วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๔ เงินกับพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก ?
วันที่ 21 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความ ว่า ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๔ เงินกับพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก ?
@ สำหรับวันนี้จะมาเร็วหน่อยเพราะผมเห็นว่าคนที่อ่านบทความของผมโดยมากจะมีอยู่ ๒ กลุ่มหลักๆ คือ
(๑) กลุ่มผู้ศรัทธา คือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้ศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกมากสักเท่าไหร่ เป็นกลุ่มที่เรียนรู้พระพุทธศาสนาจะเอกสารประเภทอัตโนมติเสียเป็นส่วนมาก แต่คนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดและเป็นคนกลุ่มที่ทำบุญมากที่สุด และน่าชื่นชมในมุมของการเป็นชาวพุทธที่มุ่งมั่นในบุญกุศลมากที่สุด
(๒) กลุ่มนักวิชาการหรือกลุ่มปัญญานิยมหรือพุทธิกนิยมเป็นคนกลุ่มน้อยที่ติดตามอ่านงานผม คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักวิชาการ นักโต้วาทีและนักปรัชญาที่เอาความสงสัยเป็นที่ตั้ง
คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยและไม่ชอบการที่ผมเขียนอะไรยาวๆโดยมากกลุ่มนี้ต้องการให้สรุปตรงประเด็นว่า เรื่องเงินกับเรื่องพระคืออะไรผิดอย่างไรแบบทันทีทันใด และอย่าให้ผมเขียนมากเพราะท่านเหล่านี้มีความรู้มากพออยู่แล้วจึงไม่ค่อยชอบบทความที่ยืดยาว
@ ใน ๒ กลุ่มนี้ในบทความตอนที่ ๑-๓ ผมจำต้องขัดใจคนกลุ่มที่ ๒ เพราะใจผม ผมเขียนงานเพราะผมมีพื้นฐานอยู่บนความไม่รู้เพราะผมเองก็ไม่รู้มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ผมจึงพอเข้าใจคนที่ไม่รู้หรือยังรู้ไม่ชัดว่า ถ้าไม่เกริ่นนำเลยเข้าไปตอบคำถามเลยทีเดียวโดยที่ไม่อธิบายหรือปูพื้นฐานเลยคนประเภทที่ ๑ ซึ่งผมเคยเป็นคนที่อยู่ในประเภทที่ ๑ นี้มาก่อนจะไม่ค่อยรู้ที่มาหรือต้นสายปลายเหตุ อาจจะไม่เข้าใจได้
แต่หากเกริ่นหรือทบทวนความรู้ให้คนกลุ่มนี้ได้รู้บ้างเสียเวลานิดหน่อยเขียนยาวๆหน่อยเขาเหล่านี้จะได้ฟื้นความรู้และปะติดปะต่อความรู้ได้ เมื่ออ่านเสร็จความเข้าใจจะเกิดขึ้นมาทันที ผมว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนมากได้จึงอดทนพยายามที่จะเขียนอะไรยาวๆเพื่อคนกลุ่มนี้ให้มากที่สุด ผมบอกตรงๆว่าขอขัดใจคนกลุ่มที่ ๒ ที่ผมไม่อาจจะสรุปประเด็นเลยทีเดียวให้จบภายในโพสต์เดียวได้
เพราะผมคำนึงถึงคนกลุ่มที่ ๑ ก่อนด้วยการพยายามที่จะรอให้ท่านเหล่านั้นตามให้ทันเรื่องราวที่เรากำลังพูดคุยกันนะครับ ข้อนี้ผมเองต้องขออภัยบรรดานักวิชาการทั้งหลายด้วยนะครับ อย่างไรเสียเราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกันครับ
@ นักบวชกับเงินในสมัยก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธกาล
สำหรับประเด็นต่อไปก็คือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ (๑) นักบวชหรือบรรพชิต สมณพราหมณ์ (๒) เงิน ว่าเงินนั้นมีความสัมพันธ์กับนักบวชหรือนักบวชมีท่าทีต่อเงินอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) นักบวชกับเงินในยุคก่อนพระพุทธศาสนา
สำหรับคำว่า นักบวช แปลว่าผู้เว้นจากการครองเรือน นักบวชในสมัยก่อนพุทธกาลนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ
(๑) นักบวชในวัฒนธรรมแบบสมณธรรม ได้แก่ กลุ่มที่ปฏิเสธพระเวท
(๒) นักบวชในวัฒนธรรมแบบพราหมณธรรม ได้แก่นักบวชกลุ่มที่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท
ซึ่งนักบวชทุกกลุ่มจะเป็นกลุ่มนักบวชที่ไม่ยินดีกับการรับเงินรับทองอย่างแน่นอนถามว่าเอาข้อสรุปนี้มาจากไหน คำตอบคือจากที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า “ทราบว่าเมื่อก่อน พวกพราหมณ์ไม่ทำการสะสมทรัพย์บ้าง ข้าวเปลือกบ้าง เงินบ้าง ทองบ้าง” (อง.ปญจก.(ไทย)๒๒/๑๙๑/๓๑๖.)
