วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โรงพยาบาลบริหารขาดทุน ทำไมวัดเป็นฝ่ายผิด!!!



จากกรณีที่มีกระแสวิจารย์ทางสื่อออนไลน์โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างวัดโดยมองระบุวัดรวยแต่โรงพยาบาลขาดทุนนั้น ผศ ดร นเรศ สุรสิทธิ์ ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Nares Surasith" ความว่า   

โรงพยาบาลบริหารขาดทุน ทำไมวัดเป็นคนผิด!!!


ในยุคโลกไร้พรมแดน ยุคศีลธรรมต่ำติดดิน ยุคมือใครยาวสาวได้สาวเอา เราจะเห็นการเปรียบเทียบสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อกันแทบจะสิ้นเชิง ถูกนำมาเปรียบเทียบกันโดยพวกปัญญาต่ำกว่าบัวใต้ซีเมนท์ เพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดกับองค์กรที่ตนเกลียดชัง หรือหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

จากภาพที่นำเสนอนี้ ถ้าผู้อ่านมีสติปัญญาน้อยนิดก็ยังจะสามารถวิเคราะห์ได้ทันทีว่า เอ้าโรงพยาบาลบริหารขาดทุนแล้วมันเกี่ยวอะไรกับวัดที่มีรายได้หละ!!! แค่นี้ก็จบครับ แต่ในโลกแห่งการแพร่กระจายข่าวสารเพื่อเอามันส์ส์ส์ โดยการ share ต่อๆ กันไป เลยทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร (วัด) ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย มันก็แปลกดี แปลกตรงที่มีคนพร้อมจะเชื่อด้วยนะสิ จึงเกิดคำถามว่า สังคมไทยเราแย่ขนาดนี้เชียวหรือ!!!

ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า การเปรียบเทียบนี้ไม่มีสาระเลย เป็นเพียงพวกโรคจิตที่จ้องทำลาย วัดวาอารามเท่านั้น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเป็นห่วงชาวพุทธที่ไม่ลึกซึ้งในคำสอน ขาดการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นกระผมจึงขอให้ข้อมูลอีกแง่หนึ่งเพื่ออธิบายว่าการเปรียบเทียบแบบนี้เป็นการเปรียบเทียบปัญญาอ่อน โดยจะแบ่งเป็นประเด็นๆ ดังนี้

1. การก่อสร้างวัดและโรงพยาบาล
ประเด็นแรกมาว่าด้วยการก่อสร้างก่อนนะครับ เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดโดยเริ่มจาก

1.1 การก่อสร้างวัด แทบทุกแห่งมาจากศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในหมู่บ้าน ในชุมชนส่วนมากไม่ใช่คนรวย (ไม่ได้มาจากงบประมาณของรัฐ ที่มาจากภาษีประชาชนทั้งประเทศนะครับ) ที่มองว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องช่วยกันเจียดเงินมาสร้างวัด ให้เป็นที่อบรม สั่งสอนลูกหลานของพวกเขาในชุมชน ให้เป็นคนดี มีสติปัญญา รวมถึงสร้างวัดไว้เพื่อเป็นที่ทำบุญสุนทาน ให้ลูกหลานได้บวชเรียนเขียนอ่าน เป็นต้น
ถ้าใครเคยมีส่วนร่วมกับการสร้างวัดก็จะเห็นว่าต้องใช้เวลาอย่างยาวนานทีเดียว ยกเว้นวัดใดมีพระคุณเจ้ามีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั่วไป ก็จะมีแรงศรัทธาเข้ามาเยอะ ทำให้การก่อสร้างภายในวัดเสร็จได้เร็ว นั่นก็ถือเป็นข้อยกเว้น 
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว วัดก็เป็นของชาวบ้าน (ไม่ใช่ของพระรูปใดรูปหนึ่งนะ) ใครบวชก็ได้พักอาศัย ใครอยากทำบุญก็ไปใช้สถานที่ได้ตลอดทั้งปี ทั้งชาติ ถือว่าเป็นเจ้าของกันทุกคน โดยมีพระเป็นผู้ดูแล ให้คงสภาพตามศรัทธา

