วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๓ เงิน ชาวบ้านกับพระศาสนาในพระไตรปิฎก


วันที่ 20 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๓ เงิน ชาวบ้านกับพระศาสนาในพระไตรปิฎก

@ สำหรับตอนที่ ๓ นี้ผมจะมาพูดเรื่องของ “เงินกับพระศาสนา” หมายความว่าจะมาชวนตั้งประเด็นว่าท่านทีของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกได้พูดถึงเงินว่าอย่างไร ซึ่งผมเองไม่ได้พูดเฉพาะในประเด็นของเรื่องเงินในที่ที่พูดกันมาก่อนว่าเป็นอาบัติอย่างไร จับได้หรือไม่ได้

แต่ผมจะพูดถุงภาพรวมของเงินว่าพระไตรปิฎกพูดถึงเงินไง้ว่าอย่างไร เงินมีคุณค่าหรือมีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างไร และทำไมต้องมาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ และถ้ายังไม่ยาวเกินไปนักก็จะบอกว่าเงินกับพระศาสนาหรือพระศาสนาได้มองเห็นว่าเงินมีสาระสำคัญและควรที่พระศาสนาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินอย่างไร ซึ่งผมจะชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันศึกษาเรื่องนี้ดังต่อไปนี้

(๑) ความหมายเรื่องเงิน

สำหรับคำว่า เงินในพระสุตตันตปิฎกนั้นท่านอธิบายไว้ว่า เงิน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ ตรัสเรียกว่า เงิน รวมความว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน และเงินเรียกอีกอย่างว่าทรัพย์ และเงินก็จัดว่าเป็น วัตถุกาม คือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความต้องการหรือความใคร่ หรือวัตถุเป็นที่น่ายินดี เป็นที่น่าใคร่น่ายินดีของคนทั้งหลาย (ขุ.มหา.(ไทย) ๒๙/๒/๑.)

ดังปรากฏในคำว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน”(อง.อฏฐก.(ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๐,ขุ.อ.(ไทย)๒๕/๕๒/๑๘๖)

หรือ เงิน ได้แก่ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง ที่ใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน(วิ.ม.(ไทย) ๒/๕๘๔/๑๐๙.) อนึ่ง คำว่าเงินนี้มีคำไวพจน์คือคำที่นำมาใช้แทนเงินได้ในหลายๆคำ ได้แก่ คำว่า ทรัพย์ หมายถึงเงินทองเรือกสวนไร่นาทั้งหลายที่เป็นที่หวงแหนของมนุษย์เราทรัพย์จึงหมายถึงเงินด้วย(วิ.ม.(ไทย) ๒/๕๓๙/๖๖.)

นอกจากนั้นก็มีคำว่า รูปิยะ แปลว่า เงินตรา (พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมศัพท์พุทธศาสน์,หน้า ๓๔๙.) หรือเงิน ทอง ที่ทำเป็นรูปพรรณมีมูลค่าใช้ในซื้อ/แลกเปลี่ยนสิ่งของได้ หรือใช้คำว่ารัตนะก็แปลว่าเงินได้เช่นเดียวกัน (https://www.facebook.com/banjob.bannaruji/posts/1739262166189057)

ซึ่งรูปิยะนี้มีมาตราวัดในสมัยพุทธกาลคือ ๑ มาสก เท่ากับหนึ่งบาท ๔ บาทเท่ากับหนึ่งกหาปณะ(พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมศัพท์พุทธศาสน์,หน้า ๓๑๕.)

กล่าวโดยสรุปก็คือ คำว่าเงิน หมายถึง วัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์นั้นมีความต้องการตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุดและเรื่องเงินนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่องที่เป็นความต้องการของมนุษย์ ดังคำว่า มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาทราม ไม่เห็นอริยธรรมกล่าวกันอย่างนี้ว่า เงินของฉัน ทองของฉัน ทั้งคืนทั้งวัน( ขุ.ชา.(ไทย) ๒๗/๑๓๗/๑๐๑.)

คือคนเราเกิดมาตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรมมีกิเลสหนาตัณหาเยอะอยู่แบบนี้ตราบนั้นก็ยังอยากได้เงินอยากได้ทองหรือทรัพย์สิทนที่ทำชีวิตตนเองให้ดีขึ้นนี้อยู่ตลอดเวลา หรืออาจจะพูดได้ว่าเงินคือสิ่งที่บันดาลความสุขให้ทุกอย่างก็ว่าได้ เมื่อเวลาที่ยังไม่ตายก็จะสะสมเงินเอาไว้เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อตายแล้วไม่มีลูกในยุคพุทธกาลเห็นว่าเงินนั้นจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน

ดังปรากฏในคำบอกเล่าของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนี้ ถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรนั้นมาไว้ ในพระราชวังแล้วจึงมาเข้าเฝ้า เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๘,๐๐๐,๐๐๐ (แปดล้าน) ส่วนเครื่องเงินนั้นไม่ต้องพูดถึง

อนึ่ง คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้บริโภคอาหารเช่นนี้ คือ บริโภค ปลายข้าวกับน้ำผักดอง ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่นนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเช่นนี้ คือ ใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้ (สํ.ส.(ไทย)๑๕ /๑๓๐/๑๕๕-๑๕๗.)

แสดงให้เห็นว่า เงินคือกามคุณที่เป็นที่ต้องการของมนุษย์ เป็นวัตถุที่สร้างความพึงพอใจให้กับมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทุ่มเทร่างกาย เวลาในการ (๑) แสวงหา (๒) รักษาคุ้มครอง (๓) หวงแหน ยึดมั่น ตระหนี่ถี่เหนียว ยิ่งมีมากยิ่งเห็นแก่ตัวมากยิ่งระวังมากหรืออีกอย่างคือยิ่งมีมากยิ่งมีความสุขน้อยลงเพราะกลัวว่าคนจะมาลักขโมยปล้นหรือจะตกไปสู่ทายาทที่ไม่มีปัญญารักษาอาจจะทำให้ทรัพย์สินเงินทองนั้นสูญหายหรือตกเป็นของรัฐได้

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะต้องมีการทำทุกวิถีทางที่จะรักษาเงินเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้ เหมือนเช่นบิดามารดาของท่านสุทิน(ภิกษุต้นบัญญัติปาราชิกข้อที่๑)ที่ไม่ต้องการให้ท่านสุทินบวชเพราะท่านเป็นบุตรชายคนเดียวบวชแล้วจะไม่มีคนสืบสกุลอาจจะทำให้ทรัพย์ทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดินต่อไป(วิ.ม.(ไทย)๑/๒๖/๑๘.)

(๒) สาระของเงิน

สำหรับเงินนั้นถือว่ามีสาระที่สำคัญที่เราอาจจะบอกว่ามันคือประโยชน์หรือคุณค่าก็ว่าได้ โดยสาระของเงินนั้นก็มีดังนี้

(๑) เงินเกิดมาหรือมีไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ ดังคำว่า “โคทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อให้ใช้ทำประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์ เหมือนแม่น้ำ แผ่นดิน เงินทอง ทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหารเกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์”(ขุ.สุ.(ไทย) ๒๕/๓๑๐/๕๗๑) หรือประโยชน์ของเงินก็คือการนำไปใช้เพื่อแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายได้

(๒) เงินคือที่พึ่ง เช่น เมื่อมนุษย์เราไม่ว่าพระหรือโยมเมื่อเดือดร้อนมาก็ต้องคิดถึง “ทรัพย์สินหรือเงินว่าเป็นที่พึ่งได้ ดังปรากฏในความคิดของท่านสุทินว่า “บัดนี้ แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้

แต่ในกรุงเวสาลี เรามีญาติอยู่จำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นครอบครัวมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปอาศัยพวกญาติอยู่ ถึงพวกญาติก็จะอาศัยเราทำบุญถวายทาน ภิกษุทั้งหลายจักมีลาภ และเราก็ไม่เดือดร้อนเรื่องบิณฑบาต” (วิ.ม.(ไทย)๑/๓๐/๒๐.)

