วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ปัญหาเรื่องพระกับเงิน พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๘ หลักมหาปเทส ๔ : หลักการพิจารณาเรื่องพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ ?
วันที่ 26 มิ.ย.61 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า ปัญหาเรื่องพระกับเงิน พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๘ หลักมหาปเทส ๔ : หลักการพิจารณาเรื่องพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ ?
@ การเขียนบทความผ่านเฟสบุ๊คผมนั้น โดยเฉพาะเรื่องเงินกับพระผมเองตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องมหาปเทส ๔ เป็นเรื่องแรก คือเขียนเรื่องนี้เพื่อตอบโจทย์เรื่องเงินกับพระไปเลยจะได้ไม่ต้องคิดมากยืดยาดยาวนาน แต่มาคิดอีกทีพอเขียนๆไปแล้ว
อืม หลายเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าชาวบ้านก็ยังไม่รู้เรื่องกัน หากจะเขียนยาวๆเป็นธรรมทานแก่พระศาสนาหรือแก่ชาวพุทธทั่วๆไปก็น่าจะเป็นเรื่องดี ดังนั้น ผมจึงเขียนแบบร่ายยาวเป็นมหากาพย์มาเรื่อยๆเพราะเห็นว่าเอาล่ะลงมือจะเขียนแล้วก็เขียนให้สุดๆไปเลยดีกว่าไหม
เพราะจะได้ไม่ต้องมามีปัญหาตอบส่วนที่คนเขาไม่รู้อีก ซึ่งการเขียนยาวๆของผมก็ไม่ใช่ว่าสูญเปล่าเพราะมีนานานุแฟนก็ติดตามตอบรับและอ่านเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ
ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีที่บทความผมนั้นยังความสนใจในเรื่องของพระพุทธศาสนาให้เกิดกับชาวพุทธได้ ซึ่งเดิมทีผมเองไม่ได้คิดไว้เช่นนั้น เพียงแต่เขียนตามที่สามารถรวบรวมหลักฐานและออกความคิดเห็นได้
@ อนึ่ง ขอตอบนานานุแฟนคลับว่า สาเหตุที่ผมไม่ไลฟ์สดเพราะผมว่า ไลฟ์สดมันไม่มีการอ้างอิงและอารมณ์ผมเวลาพูดผ่านไลฟ์สดนั้นไม่ค่อยนิ่งคืออาจจะมีหลุดเรื่องที่ไม่ควรพูดได้
ดังนั้น ผมจึงของอนุญาตเขียนเป็นตัวหนังสือดีกว่ามันหนักแน่นดี และสามารถโต้ตอบได้แบบมีสติ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “คฤหัสถ์พยศ” ก็ยอมครับ เอาล่ะเรามาว่าเรื่องของหลักคำสอนเรื่องมหาปเทส ๔ ที่ได้เกริ่นเอาไว้ดีกว่า
(๑) ความหมายของ “มหาปเทส ๔”
สำหรับคำว่า มหาปเทส ๔ มาจาก มหนฺต +อปเทส กิรยาอาขยาตท่านใช้ อปทิสติ ถ้าเป็นนามกิตต์ท่านใช้ อปเทส,อปทิสนํ (รังสี สุทนต์:๒๕๕๐: ๔๔๙. ) หมายถึง ที่อ้างอิงข้อใหญ่, หลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียงเคียง (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ๒๕๔๖ : ๓๐๔)
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกำหนดขึ้นมาเพื่อที่จะให้เป็นเกณฑ์หรือมาตรการในการตัดสินว่าสิ่งใดเป็นพระธรรมหรือเป็นพระวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอนหรือแม้นว่าไม่ใช่สิ่งพระองค์ทรงสั่งสอนแต่เข้าได้กับสิ่งที่ทรงสั่งสอนสิ่งนั้นก็ถือว่าเข้าได้หรือเป็นสิ่งที่สามารถที่จะอนุโลมเข้าในหลักธรรมของพระองค์หรือหลักการที่เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติหรือกฎสากลที่พระองค์ทรงบรรลุ
เป็นสิ่งที่พระสงฆ์สาวกในรุ่นหลังสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้ โดยการที่ทรงได้วางกฏเกณฑ์หรือมาตรการนี้ไว้ก็เพราะว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไปคติค่านิยมรวมถึงวิทยาการโลกยุคใหม่ก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในอนาคตสิ่งที่มีในยุคนี้อาจจะไม่มีในยุคอนาคตนั้นก็ได้ หรือสิ่งที่ทรงอนุญาตในยุคพุทธกาลอาจจะไม่รวมความถึงสิ่งที่มีอยู่ในยุคนี้ก็ได้
แต่สิ่งที่ปรากฏในยุคนี้อาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่สามารถจัดเข้ากับสิ่งที่เคยอนุญาตไว้ในยุคพุทธกาลก็ได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสแสดงเรื่องมหาปเทส ๔ นี้ไว้เพื่อเป็นกรอบให้ “สงฆ์”นำไปใช้พิจารณาถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ในพื้นที่ใหม่ และเวลาใหม่”นั้นว่าเข้าได้หรือไม่ได้กับสิ่งที่ทรงตรัสแสดงไว้ บอกไว้ในยุคพุทธกาลหรือไม่