สอดรับกับข้อมูลอีกที่หนึ่งว่า”พราหมณ์สมัยก่อน ไม่มีสัตว์เลี้ยง ไม่สะสมเงินทอง ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ พวกเขามีทรัพย์และธัญชาติคือการสาธยายมนตร์ รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐไว้” (ขุ.สุ.(ไทย)๒๕/๒๘๘/๕๖๘.)
แสดงให้เห็นว่าโดยธรรมเนียมของการเป็นนักบวชไม่ว่าจะเป็นสมณหรือพราหมณ์ในระยะแรกๆก็เป็นกลุ่มบุคคลที่หลีกเว้นจากวิถีของชาวบ้าน คือการรับเงินและทอง เพราะเชื่อกันว่า เป็นสมณพราหมณ์จะต้องไม่รับเงินรับทอง เพราะถ้ารับเงินรับทองจะต้องถูกตำหนิว่า “ทำตัวเหมือนชาวบ้าน”(วิ.ม.(ไทย) ๒/๕๘๗/๑๑๒.)
(๒) นักบวชกับเงินในยุคสมัยพุทธกาล
สำหรับนักบวชในสมัยพุทธกาลหากกล่าวเฉพาะในพระพุทธศาสนาก็จะมีนักบวชอยู่ ๒ กลุ่มคือภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี โดยนักบวชในทางพระพุทธศาสนานั้นมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าบรรพชิต โดยบรรพชิตเหล่านี้จะต้องผ่านการบรรพชาหรือการออกบวช ซึ่งคำว่า บรรพชา
มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปพพชฺชํ หรือ ปพฺพชฺชา (ป + วชฺ) แปลว่า ความเว้นทั่ว” (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ, ปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑), หน้า ๔๗๕.)
หมายความว่า ไป หรือ เว้นโดยสิ้นเชิง คือ ไปจากเพศฆราวาส สละการครองเรือน เพื่อไปสู่ความเป็นบรรพชิต คือผู้ไม่ครองเรือนหรือหมายถึง การถือเพศเป็นภิกษุสามเณร หรือนักพรตอื่นๆ (ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, (กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, ๒๕๔๖), หน้า ๖๑๐.)
หรือหมายถึง การออกที่เป็นการออกบวช ในเบื้องต้นก็เป็นการออกทางกาย คือออกจากบ้านเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกนักบวชว่า อนาคาริกะ ที่แปลว่า คนไม่มีเรือน คนไม่มีบ้าน เพราะว่าได้ออกจากบ้านเรือนมาแล้ว (สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน), ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า ๒-๓.)
ซึ่งคำว่าบรรพชานี้ใช้กับคนที่ปลีกตัวออกไปจากเรือนคือสละวิถีชีวิตแบบชาวบ้านไปสู่วิถีแห่งบรรพชิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งพระภิกษุที่บวชเข้ามาแล้วก็คือการศึกษาหรือพิจารณาสถานะหรือบทบาทของตนเองก่อนว่าตนเองมีสถานะทางสังคมอย่างไร
ซึ่งการพิจารณาสถานะของตนเองนี้เรียกว่าอภิณหปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาเป็นประจำว่า “การบวชนี้ต้องอาศัยข้าวที่ชาวบ้านใส่บาตรเป็นอยู่ เธอพึงควรอุสาหะในข้อนี้ตลอดชีวิต” “บรรพชิตพิจารณาเนืองๆ ว่าชีวิตเราเนืองด้วยผู้อื่นจงทำตัวเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย” (วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๔๓/๑๕๘)
ซึ่งถือว่านี่เป็นข้อที่ควรจะต้องศึกษาเป็นเบื้องต้นว่าชีวิตของนักบวชไม่ใช่ชีวิตที่อิสระจากการเกี่ยวข้องกับสังคมเนื่องจากเป็นชีวิตที่จะต้องพึ่งชาวบ้าน นอกกจากนั้นการออกบวชของบรรพชิตในทางพระพุทธศาสนาหรือสังคมอินเดียนั้นก็มีมูลเหตุมาจากการเบื่อหน่ายในวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน คือ การมีลูกเมีย และการหาเงินหาทองยินดีในเงินและทอง
ซึ่งเงินและทองนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สละได้ยาก แต่เมื่อเข้ามาบวชแล้วต้องยอมรับว่าคนที่ออกบวชในยุคนั้นเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและปรารถนาจริงๆที่จะหลีกพ้นจากเรื่องโลกๆและเป็นเรื่องของชาวบ้านและเงินๆทองๆก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนที่ออกบวชในยุคนนั้นยืนยันว่าเกิดความเบื่อหน่ายไม่ต้องการและสละแล้ว
เช่น พระพุทธองค์เป็นต้นที่ทรงสละราชทรัพย์ออกบวชดังปรากฏในคำว่า ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชแล้ว ฯลฯ(ที.สี.(ไทย)๙/๓๐๔/๑๑๔.)