คือเมื่อเดือดร้อนขึ้นมาแล้วย่อมจะคิดถึงเงินว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นเป็นที่พึ่งได้ สามารถที่จะเอื้อประโยชน์ได้ หรือเมื่อเวลาที่พระปรารถนาจะสึกก็พยายามที่จะหาเหตุที่จะสึกก็บอกกับคนอื่นให้รู้เป็นนัยๆว่าตนเองจะสึกโดยการพูดถึงเรื่องเงินว่า (๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีเงิน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยเงินนั้นภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืนสิกขา (วิ.ม.(ไทย)๑/๔๙/๓๗.)

(๓) เงินเป็นที่มาของความสุขแบบบ้านๆหรือแบบชาวบ้าน ในระดับต้นๆคือระดับสัญชาตญานของมนุษย์เรา เงินถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถซื้อความสุขได้ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางเนื้อหนังมังสาดังปรากฏในตอนที่หญิงคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งพระอนุรุทธะไปขอพักด้วยหนึ่งคืนในคืนนั้นนางก็พยายามยั่วยวนท่านด้วยกิริยาต่างๆ

แต่ท่านไม่สนใจนางจึงรำพึงรำพันว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี คนส่วนมากส่งทรัพย์มาให้เรา ๑๐๐ กหาปณะบ้าง ๑,๐๐๐ กหาปณะบ้าง แต่พระสมณะรูปนี้เราอ้อนวอน ก็ยังไม่ปรารถนาที่จะรับตัวเราและสมบัติทั้งปวง(วิ.ม.(ไทย) ๒/๕๕/๒๔๑-๒๔๓.)

หรือปรากฏในคำอ้อนวอนของบิดามารดาขอท่านสุทินเพื่อไม่ให้ท่านออกบวชว่า ดังคำว่า ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด (วิ.ม.(ไทย)๑/๒๘/๑๙.) หมายความว่าเรือนนี้มีทรัพย์มาจงสำราญและใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นอย่างเต็มที่ได้โดยไม่ต้องออกบวช

หรือจะเป็นความสุขทางด้านจิตใจก็คือกรณีของการบริจาคทรัพย์ให้เป็นทานหรือให้เป็นสาธารณะแล้วออกบวช หรือเป็นที่มาของความสุขที่เหนือกว่าความสุขแบบบ้านๆก็คือความสุขทางด้านจิตใจที่เกิดจากการบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากของอานาถบิณฑิกเศรษฐีเพื่อซื้อสวนเจ้าเชตเพื่อสร้างพระเชตวันถวายแด่พระพุทธศาสนา(วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๐๗/๑๑๗-๑๑๙.) เป็นต้น หรือกรณีอื่นๆที่เงินสามารถที่จะทำให้เกิดความสุขแบบชาวบ้านได้

(๔) เงินคืออุปกรณ์ในการแสวงหาอำนาจ อันนี้เป็นเรื่องการเมืองนิดๆ ในการแสวงหาอำนาจนั้นเงินมีส่วนสำคัญมากเพราะอำนาจ เกียรติยศนี้เป็นสิ่งที่สามารถหามาได้ด้วยเงิน เช่น กรณีที่พระเทวทัตได้ร่วมมือกับพระเจ้าอชาติศัตรูทำการปฏิวัติยึดอำนาจพระเจ้าพิมพิสารแล้ว

