วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๖ เงินกับพระวินัยของสงฆ์ ?
วันที่ 23 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๖ เงินกับพระวินัยของสงฆ์ ?
@ หลังจากที่เราเกริ่นเรื่องพระวินัยกันเสียยืดยาวเมื่อวาน หลายท่านคงไม่อ่านกันเพราะถือว่า (๑) ยาวไป (๒) รู้แล้วน่าเบื่อ (๓) ไม่อยากอ่านมันแสลงใจ (๔) ขาดวิริยะในเรื่องการอ่าน แต่ไม่ว่าจะเหตุผลกลใดก็ตามผมคิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอมีความรู้เรื่องพระวินัยแล้วล้าง อนึ่ง ผมเองอยากสื่อสารกับพระคุณเจ้าที่ยังไม่เข้าใจงานเขียนและเจตนารมณ์ในการเขียนงานของผมนะครับว่า
(๑) ผมไม่ได้มาปฏิรูปให้พระไม่จับเงินจับทอง
(๒) ผมไม่ได้ต้องการให้พระกลับไปเป็นเมื่อ ๒๖๐๐ ปีก่อน
(๓) ผมไม่ได้มีความคิดที่จะจาบจ้วงพระธรรมวินัย เพียงแต่ผมเสนอแนวทางตามที่พระไตรปิฎกว่าไว้
(๔) ผมไม่ได้อ่อนไหวกับคำคอมเม้น แต่ผมอยากให้อ่านงานให้จบและติดตามงานให้ตลอดสาย
(๕) ผมอยากให้ยอมรับตามพุทธประสงค์และให้หาทางออกร่วมกันจากเงื่อนไขในพระธรรมวินัยนั้น การมาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระไตรปิฎกนั้นผมไม่เห็นด้วยเพราะมันเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระธรรมวินัยซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
(๖) ผมเห็นและเข้าใจว่าการที่พระปฏิเสธข้อความในพระไตรปิฎกนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนของพระศาสนาที่พระไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกมาเลย เป็นความล้มเหลวของการศึกษาของคณะสงฆ์ในเมืองไทยที่ไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้พระได้มีโอกาสร่ำเรียนพระไตรปิฎก
(๖.๑) เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาของพระพุทธพจน์และพระธรรมวินัย
(๖.๒) เพื่อให้สงฆ์มีความเห็นสอดคล้องกับพระธรรมวินัย
(๖.๓) เพื่อให้พยายามที่จะแสวงหาทางออกให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยด้วยความเอื้อเฟื้อ
(๖.๔)การปฏิเสธพระธรรมวินัยหรือข้อความในพระไตรปิฎกนั้นผมเห็นว่าสงฆ์และชาวพุทธไม่พยายามที่จะหาทางออกจากแนวทางของพระธรรมวินัย แต่พยายามอ้าง “ความจำเป็น”ที่เป็นปัจจัยภายนอกเพื่อหาทางออก หรืออ้างความสะดวกสบายในการใช้เป็นข้ออ้าง ซึ่งข้ออ้างเหล่านั้นเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ปัญหาเหล่านี้ที่เสนอมาผมว่าเป็นปัญหาที่เป็นความละเอียดอ่อนของพระพุทธศาสนา
@ เหตุปัจจัยที่ทำให้พระศาสนาเสื่อม ?
@ อย่าลืมนะครับว่า ความเสื่อมของพระพุทธศาสนามันมีอยู่ ๓ ประการคือ (๑) ปริยัติอันตรธาน (๒) ปฏิบัติอันตรธาน และ (๓) ปฏิเวธอันตรธาน คือ เมื่อเรียนรู้ไม่ดีจำมาผิดก็จะทำให้เข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดก็นำไปสู่การปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็บรรลุแบบผิดๆ
ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๒ ประการ ที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสลายหายไป คือ บทพยัญชนะ (หมายถึงพระพุทธวจนะ) ที่จำมาผิด (หรือคัดลอกมาผิด) และเข้าใจเนื้อความไม่ถูกต้อง เมื่อจำบทพยัญชนะมาผิด ก็ย่อมจะเข้าใจเนื้อความผิดไปด้วย” (องฺ.ทุก. (บาลี) ๒๐/๒๐/๕๘, องฺ.ทุก. (ไทย) ๒๐/๒๐/๗๒.)