วัตถุประสงค์ของการสร้างวัด ก็อย่างที่รู้คือเพื่อเป็นสถานที่ทำบุญร่วมกันของชุมชน เป็นสถานที่เพาะบ่มความดีความงามให้คนในสังคม เป็นที่พักของพระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท สืบทอด เผยแผ่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นคนที่เข้าวัด จึงเข้าไปเพื่อทำบุญ หรือเอาบุญ ส่วนพระก็มีหน้าที่รักษาโรคทางใจโดยใช้ธรรมโอสถเยียวยาจิตใจของประชาชนนั่นเอง ส่วนประชาชนเมื่อเข้าไปแล้ว จะบริจาคหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะไม่มีกฎบังคับให้บริจาคเท่านั้น เท่านี้ แต่ประการใด ขึ้นอยู่กับความพอใจ นั่นเอง

1.2 ส่วนการก่อสร้างโรงพยาบาล แทบทุกแห่งในประเทศไทย จะมีงบประมาณมาจากสองส่วนคือภาครัฐ (มากที่สุด) ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ นั่นก็แสดงว่าใครก็ตามที่เสียภาษีในแต่ละปี ก็ย่อมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเหมือนๆ กัน 
อีกส่วนหนึ่งของเงินที่นำมาสร้างโรงพยาบาลก็มาจากเอกชน (individual) ที่มีศรัทธามาสร้างโดยเฉพาะเอกชน ที่เป็นพระสงฆ์ครับ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยสร้างโรงพยาบาล หรือตึกพยาบาลเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากสถิติ (เฉพาะบางส่วนเท่านั้น ไม่ถึง 10% นะ) ว่า พระร่วมสร้างโรงพยาบาลมากมายขนาดไหน (ข้อมูลจาก facebook) ดังนี้

1.2.1 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
- โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- โรงพยาบาลญาณสังวร เชียงราย
- โรงพยาบาลญาณสังวร ชลบุรี
- ตึก100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี
- อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สภากาชาดไทย
- วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
- อาคารสมเด็จพระญาณสังวร โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 (เจริญ สุวฑฺฒโน) จังหวัดกาญจนบุรี

1.2.2 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

- เป็นเจ้าภาพสร้างอาคารโรงพยาบาลบางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จำนวน 34,500,000 บาท
- ช่วยบริจาคแก่โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ จัดซื้อเครื่องกรอนิ่ว 2 เครื่อง จำนวน 1,320,000 บาท, จัดซื้อเครื่องอุลต้าซาวน์ 1 เครื่อง จำนวน 1,700,000 บาท, จัดซื้อเครื่องตัดเจาะเนื้อเยื่อ 1 เครื่อง จำนวน 3,500,000 บาท, บริจาคเครื่องอัลตร้าซาวน์ แก่ภาควิชาวิสัญญี และช่วยจัดซื้อเครื่องตรวจหัวใจเด็ก 2,200,000 บาท, จัดซื้อรถยนต์โตโยต้า จำนวน 1,123,900 บาท, ช่วยค่าอุปกรณ์ห้องเด็ก 50,000 บาท, ช่วยสร้างตึกสยามมินทร์ 100,000 บาท
- สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ งานด้านสาธารณูปการ
- สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ บริจาคแก่โรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก

- จัดซื้อรถตู้พยาบาลมอบให้โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คัน เป็นจำนวนเงิน 950,000 บาท, บริจาครถตู้ จำนวน 1 คัน ให้แก่โรงพยาบาลอ่างทอง, จัดซื้อรถพยาบาล 1 คัน มอบให้โรงพยาบาลสิเกา จ.ตรัง จำนวน 950,000 บาท, ซื้อเครื่องช่วยหายใจ ให้แก่โรงพยาบาลตรัง อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 900,000 บาท, บริจาครถตู้ฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง จำนวน 1,200,000 บาท, จัดซื้ออุปกรณ์ให้โรงพยาบาลหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 1,000,000 บาท เป็นต้น

1.2.3 พระธรรมมุนี หลวงพ่อแพ เขมังกโร วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี
- พ.ศ. 2538 เป็นประธานในการดำเนินการสร้่างตึกพยาบาล ให้กับโรงพยาบาลสิงห์บุรี เป็นอาคารสูง 9 ชั้น โดยเป็นผู้จัดหาเงินในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 150000000 บาท(หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน)
- พ.ศ. 2539 เป็นประธานในการดำเนินการสร้างตึกพยาบาล ให้กับโรงพยาบาลท่าช้าง เป็นอาคารสูง 2 ชั้น โดยเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเงินในการก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 5000000 บาท(ห้าล้านบาท)

1.2.4 หลวงพ่อคูณ บริสุทฺโธ
- บริจาคสร้างโรงบาลมหาราชนครราชสีมา และอื่นๆ อีกมากมาย

1.2.5 พระราชพิพัฒนโกศล
- บริจาคสร้างโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และอื่นๆ อีกมากมาย

1.2.6 พระพรหมมงคล หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล
- ร่วมสร้างอาคารตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลจอมทอง เชียงใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย

1.2.7 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
- สร้างโรงพยาบาลวัดไร่ขิง และอื่นๆ อีกมากมาย

1.2.8 หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
- โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ที่หลวงตาให้ความช่วยเหลือจัดหาเครื่องมือแพทย์และอื่น ๆ อีกมากมายมาตั้งแต่ปี 2526 ถึงปี 2554 รวมเป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 588,460,833 บาท! 