ดังนั้น เมื่อใครก็ตามที่เข้ามาบวชจึงต้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน คือจะต้องไม่ยินดีในการรับเงินรับทองเหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปทำ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามเวลาที่พระทำตัวเหมือนชาวบ้านคือใช้เงินและทองมักจะถูกตำหนิว่า“ทำตัวเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” (วิ.ม.(ไทย) ๕/๒๖๕/๕๑.)
@ ภิกษุ เงินและทอง ในพระพุทธศาสนา
@ อนึ่ง เพื่อเป็นการย้ำให้เห็นชัดว่า การรับเงินรับทองหรือการยินดีในการรับเงินรับทองนี้หรือแม้แต่การที่พระสงฆ์หรือนักบวชในทุกศาสนาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักบวชในสมัยก่อนพุทธกาลและในสมัยพุทธกาลก็คือ คนในสมัยนั้นมีคติว่า
(๑) ถ้าเป็นคฤหัสถ์หรือชาวบ้านการรับเงินรับทองหรือการยินดีในการใช้จ่ายแสวงหาเงินทองนั้นเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านเป็นวิถีของชาวบ้านทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้ามาสู่ธรรมหรือการปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมขั้นสูง การเป็นอยู่ของฆราวาสต้องยุ่งกับเงินกับทองเป็นปกติ แต่
(๒) ในวัฒนธรรมอินเดียนั้นเห็นว่า “การออกบวช” การเป็นนักบวชนั้นจะมีลักษณะที่สำคัญ คือ (๑) เบื่อหน่ายทางโลก (๒) เบื่อหน่ายวิถีแห่งโลกคือการยุ่งเกี่ยวกับลูกเมียและเงินทองสารพัด (๓) สละทรัพย์สมบัติที่ตนเองหามาได้หรือเกี่ยวข้องนั้นแล้วจึงออกบวช
ซึ่งลักษณะแบบนี้มีข้อยืนยันหรือสนับสนุนมากมายเนื่องจากการออกบวชนั้นเป็นการ “สละ หรือการเว้นจากการครองเรือน” ดังนั้น หลักการคือ อะไรก็ตามที่เป็นการเกี่ยวเนื่องด้วยการครองเรือนคนอินเดียจะเห็นว่าพระหรือนักบวชไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะหากเข้าไปเกี่ยวข้องหรือทำตัวเหมือนกับชาวบ้านก็จะถูกชาวบ้านตำหนิเอาได้ว่านักบวชท่านนั้นยังทำตัวเหมือนหรือไม่แตกต่างไปจากฆราวาสแต่อย่างใด
อันนี้ถือว่าเป็น “หลักการ”ที่มีอยู่ในบริบทของวัฒนธรรมอินเดียในฐานะที่เรารับวัฒนธรรมอินเดียเราเองจะต้องเข้าในหลักการนี้เป็นเบื้องต้นก่อนนะครับ
@ พระพุทธศาสนากับการเว้นขาดจากการรับเงินรับทอง และยินดีในการรับเงินรับทอง
@ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงศีลของพระพุทธองค์ตอนหนึ่งว่า พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทองและเงิน(จูฬศีล) (ที.สี.(ไทย)๙/๑๐/๔.) และทรงอธิบายถึงศีลของพระอรหันต์ว่า ภิกษุเว้นขาดจากการรับทองและเงิน (มหาศีล) (ที.สี.(ไทย)๙/๑๙๔/๖๖.,ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๑๔/๒๑.)
เพราะเงินและทองนั้นเป็นอุปกิเลสของนักบวช คือเป็นเครื่องเศร้าหมองของนักบวช ดังปรากฏในคำว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการรับทอง และเงิน นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์มัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง(อง.จตุกก.(ไทย) ๒๑/๕๐/๘๑.)
นอกจากนั้นพระพุทธองค์ทรงยอมรับอย่างหนักแน่นด้วยการรับรองคำพูดของผู้ใหญ่บ้านชื่อว่ามณิจูฬกะว่า “ดีละ ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อท่านตอบอย่างนี้ ชื่อว่า พูดตรงตามคำที่เราพูดไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้
เพราะว่าทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน ไม่รับทองและเงิน สมณะศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงินผู้ใหญ่บ้าน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด กามคุณ ๕ ก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณ ๕ ควรแก่ผู้ใด (ทองและเงินก็ควรแก่ผู้นั้น)
ผู้ใหญ่บ้าน เราให้เข้าใจเรื่องนี้โดยส่วนเดียวว่า ไม่ใช่ธรรมของสมณะ ไม่ใช่ธรรมของศากยบุตร อนึ่ง เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวเลยว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยประการใด ๆ”(สํ.สฬา.(ไทย) ๑๘/๓๖๒/๔๑๕-๔๑๖.)
