วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๒ ภาพรวมของพัฒนาการในยุคเปลี่ยนผ่าน


วันที่ 18 มิ.ย.2561 เฟซบุ๊ก Naga King หลังจากได้โพตส์ข้อความเกี่ยวกับ"ปัญหาเรื่องพระกับเงิน" ตอนที่ 1 ต่อมาได้โพสต์ตอนที่ 2 ความว่า 

ปัญหาเรื่องพระกับเงิน : พูดกันให้มันจบ ตอนที่ ๒ ภาพรวมของพัฒนาการในยุคเปลี่ยนผ่าน

@ สำหรับเรื่องพระกับเงินนั้นที่กำลังมีปัญหาอยู่นี้ในตอนที่ ๑ ผมเขียนจั่วหัวเรื่องไปเป็นการโปรยเรื่องก่อน แค่นั้นก็มีวิวาทะกันไปหลายนัยหลายมุม แต่สำหรับวันนี้ผมว่าก่อนที่เราจะไปสู่เรื่องรายละเอียดเรามาตั้งต้นกันก่อนดีไหมครับว่า

(๑) ถ้าจะคุยเรื่องเงินกับพระสงฆ์นั้นจะต้องคุยกันเรื่องหลักการก่อน ซึ่งคำว่าหลักการนั้นหมายถึงหลักของพระธรรมวินัยว่าพระวินัยพูดถึงเรื่องเงินกับพระไว้ว่าอย่างไรเอาให้ละเอียดชัดเจนก่อน เพราะหากหลักการชัดเจนแล้วเรื่องอื่นๆก็พลอยจะชัดเจนตามไปด้วย

(๒) เรื่องที่จะคุยต่อมาจากเรื่องหลักการก็คือเรื่องของการหาทางออกในเรื่องของหลักการนี้ว่า ถ้า (๑) หลักการตอบว่าไม่ได้ในยุคพุทธกาลในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ซึ่งผมว่าใครๆก็เถียงยากว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ตองยอมรับตามหลักการนั้นไปก่อน แต่ (๒) เมื่อหลักการว่าไว้เช่นนั้นแล้วต่อมา พระพุทธองค์ทรงวางเงื่อนไขที่จะคลี่คลายเรื่องเหล่านี้ในอนาคตอย่างไร เช่น (๑) ทรงเปิดช่องทางเรื่องนี้ไว้หรือไม่ (๒) ทรงวางหลักการที่เปิดช่องทางเหล่านี้ไว้หรือไม่ และ (๓)สงฆ์ยุคหลังพุทธปรินิพพานตัดสินอย่างไร เช่น ยุคพระมหากัสสปะเถระ ยุควัชชีบุตร

(๓) เมื่อหลักการและกรอบการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ชัดเจนแล้วต้องมาพิจารณาสภาพความเป็นจริงของสังคมเถรวาทยุคหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ คือยุคศรีลังกา เพราะยุคนี้เป็นยุคของเถรวาทเปลี่ยนผ่าน เป็นยุคที่มีการนำเอาหลัก (๑) หลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการมาใช้ (๒) หลักมหาปเทศ ๔ มาใช้เพื่อปรับพระวินัยให้เข้ากับสภาพของสังคม เช่น การปรับเรื่องน้ำปานะ ๘ ประเภทที่ทรงอนุญาตในยุคนี้มีการเพิ่มเข้าไปอีก ๔ เป็น ๑๒ ประเภท(วิ.อ. (บาลี) ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙.)

เพราะเหตุที่ว่าในศรีลังกามีผลไม้ที่เพิ่มมาจากอินเดีย พระเถระศรีลังกาก็ดำเนินการจัดการเพิ่มน้ำปานะเข้าไปอีก ๔ ชนิดซึ่งไม่ขัดกับสิ่งที่ไม่ควรก็ถือว่าควร(วิ.ม. (บาลี) ๕/๓๐๕/๙๐, วิ.ม. (ไทย) ๕/๓๐๕/๑๓๙-๑๔๐.) และไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงยาก คือให้เป็นไปเพื่อการเป็นผู้เลี้ยงง่าย(วิ.จู.(ไทย)๗/๔๐๖/...)