หรือมีอีกที่หนึ่งที่ระบุว่า “ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
(๑) ศึกษาเล่าเรียนสุตตันตะที่เรียนกันมาผิดลำดับ ตามบทพยัญชนะที่จำกันมาผิด เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่จำกันมาผิด ก็ทำให้เข้าใจผิดกันไปด้วย
(๒) เป็นคนที่ว่ายากสอนยาก มีนิสัยที่ว่ายากสอนยาก มีนิสัยไม่อดทน ไม่รับฟังคำสอนโดยเคารพ
(๓) เป็นพหูสูต คล่องปริยัติ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่ตั้งใจถ่ายทอดสุตตันตะแก่ผู้อื่น เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สุตตันตะก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย (ไม่มีที่อ้างอิง)
(๔) เป็นพระระดับเถระ เป็นพระมักมาก เป็นพระย่อหย่อน เป็นผู้นำในทางคลายความเพียร ละทิ้งวิเวก ไม่ระดมความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึงเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภิกษุรุ่นหลังก็พากันเอาเยี่ยงอย่าง
ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสลายหายไป(องฺ.จตุกฺก. (บาลี) ๒๑/๑๖๐/๑๖๗–๑๖๘, องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๑๖๐/๒๒๒–๒๒๕.)
ทั้ง ๔ ประการนี้ คือสาเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญสลายหายไป ตามข้อความที่กล่าวมานั้น มีคำที่ควรทำความเข้าใจ เช่นคำว่า บทพยัญชนะที่จำมาผิด (ทุนฺนิกฺขิตฺตํ ปทพฺยญฺชนํ) นั้น หมายถึงตัวอักษรที่ส่องให้รู้เนื้อความจำกันมาคลาดเคลื่อนไป (องฺ.ทุก.ฏีกา (บาลี) ๒/๒๐–๒๑/๓๓.)
เมื่อบทพยัญชนะพิรุธคลาดเคลื่อน การกำหนดความหมายเฉพาะบทย่อมคลาดเคลื่อนไปด้วย นอกจากนั้น ความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องของความเสื่อมหรือความหย่อนยานของพระพุทธศาสนานี้ก็มีปรากฏในความห่วงใยของพระมหากัสสปเถระที่ท่านเห็นว่าในช่วงนั้น พระภิกษุมีความประพฤติที่หย่อนยานไม่เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัยจึงเข้ากราบทูลความห่วงใยนี้กับพระพุทธองค์ว่าเมื่อก่อนหน้านี้
สิกขาบทที่ภิกษุสงฆ์พึงปฏิบัติมีน้อย ส่วนภิกษุที่บรรลุพระอรหัตตผลมีมาก แต่ขณะนี้สิกขาบทที่ภิกษุสงฆ์พึงปฏิบัติมีมาก แต่ภิกษุที่บรรลุพระอรหัตตผลกลับมีน้อย โดยพระพุทธองค์ตรัสตอบท่านพระมหากัสสปะว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ คือ เนื่องจากบริษัทปฏิบัติย่อหย่อนพระสัทธรรมจึงเสื่อมสูญ
สิกขาบทจึงมีมาก ภิกษุที่บรรลุพระอรหัตตผลจึงมีน้อย พระสัทธรรมจะยังไม่เสื่อมสูญไปตราบเท่าที่สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น เมื่อนั้น พระสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทำพระสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้
ที่แท้พวกโมฆบุรุษที่เกิดขึ้นมาในโลกต่างหาก ย่อมทำพระสัทธรรมให้เสื่อมสูญไป เปรียบเหมือนเรือจะอัปปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น โดยสาเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญไปมี ๕ ประการ คือ
(๑) ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดา
(๒) ฯลฯ ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรม
(๓) ฯลฯ ไม่เคารพยำเกรงใน พระสงฆ์
(๔) ฯลฯ ไม่เอาใจในการศึกษา
(๕) ฯลฯ ไม่เอาใจใส่ในสมาธิ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญหายไปก็มี ๕ ประการ คือ
(๑) ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
(๒) ฯลฯ ในพระธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระธรรม
(๓) ฯลฯ ในพระธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระสงฆ์
(๔) ฯลฯ ในพระธรรมวินัยนี้ มีความเอาใจใส่ในการศึกษา
(๕) ฯลฯ ในพระธรรมวินัยนี้ มีความเอาใจใส่ในสมาธิ (สํ.นิ. (บาลี) ๑๖/๑๕๖/๒๑๓-๒๑๕, สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๑๕๖/๒๖๒–๒๖๔.)