1.2.9 พระธรรมสิงหบุราจารย์ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม 
- สมทบทุนในการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา 50 ล้าน และอื่นๆ อีกมากมาย

1.2.10 พระอุดมประชานาถ หลวงพ่อเปิ้น วัดบางพระ 
- สร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ้น และอื่นๆ อีกมากมาย
อีกมากมายที่หลวงปู่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ได้สร้างสาธารณูปการอื่นๆอีกมากมาย ที่เกี่ยวกับ โรงพยาบาลหลายร้อยแห่งด้วยกัน เกินกว่าที่จะนำมาลงให้อ่านได้ 
แค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียว ก็ตอบโจทย์การเปรียบเทียบที่มืดบอดได้แล้วว่า สมควรนำมาเปรียบเทียบกันหรือไม่

2. การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการวัดและโรงพยาบาล 

การบำรุงรักษาวัด และถาวรวัตถุภายในวัด โดยหลักๆ แล้วตั้งแต่อดีตมา ตกเป็นภาระของเจ้าอาวาส พระเณรในวัดและชาวบ้าน อาจจะมีในช่วงหลังที่มีกรมศิลปากร เข้ามาเกี่ยวข้อง (จะดีกว่าเดิมหรือแย่กว่าเดิมขอไม่พูดถึง ณ ตรงนี้) และแม้จะไม่มีงบประมาณ ไม่มีผู้บริหารวัดที่จบปริญญาเอก ระดับมันสมองของชาติ แต่หลวงปู่ หลวงตา ก็สามารถบริหารวัด บริหารศรัทธาของญาติโยมได้ จนทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองและมีรายได้เข้าวัด เพื่อมาจ่ายค่าก่อสร้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณรภายในวัดได้ โดยไม่ต้องแบมือของบหลวง (ทุกวันนี้ยิ่งไม่กล้า เดี๋ยวเจอเปรตเอาเงินมายัดใส่มือแล้วขอคืน 80% แถมคุกให้ด้วย ยิ่งแย่ใหญ่เลย) 

คำถามง่ายๆ คือทำไมพระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้มากมายเหมือนหมอ เหมือนแพทย์ ไม่เคยเรียนการบริหารจัดการองค์กรชั้นสูง จึงสามารถทำได้ ญาติโยมยินดีบริจาคให้ท่าน เพื่อสร้างสิ่งต่างๆ ไว้ในพระศาสนา นั่นเป็นเพราะท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่ได้รับเงินมาเพื่อเข้าพกเข้าห่อนั่นเอง ส่วนถ้าพระรูปใดรับเงินมาแล้วเข้าพกเข้าห่อตัวเอง ศรัทธาญาติโยมก็หมดไปเอง ไม่ต้องให้คุณไพบูรณ์ ต้องเดือดร้อนมาปฏิรูปหรอกว่าไหมครับ 

สำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งนั้น มีงบประมาณอยู่แล้ว มากบ้าง น้อยบ้างตามขนาดและความสามารถของโรงพยาบาล เงินที่ได้มาจะมาจากงบประมาณแผ่นดิน ที่เราท่านทั้งหลายร่วมกันจ่ายภาษี นอกจากนั้นก็จะได้มาจากค่ารักษาพยาบาล ที่เราท่านทั้งหลายเมื่อป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาล พร้อมทั้งจ่ายค่ารักษาพยาบาล มากบ้าง น้อยบ้างตามลักษณะโรค นอกจากนั้นรายได้บางส่วนของโรงบาลยังได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในแต่ละปีด้วย ถ้าไปตรวจสอบดูก็จะรู้ว่า จำนวนไม่น้อยทีเดียว (อาจจะมากกว่าวัดส่วนมากในประเทศเราก็เป็นได้) 

