วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รัฐบาลควรช่วยจัดการปัญหาการเงินให้พระสงฆ์อย่างเป็นระบบทั่วราชอาณาจักรอย่างไร?



วันที่ 16 มิ.ย.2561 Ñāṇasaṃvara Centre for Buddhist Studies-ศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวร ได้โพสต์ข้อความว่า รัฐบาลควรช่วยจัดการปัญหาการเงินให้พระสงฆ์อย่างเป็นระบบทั่วราชอาณาจักรอย่างไร?:

๑.พระวินัยมองการจับเงินของพระภิกษุอย่างไร?

พระวินัยมีข้อความชัดเจนว่าห้ามพระสงฆ์จับเงิน ใครจับต้องสละเสียจึงจะปลงอาบัติตก อาบัติชนิดนี้จึงเรียกว่าเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (อาบัติปาจิตตีย์ที่ต้องแล้วภิกษุต้องสละทิ้งถึงจะปลงอาบัติตก)

มีเรื่องเล่าในวินัยปิฎก (วิ.มหา.๒/๑๐๕/๙๐)ว่าสมัยหนึ่ง พระอุปนนทศากยบุตรเข้าไปรับอาหารฉันที่บ้านทายกประจำ มีอยู่วันหนึ่ง ทายกที่อุปถัมภ์ได้เตรียมเนื้อไว้ทำให้ฉันตอนเช้า แต่ตอนกลางคืน เด็กในบ้านอยากกิน จึงให้เด็กกินไป พอพระอุปนนทศากยบุตรมาจะฉันเหมือนเดิม แต่ไม่มีเนื้อถวายแล้ว จึงให้เป็นเงินไปหาซื้อฉันเอง

พระอุปนนทศากบุตรก็รับเงินไป เมื่อความทราบถึงพระ พุทธเจ้า พระองค์ทรงตำหนิ แล้วทรง บัญญัติสิกขาบทเอาไว้ในพระวินัยปิฎก (วิ.มหา.๒/๑๐๕/๙๐) ว่า โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ (อนึ่ง ภิกษุรูปใด พึงรับก็ดี พึงให้คนอื่นรับก็ดีซึ่งทองและเงิน หรือพึงยินดีทองเงินที่ผู้อื่น เก็บไว้ก็ดี ต้องอาบัติ นิสสัคคิยปาจิตตีย์)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงอธิบายว่า:-

‘ทองเงินนั้นอันเขาทำเป็นรูปพรรณแล้วก็ตาม อันเขาไม่ได้ทำแล้ว ยังเป็นแท่งเป็นลิ่มอยู่ก็ตาม เป็น รูปิยะคือของสำหรับจ่ายก็ตาม โดยที่สุด ของที่ไม่ใช่ทองเงิน แต่ใช้เป็นรูปิยะได้ก็นับว่า ทองเงินใน ที่นี้ ข้อว่ายินดีทองเงินอันเขาเก็บ ไว้ให้นั้นแต่ลำพังจิตตุปบาท ไม่น่าจะเป็นอาบัติ จำจะหมายถึงรับ ถือกรรมสิทธิ์ในของนั้น... อาบัติในสิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะ เรื่องนี้แต่แรกดูเหมือน ห้ามเป็นกวดขัน แต่ภายหลังมีพระพุทธานุญาตในที่อื่นผ่อนลงมา ถ้าคฤหัสถ์เขาเอารูปิยะมอบไว้ใน มือกัปปิยการก สั่งไว้ว่าจง จัดหาของอันเป็นกัปปิยะถวายภิกษุ สิ่งใดเป็นของควร ทรงพระอนุญาตให้ยินดีของ นั้นแต่รูปิยะนั้นได้ แต่ห้ามมิให้ยินดี ตัวรูปิยะนั้น แม้เช่นนี้ก็ไม่ผิดอะไรนัก จากข้อว่ายินดีทองเงินอัน เขาเก็บไว้ให้ เป็นแต่ยักเสียว่าอย่า ถือเอากรรมสิทธิ์ในทองเงินนั้น แต่ถือเอากรรมสิทธิ์ในอันที่ จะได้ของเป็นกัปปิยะแต่ทองเงิน นั้นได้ อยู่ เรื่องนี้ ทรงพระปรารภเศรษฐีเมณฑกะ เป็นผู้ทำขึ้นก่อน ทรงพระ อนุญาตไว้จึงเรียกว่า เมณฑกานุญาต’ (วินัยมุขเล่ม ๑ หลักสูตรนักธรรม ชั้นตรี จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๒ หน้า ๑๐๒)

อาจารสุชีพ ปุญญานุภาพอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าหลังจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระ ภิกษุรับเอง ให้ผู้อื่นรับหรือยินดีเพื่อตนแล้ว ‘ภายหลัง ทรงอนุญาตให้ยินดีปัจจัย ๔ ได้คือทายก มอบเงินไว้แก่ไวยาวัจจกรเพื่อให้จัดหาปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง ยารักษาโรค ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดหาให้จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย ๔’ (พระไตรปิฎกฉบับ สำหรับประชาชน พิมพ์พ.ศ. ๒๕๓๙ หน้า ๑๕๙)

สรุปพระวินัยข้อนี้ว่า ๑.ห้ามพระภิกษุจับเงินทอง ๒.มีคนบริจาคเงินมา ให้กัปปิยการกหรือ ไวยาวัจกรเก็บไว้ให้ได้อยู่ ๓.พระสงฆ์ไม่ควรยินดีในตัวทองเงินที่ไวยาวัจกรเก็บไว้เมื่อมีคนบริจาค แต่ควรยินดีในวัสดุหรือสิ่งของที่ไวยาวัจกรจะเอาเงินนั้นไปซื้อถวาย