ข้อความที่กล่าวนี้ ระบุถึงบุคคลที่มีความประพฤติปฏิบัติอันเป็นสาเหตุให้พระศาสนาเสื่อมสูญหายไปนอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงตัวสาเหตุ ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจ และการแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายทางวาจา ที่ทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญหายไปว่า
(๑) ความประมาท ความเกียจคร้าน ความมักมาก ความไม่สันโดษ อโยนิโสมนสิการ ความไม่มีสัมปชัญญะ การมีมิตรชั่ว การก่ออกุศลเนืองๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นสาเหตุให้พระสัทธรรมถึงความเสื่อมสูญไป
(๒) พวกภิกษุที่แสดงอธรรมเป็นธรรม แสดงธรรมเป็นอธรรม แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยเป็นวินัย แสดงวินัยเป็นสิ่งที่มิใช่วินัย แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสสอนเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เป็นสิ่งพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสสอนไว้ แสดงสิ่งที่พระ
พุทธเจ้ามิได้เคยประพฤติมาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยประพฤติมา แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยประพฤติมาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่เคยประพฤติมา แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติไว้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ย่อมทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญไป (องฺ.เอกก. (บาลี) ๒๐/๑๑๔-๑๒๙/๑๗–๑๙, ๑๓๐-๑๔๙/๑๙–๒๐, องฺ.เอกก. (ไทย) ๒๐/๑๑๔-๑๒๙/๑๘–๑๙, ๑๓๐-๑๔๙/๒๐–๒๑)
ส่วนที่จะทำให้พระศาสนาจะเจริญได้ก็มีนัยตรงข้ามกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสมาทั้งสองข้อนั้น
@ เงินที่ปรากฏในพระวินัย ?
สำหรับเรื่องพระวินัยรายละเอียดกลับไปอ่านในตอนที่ ๕ นะครับต่อไปนี้จะเขาสู่เนื้อหาจริงเกี่ยวกับเงินกับพระวินัยหรือศีล ซึ่งศีลที่จะนำมาพูดในเรื่องนี้ก็มีศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก่อเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์สามเณรโดยตรงส่วนศีลภิกษุณีพักไว้ก่อนเพราะภิกษุณีนั้นวงศ์เสื่อมไปแล้ว โดยเนื้อหาของเรื่องเงินกับพระวินัยนั้นมีดังต่อไปนี้
(๑) เงินกับพระวินัยสำหรับสามเณร ปรากฏในสิกขาบทที่ ๑๐ ของสามเณรก็คือชาตรูปรชตปฏิคคหณา คือเจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน (ขุ.ขุ (ไทย) ๒๕/๒/๒.)
ที่ผมนำเรื่องวินัยสำหรับสามเณรมาก็เพราะต้องการให้ทุกท่านทราบว่า “คติเรื่องเงินกับพระสงฆ์นี้พระพุทธองค์มิได้วางไว้สำหรับพระ แต่เหล่ากอของสมณะคือสามเณรก็ทรงวางไว้เป็นจารีตหรือบทสำหรับฝึกฝนหรือปฏิบัติด้วย เพื่อให้เป็นบาทฐานสำหรับการก้าวไปสู่ความเป็นพระภิกษุ ซึ่งจะเห็นถึงความรอบคอบของพระพุทธองค์ที่ทรงมองเห็นความจริงในเรื่องนี้หรือทรงเอาใจใส่ในเรื่องการรับเงินรับทองนี้
(๒) เงินกับพระวินัยสำหรับพระภิกษุ สำหรับพระวินัยสำหรับพระภิกษุนี้มีปรากฏในอาบัติ ๓ ข้อ คือ (๑)อาบัติปาราชิก ข้อที่ (๒) (๒) อาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์ (๓) อาบัติปาจิตตีย์ ซ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ เงินกับพระสงฆ์ในอาบัติปาราชิก
สำหรับอาบัติปาราชิก ถือว่าเป็นอาบัติหนักมีโทษเท่ากับการประหารชีวิตคือผู้ต้องอาบัตินี้จะต้องหมดสภาพความเป็นพระ และไม่ถือว่าเป็นอาบัติที่มิได้ตั้งใจ(อจิตตกะ)เป็นอาบัติที่ไม่อาจแก้ไขหรือแสดงคืนได้ ผู้ต้องอาบัติประเภทนี้จะต้องสึกขาดจากความเป็นพระออกมาเป็นฆราวาสอย่างเดียว
ดังนั้น วิธีการออกหรือพ้นจากอาบัตินี้จึงมีสถานเดียวคือ สึก แต่ถ้าภิกษุต้องอาบัติข้อนี้แล้วแต่ยังมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแม้ลาสึกขาไปแล้วก็สามารถบวชสามเณรได้ และสามารถบรรลุธรรมได้ตั้งแต่โสดาบันจนถึงพระอนาคามี แต่ไม่อาจจะบรรลุพระอรหันต์ได้(มหามกุฎราชวิทยาลัย:๒๕๓๗: ๕๘ - ๕๙)