ดังนั้นความเจริญหรือความเสื่อมของโรงพบาบาล การได้กำไรหรือการขาดทุนของโรงพยาบาล จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระในวัดไม่ได้มาร่วมบริหารโรงพยาบาลและโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัด นั่นเอง คนที่บริหารโรงพยาบาลเป็นหมอ เป็นแพทย์ที่มีความรู้มากมาย ที่สำคัญมีงบประมาณมากมายในแต่ละปี ดังนั้นถ้าบริหารขาดทุนท่านก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ 

คำถามคือแล้วทำไมโรงพยาบาลจึงยังขาดทุนหละ ถ้าอยากทราบก็ต้องไปถามผู้บริหารโรงพยาบาลครับว่าทำไมขาดทุน แต่ย้ำนะครับว่าการที่โรงพยาบาลขาดทุนนั้น แพทย์ พยาบาลหรือผู้บริหารโรงพยาบาลท่านก็ไม่เคยกล่าวโทษว่าวัดหรือพระสงฆ์เป็นต้นเหตุนะครับ มีพวกไม่หวังดีจับโยงไปเอง

และถ้าอยากทราบว่า ทำไมวัดจึงมีรายได้เพิ่มทุกปี ก็ต้องไปถามวัดเช่นกัน ว่าทั้งๆ ที่หลวงพ่อ หลวงพี่เจ้าอาวาสไม่มีความรู้เรื่องบริหารเลย ทำไมจึงมีรายได้เพิ่ม ทำไมประชาชนจึงมีศรัทธาเพิ่มขึ้นทุกวันจนมีเงินเหลือไปช่วยสร้างตึกของโรงพยาบาลมากมาย หรือทางผู้บริหารโรงพยาบาลอาจจะต้องไปดูงานก็ได้มั้ง แต่ขอยืนยันนะครับว่าการที่วัดมีเงินเพิ่มไม่ได้หมายความว่าไปเบียดเบียนเงินโรงพยาบาลเหมือนกับที่คนจิตตกพยายามเปรียบเทียบนะครับ

3. จุดมุ่งหมายของผู้ที่เข้าวัดและเข้าโรงพยาบาล

ประเด็นนี้จะชัดเจนที่สุด คนที่เข้าวัดก็เพื่อ 3.1 ทำบุญเพื่อเป็นทุนในการดำเนินชีวิตทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตามความเชื่อเรื่องกรรมที่เป็นคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา 3.2 ทำนุบำรุงพระศาสนาในรูปต่างๆ ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลวัดของตน ศาสนาของตน เช่นการสร้างโบสถ์ วิหาร อาคารเรียน เป็นต้น 3.3 เพราะศรัทธาในพระคุณเจ้ารูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะ 3.4 เงินเขาจะบริจาคให้วัดก็ได้หรือให้โรงพยาบาลก็ได้ ถ้าพอใจ

เหล่านี้คือเหตุผลบางส่วนที่ทำให้คนเข้าวัด ทั้งเพื่อปฏิบัติธรรมและบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ตามกำลังศรัทธาให้กับพระสงฆ์เพื่อเป็นการบำรุงวัดวาอารามนั่นเอง 

ส่วนการเข้าโรงบาลนั้นคงตรงข้ามกับการเข้าวัด เพราะคนที่เข้าโรงบาลเกือบ 100% ก็เพราะป่วย สุขภาพร่างกายมีปัญหา จึงต้องไปหาคุณหมอเพื่อให้รักษาให้ ที่สำคัญคือการเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่คาดเดาไม่ได้ล่วงหน้า ไม่เหมือนไปวัดที่คาดได้ทันทีว่าจะบริจาคเท่าไหร่ หรือจะบริจาคหรือไม่ นั่นเอง 

คำถามจึงย้อนกลับมาที่การเปรียบเทียบแบบมืดบอดนี้อีกครั้งว่า แล้วมันเกี่ยวข้องกันอย่างไรจึงนำมาเปรียบเทียบ หรือท่านผู้นำมาเปรียบเทียบมีความมุ่งหวังที่ไม่ดีต่อพระพุทธศาสนา (ความจริงก็รู้ว่าหวังร้ายอยู่แล้ว) ซึ่งชาวพุทธเราต้องคิด และช่วยกันป้องกัน อย่าไปเข้าข้างพวกนี้ แล้วมาซ้ำเติมวัดและพระสงฆ์ ซึ่งจะเป็นการเข้าทางพวกนี้ทันที

4. งบประมาณในการการบริหารวัดและโรงพยาบาล
ข้อนี้ได้อธิบายพอสมควรแล้วครับ แต่อยากเพิ่มเติม เพื่อเป็นการย้ำอีกครั้งว่า 