จากนั้นในยุคนี้ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของ (๑) ชาติ (๒) พระศาสนาก็คือมีการรบกันระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ตลอดเวลาทำให้มีการ (๑) จารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเพราะจะได้ง่ายแก่การอพยพและรักษาเนื้อหาของพระธรรมวินัยให้คงอยู่ (๒)มอบสมณศักดิ์ให้พระ (๓) จัดสังคายนาเป็นระยะๆ (๔) บางช่วงต้องนิมนต์พระออกมาเป็นทหารของพระราชาเพื่อทำหน้าที่ในการรบเพื่อป้องกันประเทศ

เนื่องจาก (๑)อำนาจรัฐ (๒)ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน คือ ถ้ารัฐอยู่ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่ได้ เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่าอำนาจ (อำนาจทางอาณาจักร) เป็นใหญ่ในโลก(วโส อิสฺสริยํ โลเก ใน สํ.ส. (บาลี) ๑๕/๗๗/๕๐, สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๗๗/๘๔.)

กล่าวคือ เมื่อรัฐมีความมั่นคงพระพุทธศาสนาก็มีความมั่นคงเพราะการที่รัฐให้การอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนาจึงจะเจริญรุ่งเรืองได้ พวกที่โลกสวยก็อย่ามา กระแดะพูดไปเลยว่า พระพุทธศาสนาอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอำนาจรัฐ อย่าไปยึดติดมากพระพุทธศาสนาอยู่ที่ใจ

พวกนี้เป็นคนที่พูดในมุมตัวเองโดยไม่มองบริบทภายนอกที่มีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง ในยุคศรีลังกานี่แหละที่ควรนำมาพิจารณาว่า “ทำไมเรื่องพระกับเงินถึงได้เกิดขึ้น” เพราะว่าเรื่องเงินกับพระมาพร้อมกับ

(๑) ความจำเป็นของสังคม ก็คือสังคมในยุคนี้มีความผันแปรบ่อยเกิดศึกสงครามบ่อยครั้งการจะมามัวหากัปปิยการกนี่มันเลยยาก รัฐแม้จะมีการให้การสนับสนุนในเรื่องกัปปิยการกแต่พอมีสงครามบ่อยครั้งเข้ากัปปิยการกก็ร่อยหรอลงเพราะตายในสนามรบบ้างถูกฆ่าบ้าง ที่สุดพระเลยต้องดูแลตัวเอง

เมื่อพระดูแลตัวเองประกอบกับผู้ปกครองก็ต้องหนีสงครามกับพวกทมิฬบ่อยๆบางคราวถึงขนาดต้องหนีขึ้นไปอยู่บนก้อนหินยักษ์ที่มีพื้นที่สร้างวังและทำไรไถนาบนนั้นได้ เพื่อให้รอดจากสงคราม พระก็หนีตามขึ้นไปด้วยเพื่อรักษาโยมและรักษากษัตริย์หรือเพื่อการรักษาจิตใจของคนเหล่านั้น

เมื่อพระต้องดูแลตัวเองก็เกิดความยากลำบากที่สุดพระมหากษัตริย์ทรงเห็นความลำบากของพระที่ท่านต้องทนทุกข์ลำบากไปด้วยกันจึงได้ถวายสมณศักดิ์พร้อมกับกัปปิยภัณฑ์ซึ่งมีเงินอยู่ในนั้นด้วยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและเปิดโอกาสให้พระท่านได้นำเงินไปสร้างวัด ผมว่าจุดเริ่มมันอยู่ตรงนี้เอง และคติเช่นนี้ก็เผยแผ่มายังพม่าในยุคมอญและต่อมาก็เป็นยุคพม่าจนมาถึงปัจจุบัน และเผยแผ่มายังไทยยุคสุโขทัยเรื่อยมาถึงอยุธยา

โดยเฉพาะอยุธยานี่ชัดเจนมากมีการถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์และมีศักดินาให้ตามฐานานุรูป โดยพระมหากษัตริย์ทรงดำริว่าการถวายความสะดวกให้กับพระก็ถือว่าเป็นการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอีกประการหนึ่ง เพราะฝ่ายอาณาจักรนั้นไม่มีเวลาไปดูแลรายละเอียดของพระมากสักเท่าไหร่ เมื่อถวายปัจจัยเจ้ากูไปแล้วก็สุดแท้แต่ว่าเจ้ากูจะเอาไปทำอะไร เพราะเรื่องพระเรื่องเจ้าท่านว่าให้ปล่อยเป็นเรื่องของท่าน