จากนั้นตัวพระเทวทัตเองก็จะยึดอำนาจจากพระพุทธองค์โดยพระเทวทัตได้ใช้กลอุบายเพื่อกำจัดพระพุทธองค์หลายวิธี วิธีหนึ่งก็คือการให้ช้างนาราคีรีวิ่งไปเหยียบพระพุทธองค์โดยพระเทวทัตได้เข้าไปติดสินบนควาญช้างเพื่อให้ทำการดังกล่าว

ดังปรากฏในข้อความว่า “พระเทวทัตเข้าไปในกรุงราชคฤห์แล้วไปที่โรงช้าง ได้กล่าวกับพวกนายควาญช้างดังนี้ ว่า “พวกเราเป็นพระญาติของพระราชา สามารถจะแต่งตั้งผู้อยู่ในตำแหน่งต่ำไว้ในตำแหน่งสูง สามารถเพิ่มเบี้ยเลี้ยงบ้าง เงินเดือนบ้าง ท่านทั้งหลาย เอาอย่างนี้เวลาพระสมณโคดมเสด็จมาทางตรอกนี้ พวกท่านจงปล่อยช้างนาฬาคิรีนี้เข้าไป”(วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๔๒/๑๙๕.)

จะเห็นว่าเงินสามารถบันดาลเกียรติยศหรือลาภสักการะได้โดยเฉพาะทางด้านการเมือง หรือด้านอื่นๆได้ด้วย

(๕) เงินคือค่าตัวของมนุษย์ สัตว์และสิ่งของ เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เกิดมาในสังคมแบบกามโภคีหรือผู้บริโภคกามนี้ที่จะต้องตกอยู่ภายใต้ของอำนาจเงิน คือเงินสามารถ

(๑) ตีค่าการทำงานของมนุษย์ได้

(๒) ตีเป็นค่าตัวของมนุษย์ได้

คือเงินสามารถซื้อมนุษย์มาเพื่อทำหน้าที่ต่างๆได้ เช่น ซื้อผู้หญิงมาเป็นภรรยาได้ ดังปรากฏในคำว่า เป็นหญิงที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ (อง.สตฺตก.(ไทย) ๒๓/๖๓/๑๒๒-๑๒๓)

หรือซื้อผู้หญิงมาเป็นคนบำเรอกามได้ (วิ.ม.(ไทย) ๔/๓๖/๔๕.) หรือซื้อคนทั่วไปมาเป็นทาสที่รับใช้ในเรือนได้ ดังปรากฏในคำว่า ทาสที่ช่วยมาด้วยทรัพย์ หมายถึง ทาสที่เขาช่วยมาจากสำนักนายเงินก็ดี บุคคลที่เขาใช้ทรัพย์แทนแล้วยกขึ้นสู่จารีตแห่งทาสถ่ายเอาไปก็ดี (วิ.ม.อ.(ไทย)๔/๑/๒๖๒)เป็นต้น

(๓) เป็นค่าของสิ่งของที่มนุษย์ต้องการได้ เช่น บอกว่าของสิ่งนี้ราคาเท่านี้ ๆ ถูกหรือแพงกว่าสิ่งของเหล่านี้ได้ ข้อนี้เป็นความจริงของโลก จากการกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะพบว่านั่นคือสาระเบื้องต้นของเงินในพระไตรปิฎก

(๓) ความจำเป็นของเงินกับชาวบ้าน เมื่อกล่าวถึงชาวบ้านหรือสังคมระดับชาวบ้านถามว่าเงินมีความจำเป็นไหม คำตอบคือจำเป็นมากเพราะทุกอย่างในยุคที่สังคมมนุษย์พ้นหรือเลยยุคเกษตรกรรมแบบโบราณที่แลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของ เช่น หมูแลกไก ไก่และปลาอะไรทำนองนี้ กลายมาเป็นยุคโลหะที่มีการยอมรับว่าทองหรือเงินที่จัดเป็นรูปิยะหรือทรัพย์ที่สามารถตีค่าแทนทรัพย์ได้