4.1 โรงพยาบาลมีงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาเป็นทุนในการบริหารเป็นหลัก เช่นการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ การสร้างตึก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลด้วย ส่วนวัดต่างๆ ไม่มีงบประมาณก้อนโตมาเพื่อบริหารวัด ดังนั้นพระที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต้องหางบประมาณเอง เพื่อมาใช้จ่ายการก่อสร้าง การพัฒนา การศึกษาภายในวัด ซึ่งรายได้ส่วนมากก็ได้มาจากศรัทธาญาติโยมทั้งสิ้น ถือว่าเป็นงบบริสุทธิ์ ต้นทุนต่ำกว่าศูนย์ ความจริงแล้วไม่ใช่ทุกวัดหรอกที่มีรายได้ ร้อยละกว่า 90 ของวัดในประเทศไทยอยู่ในฐานะยากจนซะด้วยซ้ำ ต่างจากโรงพยาบาล ที่แต่ละปีมีงบประมาณแน่นอนอยู่แล้ว 

4.2 รายจ่ายของโรงพยาบาล ถ้ากลับมาคิดอาจจะเห็นว่าวัดนั้นพระแทบไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้พระ หรือถ้าปัจจุบันทางรัฐจ่ายเงินเดือนให้กับตำแหน่งเจ้าอาวาส ตำแหน่งพระครูก็คงหลักพัน หรือหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น ไม่กี่คนในวัด ซึ่งที่น่าสนใจคือเมื่อได้เงินมาแล้วก็นำมาใช้ในกิจการของวัดอีกนั่นแหละ 
ซึ่งแตกต่างจาก เงินเดือนของศาสตราจารย์ นายแพทย์ ที่น่าจะหลายแสนบาท และที่สำคัญคือในแต่ละโรงพยาบาลนั้นต้องใช้ทรัพยากรทั้งแพทย์ พยาบาล แม่บ้าน จำนวนมากมายเพื่อดำเนินกิจกรรมของโรงพยาบาล ถ้าเปิดเผยงบส่วนนี้ก็อาจจะเกิน 50% ของงบของแต่ละโรงพยาบาลเลยก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อต้องนำเงินไปจ่ายให้ท่านที่ทำงาน หรือบุคลากร จำนวนมาก งบประมาณมากก็ย่อมเหมือนงบประมาณน้อย เพราะเหลือให้มาพัฒนาไม่มากนัก ส่วนนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของแพทย์ หรือพยาบาลนะครับ เพราะท่านต้องเลี้ยงดูครอบครัวเช่นกัน 

เมื่อหมอ พยาบาลท่านไม่ต้องกังวลใจเรื่องครอบครัว คือมีเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ ท่านก็ทำงานบริการ รักษาคนไข้ได้อย่างสบายใจ ประโยชน์ก็เกิดกับคนทั้งชาติอยู่ดี 

ดังนั้นคนที่นำทั้งสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาเปรียบเทียบกัน จึงไม่น่าจะปรารถนาดีต่อทั้งโรงพยาบาล และพระพุทธศาสนา 

ตามความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราประกอบด้วยทั้งสองส่วนคือ กาย กับจิต ถ้าคนเราป่วยทางจิตหรือทางใจ ก็ต้องไปวัดเพื่อให้หมอคือพระรักษา โดยใช้ธรรมโอสถเป็นยารักษา แต่ถ้าป่วยทางกาย ก็ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อให้คุณหมอรักษา ดังนั้นจึงไม่เป็นการถูกต้องที่จะนำทั้งสองอย่างนี้มาเปรียบเทียบกันแต่ประการใดเพราะเป็นการเปรียบเทียบที่ต่ำที่สุด มีอคติ มืดบอดที่สุด ทำให้วัดที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขาดทุนของโรงพยาบาล กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน ความผิดพลาด ความล้มเหลวการขาดทุนของโรงพยาบาลคนที่ต้องรับผิดชอบก็ต้องเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลนั้นๆ ที่บริหารงานล้มเหลว ส่วนการบริจาคเงินของคนก็แล้วแต่เขาศรัทธา เพราะเงินของเขาแล้วมันเกี่ยวกันตรงไหน!!!! 

ช่วยกันหยุดการใส่ร้ายวัด ใส่ร้ายพระและใส่ร้ายพระพุทธศาสนากันเถิดชาวพุทธ มามีส่วนร่วมในการป้องกันศาสนาของเรากันเถิด
ด้วยความเคารพในพระรัตนตรัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...