หรือถ้าไม่เป็นสามเณรก็เป็นปุถุชนชาวบ้านธรรมอาสามารถทำบุญให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาได้เหมือนเดิม ส่วนประเด็นเรื่องเงินในอาบัติปาราชิกข้อที่ (๒) คือการขโมยเงินตั้งแต่ ๕ มาสกเป็นต้นไปด้วยเถยยจิต คือจิตที่คิดจะขโมยโดยการทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากจุดที่ตั้งหรือการหยิบจับไป
โดยความคิดที่จะขโมยหรือลวง ลักเพื่อให้เป็นของๆตนเองหรือเพื่อให้เกิดความเสียหากับทรัพย์สินของคนอื่น กรณีอาบัติปาราชิกนั้นยกเหตุของพระธนิยะที่ไปขโมยไม้จากคลังหลวงของพระเจ้าพิมพิสาร(วิ.ม.(ไทย)๑/๘๙/๗๘.)
สำหรับอาบัติข้อนี้เป็นเรื่องของ (๑) ทรัพย์มีมูลค่า ๕ มาสก (๒) เจตนาที่จะลักทรัพย์ (๓) ทำทรัพย์ให้เคลื่อนจากที่ตั้ง ก็ถือว่าเป็นอุปการะแก่การละเมิดอาบัติข้อนี้แล้ว
@ เงินกับพระสงฆ์ในอาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์
สำหรับคำว่า นิสัคคิยปาจิตตีย์ หมายถึงอาบัติที่จะต้องสละคืนแก่สงฆ์เป็นอาบัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจีวร บาตรและเงินทองที่พระต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเมื่อพระละเมิดอาบัติข้อนี้แล้วจะต้องสละคืนของที่ได้มานั้นให้แก่บุคคลหรือสงฆ์จากกนั้นก็ปลงอาบัติจึงจะพ้นได้
โดยประเด็นเรื่องเงินกับพระสงฆ์ที่ปรากฏในอาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์นั้นก็ปรากฏใน ๒วรรค คือ จีวรวรรคกับโกสิยวรรค ดังต่อไปนี้
ก.ในจีวรวรรค ปรากฏในสิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ คือ
(๘) อุปักขฏสิกขาบท ว่าด้วยคนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร
โดยปรากฏในพระบัญญัติว่าก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร เจาะจงภิกษุว่า “เราจะซื้อจีวรด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้ว
นิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร” ถ้าภิกษุนั้นซึ่งเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนด ชนิดจีวรในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านจงซื้อจีวรเช่น นั้นเช่นนี้ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้แล้วให้อาตมาครองเถิด” ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์(วิ.ม.(ไทย) ๒/๕๒๘/๕๒.)
หมายเหตุ :
สำหรับอาบัติในข้อนี้มีเงื่อนไขที่เกี่ยวกับเงินก็คือ (๑) ชาวบ้านเตรียมเงินไว้สำหรับค่าจีวรถวายพระโดยที่เขายังไม่ได้เจาะจงว่าจะถวายใคร พอพระรูปนั้นได้ยินก็รีบไปบอกเขาเลยว่าช่วยซื้อจีวรแบบนี้นะถวายอาตมา ซึ่งการทำแบบนี้มันเป็นการเสียมารยาททำให้ชาวบ้านเขาอึดอัดว่า อะไรนี่แค่เอ่ยปากพูดยังไม่ได้เข้าไปหาก็ออกจากวัดมาสั่งการเลยหรือ ? แม้ความจริงชาวบ้านเขาจะถวายก็ตามแต่จีวรที่ได้มาก็ไม่บริสุทธิ์ต้องสละคืน (๑) แก่บุคคล หรือ (๒)แก่สงฆ์ ทันที
(๙) ทุติยอุปักขฏสิกขาบท ว่าด้วยคนตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวร ข้อที่ ๒
ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า ก็ คฤหัสถ์ชายหรือคฤหัสถ์หญิงผู้ไม่ใช่ญาติ ๒ คน ตระเตรียมทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืน เจาะจงภิกษุว่า “พวกเราจะซื้อจีวรคนละผืนด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้แล้วนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืน”
ถ้า ภิกษุนั้นซึ่งพวกเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปกำหนดชนิดจีวรในที่ที่เขาเตรียมจีวรไว้ เพราะต้องการจีวรดีว่า “ดีละ ท่านทั้งสองจงรวมกันซื้อจีวรเช่นนั้นเช่นนี้ ด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรคนละผืนนี้ แล้วนิมนต์อาตมาให้ครองเถิด” ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๓๓/๕๘.)