กล่าวคือ ในสมัยที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่นั้นสิ่งแวดล้อมค่านิยมความเหมาะสมที่พระภิกษุจะสามารถที่จะปฏิบัติได้นั้นก็เหมาะจำเพาะในกาลหรือยุคสมัยนั้นเท่านั้น เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมหรือสถานที่เปลี่ยนไปสิ่งที่เหมาะสมหรือเข้าได้กับบางสถานที่บางกาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
เมื่อถึงเวลานั้นหากจะมีการซักถามว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่คำสอน หรือเป็นสิ่งที่เข้าได้หรือไม่กับสิ่งที่ทรงบัญญัติก็จำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์บางอย่างเพื่อไว้สำหรับตอบปัญหาเหล่านั้นและเกณฑ์นั้น ก็คือ หลักมหาปเทส ๔ นั่นเอง
(๒) ประเภทของมหาปเทส ๔
สำหรับแนวคิดเรื่องมหาปเทส ๔ นี้ถือว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญมากสำหรับพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์โยทั่วๆไปที่สามารถจะนำเอาหลักมหาปเทส ๔ นี้ไปใช้เพื่อให้เอื้อแก่พระธรรมและพระวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงจัดแบ่งหลักมหาปเทส ๔ ไว้เป็น ๒ หมวด คือ
(ก) หมวดว่าด้วยหลักทั่วไป
ถือได้ว่าเป็นเกณฑ์ทั่วไปที่สามารถนำมาพิจารณาเรื่องทั่วๆไปที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อการตัดสินความเกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัย หรือการยกข้ออ้างหรือหลักฐาน ซึ่งในหมวดนี้แบ่งออกได้เป็น ๔ ประการคือ
๑. พุทธาปเทส หมายถึง เมื่อมีข้อกังขาหรือข้อถกเถียงเรื่องพระธรรมวินัยก็จะมีผู้นำเอาหรือยกเอาพระพุทธเจ้าขึ้นอ้างว่าสิ่งที่ทำนั้นตนได้ยินได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์
ในอรรถกถาอธิบายว่า พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี หมายถึงการเรียนที่สามารถรู้ว่า ตรงนี้แสดงบาลีไว้ ตรงนี้แสดงอรรถาธิบายไว้ ตรงนี้แสดงอนุสนธิไว้ ตรงนี้แสดงเบื้องต้นและเบื้องปลายไว้ (องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) ๒/๑๘๐/๔๐๒.)
๒. สังฆาปเทส หมายถึงในอนาคตหรือในสมัยใดสมัยหนึ่งเมื่อพ้นสมัยพุทธกาลมาแล้วมีการปฏิบัติบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยและเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นผิดหรือไม่ผิดพระธรรมวินัย ก็มีผู้ยกเอาพระสงฆ์ขึ้นอ้างว่าสิ่งที่ทำนั้นสงฆ์มีมติว่าสามารถทำได้
๓. สัมพหุลัตเถราปเทส หมายถึง อนาคตหรือในสมัยใดสมัยหนึ่งเมื่อพ้นสมัยพุทธกาลมาแล้วมีการปฏิบัติบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยและเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นผิดหรือไม่ผิดพระธรรมวินัย ก็มีผู้ยกเอายกเอาวาทะหรือจริยาวัตรของพระเถระจำนวนมากขึ้นอ้างว่าพระเถระทั้งหลายก็ทำอย่างนี้
๔. เอกเถราปเทส หมายถึง อนาคตหรือในสมัยใดสมัยหนึ่งเมื่อพ้นสมัยพุทธกาลมาแล้วมีการปฏิบัติบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยและเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นผิดหรือไม่ผิดพระธรรมวินัย ก็มีผู้ยกเอาพระเถระรูปหนึ่งขึ้นมาอ้างว่าพระเถระรูปนั้นก็สามารถทำได้ไม่ผิด
ในอรรถกถาใช้คำว่า “ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา โดยความหมายของคำเหล่านั้นมีดังนี้
คำว่า คัมภีร์ หมายถึงนิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๒๐/๙๘.)
คำว่า ธรรม หมายถึงพระสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก (องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๒๐/๙๘, องฺ.ติก.ฏีกา (บาลี) ๒/๒๐/๑๑๓.)
คำว่า วินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก (องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๒๐/๙๘.)