สอดคล้องกับคำยืนยันของพระอุเทนว่า “พราหมณ์ การรับทองและเงินไม่สมควรแก่อาตมภาพทั้งหลาย”(ม.ม.(ไทย)๑๓/๔๒๑/๕๓๐.)
ซึ่งการไม่รับเงินรับทองนี้พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าทรงอนุญาตให้ภิกษุรับเงินรับทองว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น จากกัปปิยภัณฑ์นี้ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน ไม่ว่ากรณีใด ๆ”(วิ.ม.(ไทย)๕/๒๙๙/๑๒๙.)
ซึ่งเป็นการยืนยันชัดเจนถึงจุดยืนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการรับเงินรับทองหรือยินดีในการรับเงินรับทองเนื่องจากว่าการรับเงินรับทองนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมของพระสงฆ์หรือนักบวชของอินเดียทั้งในยุคก่อนสมัยพุทธกาลในสมัยพุทธกาล
สามัญสำนึกของพระสงฆ์ยุคนั้นกับการไม่รับเงินรับทอง
การไม่รับเงินรับทองนี้ถือว่าเป็นสามัญสำนึกของพระภิกษุในยุคนั้นตัวอย่างเช่น
กรณีของพระรัฐบาลเถระท่านกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดโยมพ่อกับโยมแม่อยากให้พระลูกชายสึกมาใช้เงินทองที่มีอยู่ในตระกูล ท่านพระรัฐบาลเถระได้กล่าวกับโยมพ่อโยมแม่ว่า
“โยมพ่อ ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้คนขนกองเงินกองทองนี้ ใส่เกวียนแล้วให้เขาเข็นไปทิ้งไว้ที่กลางกระแสแม่น้ำคงคาเถิด ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะโสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความ คร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความ คับแค้นใจ) มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน”(ม.ม.(ไทย)๑๓/๑๓/๓๐๑/๓๕๘.)
สอดคล้องกับพระโสณะที่กราบทูลยืนยันความบริสุทธิ์ที่ท่านมีต่อพระธรรมวินัยว่า “ข้าพระองค์ละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าข้าพระองค์จะใช้รองเท้าชั้นเดียวก็จะมีคนกล่าวว่า พระโสณโกฬิวิสะละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก
ออกบวชเป็นบรรพชิต เวลานี้ท่านพระโสณะนั้นยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะใช้สอย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า” (วิ.ม.(ไทย)๕/๒๔๕/๑๓.)
@ ฆราวาสผู้บรรลุธรรมขั้นอนาคามีก็ยังงดเว้นจากการรับเงินรับทอง
อนึ่ง การไม่รับเงินรับทองนี้แม้เป็นฆราวาสที่บรรลุธรรมระดับอนาคามี เช่น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะผู้บรรลุอนาคามีก็จะบริโภคภัตรมื้อเดียว เป็นพรหมจารี มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่ใช้แก้วมณีและทองคำเป็นเครื่องประดับ ปราศจากการใช้ทองและเงิน (ม.ม.(ไทย)๑๓/๒๘๘/๓๔๕.)
@ เหตุผลที่นักบวชไม่ยินดีในการรับเงินรับทอง
สำหรับประเด็นต่อไปที่จะต้องนำมาศึกษาก็คือประเด็นที่ว่า อะไรคือเหตุผลที่พระสฆ์หรือนักบวชในพระพุทธศาสนาที่ไม่รับและยินดีในการรับเงินรับทองนั้นก็มีผู้กล่าวไว้หลายที่ แต่ที่ชัดเจนก็คือกรณีการให้เหตุผลของพระโรหิณีเถรี และพระสุภากัมมารธิดาเถรีที่ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังถึงสาเหตุที่ไม่รับเงินรับทองไว้หลายประการ โดยพระสุภากัมมารธิดาเถรีได้กล่าวเอาไว้ว่า
(๑) เมื่อเข้ามาบวชแล้วเพราะความเบื่อหน่ายในเงินและทองรวมถึงทรัพย์อย่างอื่นแล้ว คือละเงินทองแล้วยังกลับ (ยินดีเงินทอง) อีกจึงถือว่าเป็นการไม่สมควร เพราะการรับเงินรับทองเป็นความห่วงความกังวลหลายประการ เพราะเหตุนั้นเมื่อบวชมาแล้วหันกลับไปยินดีในการรับเงินรับทองจึงถือว่าเป็นเรื่องไม่ควร เข้าทำนองว่า เบื่อหน่ายสิ่งเหล่านั้นแล้วยังหันกลับไปยินดีในสิ่งเหล่านั้นอีก ซึ่งถือว่าการกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการไม่ควร (ขุ.เถรี(ไทย) ๒๖/๓๔๓/๖๑๒.)
