได้อธิบายย้อนไปเมื่อปี 2549 เมื่อโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” หรือ UNDP Human Development Lifetime Achievement Award ให้แก่พรองค์ท่าน โดยทรงเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ จากการทรงงานด้านการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการการเกษตร การพัฒนาที่ดิน การสร้างอาชีพ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนั้นล้วนแต่มีแก่นหลัก ๆ อยู่ที่การให้ความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทักษะศักยภาพ และสร้างจิตสำนึกให้กับ “คน” ให้คนสามารถพึ่งพาตนเอง ยืนด้วยลำแข้ง และพัฒนาต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ พร้อมทั้งมีแนวคิดแห่งความพอเพียงนั่นเอง
ดร.มลฤดีอธิบายว่า หากเรามองไปที่การแก้ไขปัญหาการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืนทั้งหลายโดยย้อนกลับไปที่ต้นตอ จะพบว่าสิ่งต้องแก้ไขและพัฒนาเป็นอันดับแรกก็คือ “คน” ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ณ ขณะนี้เรากำลังเผชิญปัญหากับขยะพลาสติกที่นับวันยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณและส่งผลมากมายต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้รีไซเคิลขยะพลาสติกได้มากขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ดี แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะพลาสติกเหล่านั้นก็จะไม่หายไป และไม่สามารถยืนยันได้ว่าปริมาณขยะจะไม่เพิ่มมากขึ้น
ดร.มลฤดีแสดงความเห็นว่า หากเราสามารถลดจำนวนขยะที่จะเกิดขึ้นได้โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังจิตสำนึกให้ “คน” เปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นลด ละ เลิก การใช้วัสดุที่ทำจากพลาสติก หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาได้มากที่สุด ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถือว่าเป็นหลักคิดที่ช่วยให้สามารถตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.มลฤดีอธิบายว่า บุคคลและองค์กรสามารถประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจได้โดยยึดมั่นการใช้ความรู้ที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงหลักของคุณธรรมเสมอ จากนั้นต้องมีความรู้จักพอประมาณ ไม่ทำอะไรให้มากหรือตึงจนเกินเหตุ แต่ก็ไม่หย่อนยานจนขาดประสิทธิภาพ และการจะตัดสินใจลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ต้องคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนตามหลักของเหตุและผลเสมอ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน ต้องคำนึงว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่แน่นอน ปัญหาที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วจึงหาทางป้องกันอย่างเหมาะสม
โดยดร.มลฤดีได้กล่าวปิดท้ายว่า สุดท้ายไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ควรต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะในแง่บวกหรือแง่ลบให้ครบทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งหากทุกคนสามารถนำหลักคิดดังกล่าวไปใช้ประกอบในการตัดสินใจหรือลงมือทำการใด ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใด การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
โครงการ Summer Camp จัดขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งในส่วนของการบรรยายเชิงวิชาการ การทำกิจกรรมกลุ่มย่อย การระดมสมองเพื่อเสนอแนวความคิด รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้แนวความคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
โดยในครั้งนี้ นอกจากการเรียนรู้และทำกิจกรรมในพื้นที่ของนิด้าแล้ว นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการยังได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา, เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก, ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก และโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต อีกด้วย
#GuruSpeak
#ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#พอเพียงเพื่อยั่งยืน
#FBมั่นพัฒนา
#NIDASummerCamp2018
มูลนิธิมั่นพัฒนา l www.tsdf.or.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น