คำว่า มาติกา หมายถึง มาติกา ๒ คือ ภิกขุวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ (องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๒๐/๙๘.)
ในข้ออ้างทั้งหมดนั้นพระพุทธองค์ทรงวางเกณฑ์เอาไว้ว่ายังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น แต่ควรเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้วให้เทียบเคียงกับพระสูตรและพระวินัยดูให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจ หากปรากฏว่า
ก. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้นพระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด ควรทิ้งหรือปฏิเสธเสีย
ข. ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ควรสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดีและควรนำไปปฎิบัติได้
(ข) หมวดเฉพาะในทางพระวินัย
หมายถึงเกณฑ์ที่จะนำมาใช้เพื่ออ้างอิงหรือเป็นเกณฑ์ตรวจสอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยว่าสิ่งใดที่เป็นไปตามพระวินัยหรือสิ่งใดที่ขัดแย้งกับพระวินัย ซึ่งเกณฑ์ในหมวดนี้จะว่าเฉพาะเรื่องพระวินัยคือศีลของพระภิกษุ ภิกษุณีเท่านั้น โดยพระพุทธองค์ได้วางกรอบไว้ ๔ ประการ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นอนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
๒. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้นอนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
๓. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้นอนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
๔. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร (วิ.ม. (บาลี) ๕/๓๐๕/๙๐, วิ.ม. (ไทย) ๕/๓๐๕/๑๓๙-๑๔๐.)
หมายเหตุ :
คำว่า สิ่งที่ควร คือ กัปปิยะ หมายถึงสิ่งที่ควรกับพระภิกษุหรือที่พระภิกษุใช้ได้ หรือควรแก่สมณะที่จะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดงเป็นกัปปิยะ (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ๒๕๔๖ : ๑๒)
และคำว่า อกัปปิยะ หมายถึง ไม่ควรหรือสิ่งที่ไม่ควร คือ ไม่สมควรแก่ภิกษุจะบริโภคใช้สอย คือ ต้องห้ามด้วยพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน เช่น เงินทอง เสื้อผ้าชาวบ้าน เป็นต้น (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ๒๕๔๖ : ๔๗๗.)
จะเห็นได้ว่าข้อความหรือพุทธพจน์ดังกล่าวนั้นถือได้เป็นพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์ที่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อพระพุทธศาสนามิได้ดำรงสถาพรอยู่ที่ประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปแล้วพระภิกษุในถิ่นนั้น ๆ
ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสมัยที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้เห็นความสอดคล้องกับพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ได้
หลักฐานการนำเอาหลักมหาปเทส ๔ มาใช้ในยุคศรีลังกา
ซึ่งเหตุการณ์ก็ได้เป็นไปตามที่ทรงคาดการณ์ไว้กล่าวคือในระยะต่อมาราวปี พ.ศ.๗๐๐ ในยุคที่มีการแต่งวรรณกรรมเพื่อมาอธิบายพระธรรมวินัยที่เรียกว่ายุคอรรถกถานั้น
พระอรรถกถาจารย์ก็ได้นำเอาหลักมหาปเทศ ๔ในส่วนของพระวินัยนี้มาอธิบายเพื่อให้เห็นว่าที่ว่าเข้าได้หรือไม่ได้กับพระวินัยตามแนวทางของมหาปเทศ ๔ นั้นเป็นอย่างไร กล่าวคือในข้อที่ ๑ คือกรณีของที่ไม่ได้ห้ามว่าไม่ควรแต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรก็ควรงด
เช่น กรณีการยกเอาตัวอย่างเรื่องของควรเคี้ยวของควรฉันมาพิจารณาว่าอะไรควรหรือไม่ควร ดังตัวอย่าง ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง (วิ.ม.อ. (บาลี) ๑/๑๐๔/๓๖๘)
เป็นสิ่งที่ทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวันใหม่ ส่วนมหาผล ๙ อย่าง คือ ตาล มะพร้าว ผลขนุน ขนุนสำปะลอ บวบ ฟักเขียว แตงกวา แตงโม ฟักทอง รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไว้ แต่อนุโลมเข้ากับธัญชาติ ๗ อย่าง
เพราะฉะนั้น จึงทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวัน ใหม่เช่นกัน เข้ากับหลักมหาประเทศข้อ ๑ และข้อ ๒. ส่วนข้อที่ ๒ กรณีที่ไม่ทรงห้ามว่าไม่ควรแต่เข้าได้ไม่ขัดกับสิ่งที่ควรก็ควรอนุโลมตามข้อที่บัญญัติได้ เช่น พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม ๘ ชนิด)
ส่วนน้ำดื่มที่นับเนื่องในน้ำอัฏฐบาน ๘ ชนิดนั้น เช่น น้ำหวาย น้ำผลมะงั่ว น้ำต้นเล็บเหยี่ยว และน้ำผลไม้เล็กเป็นต้น แม้จะไม่ได้ทรงอนุญาตไว้แต่อนุโลมเข้ากับน้ำอัฏฐบาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันอนุญาตด้วย (วิ.ม.อ. (บาลี) ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙.)