(๒) เพราะเงินทอง ไม่ได้มีไว้เพื่อความตรัสรู้ หรือเพื่อความสงบใจ เป็นอีกข้อหนึ่งที่ปรากฏในเหตุผลของฝ่ายพระภิกษุณีที่ได้กล่าวถึงการไม่รับเงินรับทองก็คือ เพราะเห็นว่าความจริงแล้วเงินทองไม่ได้นำไปสู่การตรัสรู้หรือเพื่อความสงบจิตใจหรือการทำใจให้เป็นสมาธิได้ เนื่องจากเงินทองก่อให้เกิดความกังวล ยิ่งมีมากยิ่งกังวลมาก ยิ่งสะสมมากยิ่งหวงแหนมาก และยิ่งเห็นแก่ตัวมาก เป็นต้น ดังนั้นหากจะว่ากันแล้วเงินทองก็คืออุปสรรคต่อการบรรลุธรรมดังนั้นเงินทองจึงไม่ควรสำหรับนักบวชหรือสมณะ (ขุ.เถรี(ไทย) ๒๖/๓๔๔/๖๑๒.)
(๓) เพราะเงินทอง ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี มีความระแวง มีความยุ่งยาก และในเงินทองนั้นก็ไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย(ขุ.เถรี(ไทย) ๒๖/๓๔๕/๖๑๒.)
(๔) เพราะเงินทองนั้นก่อให้เกิดความประมาท ทำให้คนที่ครอบครองมีความประมาท มีใจเศร้าหมอง ต่างผิดใจต่อกันและกัน กระทำความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน ใครก็ตามที่ยินดีในทรัพย์นั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท(ขุ.เถรี(ไทย)๒๖/๓๔๕/๖๑๒.)
อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่าที่สุดแล้วเงินทองจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทเพราะเงินทองนั้นเป็น “ผลประโยชน์หรือ Interest อย่างหนึ่ง” เมื่อเงินทองเป็นผลประโยชน์ย่อมทำให้เป็นเป้าหมายสำคัญของการแย่งชิงและก่อการทะเลาะวิวาทกันขึ้นภายในและสามารถทำลายมิตรภาพของคนและทำลายองค์กรได้
(๕) อาสวะทั้งหลาย ย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง (ขุ.เถรี(ไทย) ๒๖/๓๔๓-๓๔๙/๖๑๒-๖๑๓.)
ข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญที่หลายทัศนะในทางพระพุทธศาสนาเห็นร่วมกันว่า พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาที่ยึดแนวทางของ “สมณธรรมนิยม” คือ ฝ่ายที่ยึดแนวทางการเป็นนักบวชสายสมณธรรม
คือ ธรรมของสมณะที่มีรูปแบบของการเป็นนักบวชที่แตกต่างไปจากพราหมณ์ คือเป็นนักบวชที่มุ่งถึงการสละบ้านเมืองออกบวชเน้นความสงบมากกว่าการยุ่งเกี่ยวกับชีวิตทางโลกจะยุ่งเกี่ยวก็เพราะการเป็น “ทักขิเณยยบุคคล”
หรือเป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวบ้านเท่านั้น อันนี้ผมไม่ได้ว่าเองนะครับคือว่าตามหลักการของพระสงฆ์หรือนักบวชในยุคนั้น ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงเน้นย้ำว่าพระสงฆ์สามเณรในส่วนของนักบวชที่จัดเป็นอนาคาริยวินัย หรือผู้สละเรือนออกบวชนั้นจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการรับเงินรับทองหรือยินดีในการรับเงินรับทองเพราะในยุคพุทธกาลเห็นว่า เงินทองนั้นไม่อาจจะทำลายอาสวะกิเลสให้สิ้นไปได้เลย
(๖) นอกจากนั้นยังมีเหตุผลอื่นๆที่มารองรับการที่ไม่รับเงินรับทองของพระในทางพระพุทธศาสนาก็คือ
(๑) ทรัพย์สินเงินทองไม่อาจจะป้องกันความตายหรือนำไปสู่ชีวิตเบื้องหลังความตายไม่ได้ ดังปรากฏในคำว่า เมื่อตายไป ทรัพย์ไร ๆ คือ บุตร ภรรยา ข้าวของ เงินทองและแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้
(๒)ทรัพย์ช่วยคนให้อายุยืนไม่ได้ (ในสมัยนั้นนะครับ หรือความเป็นจริงคือไม่สามารถต่ออายุคนให้เกิน ๑๐๐ –๒๐๐ ปีได้ที่สุดก็ตาย) หรือช่วยให้ละความแก่ไม่ได้เพราะชีวิตนี้น้อยความแก่ย่อมเข้ามาฉุดรั้งมนุษย์ไปในทุกเมื่อเชื่อวันได้เสมอ
หรือทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น คือเงินทรัพย์สินช่วยเหลืออะไรได้ไม่มากในการทำให้ชีวิตยืนยาวหรือหลุดพ้นจากการเกิดแก่ เจ็บและตายได้เลย(ขุ.เถร(ไทย) ๒๖/๗๘๒/๔๗๐.)
