วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

คณะสงฆ์อำเภอแหลมสิงห์เมืองจันทบุรีจัดอบรมไวยาวัจกร4.0




วันที่ 25 มิ.ย.2561 พระราชธรรมเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานเปิดอบรมไวยาวัจกร คณะกรรมการวัดและบุคลากรในการทำงานพระพุทธศาสนายุค 4.0 อำเภอแหลมสิงห์ ที่วัดบางสระเก้า  ซึ่งจัดโดยคณะสงฆ์อำเภอแหลมสิงห์

นายสมชาย สุรชาตรี สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เขียนบทความเรื่อง"ไวยาวัจกรเป็นผู้แทนเจ้าอาวาส" ความว่า 


กฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกรให้คำจำกัดความ “ไวยาวัจกร” หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ การแต่งตั้งไวยาวัจกรของวัด (คนเดียว หรือหลายคนแล้วแต่ความเหมาะสม) เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดนั้นปรึกษาสงฆ์ในวัดพิจารณาคัดเลือกคฤหัสถ์ที่มีคุณสมบัติสมควรแก่ฐานะ เช่น เป็นชาย อายุ 25 ปี ขึ้นไป ประพฤติตนเป็นที่น่านับถือ เป็นต้น เมื่อพิจารณาเลือกผู้ใดแล้วก็ให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งคฤหัสถ์ผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร โดยอนุมัติของเจ้าคณะอำเภอ

คฤหัสถ์ผู้ใดได้รับแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรย่อมมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายนิตยภัตประการหนึ่ง และมีหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสืออีกประการหนึ่ง นอกจากนี้ไวยาวัจกรยังเป็น “ตัวแทน” หรือ “ผู้แทน” ของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งยังมีฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และถ้าหากเจ้าพนักงานกระทำความผิดเสียเอง หรือเป็นใจให้มีการทุจริตย่อมต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน

การปฏิบัติหน้าที่ของไวยาวัจกร ต้องมีหนังสือมอบหมายของเจ้าอาวาสเป็นหลักฐาน เพื่อมิให้มีการแอบอ้าง และปฏิเสธความรับผิดชอบต่างๆ อย่างเช่นการจัดการทรัพย์สินของวัด ทั้งนี้เพราะว่าทรัพย์สินของวัดมีมากมายหลายชนิด การจัดการต้องเกี่ยวข้องทั้งทางโลกทางธรรม บางอย่างมีผลประโยชน์ทรัพย์สินเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าอาวาสจะลงมือจัดการเองดูไม่เหมาะสมกับสมณเพศจำต้องมีหนังสือมอบหมายให้ไวยาวัจกรดำเนินการแทน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

กฎกระทรวง นั้นออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 บังคับให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้ลงทะเบียนทรัพย์สินของวัดไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำหน่ายออกจากทะเบียนนั้น โดยระบุเหตุการณ์จำหน่ายไว้ด้วย

พูดถึงเรื่องการจัดทำบัญชีของวัด ยังมีวัดอีกหลายๆ วัดไม่มีการจัดทำบัญชีเอาไว้ บางท่านก็ว่าไม่มีความรู้เรื่องการบัญชีจึงไม่ได้ทำ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งหากวัดใดไม่มีความรู้เรื่องการทำบัญชี สามารถร้องขอเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมาช่วยท่านได้ เจ้าอาวาสวัดไม่อยากจัดทำบัญชีศาสนสมบัติของวัด เกรงว่าจัดทำแล้วจะมีคนนอกมารู้เห็นทรัพย์สินของวัด ถือเป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายมาก ถ้าหากทรัพย์สินของวัดถูกโจรกรรมหรือสูญหาย ย่อมไม่สามารถตรวจสอบ เพราะว่าไม่มีบัญชีแสดงทรัพย์สินเอาไว้ อีกอย่างเมื่อท่านแต่งตั้งไวยาวัจกรแล้วก็ใช้ให้เหมาะสมกับหน้าที่ ไวยาวัจกรบางวัดเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีลูกน้องเก่าที่เก่งบัญชี หรือไวยาวัจกรนั้นมีศักยภาพในการบริหารจัดการเรื่องการทำบัญชีจึงถือว่าง่ายมาก


การประชุมไวยาวัจกรของคณะสงฆ์ เป็นเรื่องสำคัญที่สมควรดำเนินการอย่างน้อยปีละครั้งหรือสองปีครั้ง การประชุมกันบ่อยๆ จะทำให้รู้เท่าทันสถานการณ์ ได้รับทราบกฎระเบียบใหม่ๆ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของไวยาวัจกร เป็นการย้ำหน้าที่ให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ไวยาวัจกรคือบุคลากรของวัดที่เจ้าอาวาสแต่งตั้งเป็นผู้แทนหรือเป็นตัวแทนของวัด แต่มิใช่ว่าไวยาวัจกรมีอำนาจหน้าที่เหนือกว่าเจ้าอาวาส ก็เมื่อเจ้าอาวาสรูปนั้นมรณภาพถือว่าไวยาวัจกรที่เจ้าอาวาสรูปนั้นแต่งตั้งก็พ้นจากตำแหน่งไวยาวัจกรทันที เจ้าอาวาสรูปใหม่อาจจะแต่งตั้งผู้อื่นเป็นไวยาวัจกรก็เป็นได้ ทราบข่าวว่าคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีจะจัดประชุมไวยาวัจกรราวๆต้นปีหน้า จึงเป็นที่ น่ายินดีที่คณะสงฆ์เห็นความสำคัญของไวยาวัจกร พร้อมกับการสนับสนุนเป็นอย่างดี น่าอนุโมทนาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...