วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561

แนะแก้กม.คณะสงฆ์ยึดพระธรรมวินัยคู่หลักการบริหารสากล



แนะแก้ไขพรบ.คณะสงฆ์พ.ศ.2505 ยึดกรอบพระธรรมวินัยคู่หลักการบริหารองค์กรตามมาตรฐานสากล ทำระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ


วันที่ 25 มิ.ย.2561 ตามที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ www.krisdika.go.th ได้เผยแพร่การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้ส่งความเห็นภายในวันที่ 27 มิ.ย.นั้น นาวาตรีเกริก ตั้งสง่า อดีตกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อพระสงฆ์ไทย  ได้เสนอความเห็นว่า จากสภาพการปัจจุบันนี้เห็นควรอย่างยิ่งที่จะมีการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ใหม่ทั้งหมด โดยอยู่ภายใต้กรอบพระธรรมวินัย จารีตประเพณี กฎหมาย และการบริหารองค์กรที่ได้มาตรฐานสากล คือ มีสัปปายะ การบริหารดี กายภาพดี มีการติดตามประเมินผลและตัวชีวัดที่ชัดเจน โดยมีกฎหมายรองรับ ส่วนจะตั้งชื่อกฎหมายอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมอาจจะตั้งชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติบริหารกิจการคณะสงฆ์" ก็ได้ เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับแล้ว คณะสงฆ์ก็จะเป็นคณะสงฆ์เถื่อน

"ส่วนเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินั้น ควรจะมีการแบ่งอำนาจหน้าที่ของคณะสงฆ์สูงสุดหรือมหาเถรสมาคม(มส.) กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ให้ชัดเจน อาจจะมีรูปแบบเป็นองค์กรอิสระหรือรูปแบบใดที่เหมาะสมกับกาลสมัย โดย มส.นั้นมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลงานด้านพระธรรมวินัยและการเผยแผ่เป็นหลัก เพราะต้องเข้าใจว่างานพระพุทธศาสนาที่สำคัญนั้นก็คือการเผยแผ่ส่วนงานด้านอื่นเพียงการสนับสนุนส่ิงเสริมเท่านั้น ส่วน พศ.นั้นเป็นเครื่องมือของ มส.ขึ้นตรงกับ มส.โดยตรงแต่ยึดโยงกับส่วนราชการ ทำหน้าที่ให้การให้การสนับสนุน เสริมความรู้ด้านการบริหารงานสมัยใหม่ให้กับคณะสงฆ์ สร้างตัวชี้วัด และที่สำคัญยิ่งก็คือสร้างฐานข้อมูลบุคลากรคณะสงฆ์ให้ได้มาตรฐานและสามารถเชื่อมโยงกับระบบราชการได้ ซึ่งจะส่งเสริมการบริหารงานคณะสงฆ์ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น" นาวาตรีเกริก กล่าวและว่า

เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายคณะสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในกรอบความคิดดังกล่าวนี้แล้ว จะสามารถทำให้คณะสงฆ์๋มีนโยบายเชิงรุกสอดคล้องกับยุคไทยแลนด์ 4.0 มีโครงสร้าง ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนงาน และโครงการในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้

ขณะที่นาวาเอก (พิเศษ) ทองย้อย แสงสินชัย (ป.ธ.9) อดีตอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุีก"นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย" ความว่า

"ฤๅจะถึงคราเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน

ผมได้อ่านข้อความที่ตั้งชื่อว่า “การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ” ซึ่งเข้าใจว่าออกมาจากสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชิญชวนให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังที่ระบุไว้ในชื่อเรื่องนั้นแล้ว  ข้อความนั้นคงมีเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ทั่วกันแล้ว แต่เพื่อให้เห็นเป็นหลักฐานในที่นี้ทีเดียว และเพื่อญาติมิตรจะได้ไม่ต้องไปเที่ยวหาอ่านในที่อื่นให้ยุ่งยาก ผมจึงได้คัดข้อความมาไว้ในที่นี้แล้ว ขอเชิญญาติมิตรอ่านข้อความนั้น ต่อจากนั้นจะเป็นความคิดเห็นของผม 

การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505  ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 รับหลักการให้มีการจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 เมษายน 2560  ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มิถุนายน 2561  ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทําร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน ดังนี้ 