(๓) การไม่สะสมและรับเงินรับทองในสมัยพุทธกาลนั้นถือว่าเป็นความงดงามของพระหรือของสมณะ(เน้นนะครับว่าต้องเป็นสมณะเพราะพราหมณ์ในยุคพุทธกาลนี้ละเลยการงดเว้นการรับเงินรับทองแล้วหันมารับเงินรับทองแทน)
ดังปรากฏในคำว่า “สมณะเหล่านั้นไม่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในยุ้งฉาง ในหม้อ และในกระเช้า แสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว สมณะเหล่านั้นไม่รับเงิน ทอง และรูปิยะ เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก”(ขุ.เถรี(ไทย)๒๖/๒๘๓-๒๘๔/๖๐๒.)
หรืออีกเหตุผลก็คือ เพราะการไม่รับเงินรับทองและรูปิยะ แต่เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความรักความศรัทธาแก่ประชาชนมากกว่าสมณพราหมณ์ที่รับเงินรับทอง(ขุ.เถรี(ไทย) ๒๖/๒๘๔/๖๐๒.)
@ จะพบว่า แม้ว่าทัศนะที่ผมนำมาเสนอนี้จะเป็นทัศนะของพระภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่งแต่ก็เป็นทัศนะที่บ่งถึงวัฒนธรรมของพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาลได้ดีว่าคณะสงฆ์ของพระพุทธองค์นั้นได้รับการอบรมสั่งสอนมาด้วยดีในเรื่องของการให้งดเว้นจากการรับเงินรับทองหรือยินดีในการรับเงินรับทอง
เพราะการรับเงินรับทองนั้นเป็นเรื่องที่ผิดต่อค่านิยมและวัฒนธรรมของอินเดีย ซึ่งสิ่งที่แสดงถึงจารีตทางวัฒนธรรมที่ได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องเงินของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้นก็สังเกตได้จากการแสดงเจตจำนงชัดเจนของพระสงฆ์ในยุค ๑๐๐ ปีหลังสมัยพุทธกาล
คือพระยสกากัณฑบุตรที่ไม่เห็นด้วยกับการเสนอวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุชาววัชชีบุตรที่หนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของการรับเงินรับทองโดยท่านพระยสกากัณฑบุตรได้เสนอเหตุผลในเรื่องของ
(๑) คำยืนยันของพระพุทธองค์เกี่ยวกับการที่ทรงเสนอแนวทางว่าเงินและทองนั้นไม่เหมาะสมกับพระสมณศากยบุตร(วิ.จู.(ไทย)๗/๔๔๗/๓๙๕.)และ
(๒) การเสนอแนวคำสอนของพระพุทธองค์ว่า เงินและทองนั้นเป็นความเศร้าหมองหรือเป็นอุปกิเลสของนักบวช (วิ.จู.(ไทย)๗/๔๔๗/๓๙๖.)ซึ่งถือว่าเป็นการเสนอตามแนวทางที่เคยมีการปฏิบัติกันมาแล้วในสมัยพุทธกาล (อง.จตุกก.(ไทย) ๒๑/๕๐/๘๑.)
แสดงให้เห็นว่าแนวคิดอย่างนี้ๆมีการสืบทอดกันมาในสายของพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งนี่เป็นความจริงตามหลักฐานในพระไตรปิฎกนะครับหากเชื่อตามนี้ก็ว่าตามนี้เพราะพระไตรปิฎกนั้นถือว่าเป็นเอกสารชั้นต้นที่สามารถยืนยันได้เป็นเบื้องต้นก่อน ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับประยุกต์ใช้อย่างไรให้แปลกไปจากนี้ก็ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการตีความยุคหลัง
@ ความคลี่คลายของปัญหาเรื่องการรับเงินรับทองในสมัยพุทธกาล
สำหรับประเด็นที่จะพูดหรือนำมากล่าวต่อไปจากนี้ก็คือประเด็นเกี่ยวกับ
(๑) การยืนยันว่าสมณพราหมณ์ในสังคมอินเดียยุคแรกนั้นยอมรับร่วมกันว่า การรับเงินและทองไม่สมควรแก่สมณะพราหมณ์หรือผู้ที่สละเรือนออกบวช ซึ่งสมณพราหมณ์ในยุคพระเวทยุคต้น คือระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ถึง ๑๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล (ฐานิสรา ประธานราษฎร์นิกร, อัพยากตปัญหา ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์,(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๕๒), หน้า ๓๒.)
พราหมณ์ยุคนี้ยังเป็นผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะกลุ่มพระฤาษีฃผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษี วามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารัทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์(ที.สี.(ไทย)๙/๒๘๕/๑๐๔.)