(๒) ความปรารถนาของรัฐหรือผู้ปกครอง คือ ความปรารถนาที่รัฐจะทำบุญกับพระเจ้าพระสงฆ์ในหมวดของกับปิยภัณฑ์เพื่อสร้างวัด สร้างอาราม ในมุมที่รัฐหรือผู้ปกครองต้องการบุญก็มีการถวายเงินหรือปัจจัยที่ยังชีพแก่พระสงฆ์ด้วยซึ่งความต้องการของพระมหากษัตริย์นั้นถือว่าเป็นที่สุดพระท่านก็รับ

เมื่อรับแล้วก็ให้กัปปิยการกดูแลไปตามเหตุปัจจัย ก็อย่างว่า อำนาจเป็นใหญ่ในโลก เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงปรารถนาพระท่านก็อนุโลมให้ถวายได้เมื่อถวายแล้วพระท่านก็เอาไปสร้างอารามหรือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจุดประสงค์ที่รัฐหรือผู้ปกครองต้องการถวายพระก็เป็นเพียงแค่นั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ถวายได้

ต่อมาชาวบ้านก็เอาอย่างบ้างก็ถวายทำบุญสร้างวัดสร้างศาลาเจดีย์กุฏิวิหารไปตามความศรัทธา พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ผมว่าความเป็นมาของพัฒนาการของพระกับการรบเงินในเชิงประวัติศาสตร์มันก็มีเพียงแค่นี้

@ ประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ ไอ้เรื่องพระรับเงินรับทองได้หรือไม่ได้นั้น ผมว่าเป็นเรื่องหลักการ หลักการนั้นผมจะนำมาพูดอีกทีแต่วันนี้ขอพูดภาพรวมก่อนเพื่อให้เห็นว่ากรอบพัฒนาการของเรื่องเงินๆทองๆของพระนั้นมันเป็นอย่างไร

ผมว่าสังคมไทยนี่เป็นสังคมตอแหลมานานที่ว่าแบบนั้นเพราะบางนิกายในบ้านเรานี้ประกาศไม่รับเงิน แต่รับซอง ผมว่ามันไม่เข้าท่าน รับซองมาก็มีเงินอยู่นั่นแหละ ขนาดวัดป่าฯยังเปิดแคมเปญรับบริจาคทองคำจากชาวบ้านได้เป็นพันล้าน ผมว่าอันนี้คืออะไร เรื่องเงินทองกับพระนี้ผมว่ายังไงๆผมก็คิดถึงพม่า พระพม่านี่ศึกษาพระไตรปิฎกเป๊ะเว่อร์เลยนะครับเขาศึกษาพระไตรปิฎกแน่นยิ่งกว่าเราเสียอีก

แต่เรื่องเงินพระพม่าท่านตอบง่ายๆว่า “มีอีกไหมโยม”พระพม่าท่านไม่เคยถามไม่เคยสงสัยตามสูตร “ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สงสัย” ถวายมาก็รับ รับมาก็สร้างต่อ เจดีย์จึงผุดขึ้นในดินแดนพม่าเป็นดอกเห็ดพวกท่าน(พระพม่า)ก็ไม่เคยมาบ่นเรื่องเงินว่ารับได้รับไม่ได้ ท่านเหล่านั้นรับมาสร้างและไม่คิดมาก

ศรัทธาโยมเมื่อหลั่งไหลมาแล้วก็อย่าไปปิดกั้นเมื่อวัดเข้มแข็งศาสนาก็เข้มแข็ง เมื่อพระอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ศาสนาก็อยู่ได้ พระพม่าท่านไม่เคยมาถามหรอกว่าเงินนี้มาอย่างไร หรือรับได้หรือรับไม่ได้ ท่านใช้หลักมหาปเทศ ๔ อย่างครบครันท่านไม่มาตอแหลสังคมหรือตัวเอง อาตมาจะทำ อาตมาต้องทำ ทำเพื่อพระพุทธศาสนา ไม่มามีข้อสงสัยอะไรทั้งนั้น

ดังนั้น ทหารพม่าจึงกลัวพระพม่าเพราะพระพม่าทำมากกว่าพูด (๑)ไม่มีข้อสงสัย (๒)ไม่มีรีรอ (๓)ไม่มีเวลาที่จะมาถกเถียงเพื่อหาคำตอบที่ไม่มีคำตอบ พระพม่าท่านเคยบอกกับผมมาแบบนี้ การมาเถียงกันการมาสงสัยกันมีแต่จะทะเลาะกันเพราะ (๑) การถกเถียงก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการยึดมั่นถือตัวถือตน (๒)การไม่ถกเถียงคือความเห็นพร้อมกันเห็นไปในแนวทาวเดียวกัน

