สุนทรภู่กวีเอกนักสื่อสารเพื่อสันติภาพโลก : สำราญ สมพงษ์ นิสิตป.เอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
สภาพสังคมปัจจุบันที่เป็นยุคการสื่อสารเชื่อมโยงติดต่อถึงกันได้เพียงเสี้ยววินาทีและสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้นและหลายช่องทางจากมือถือผ่านโปรแกรมยอดฮิตเช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อีเมล เว็บไซต์ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลมีบทบาทสำคัญและสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของบุคคลหลายหน่วยงานหลายอาชีพ ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารโดยตรงอย่างเช่นสื่อมวลชนก็มีการแข่งขันการนำเสนอข่าวเพื่อแย่งชิงพื้นที่ข่าวเน้นประเภทข่าวที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอันแปรเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมและการแสดงออกอันนำไปสู่ความขัดแข้งและความรุนแรงในสังคมตามมา
ขณะที่ผู้บริโภคข่าวหรือผู้รับสารเองไม่ใช่มีความสามารถเพียงเป็นผู้รับสารหรือบริโภคข่าวสารอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีความสามารถเป็นผู้สื่อสารในระดับมวลชนหรือที่เรียกว่า “สื่อสารมวลชน” ได้ด้วยซึ่งเรียกว่า “ผู้สื่อข่าวพลเมือง” ดั้งนั้น จึงทำให้การสื่อสารระดับบุคคลทรงพลังสามารถสร้างเป็นกระแสที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและใช้ในการต่อรองได้ เพียงแค่มีมือถือหรืออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปเป็นลักษณะ “ตัวกูของกู” คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมน้อยลง ชอบ “รวยลัด” เน้น “งามภายนอก” จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่จึงมีความแข็งกระด้างไม่ยอมโอนอ่อนให้ใครง่ายๆ มีอะไรไม่ปรึกษาพ่อแม่แต่จะปรึกษากูเกิลแทน
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าปัจจุบันนี้ผู้บริโภคข่าวหรือผู้รับสารมีความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใด เพราะสังคมไทยมีลักษณะเป็นนักบริโภคนิยมแบบไร้สติ ชอบง่ายและต้องรวดเร็ว แต่ข้อมูลข่าวสารที่ส่งมาทางมือถือนั้นมีทั้งจริงและไม่จริง รวมถึงเป็นข่าวลือหรือเป็นขยะเสียเป็นส่วนมาก ดังนั้น หากหลงเชื่อโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของอคติและแชร์ข้อมูลเท็จออกไปโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วอาจจะตกเป็นเหยื่อทางการตลาดและการเมืองได้ง่ายๆ และเป็นปัจจัยให้เกิดความขัดแย้งและพัฒนาเป็นความรุนแรงตามมา
จึงเป็นหน้าที่ผู้บริโภคข่าวหรือผู้รับสารจะต้องเป็นผู้รู้เท่าทันสื่อและนักวิชาการด้านสื่อเองก็มองว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไปโดยตรง การจะหาตัวช่วยอื่นคงยากเพราะการร่างรัฐธรรมนูญก็ดูจะแผ่วเบาในประเด็นนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เป็นตัวแทนของสื่อสารมวลชนก็ให้ความสำคัญที่ผู้ส่งสารที่ต้องการเสรีภาพในการเสนอโดยปราศการควบคุมแทรกแซงและมุ่งเน้นพัฒนช่องทางในการสื่อสารให้ทันสมัยจาก 3 จีก็เป็น 4 จีเป็นต้น ดังนั้น ผู้บริโภคข่าวสารคงต้องพึ่งตัวเอง
แต่ในสังคมไทยนั้นมีต้นแบบหลายต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างที่จะทำให้ดำรงตนในสังคมที่สับสนวุ่นวายแตกแยกได้อย่างมีความสุข เพราะเราไม่สามารถที่จะทำให้คนชั่วเป็นคนดีได้ทั้งหมดดังนั้นจึงต้องรู้จักอยู่กับคนชั่วได้อย่างมีความสุข
วันที่ 26 มิถุนายนนี้เป็นวันสุนทรภู่กวีเอกของโลก ครูมีหลักคิดต่างๆมากมายในผลงาน ในจำนวนนั้นคือการสื่อสารเพื่อสันติภาพ โดยสุนทรภู่ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องปากหรือการสื่อสารไว้หลายแห่ง โดยหนังสือสำนวนไทยฉบับขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่ง จัดทำโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) พ.ศ.2541 ได้ยกตัวอย่าง เช่น ในสุภาษิตสอนหญิงว่า
๏ เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความฯ
ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า
๏ อันโซ่ตรวนพรวนพันมันไม่อยู่
คงหนีสู้ซ่อนมุ่นในฝุ่นผง
แม้นผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์
อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคาย
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย ฯ
หากจะวิเคราะห์เนื้อหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าตรงตามหลักการสื่อสารเชิงพุทธนั้นก็คือ ปิยวาจา ในวจีสุจริต 4 หนึ่งในมรรคมีองค์ 8 แต่ที่สำคัญก็คือว่าจะใช้ปากให้เป็นปิยวาจาได้นั้นจะต้องดังบทที่ว่า จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความฯ และ "อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคาย" นี้คือการใช้ปัญญาหรือ "โยนิโสมนสิการ" บวก "กาลามสูตร" เข้าไปด้วย เพียงเท่านั้นสังคมไทยคงจะน่าอยู่ขึ้นมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ก่อนที่จะแสดงความเห็นได้ "พิเคราะห์ให้เหมาะความ" หรือไม่