โดยที่ทุกคนในสังคมยอมรับร่วมกันแล้วว่าวัตถุที่เป็นโลหะก็ดี ครั่งก็ดี ไม้ก็ดี เงินก็ดี ทองก็ดีว่าเป็น “เงิน”ที่สามารถแลกเปลี่ยนแทนสิ่งของได้แล้ว เงินย่อมกลายมาเป็นสิ่งของที่มีค่าและมีอิทธิพลหรือมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์เราเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมในยุคโบราณจึงสอนกันว่า

(๑) ให้แสวงหาเงิน

(๒) เก็บเงิน และ

(๓) ใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของตนเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุด การที่คนเราเกิดมาแล้วรู้จัก
(๑) ให้แสวงหาเงิน 
(๒) เก็บเงิน และ
(๓) ใช้เงินปราชญ์ชื่นชมว่านั่นเป็นคนดีคนที่ควรคบคนที่ควรมอบสตรีที่งดงามหรือสตรีที่ดีให้เป็นคู่ครองได้

คติอันนี้ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยโบราณเท่านั้นแม้ทุกวันนี้คติแบบนี้ก็ยังมีอยู่ในระดับของชาวบ้าน หรือใครจะเถียง ว่ามาสิ ? ก็มันเป็นเรื่องจริงดังว่า ความจำเป็นเรื่องเงินนี้มีทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องมีเงินเป็นจุดตั้งต้นก่อนเสมอ แม้พระมหาชนกจะไปยึดเมืองของพระราชบิดาของตนเองก็ต้องเตรียมเงินก่อน เมื่อมีเงินคนก็ตามมาเอง

ซึ่งระดับชาวบ้านเงินคือความปรารถนาของมนุษย์ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า “คหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร ใช้สอยผงแก่นจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรง ดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่”(อง.ฉกก.(ไทย)๒๒/๕๙/๕๕๒)

ถามว่าชาวบ้านต้องการเงินหรือมีความจำเป็นเรื่องเงินไปเพราะอะไร คำตอบก็คือ (๑) ใช้เลี้ยงตัวเอง (๒) ใช้เลี้ยงคนอื่นคือบิดารดา ผู้มีพระคุณ บุตรภรรยา และคนรับใช้ (๓) ใช้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาคือสมณพราหมณ์ (๔) ใช้ในการประกอบอาชีพ (๕)ใช้ในการแก้ไขปัญหาชีวิต เช่น มีคดีความก็ต้องใช้เงินหรือการเดินทางไปโน่นนี่นั่นก็ต้องใช้เงิน หรือการขอเมียนี่ก็ต้องใช้เงิน เป็นต้น ผมว่าเจตนารมณ์ของการใช้เงินน่าจะมาจากสาเหตุทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเบื้องต้น

หรือสรุปก็คือใช้เพื่อประโยชน์ ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ในชาติหน้า และประโยชน์สูงสุดก็คือการดูแลสังคมและการพัฒนาตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิต

(๔) วิชาการเงิน

นับว่าเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับผมที่อ่านพระไตรปิฎกไปพบว่ามีศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเงินด้วย โดยศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเงินดังว่านั้นก็คือ “วิชาการเงิน” หรือ Finance หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับเงิน และการตัดสินใจทางการเงินให้เกิดการหมุนเวียน โดยที่เน้นไปที่การจัดสรรด้านการเงินอย่างเป็นระบบโดยสถาบันทางการเงินเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๓ ประเภท ได้แก่ การเงินสาธารณะ การเงินส่วนบุคคล การเงินธุรกิจ (https://www.im2market.com/2016/01/01/2269)

ซึ่งผมว่าวิชาการเงินก็น่าจะเป็นเรื่อง (๑) กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities) (๒) กิจกรรมลงทุน (Investment Activities) (๓) กิจกรรมการดําเนินงาน (Operating Activities) ซึ่งอันนี้ผมว่าตามศาสตร์การเงินของยุคปัจจุบันที่ผมเองก็ไม่ค่อยสันทัดเรื่องนี้เท่าใดนัก