“สภาพปัญหา” มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าสมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล จึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทําให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจําเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังฆมณฑล จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่ เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร มีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลําดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนําให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ 

“หลักการใหม่” ให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคม โดยตําแหน่ง ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจํานวนเท่าเดิม (๒๐ รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ 

หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร 

ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้  จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561" ความคิดเห็นของผมมีดังนี้ 

ประการที่ 1  ในย่อหน้า “สภาพปัญหา” ข้อความตอนที่ว่า -- “นอกจากนั้นกรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญา หรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตําแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน” ผมอ่านแล้วรู้สึกขำลึกๆ ตรงที่ว่า “จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน” ก็ใครละครับที่ใช้วิธีจัดการแบบเอะอะโครมครามจน “ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน” แหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี พ่อแม่เราประพฤติชั่ว เราจะต้องไปยืนแหกปากด่าอยู่ตามสี่แยกเพื่อให้ “ไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใส” ด้วยหรือครับ? 

ประการที่ 2  ย่อหน้า “หลักการใหม่” นั้น สำคัญมาก อยากจะให้อ่านแล้วคิดหลายๆ ชั้น  หลักการก็คือ “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” อันนี้เป็นภาษากฎหมาย ต้องระวังให้ดี ตามตัวหนังสือนั้น “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง” แต่ตามข้อเท็จจริงหรือเวลาปฏิบัติจริงๆ พระมหากษัตริย์หาได้ทรงคัดสรรตัวบุคคลด้วยพระองค์เองไม่  ผู้มีบทบาทมีอำนาจคัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือ “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ซึ่งในที่นี้ระบุไว้ชัดว่าคือ “นายกรัฐมนตรี” ดังนั้น ผู้คัดสรรตัวบุคคลตัวจริงก็คือนายกรัฐมนตรี  พูดชัดๆ ต่อไปนี้-ถ้าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนี้ผ่าน-นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดสรรพระภิกษุที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมภิไธย “แต่งตั้ง” ตามภาษากฎหมาย 

โปรดสังเกตว่า ตาม “หลักการใหม่” นี้จำกัดพระสังฆาธิการระดับปกครองไว้เพียงเจ้าคณะภาค คือไม่รวมลงไปถึงเจ้าคณะจังหวัด  แต่ไม่มีปัญหาอะไร เปิดรูจมูกไว้ให้หายใจได้สักระยะหนึ่ง ถ้ากฎหมายนี้ผ่านได้สำเร็จ ในอนาคตจะขยายอำนาจการแต่งตั้งลงไปถึง เจ้าคณะจังหวัด  หรือเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะตำบล หรือแม้แต่เจ้าอาวาส ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด เพราะฉะนั้น ในอนาคตอันไม่ไกล เมืองไทยเรานี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าอาวาสทุกวัดทั่วราชอาณาจักร 

ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้น? กรุณาอย่าอ้างนะครับว่า-ถ้าเป็นเช่นนั้น โดยมารยาททางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็อาจจะมอบหมายให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่เป็นชาวพุทธเป็นผู้รับผิดชอบ  ที่ผมบอกว่ากรุณาอย่าอ้างก็เพราะว่า เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีใครรับประกันได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาจะมีมารยาททางการเมืองอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ถึงตอนนั้น นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะอ้างหน้าตาเฉยเหมือนที่มีผู้นิยมอ้างอยู่ในเวลานี้ว่า “ก็กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าทำตามกฎหมาย” ใครจะทำอะไรได้ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาอาจจะคัดสรร “พระ” ที่ตนกำกับดูแลได้เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะสงฆ์ไทยได้ตามสบาย ใครจะทำอะไรได้  ถ้าจะกำหนด “หลักการใหม่” ให้เหมาะสมแก่การที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ผมมีข้อเสนอดังนี้ 

ข้อหนึ่ง-ปรับแก้หลักการที่ว่า “ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง” โดยเพิ่มเติมข้อความว่า  “การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับชั้นให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” นั่นหมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงคัดสรรตัวพระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดก็สุดแต่พระราชอัธยาศัย นายกรัฐมนตรีหรือใครก็ตามไม่ต้องมายุ่งด้วย 