หมายเหตุ :
อาบัติในข้อนี้ก็ไม่แตกต่างไปจากข้อที่ ๘ ที่ว่ามาแล้ว มันเป็นการเสียมารยาทที่พระยังไม่ทราบเจตนาในการปวารณาของโยมแค่ได้ข่าวแว่วๆมาก็ออกจากวัดไปหาโยมไปสั่งโยมแล้ว แบบนี้ก็เป็นการเสียมารยาทท่านเลยปรับอาบัติ แม้จีวรที่ได้มาก็ยังใช้ไม่ได้จะต้องสละให้แก่สงฆ์หรือบุคคลก่อน
(๑๐) ราชสิกขาบท ว่าด้วยทรัพย์เป็นค่าจีวรที่พระราชาเป็นต้นให้ทูตนำมาถวาย
ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า ก็ พระราชา ราชอมาตย์ พราหมณ์หรือคหบดีผู้ใดผู้หนึ่งส่งทูตมาถวายทรัพย์เป็นค่าจีวรเจาะจงภิกษุพร้อมกับสั่งว่า “ท่านจงเอาทรัพย์เป็นค่าจีวร นี้ซื้อจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร”
ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมนำทรัพย์เป็นค่าจีวรนี้มาเจาะจงพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจงรับทรัพย์เป็นค่าจีวรเถิด” ภิกษุนั้นพึงกล่าวกับทูตนั้นอย่างนี้ว่า “พวกอาตมารับทรัพย์เป็นค่าจีวรไม่ได้ รับเฉพาะจีวรที่สมควรตามกาล” ถ้าทูตนั้นพึงกล่าวกับภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
“ก็มีใครผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านบ้างไหม” ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกรว่า “ผู้นี้เป็น ไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย” ถ้าทูตตกลงกับไวยาวัจกรแล้วเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าตกลงกับคนที่ท่านแนะนำว่าเป็นไวยาวัจกรแล้ว ท่านจงไปหาในเวลาอันสมควร เขาจะนิมนต์ท่านให้ครองจีวร”
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุต้องการจีวรพึงเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้วทวงหรือเตือน ๒-๓ ครั้งว่า “อาตมาต้องการจีวร” เมื่อทวงหรือเตือน ๒-๓ ครั้ง ให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ นั่นเป็น การดี ถ้าไม่สำเร็จ พึงไปยืนแสดงตนนิ่ง ๆ ถึง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง หรือ ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เมื่อยืนแสดงตนนิ่ง ๆ ถึง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง หรือ ๖ ครั้งเป็นอย่างมากแล้วให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ นั่นเป็นการดี
ถ้าพยายามเกินกว่านั้น ให้เขาจัดจีวรสำเร็จได้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถ้าไม่สำเร็จ พึงไปเองหรือส่งทูตไปในสำนักที่เขาส่งทรัพย์เป็นค่าจีวรมา กล่าวว่า “ทรัพย์เป็นค่าจีวรที่ท่านส่งไปเจาะจงภิกษุรูปใดไม่ได้อำนวยประโยชน์อะไรแก่ภิกษุรูปนั้นเลย ท่านจงทวงทรัพย์ของท่านคืนมา ทรัพย์ของท่านอย่าเสียหายเลย” นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๓๘/๖๕-๖๖.)