แต่ก็ก็คือว่ากิจกรรมของการเงินหรือวิชาการเงินโดยทั่วๆ ไป ซึ่งวิชาการเงินนี้พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯและฉบับมหามกุฏฯแปล คณนํ แปลว่าวิชาคำนวน เหมือนกัน แต่แปลคำว่า รูปํ สิกฺเขยฺย แตกต่างกัน กล่าวคือ ฉบับมหาจุฬาฯแปลว่า วิชาการเงิน ส่วน ฉบับมหามกุฏฯแปลว่า วิชาดูรูปภาพ

ดังปรากฏในภาษาบาลีว่า อถ โข อุปาลิสฺส มาตาปิตูนํ เอตทโหสิ “สเจ โข อุปาลิ คณนํ สิกฺขิสฺสติ อุรสฺส ทุกฺโข ภวิสฺสติ สเจ โข อุปาลิ รูปํ สิกฺเขยฺย เอวํ โข อุปาลิ อมฺหากํ อจฺจเยน สุขญฺจ ชีเวยฺย น จ กิลเมยฺยา”ติ. (วิ.ม.(บาลี) ๔/๙๙/๔๐.)

ดังปรากฏในคำว่า “ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาคำนวณก็จะแน่นหน้าอก ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาเกี่ยวกับการเงิน ด้วยวิธีอย่างนี้ เมื่อพวกเราล่วงลับไป เจ้าอุบาลี จะอยู่สุขสบาย และไม่ลำบาก” (วิ.ม.(ไทย) ๔/๙๙/๑๕๒-๑๕๓.)

เอาเป็นว่าผมยึดตามฉบับมหาจุฬาฯก็แล้วกันนะครับ เมื่อเงินมีความสำคัญแล้วสิ่งที่จะต้องมาพร้อมกับความสำคัญของเงินก็คือการจัดการเรื่องเงินซึ่งสังคมในระดับชาวบ้านนั้นก็คือวิชาการบัญชีการเงินว่าจะจัดการเรื่องการเงินนั้นอย่างไร

ซึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้นระบุว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเงินในระดับชาวบ้าน กล่าวคือในระดับของกามโภคีนั้นพระพุทธศาสนาเห็นว่าเงินมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์เพราะเงินคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของมนุษย์

(๑) ถ้ามนุษย์รู้จักแสวงหา เก็บกำและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อันนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จ แต่ถ้า

(๒) มนุษย์ไม่รู้จักเก็บกำและนำมาใช้ หรือใช้เงินทองที่หามาได้นั้นไปในทางที่เสียหายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์คือมั่วสุมในอบายมุขต่างๆจนไม่มีเงินทองเลยสักแดง แบบนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายที่วัดได้ว่าการใช้ชีวิตของคนๆนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

(๕) พระพุทธศาสนากับคำสอนเรื่องการเงินหรือการจัดการเรื่องการเงิน

สำหรับพระพุทธศาสนานั้นถือว่า “เงิน” มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในโลกที่แท้จริงหรือในชีวิตจริงของมนุษย์ที่เมื่อเกิดมาแล้วจะต้องมีการสร้างฐานะ โดยฐานะนั้นก็ต้องสร้างมาจาก “เงิน” หรือทรัพย์สิน แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะมองว่าเงินไม่ใช่เป้าหมาย หรือเงินคืออสรพิษ (ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๑/๒/-/๒๐๐.) ก็ตาม

แต่จะเป็นอสรพิษก็ต่อเมื่อคนไม่รู้จักการใช้เงินให้เกิดประโยชน์หรืออาจจะถูกเงินครอบงำเท่านั้น แต่หากรู้จักใช้เงินเป็นหรือใช้เงินที่ถูกต้อง เงินก็เป็นสิ่งที่มีแต่ประโยชน์โดยส่วนเดียว ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนชาวบ้านว่าให้รู้จัก

(๑) แสวงหาเงินเป็น
(๒) รักษาเงินได้ 
(๓) อยู่ใกล้เพื่อที่ดี 
(๔) เลี้ยงชีวีให้มีความสม่ำเสมอ (องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๕/๓๔๕.)