จะเห็นได้ว่ากรณีที่พระอรรถกถาจารย์ได้นำหลักมหาปเทศมาพิจารณาและตีความดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ที่ทรงมุ่งหวังให้ภิกษุในภายหลังได้นำมาเทียบหรืออ้าง
ซึ่งถือได้ว่าหลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่ประกอบไปด้วยเหตุและผล ซึ่งหากเมื่อมีเรื่องที่ควรสงสัยหรือเหตุเป็นที่นำมาซึ่งความสงสัยเกี่ยวข้องกับพระวินัยนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงกำหนดเกณฑ์หรือข้ออ้างดังกล่าวไว้และปรากฏมีการนำเอาข้ออ้างหรือหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้แล้วในยุคของพระอรรถกถาจารย์
@ มหาปเทส ๔ กับสังคมไทย
สำหรับสังคมไทย ถามว่ามีการนำหลักมหาปเทส ๔ มาปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดทางออกหรือการแก้ไขปัญหาดังที่ศรีลังกานำมาใช้บ้างหรือไม่ ? ผมว่าหากพิจารณาว่า การใช้หลักมหาปเทส ๔ นั้นเป็นการใช้โดยสงฆ์คือใช้โดยการที่สงฆ์ทั้งหมดมามีมติร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้เป็นมติของสงฆ์นั้นผมว่าเท่าที่ทราบยังไม่มีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ไทย
เป็นแต่เพียงการอ้างแบบอัตโนมัติ คืออ้างหลักมหาปเทส ๔ ตามความเข้าใจของบุคคลหรือของตนเอง เช่น บอกว่า กาแฟเป็นยาวกาลิกฉันได้ไม่อาบัติ หรือลูกอมกาแฟ พระฉันได้ไม่อาบัติหรือโอวันติล นมข้นหวาน ฯลฯ พระฉันได้ไม่อาบัติ
แต่ยังไม่มีปรากฏในเรื่องของคณะสงฆ์ทั้งหมดนำเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆแบบนี้ไปพิจารณาและออกเป็นมติให้สงฆ์ทั้งประเทศนำไปใช้ได้เลย หรือ ตัวอย่างการสะพายกล้องไปเที่ยว การถ่านภาพ หรือการรับเงินรับทองอะไรทำนองนี้
ก็ยังไม่มีการนำเอาหลักมหาปเทส ๔ ไปจับคือไปพิจารณาแล้วออกเป็นมติเหมือนกับที่คณะสงฆ์อนุราธปุระ หรือศรีลังกานำไปใช้เมื่อ พ.ศ.๗๐๐ กว่าๆ ผมว่า (๑) หลักการของสงฆ์มีอยู่ (๒) วิธีการที่สงฆ์จะใช้เพื่อนำหลักการเหล่านั้นไปใช้ก็มีอยู่ แต่ (๓) มันขึ้นอยู่กับว่าสงฆ์บ้านเราที่ผ่านๆมาจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ไหม
หรือสงฆ์ในสังคมบ้านเราคิดที่จะนำเอาหลักการที่มีอยู่และวิธีการที่มีอยู่นั้นมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่เท่านั้นเอง แต่ถ้าถามผมว่าที่ผ่านมาในสังคมสงฆ์ไทยบ้านเราเคยมีการนำเอา “เรื่องใหม่ หรือสิ่งใหม่”ที่เกิดขึ้นในบ้านเราที่อยู่นอกกรอบกับสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
เช่น เรื่องเครื่องดื่ม เรื่องผ้า เรื่องเงิน เรื่องทอง ทรัพย์มรดก หรือเรื่องญาติพี่น้อง อะไรทำนองนี้ที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยนั้นมาประชุมและหารือเพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริงที่เป็นทางออกของปัญหาแล้วทำเป็นมติแจ้งให้สงฆ์ไทยทรายโดยทั่วกันหรือไม่นั้น ผมว่าเรื่องแบบนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน
และดูเหมือนว่าเรื่องแบบที่ผมว่านี้ที่ผ่านมาผู้บริหารคณะสงฆ์มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นปัญหาด้วยซ้ำไปเพราะโดยมากสงฆ์บ้านเราจะยึดจารีตประเพณีที่เคยทำต่อๆกันมามากกว่า การที่จะนำเอาเรื่องหยุมหยิมแบบนี้มาเป็นภาระงานของตนเอง ในความคิดของผมนะครับถูกผิดค่อยว่ากันหากไม่เป็นไปตามนี้ก็แย้งได้ผมพร้อมรับฟังครับ
ขอบคุณครับ
Naga King
26 06 2018
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น