@ หมายเหตุ :
สำหรับอาบัติข้อนี้มีความจริงที่สำคัญก็คือ
(๑) ธรรมเนียมเรื่องพระไม่รับปัจจัย คือพระภิกษุเมื่อเวลาที่มีญาติโยมมาปวารณาถวายเงินค่าจีวรก็จะตอบชัดเจนว่า “พระรับปัจจัยไม่ได้นะโยม”
(๒)ธรรมเนียมเรื่องพระจัดหาไวยาวัจกร คือเมื่อญาติโยมแสดงเจตนาว่าจะถวายและเขาถามว่ามีใครเป็นไวยาวัจกรของท่านทั้งหลายไหมครับ พระภิกษุก็สามารถหาชาวบ้านมาเป็นไวยาวัจกรในการรับเงินได้ อันนี้เป็นธรรมเนียมที่ชัดเจนมากที่สุดครับ คือ การมีไวยาวัจกรนั้นไม่ได้หมายความว่ามีเป็นการส่วนตัวแต่มีเพื่อพระทั้งวัด
(๓) ข้อขัดแย้งกับไวยาวัจกร ความจริงที่เจ็บปวดเรื่องนี้ก็คือ เมื่อพระตั้งไวยาวัจกรเสร็จแล้วเกิดไวยาวัจกรเบี้ยวไม่ทำหน้าที่ก็มีครับ ซึ่งอาจจะเห็นแก่เงินหรือมีธุระปะปังมากก็เลยไม่ทำหน้าที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับพระ ซึ่งเมื่อมีความขัดแย้งพระพุทธองค์ไม่ให้ไปด่าว่าหรือโวยวายกับไวยาวัจกรนะครับเพราะจะอาบัติเพราะการด่าอีก ดังนั้น การมีเรื่องกับไวยาวัจกรของพระย่อมเป็นเรื่องปกติ
(๔) วิธีแก้ไขความขัดแย้งกับไวยาวัจกร เมื่อมีเหตุที่ไวยาวัจกรมีปัญหาพระพุทธองค์ให้ไปทวงครับคือไปถามถามไม่ได้ผลให้ไปยืนให้เห็นไปยืนให้เห็นไม่เป็นผลก็โทรศัพท์หาเจ้าของเงินให้มาเอาเงินคืนไปเพราะทรัพย์นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเอามาเป็นค่าจีวร นี่ไง คือมาตรการในการเอาคืนไวยาวัจกรหัวใสในสมัยพุทธกาลล่ะ
๒. โกสิยวรรค ในวรรคนี้มีอาบัติที่เกี่ยวข้องกับเงินทองอยู่ ๓ ข้อคือ ๘-๙-๑๐ คือ
(๘) รูปิยสิกขาบท ว่าด้วยการรับรูปิยะ
ดังปรากฏในพระบัญญัติ ว่า ก็ ภิกษุใดรับหรือใช้ให้ผู้อื่นรับทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๘๓/๑๐๘.)
หมายเหตุ :
อันนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องพระกับเงินที่เรามาเถียงๆกันอยู่นี่ว่าพระรับเงินได้หรือไม่ได้ ซึ่งอาบัติหรือข้อห้ามข้อนี้เข้าได้กับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสมาตลอดว่า เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน ไม่ว่ากรณีใด ๆ”(วิ.ม.(ไทย)๕/๒๙๙/๑๒๙.)
คือทรงเน้นย้ำว่าพระสงฆ์กับเงินนั้นโดยภาพรวมอาจจะเป็นเรื่องที่ญาติโยมสามารถถวายเงินวัดหรือสร้างวัดด้วยเงินทองหรือทำบุญให้วัดได้ แต่ก็ไม่ได้ให้พระนั้นรับเงินหรือรูปิยะได้
(๙) รูปิยสังโวหารสิกขาบท ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนรูปิยะ
ดังปรากฏในพระบัญญัติ ว่า ก็ภิกษุใดทำการแลกเปลี่ยนกันด้วยรูปิยะชนิดต่าง ๆ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ที่ชื่อว่า รูปิยะ ได้แก่ วัตถุที่มีสีดุจพระฉวีของพระศาสดา กหาปณะ มาสก ที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับ แลกเปลี่ยนซื้อขายกัน(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๘๘/๑๑๓.)
หมายเหตุ :
ในเรื่องนี้นอกจากการที่ทรงห้าไม่ให้รับรูปิยะแล้วยังไม่อนุญาตให้แลกเปลี่ยนด้วยรูปิยะอีก สาเหตุของการไม่อนุญาตเรื่องนี้เพราะการแลกเปลี่ยนรูปิยะเป็นการกระทำที่เหมือนชาวบ้านไม่เหมาะสมกับสมณสารูป อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆครับ
(๑๐) กยวิกกยสิกขาบท ว่าด้วยการซื้อขาย
ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า ก็ ภิกษุใดทำการซื้อขายมีประการต่าง ๆ ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (วิ.ม.(ไทย)๒/๕๙๔/๑๑๘.)