ดังนั้น จึงจะพบว่าพระพม่าท่านไม่มีเวลามาเถียงกันท่านมีเวลาเฉพาะการสร้างความมั่นคงให้กับพระศาสนา และไม่มีชาวพุทธแบบบ้านของพม่ามาถกเถียงกันเรื่องเงินกับพระเพราะพวกเขาเห็นว่าเมื่อพระท่านโอเครพระท่านทำงานพวกเขามีเพียงข้อเดียวที่จะต้องทำก็คือ “ให้การสนับสนุนอย่างต็มที่”เพราะการสนับสนุนพระถือว่าได้บุญการสร้างวิหารลานเจดีย์ถือว่าได้บุญมามัวเถียงกันอยู่นี้มันจะได้อะไร

พระพม่าท่านบอกครับ ผมว่าเมืองไทย นักการเมืองไทยมันบ้า ตอแหล ความจริงก็คือมันอยากมาเอาตังค์วัด อยากทำลายความน่าเชื่อถือของวัดอยากเข้ามาตัดเส้นทางการเงินที่สนับสนุนวัดแค่นั้นเอง อย่าไปคิดอะไรมากความพูดที่ว่าต้องการรักษาพระศาสนาให้บริสุทธิ์มันเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้นเอง หมดหน้าเลือกตั้งพวกกะ เหรวกระราดนี่ก็เงียบหายไปเชื่อผมเถอะ เรื่องเงินผมอยากให้พระสงฆ์ไทย ชาวพุทธไทยเราทำแบบพม่า

(๑) อย่าไปอ่อนไหวกับพวกนี้ 
(๒)เดินหน้าทำงานเพื่อพระศาสนา 
(๓) อย่าไปสนใจคำพูดคนที่เป็นเหมือนคนบ่นข้างทางที่พวกนี้ไม่เคยแม้แต่จะเข้าวัดนั่งมโนอยู่แต่ในห้องแอร์พวกที่พูดนี่มีเงินเป็นร้อยล้านจะมารู้อะไรกับความยากลำบากในชีวิตหรือความอดทนในการสร้างวัดวาพระศาสนาของพระสงฆ์องคเจ้าทั้งหลาย

เมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวพุทธเราเข้มแข็งเดินหน้าต่อไปโดยวางยุทธศาสตร์อยู่ที่การทำงานเพื่อพระศาสนาให้มากขึ้นกว่าเดิม คือ

(๑) พระผู้ใหญ่ก็อย่าสะสมเงินทองหรือรถหรูๆมากนักสะสมมาทำบ้าอะไรก็ไม่รู้ สู้เอาเงินไปช่วยวัดเล็กๆดีกว่าจะมาสะสมรถหรูหรืออะไรเทือกนั้น

(๒) อย่ามีคติอรหันตนิยมมาก พระพม่า พระลาวเขาไม่ได้แสวงหาพระอรหันต์เขาแสวงหาพระทำงานพระของสังคม บ้านเรานี่แปลกแสวงหาพระอรหันต์สุดท้ายแล้วเป็นยังไง ไปเจอแต่อรหันต์..อย่างอื่นแทน พระผู้ใหญ่ต้องเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือ

(๓) สถาบันทางการศึกษาของสงฆ์ก็ต้องเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ คือเรียนเพื่อให้อาจหาญไม่ใช่เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ พม่าเขาเรียนเพื่อออกเทศน์ให้ได้ ออกสู้กับภัยศาสนาได้ แต่บ้านเราเรียนเพื่อเกียรติเพื่อยศเพื่อหน้าตาทางสังคมเรียนแบบไม่รู้เรื่องอะไรขอแต่ให้จบๆ เรียนเพื่อลาภสักการะ

ปรับเถอะครับ ปฏิรูปเถอะครับกับแนวทางในการที่จะสร้างสรรค์ คือปฏิรูปนโยบายมากกว่าที่จะมาปฏิรูปอะไรๆแบบที่ชาวบ้านเขาเสนอพระควรปฏิรูปการศึกษามาเป็นเรื่องแรกเพราะการศึกษาของพระตอนนี้ไปไม่ถึงไหน

ผมสังเกตว่าที่วงการพระสงฆ์เราไม่ไปถึงไหนไม่เข้มแข็งเพราะเราขาดองค์กรนำ องค์กรนำเราไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลย ไม่มีกรอบในการพัฒนาอะไรเลย คิดกันแบบรายวันคือวันต่อวันไม่คิดว่าอนาคตพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร ทิศทางของพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร

เราจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่นี้อย่างไร เมื่อปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเราจะแก้ไขกันอย่างไร นิมนต์พระผู้ใหญ่ไปดูรอบๆบ้านบ้าง แล้วนำมาปรับปรุงการพระศาสนาในบ้านเมืองเราให้ดีขึ้นไม่ใช่ไปเที่ยวแต่อเมริกา อังกฤษ สวีเดน เยอรมันเพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ยามที่โดนคดีความ

ผมว่าหันกลับมาเที่ยวดูงานพระศาสนาที่พม่า ลองๆเอามาปรับให้เป็นแบบไทยๆก็ได้ผมว่านะครับ ปัญหาคณะสงฆ์บ้านเราตอนนี้มันมีอยู่ที่การติดลาภสักการะของพระระดับนำ ที่ออกจะเห็นแก่ตัวไปนิดที่ไม่ยอมคิดถึงสังคม คิดถึงชาวบ้านที่เขาว่ายิ่งสูงยิ่งหนาวนี่เป็นแบบนี้เลยพระผู้ใหญ่บ้านเราเมืองเรา เมื่อมียศมีตำแหน่งสูงมากเท่าไหร่จำนวนเงินในบัญชียิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีเงินมากผมไม่ได้อิจฉาดอกครับ

แต่หากมีมากๆก็เผื่อแผ่ไปยังวัดที่ยากจน ชุมชนที่ขาดๆเกินๆบ้างและที่สำคัญให้ทุนพระเณรไปเรียนในระดับสูงๆเพื่อกลับมาทำงานให้พระศาสนาบ้าง ไม่ใช่เอาแต่กอบและโกยแน่บไปอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอย่างที่อาจารย์บรรจบว่า “พระพุทธศาสนาอยู่ได้ สังคมไทยทุกสถาบันก็อยู่ได้” แต่นี่ที่ผ่านมายามสงบสุขเราลืมพระหนุ่มเณรน้อย แต่เวลาใกล้ตายให้พระหนุ่มเณรน้อยออกมาช่วย แบบนี้ผมว่ามันจะคุ้มอะไรกับการที่พระหนุ่มเณรน้อยจะออกมาปกป้องท่านในนามการปกป้องพระพุทธศาสนา

ผมว่าภายหลังขากเหตุการณ์ควันตลบฝุ่นคลุ้งนี้แล้วก็ปรับตัวเสีย ปรับองค์กรเสียถ้าท่านไม่ปรับชาวบ้านเขาจะมาปรับท่านเอง ทีนี้แหละจะหนาวเข้าไส้เลยทีเดียว เพราะการที่คณะสงฆ์เราเองไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง ลุ่มหลงในลาภยศสรรเสริญสุขกันมานาน พอมีเรื่องมีราวก็เงียบเป็นป่าช้า พูดอะไรไม่ได้ ความอาจหาญไม่มีหายไปหมด

@ เรื่องพระกับเงินผมว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยถ้าหากพระผู้ใหญ่หรือคณะสงฆ์เข้มแข็งก็ออกมาบอกเสียว่าสรุปจะเอาอย่างไรเรื่องนี้มันก็จบแต่หาใครล่ะจะออกมาบอกเพราะกลัวๆกันทั้งนั้น เพราะอย่างไรเสียตอนนี้พระเราแทบจะบอกว่าหาองค์กรนำที่สามารถจะออกมาตอบปัญหาอะไรในช่วงนี้ไม่ได้เลย มันเหมือนสุญญากาศด้วยซ้ำไป

อย่าลืมว่าเรื่องเล็กๆจะกลายมาเป็นเรื่องใหญ่ๆเพราะการที่ไม่ออกมาชี้แจงหรือเพราะการไม่ออกมายุติปัญหาพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสว่าหากไม่ระงับอธิกรณ์เสียได้จากอธิกรณ์เล็กๆจะลุกลามเป็นอธิกรณ์ใหญ่และขยายวงกว้างออกไปไม่มีที่สิ้นสุดตัวอย่างเรื่องพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเป็นตัวอย่างแค่เรื่องไม่ราดน้ำในรางน้ำหลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วเท่านั้นเองเรื่องมันก็ลุกลามใหญ่โตจนไม่อาจจะแก้ไขได้เลยอันนี้ก็มาจากสาเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ณ เพลานี้ผมว่าเรื่องพระกับเงินเป็นเรื่องเล็กๆแต่ก็ไม่เคยมีพระผู้ใหญ่ออกมาให้คำตอบเลยมีแต่นักวิชาการกระจิ๊บกระเจี๊ยบที่พากันออกมาให้ข่าวให้ความกระจ่างกันตามภูมิปัญญาของตัวเองมากบ้างน้อยบ้างก็ถือว่ายังได้ทำหน้าที่ของความเป็นชาวพุทธที่ยังรักและหวงแหนพระศาสนา การเรียกร้องหรือการเรียกหาไม่ได้ว่าจะเป็นการกล่าวหาหรือทำร้ายนะครับเพียงว่าอยากเห็นท่านที่ออกมาเป็นที่พึ่งกับพระหนุ่มเณรน้อยในยามยากเช่นนี้ยามที่อึมครึมไม่กระจ่างแบบนี้