ซึ่งพระฤาษียุคเก่าๆนี้เป็นผู้ที่ไม่สะสมเงินทองไม่ยินดีรับเงินรับทองตามจารีตเก่าที่ปฏิบัติกันมา แต่
(๒) ระยะหลังพราหมณ์ในยุคสมัยพราหมณะ เนื่องจากคนนิยมทำพิธีกรรมทางศาสนามากขึ้นและต้องพึ่งพาอาศัยพราหมณ์มากขึ้น พวกพราหมณ์จึงได้รวบรวมและแต่งคัมภีร์คู่มือทางศาสนาที่เรียกว่าคัมภีร์ พราหมณะขึ้น จึงเรียกสมัยนี้ว่า สมัยพราหมณะ
เป็นสมัยที่อำนาจพวกพราหมณ์สูงมากเพราะมีบทบาทสำคัญในทางศาสนาและบางทีในทางการเมืองด้วย เช่น ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องให้สัตย์สาบานต่อพราหมณ์ก่อน ดังนี้เป็นต้น การแบ่งชนชั้นวรรณะเป็น ๔ วรรณะ ก็ได้เคร่งครัดขึ้นในยุคนี้เหมือนกัน(อดิศักดิ์ ทองบุญ, ปรัชญาอินเดีย, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖), หน้า๑๖๘.)
@ การยืนยันในหลักการของพระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลต่อการรับเงินรับทอง
แม้ว่าพราหมณ์ในยุคพราหมณะ(ซึ่งตรงกับสมัยพุทธกาล)นี้มีการรับเงินรับทอง ผู้หญิง เด็กสตรีทาส ทรัพย์อื่นๆ เป็นต้นที่เป็นเครื่องบรรณาการที่ได้จากการประกอบพิธีกรรมคือการบูชายัญ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ตรัสถึงสมณพราหมณ์ยุคนี้ว่าเป็นการกระทำที่เศร้าหมองว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการรับทอง และเงิน นี้เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์มัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง(อง.จตุกก.(ไทย) ๒๑/๕๐/๘๑.)
ซึ่งข้อความนี้ถูกนำไปอ้างในยุคการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๑๐๐ (วิ.จู.(ไทย)๗/๔๔๗/๓๙๕.) ซึ่งพระพุทธองค์ยังตรัสย้ำในเรื่องนี้ว่าในระหว่างสมณพราหมณ์ที่รับเงินรับทองกับที่ไม่ได้รับเงินรับทองนั้นผู้ที่ปรารถนาที่จะรับเงินรับทองนั้นมีมากกว่าคนที่ไม่รับเงินรับทอง(สํ.ม.(ไทย)๑๙/๑๑๕๓/๖๔๗.)
ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นแม้ว่าจะมีคนที่เป็นสมณพราหมณ์ที่ยินดีรับเงินรับทองมากกว่าก็จริงแต่สำหรับพระพุทธศาสนาของพระองค์หรือพระธรรมวินัยของพระองค์นั้นทรงยืนยันว่า
(๑) ไม่รับเงินและทอง
(๒) ไม่ยินดีในการรับเงินและทองดังที่ปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า “เพราะว่าทองและเงินไม่สมควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน ไม่รับทองและเงิน สมณะศากยบุตรห้ามแก้วมณีและทอง ปราศจากทองและเงิน”
และที่ทรงตรัสยืนยันว่า “เรากล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวเลยว่า พึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยประการใด ๆ”(สํ.สฬา.(ไทย) ๑๘/๓๖๒/๔๑๕-๔๑๖.)และ
(๓) เห็นว่าการรับเงินและทองนั้นทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง จากความคลี่คลายที่กล่าวมานั้นจะพบว่านักบวชยุคหลังมีการผ่อนปรนเรื่องการรับเงินรับทองก็จริงแต่สำหรับพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้นพระองค์ทรงยืนยันตามระบบจารีตที่มีมาแต่เดิมก็คือการปฏิเสธในเรื่องของการให้นักบวชในพระพุทธศาสนายินดีในการรับเงินรับทอง
@ จากการกล่าวมาทั้งหมดจะพบว่า
ประเด็นเรื่องเงินทองการรับเงินรับทองนี้เป็นเรื่องของ
(๑) จารีตของนักบวชในสมัยก่อนและสมัยพุทธกาลที่เห็นว่านักบวชไมควรรับเงินและรับทอง เพราะถือว่าเงินทองเป็นความเศร้าหมองของนักบวชและพรหมจรรย์
(๒) จารีตสมัยก่อนเห็นว่าการบวชก็คือการสละทุกอย่างที่เป็นแบบชาวบ้าน เรื่องเงินก็เป็นหนึ่งในเรื่องของชาวบ้าน ดังนั้นพระก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับเงินๆทองๆอีกเพราะสละออกมาแล้วยังหันกลับไปยุ่งเกี่ยวอีก็ถือว่าไม่ควร
(๓) พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าไม่ทรงสอนว่าให้ภิกษุยินดีในการรับเงินและทองมาก่อนเลย