ข้อสอง-ถ้ายังต้องการจะให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ให้ได้ ก็ขอให้มีกฎหมายกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น” อย่างนี้จึงจะเป็นหลักประกันว่า แม้ฆราวาสจะเป็นผู้แต่งตั้งพระ แต่ฆราวาสผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธแน่ๆ ถ้าจะโต้แย้ง (ซึ่งต้องมีผู้โต้แย้งแน่นอน) ว่า ไปกำหนดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ผิดหลักประชาธิปไตย  ก็ต้องกำหนดหลักการใหม่ที่มีหลักประกันได้แน่นอนว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพระ-ถ้ายังยืนยันจะให้เป็นฆราวาส-ก็จะต้องเป็นชาวพุทธเท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้นับถือศาสนาอื่นเข้ามามีส่วนยุ่งเกี่ยวด้วยเด็ดขาด-ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุดอยู่แล้ว 

ประการที่ 3  ย่อหน้าสุดท้ายของข้อความเขียนว่า “จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไป ...”ผมคาดว่าคนไทยรุ่นใหม่ที่ส่วนมากไม่เคยเห็นความสำคัญของภาษาไทยอ่านข้อความตรงนี้แล้วคงไม่สะดุดใจอะไร  แต่ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ถูกสอนมาให้รู้จักระดับชั้นของภาษา อ่านแล้วก็สลดใจว่าบัดนี้ความเสื่อมทรามของภาษาไทยระบาดเข้าไปถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว  เวลาเราจะขอให้พระภิกษุทำอะไรสักอย่าง ภาษาไทยใช้ว่า “ขออาราธนา” หรือ “ขอนิมนต์” ส่วนคำว่า “ขอเชิญ” เราใช้สำหรับบุคคลทั่วไป  ในที่นี้เอ่ยถึง “บุคคลทั่วไป” ด้วยก็จริง แต่จะใช้คำว่า “ขอเชิญ” กับพระภิกษุนั้นย่อมไม่ชอบอย่างยิ่งด้วยหลักภาษาไทย 

อนึ่ง ในข้อความนี้เอ่ยถึงเฉพาะ “พระภิกษุ” 1 แปลว่า “สามเณร” ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ใช่หรือไม่ 3  แปลว่า “สามเณร” ไร้สิทธิเสียยิ่งกว่า “บุคคลทั่วไป” ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กที่ไหนก็ได้ ใช่หรือไม่  เผื่อว่าประเด็นนี้มีข้อกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าสามเณรไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ท่านผู้ใดทราบ ขอความรู้ด้วยครับ

แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมจะไม่แปลกใจเลย-ถ้าในที่สุดกฎหมายฉบับนี้ ตามหลักการใหม่ที่ร่างมานี้ก็ผ่านฉลุยด้วยดี-และขอให้ทุกท่านก็อย่าได้แปลกใจด้วยเช่นกัน การเปิดให้แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น  และความจริงมีอยู่ว่า วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก  สพฺพํ รฏฺฐํ ทุกฺขํ เสติ  ราชา เจ โหตฺยธมฺมิโก.
ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่ครองธรรม แผ่นดินก็เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ  ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก. ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองครองธรรม แผ่นดินก็ร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า 

ถ้าเมืองไทยยังมีโอกาสที่จะเลือกตัวผู้บริหารบ้านเมืองได้ ก็ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข้อเตือนใจเราทุกคนว่า จงช่วยกันอบรมสั่งสอนกล่อมเกลาลูกหลานไทยให้เป็นผู้ครองธรรมไปตั้งแต่เล็กแต่น้อย  เมื่อเขาเติบใหญ่ได้เป็นบริหารบ้านเมือง บ้านเมืองของเราจะได้มีผู้บริหารบ้านเมืองที่ครองธรรม แผ่นดินไทยก็จะร่มเย็นเป็นสุขถ้วนหน้า  ท่านจะหัวเราะเยาะว่าผมฝันบ้า-ก็เชิญตามสบาย แต่ถ้าเราไม่ฝันไว้แบบนี้ แล้วไม่พยายามช่วยกันทำให้ได้-โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนตั้งแต่วันนี้  วันหนึ่งเมื่อผู้ที่ไม่ครองธรรมเข้ามาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง เราจะเป็นบ้ากันทั้งแผ่นดิน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...