ซึ่งเราเรียกหลักการนี้ว่า ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ หรือประโยชน์ที่จะพึงได้พึงเห็นในชีวิตปัจจุบันนี้ ซึ่งหากจะสร้างเนื้อสร้างตัวคือมีเงินมีทองร่ำรวยได้จะต้องเว้นจากอบายมุข ๔ ประการ คือ ๑) เป็นนักเลงหญิง ๒) เป็นนักเลงสุรา ๓) เป็นนักเลงการพนัน ๔) เป็นผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว(องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๕/๓๔๖.)

ประการต่อมาที่จะต้องทำก็คือการรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ด้วยการวางแผนที่เหมาะก็จะสามารถรักษาคุ้มครองทรัพย์ที่หามาได้ ซึ่งพระพุทธศาสนาได้กำหนดเกณฑ์ในการใช้เงินอย่างมีคุณค่าเอาไว้ดังต่อไปนี้ คือ เมื่อหาทรัพย์สินเงินทองมาได้แล้วก็รู้จักการจัดแบ่งทรัพย์ที่หามาได้เป็น ๓ ส่วน ดังนี้

@ ทรัพย์ส่วนแรกหรือ ๒๕% สำหรับใช้จ่ายเลี้ยงตน และเลี้ยงดูคนที่ควรบำรุง ทรัพย์ส่วนต่อมา ให้ใช้สองส่วน 
หรือ ๕๐% สำหรับการลงทุนประกอบกิจการงานอาชีพเพื่อให้

@ ทรัพย์ที่มีได้เพิ่มพูนขึ้น และทรัพย์ส่วนสุดท้าย หรือ ๒๕% ให้เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น นอกจากนี้ พระพุทธศาสนายังทรงสอนหลักการใช้จ่ายทรัพย์ไว้ด้วยคือ โภคอาทิยะ ๕ หรือหลักการใช้ประโยชน์จากทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์มาได้ด้วยความสุจริตชอบธรรมแล้ว ควรใช้จ่ายทรัพย์นั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง ได้แก่

(๑) เลี้ยงตนเอง บิดามารดา บุตร ภรรยาและคนในปกครองให้มีความสุข

(๒) บำรุงมิตรสหายและผู้ร่วมงานให้มีความสุข

(๓) ใช้สำหรับป้องกันภยันตราย

(๔) ใช้ทำพลี ๕ อย่าง ได้แก่ สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว บำรุงราชการโดยการเสียภาษีอากร และถวายเทวดาหรือสักการะแก่สิ่งที่ควรบูชาและ

(๕) ใช้อุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ที่ประพฤติชอบ (องฺ.อฏฺก. (ไทย) ๒๓/๕๔/๓๔๑.)

(๖) ชาวบ้านกับเงิน ชาวบ้านกับพระศาสนา

@ จากการกล่าวมาทั้งหมดจะพบว่าในระดับชาวบ้านพระพุทธศาสนาไม่เคยปฏิเสธเรื่องเงิน แต่สนับสนุนให้แสวงหาเงินมาเพื่อเพื่อเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบและแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อการพระศาสนาด้วย เพราะพระพุทธศาสนานั้นเห็นว่าเงินมีความสำคัญกับชีวิตของชาวบ้าน เพราะเงินเกี่ยวข้องกับความสุขของชาวบ้าน คือ ในทัศนะของพระพุทธศาสนาเห็นว่า ความสุขของชาวบ้านนั้นเกิดมาจากทรัพย์ คือ

๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์

๒. สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์เพื่อบริโภคไม่มากไม่น้อยเกินไปเป็นธรรมดาของเงินหรือทรัพย์สินที่มีนั้นหากจะพูดว่ามันมีค่าอย่างไรคำตอบที่มีก็คือมันมีค่าเพราะ (๑) คนทั่วไปเห็นค่ายอมรับในค่าของเงินนั้นร่วมกัน (๒) สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆมาเพื่อการบำรุงบำเรอสร้างความสุขให้เกิดกับตนเองและคนรอบข้างได้

๓. สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ สุขที่เกิดในข้อนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทองคือความสุขของมนุษย์เรานั้นจะมีได้ก็อาศัยการที่เราไม่เป็นหนี้หรือใช้เงินเกินตัวจนต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาทำให้ถูกทวงตามอยู่ตลอดเวลา การเป็นหนี้นั้นเป็นความทุกข์ในโลก ดังนั้นสุขที่เกิดจากทรัพย์ในมุมหนึ่งก็คือการไม่เป็นหนี้ใคร อันนี้ก็ถือว่าเป็นสุขที่เนื่องด้วยทรัพย์อีกประการหนึ่ง

๔. สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ(องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๖๒/๑๐๖.)

@ นอกจากนั้นในระดับชาวบ้านนี้ เงินของชาวบ้านพระพุทธศาสนายังระบุว่า “ควรแบ่งไว้เพื่อการพระศาสนาคือการบำรุงพระพุทธศาสนา” นี่คือพันธกิจของการใช้เงินของชาวพุทธหรือเป็นวิชาการจัดการเรื่องการเงินของชาวพุทธที่จะต้องทำคือ (๑) แสวงหา เก็บกำ (๓) นำไปใช้ และ(๔)แบ่งไว้ให้พระศาสนา นี่คือพันธกิจของการเงินระดับชาวบ้านในทางพระพุทธศาสนา และมันจะเป็นประเด็นที่จะนำสู่ความเกี่ยวข้องกับ การถวายเงินแก่พระศาสนาได้หรือไม่

@ จากคำตอบเบื้องต้นนี้นะครับผมว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ชัดเจนมาก เรื่องให้ชาวบ้านสนับสนุนพระศาสนาด้วยเงิน หรือการถวายเงินแก่พระศาสนาเพื่อการทำนุบำรุงพระศาสนา ดังนั้น การที่มีคนบอกว่าอย่าถวายเงินแก่วัดแก่พระศาสนานี่ผมว่ามันเกินไปและไม่รู้หลักทางพระศาสนาจริงๆจังๆ เมื่อพระพุทธองค์วางแนวทางในการบริหารการเงินของชาวพุทธไว้เช่นนี้แล้ว คือ

(๑) ส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงตัวเลี้ยงชีวิต

(๒) อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับบำรุงพระพุทธศาสนา

นี่ไงเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนมากเรื่องการจัดการด้านการเงินของชาวพุทธระดับชาวบ้านที่จะต้องมีพันธกิจที่ชัดเจนในเรื่องของการถวายปัจจัยหรือเงินเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา หรือใครจะเถียง ?

@ เอาล่ะครับคงไม่ได้พูดถึงเรื่องของเงินกับพระศาสนาแล้วครับเพราะมันยาวเกินจริงแล้วอดทนอ่านหน่อยนะครับเพราะเป็นข้อมูลถ้าไม่อ่านจะไม่มีความรู้พื้นฐานกัน คืออยากให้ค่อยๆเรียนรู้ไปจะได้ความรู้และมีพื้นฐานจะได้เข้าใจเนื้อหาเรื่องราวที่เป็นปัญหามากขึ้น อย่าลืมติดตามต่อเพราะยังมีเรื่องราวที่ยังน่าสนใจอีกเยอะอยู่ในเรื่อง “เงินกับพระศาสนา”ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ครับ

ขอบคุณมากครับ
Naga King
20 06 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...