พร้อมกันนี้ควรยึดหลักการสื่อสารเพื่อสันติที่มีแนวคิดทั่วไป คือ 1) ให้ข้อสังเกตได้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่ตัดสิน ไม่ประเมิน หรือตีความ 2) พูดสื่อความรู้สึกทั้งของตัวเราเองและคนอื่นได้อย่างตรงใจ 3) ค้นหาและบอกความต้องการในส่วนลึกของเราและคนอื่น 4) หาข้อตกลงร่วมกันหรือขอร้องให้เกิดการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริงด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน และเป็นทางบวก
ส่วนหลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธตามหลัก "วาจาสุภาษิต" นั้นนายสำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้เสนอบทความประกอบวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา เรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการสื่อสารเพื่อสันติภาพในสื่อออนไลน์ตามแนวทางพุทธสันติวิธี: กรณีศึกษาเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก" สรุปความว่า
แนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติเชิงพุทธขณะที่หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาคือ “วาจาสุภาษิต” หรือ “สัมมาวาจา” 1 ในมรรคมีองค์ 8 เป็นส่วนหนึ่งในอริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐเป็นทางให้ถึงสันติสุขได้ นับเป็นการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธได้ เพราะว่าคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็นแนวทางในการสร้างสันติภาพทั้งนั้น โดยหลัก "วาจาสุภาษิต" ซึ่งมีรูปแบบพิเศษคือพระพุทธเจ้าจะตรัสวาจาครั้งใดนั้น ภายใต้เงื่อนไข 6 กรณี มีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ มีองค์ประกอบ “คำพูดที่จริง ที่แท้ เป็นประโยชน์” ครบ เมื่อเวลาเหมาะสม แม้บุคคลจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม นับเป็นองค์ธรรมพื้นฐานช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
หลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธตามหลัก "วาจาสุภาษิต" สามารถสะท้อนออกมาเป็น “14ส.สื่อเพื่อสันติภาพเชิงพุทธโมเดล” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและสังคมทั่วไปได้ดังนี้
1. สื่อสารสาระคือ สื่อสารที่ตรงกับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนนำเสนอถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วน สมดล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตรงไปตรง เป็นกลาง ไร้อคติ ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาให้โอกาสได้ตอบในโอกาสแรกที่ทำได้โดยเอาใจเราใส่ใจเขาในสถานการณ์เดียวกัน
2. สืบสานสัมพันธ์คือ สื่สารด้วยภาษาที่สั้น กระซับเร้าใจสุภาพไม่หยาบโลนไม่สร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชัง มีความชัดเจนกระจ่างแจ้งในการเขียน
3. สมัยสมพงษ์คือ สื่สารเหมาะสมกับกาลเวลา เมื่อมีเนื้อสารที่มีองค์ประกอบครบทั้งความจริง แท้และมีประโยชน์ครบถ้วนแล้ว เวลาเหมาะสมะแม้ว่าคนจะพอใจหรือไม่พอใจก็ต้องนำเสนอ พร้อมรู้จักพอ รู้จักรอ และรู้จักประมาณไม่นำเสนอหากจะส่งผลกระทบ
4. สังคมสุขสำราญคือ สื่อสารที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สันติสุขต่อสังคมโดยรวมในรูปแบบการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้พื้นที่ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแทนที่จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์เท่านั้น
5. สร้างสรรค์สันติคือ ผู้ส่งสารมีพื้นฐานจิตที่มีเมตตา มีความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพเป็นอย่างดีพร้อมกระจายความเข้าใจนั้นไปสู่สังคมในระดับต่างๆพร้อมตั้งมั่นใจอยู่ในจริยธรรมสื่อเป็นสำคัญ
โดยมีคำว่า “สร้างสรรค์สันติ” อยู่ตรงกลางเพราะการสร้างสรรค์สันติเป็นหัวใจความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสันติภาพภายในซึ่งเกิดจากฐานจิตที่ประกอบด้วยเมตตาที่พัฒนามาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วแผ่สันติภาพภายในนั้นให้กระจายไปสร้างสันติภาพภายนอกด้วย “สื่อสารสาระ” เป็นต้น ครบองค์ประกอบดังกล่าว โดยหลอมรวมหมุนดุจวงล้อธรรมจักรหรือพัดลมให้เห็นป็นเนื้อเดียวกัน หมุนจนกระทั้งไม่เห็นใบพัด ก็จะมีพลังสร้างสังคมมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น ดังสโลแกรนที่ว่า “นฺตถิสฺนติ ปรัง สุขัง” แปลว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”
...................................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Dhanamesvariya Ayyaguta Sresthiyanada และที่มา http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/208703 )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น