หมายเหตุ : สำหรับเรื่องอาบัติในข้อนี้เป็นการเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนและการทำการซื้อขายแบบชาวบ้าน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงห้ามไว้เนื่องจากว่าการซื้อขายเป็นกิริยาอาการที่ไม่แตกต่างไปจากอาการหรือพฤติกรรมของชาวบ้าน ดังนั้น พระพุทธองค์จึงห้าม ในเรื่องของการซื้อขายเอาไว้
@ เงินกับพระสงฆ์ในอาบัติปาจิตตีย์
คำว่าปาจิตตีย์แปลว่า ทำให้ตกล่วง คือทำกุศลจิตให้ตกล่วงไป ปาจิตตีย์เป็นอาบัติลหุโทษที่พระล่วงละเมิดแล้วสามารถที่จะแสดงคืนได้ไม่ถือว่าหนักหนาสาหัสอะไร โดยในอาบัติข้อนี้มีสิกขาบทที่เกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทองดังต่อไปนี้
ปรากฏในรตนวรรค สิกขาบทที่ (๒) รตนสิกขาบท ว่าด้วยการเก็บรัตนะที่เจ้าของลืมไว้ โดยสิกขาบทนี้มีอยู่ ๓ วรรค คือ
วรรคที่ ๑ ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า ก็ภิกษุใด เก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (วิ.ม.(ไทย)๒/๕๐๒/๕๙๓.)
ซึ่งคำว่าเก็บนี้ หมายถึง เก็บรตนะที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีเจ้าของท่านไม่ให้เก็บเพราะอาจจะก่อให้เกิดเป็นคดีความได้ เนื่องจากปฐมเหตุของเรื่องนี้เกิดมาจากการที่พระไปเก็บห่อรัตนะแล้วเอาไปส่งคืนเจ้าของ แต่เจ้าของไม่อยากเสียค่าเก็บได้ก็เลยบอกว่าเงินที่ในห่อนี้มีมากกว่าที่พระเก็บมาให้จนกลายเป็นเรื่องเพื่อป้องกันเหตุนั้นก็เลยต้องห้ามไว้
วรรคที่ ๒ ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า อนึ่ง ภิกษุใดเก็บ หรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในอาราม(วิ.ม.(ไทย)๒/๕๐๓/๕๙๔.)
วรรคที่ ๓ ดังปรากฏในพระบัญญัติว่า อนึ่ง ภิกษุใดเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในอารามหรือในที่พัก อนึ่ง ภิกษุพึงเก็บหรือใช้ให้เก็บรัตนะหรือของที่สมมติว่าเป็นรัตนะในอารามหรือในที่พักแล้วรักษาไว้ด้วยตั้งใจว่า เจ้าของจะรับคืนไป นี้เป็นการทำที่สมควรในเรื่องนั้น (วิ.ม.(ไทย)๒/๕๐๕/๕๙๖.)
ในวรรคที่ ๒-๓ เป็นข้ออนุโลมว่าถ้าเก็บไว้ให้เจ้าของในวัดไม่เป็นอาบัติ เพราะการเก็บไว้ในวัดนั้นสามารถเอามาคืนเจ้าของได้ตามจำนวนเพราะมีพระรูปอื่นๆเป็นพยานด้วย
@ เอาล่ะ เนื้อหามันจะออกจะเยอะมากเกินไป ผมว่าเอาแค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวครั้งต่อไปผมจะมาวิเคราะห์รายละเอียดเรื่องเงินว่าที่สุดแล้วเงินที่ปรากฏในสิกขาบทที่ว่ามาทั้งหมดนั้นให้คำตอบอะไรกับเราชาวพุทธได้
และหวังว่าท่านที่ยังคาอกคาใจอยู่ก็ยังพอที่จะเบาใจได้นะครับว่าผมไม่ได้มุ่งหวังที่จะกีดกันไม่ให้พระรับเงินรับทองแต่ผมว่าไว้ตามแนวทางพระวินัยส่วนใครจะตัดสินอย่างไรเห็นอย่างไรเป็นความคิดใครความคิดมันครับผมไม่ก้าวล่วง เอวัง
ขอบคุณมากครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น