(๔) การไม่รับเงินและทองนอกจากจะเป็นพระภิกษุภิกษุณี สามเณร สามเณรีแล้วก็ยังรวมไปถึง ฆราวาสผู้บรรลุธรรมขั้นสูงคือ อนาคามี ดังเช่นบุตรช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการะ เป็นต้นที่ท่านทานอาหารมื้อเดียวและไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินและทองเลยซึ่งภาวะเช่นนี้มาพร้อมกับภาวะของพระอนาคามี
(๕) เหล่าพระสาวกของพระพุทธองค์ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุและภิกษุณีต่างยืนยันตามแนวทางจารีตของพระพุทธองค์ก็คือการยืนยันว่าพระ นักบวชไม่รับเงิน และไม่ยินดีในการรับเงินรับทองอย่างเชีดเจนจากสมัยพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงการสังคายนาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๑๐๐
@ สำหรับการเสนอบทความในตอนที่ ๔ นี้ผมเสนอกรอบความคิดกว้างๆถึงท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อ “เงินและทอง” ซึ่งเป็นการเสนอตามแนวทางของพระไตรปิฎกนะครับ ผมยังไม่ได้แตะเรื่องพระวินัยเลยว่าผิดข้อไหน เพราะที่ยังไม่แตะพระวินัยเนื่องจากว่ามีหลายคนคอมเม้นมาอ้างว่า เรื่องเงินนี้ต้องอ้างพระธรรมที่สามารถยืดหยุ่นได้ ปรับได้
ส่วนพระวินัยนั้นเป็นสิ่งที่บัญญัติมาจากพระธรรม ผมเลยว่าเอาเถอะมาว่าเรื่องพระธรรมก่อนจะเป็นไร ท่านที่มีข้อแย้งจะได้เห็นว่า พระธรรมกับพระวินัยนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสเรื่องพระธรรมก็คือส่องทางให้เห็นเรื่องพระวินัย
เพราะฉะนั้น พระธรรมจึ้งไม่ขัดแย้งพระวินัยเพราะพระธรรมเป็นแม่แบบของพระวินัย ใครจะคัดค้านอย่างไร ให้คัดค้านตามหลักพระไตรปิฎกนะครับ ไม่ต้องมาว่าผมหรือคนที่เห็นไปตามแนวทางที่ผมเสนอเพราะนี่คือ แนวทางเดิมที่พระพุทธองค์ยืนยันไว้
@ เอาล่ะ ผมว่าบทความเรื่องนี้อาจจะหนักหน่อยสำหรับพระคุณเจ้ารู้สึกว่า การรับเงินทองเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามเหตุปรัมปรายะหรือการเชื่อต่อๆกันมาก แต่ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพระธรรมวินัย ดังนั้นผมจึงค่อยๆเปิดเผยในส่วนพระธรรมเนื้อหาที่เกี่ยวกับพระธรรมก่อนเป็นอันดับแรกๆ
ส่วนเรื่องพระวินัยเดี๋ยวผมจะว่าอีกทีในวันต่อไป เอาเป็นเรื่องๆไปครับเดี๋ยวหากไม่ครอบคลุมเดี๋ยวหลายท่านอาจจะหาว่าผมศึกษาแบบไม่รอบด้านผมว่าช้าหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอกนะครับ ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันค่อยๆว่ากันไปทีละนิดๆ
และสำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายก็อย่าพึ่งขัดเคืองนะครับ อย่ามาหาว่าผมชี้โพรงให้กระรอกเพื่อให้คนอื่นหยิบมาทำลายพระสงฆ์นะครับ เพราะนี่คือ “ความจริง” การแก้ไขปัญหาเรื่องเงินผมว่าต้องเริ่มต้นที่ “ความจริงนี้” เป็นเรื่องแรกก่อนจากนั้นค่อยหาทางลงหรือหาทางออกจากความจริงนี้ ใจเย็นๆกันหน่อยนะครับ อย่าพึ่งมาคัดค้านพระไตรปิฎก
เพราะการเสนอแนวคิดคัดค้านพระไตรปิฎกนั้นอันตรายมาก ใจเย็นๆแล้วศึกษาร่วมกันไปว่าที่สุดทางออกของเรื่องนี้มันจะมีอย่างไร สำหรับญาติโยมนานานุแฟนที่เป็น FC ผมต้องมีสติและเรียนรู้ไปพร้อมๆกับพระคุณเจ้าเปิดพระไตรปิฎกไปด้วยกัน
นี่แหละคือทางออกที่เป็นทางเดียวสำหรับอธิกรณ์เรื่องพระกับเงินนี้ เพราะหากเราไม่ออกทางพระไตรปิฎกแล้วผมเองก็ไม่เห็นว่าเราจะหาทางออกทางอื่นได้อย่างไร
@ ผมคิดว่าวันนี้หลายท่านคงได้รับความรู้มากขึ้นในเรื่องของนักบวชกับเรื่องเงินเรื่องทอง หรือการรับเงินรับทอง หากยังไม่เบื่อการอ่านผมว่าน่าจะต้องติดตามกันอีกยาว ขอขอบพระคุณทุกรูปทุกท่านที่ติดตามนะครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น