ผมว่าชาวพุทธโดยทั่วไปคิดเป็นห่วงพระพุทธศาสนาแต่อย่างว่าปัญหาบางเรื่องเป็นเรื่องของพระเจ้าพระสงฆ์ชาวบ้านก็เป็นแต่ผู้ให้ความรู้ตามหลักการ บรรยากาศความอุ่นใจนั้นหากับชาวบ้านกันเองก็ได้เพียงนิดหน่อย แต่หากมีพระออกมาเป็นที่พึ่งบ้างผมคิดว่าบรรยากาศความอบอุ่นจะมีมากกว่านี้

@ เอาล่ะวันนี้คิดว่าเดิมทีจะพูดน้อยๆเพื่อให้เห็นกรอบในการพูดเรื่องของพระกับเงิน แต่เมื่ออารมณ์มันพามาจนถึงจุดพีคที่หวนกลับไม่ทันก็เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้ แต่ผมว่าก็ดีเหมือนกันว่าก่อนที่จะเข้าถึงสาระก็ดูบริบทภายนอกก่อนจะได้พอมองเห็นภาพรวมว่าเรื่องพระกับเงินนั้นมีความเป็นมาอย่างไรก่อน เพราะจะพุ่งเข้าไปพูดในพระไตรปิฎกอย่างเดียวก็จะได้อะไรแบบเพียวๆมาบางทีอาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงใจเลยทีเดียวก็ได้

อนึ่ง การพูดถึงภาพรวมจะทำให้เราไม่ยึดเข้าข้างตัวเองว่าที่เราพูด ที่เราเชื่อนี้เท่านั้นเป็นจริงที่คนอื่นเชื่อหรือคนอื่นพูดนั้นมันไม่จริง เพราะเวลานี้ที่ผมเห็นพูดๆกันก็ไม่ค่อยฟังกันเท่าไหร่จะเอาแต่ว่ากูถูกๆมึงผิดๆผมว่ามองรอบด้านเสียก่อนก็ไม่เสียหายดอกครับ ดูพระภิกษุชาวออสเตรเลียที่มาบวชและไปอยู่บนภูเขากับชาวบ้านบนเขาท่านมีแค่ผ้าสามผืนบาตรหนึ่งใบทำงานไม่สะสมได้มาให้ต่อยิ้มกับความทุกข์ของชาวบ้าน ผมว่าพระไทยหลายรูปโดยเฉพาะสายห้องแอร์ทั้งหลายคงอายกัน เพราะไม่เคยมีโมเม้นนั้นในชีวิต

จึงควรทีเดียวที่ (๑) พระสงฆ์หน่วยนำหรือองค์กรนำของพระสงฆ์จะต้องหันมามองพระในชนบทบ้าง (๒) ชาวพุทธที่มีฐานะร่ำรวยควรที่จะต้องหันมาให้การสนับสนุนพระในชนบทบ้าง เพราะสังคมทุกวันนี้นั้นเป็นสังคมแห่งการแข่งขันและแก่งแย่งกันกินกันอยู่

ทุกคนต่างมุ่งสู่สังคมเมืองไม่สนใจหรือละเลยสังคมชนบททำให้สังคมชนบทเป็นสังคมที่ขาดกำลังคนขาดหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพราะสังคมชนบทได้กลายมาเป็นสังคมที่ถูกทอดทิ้งเพราะอำนาจของกระแสโลกยุคใหม่ที่ถามโถมเข้ามาอย่างรนแรงทำให้หลายคนในสังคมเมืองต้องเอาตัวรอดเพียงลำพังมากกว่าการที่จะคิดถึงคนอื่นหรือสังคม

@ เอาล่ะครับวันนี้เอาเพียงแค่นี้ก่อนครับ

Naga King
19 06 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...