แปลว่าพระภิกษุสามารถมีเงิน ได้ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นเป็นความจำเป็นเมื่ออยู่ในสังคมอยู่ แต่ควรมีผู้ที่จะเก็บเงินไว้ให้พระภิกษุ ซึ่งเรียกกันว่าไวยาวัจกร เมื่อพระภิกษุต้องการสิ่งใด ก็แจ้งไวยาวัจกรไปจัดหาตามมูลค่าเงินที่มีนั้น พระภิกษุจะยินดีในวัสดุที่ไวยาวัจกรซื้อให้นั้นได้ แต่ไม่ควรยินดีในตัวทองเงินเพราะ จะทำให้เกิดการ สะสมยิ่งขึ้นเหมือนชาวบ้าน

๒.ปัญหาเรื่องพระภิกษุจับเงินทองนี้เคยเป็นหนึ่งในสาเหตุ ๑๐ ประการของการเกิดทุติยสังคายนามาแล้ว สมัยนั้น มีพระภิกษุชาววัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี วางถาดทองสัมฤทธิ์ไว้ท่ามกลางสงฆ์ใน วันอุโบสถเพื่อขอรับบริจาคเงินทองจากชาวเมืองเวสาลีโดยอ้างเหตุผลว่าจำเป็นต้องเอาไว้ซื้อบริขารสำหรับพระสงฆ์

พระเถระรูปหนึ่งนามว่าพระยศกากัณฑกบุตรทราบเรื่องเข้า ท่านมองว่าเป็น ศาสนวิบัติ (ยฺวาหํ ทสพลสฺส สาสนวิปตฺตึ สุตฺวา...) และมองพระชาววัชชีบุตรเหล่านี้เป็นอธัมมวาที จากนั้น ท่านก็นำไปเป็นเหตุ ให้เกิดมีการจัดทุติยสังคายนาเพื่อชำระพระศาสนาให้บริสุทธ์มาแล้ว

เพราะฉะนั้นพระวินัยในเรื่องจับเงินทองของพระภิกษุนี้จึงไม่มีอะไรสลับซับซ้อน คำอธิบายของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิราณวโรรสและอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพชอบด้วพระวินัย ชอบด้วยประเพณีของพระสงฆ์เถรวาทสายพระไตรปิฎกบาลีแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปตี ความใดๆ ปัญหาของสงฆ์ในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ (interretation) แต่เป็นเรื่อง การนำหลักพระวินัยไปใช้ (application) ว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะแก่พระภิกษุซึ่งเป็นเพศบรรพชิต

ประเด็นสำคัญก็คือแม้ว่าพระวินัยจะมีช่องทางให้คณะสงฆ์มีกัปปิย การกหรือระบบไวยาวัจกรเพื่อให้ชีวิตพระภิกษุสอดคล้องกับพระวินัยมากขึ้น แต่พระสงฆ์ในหลายๆ วัดก็ยังหันมาจับจ่ายเงินทอง ด้วยตนเองจึงสุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหาการฉ้อโกงตามมาได้ง่าย

มีพระสงฆ์จำนวนมากรักษาพระวินัยข้อนี้ไม่ได้ จึงจับต้องเงินเวลาใช้จ่ายเป็นอาจิณ พูดง่ายๆ ว่ามองข้ามพระวินัยบัญญัติข้อนี้ไป แม้จะไปลงสวดพระปาติโมกข์เพื่อปฏิญาณว่าจะรักษาศีล ๒๒๗ ข้อก็สักสวดแต่พอเป็นพิธี สิ้นพิธีสวด พระสงฆ์หลายรูปก็กลับไปจับเงินเหมือนเดิม และขณะนี้ก็ มีหลายรูปเรียกร้องให้เพิกถอนสิกขาบทข้อจับเงินนี้เสียเพื่อตนจะได้จับจ่ายใช้เงินได้สะดวกยิ่งขึ้น

โดยปรกติ ธรรมเนียมพระสงฆ์ธรรมยุต ทั้งส่วนที่เป็นคามวาสีและอรัญญวาสีไม่จับเงิน ให้ไวยาวัจกร จัดการให้ อาจจะมีพระหนุ่มเณรน้อยที่ต้องเดินทางไปโน่นมานี่จับจ่ายซึ่งก็คงเป็นส่วนน้อย ส่วน พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายส่วนใหญ่จับกันเป็นปรกติ ผมเห็นพระราชาคณะและพระสงฆ์ทั่วไป จับกัน เป็นอาจิณ มีส่วนน้อยที่ไม่จับ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และพระสงฆ์ กรรมฐานสายพระโพธิาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ผมเคยลงพื้นที่ไป ศึกษาว่าพระสงฆ์กรรมฐานสายหลวงพ่อชาไม่จับจริงหรือไม่? ไปพบท่านในสอง สามสำนัก ปฏิปทาของท่านเหมือนกันกับพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตทั่วไปคือไม่จับ ใช้ไวยา วัจกร ถ้ามีพระในเมืองสายมหานิกายไปอยู่ด้วยและจับให้เห็นท่านก็จะแสดงอาการรังเกียจเช่นกัน

๓.ปรกติ ในพระวินัย ไม่เพียงการจับเงินจะถือว่าต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์เท่านั้น ยังเป็นวัตถุ อนามาส (สิ่งที่ภิกษุสามเณรไม่พึงจับต้อง)อีกต่างหาก ซึ่งห้ามพระจับต้อง หากใครจับต้องเป็นอาบัติ ทุกกฎ ข้อสำคัญ แม้ว่าการจับทองเงินหรือจับ ต้องวัตถุอนามาสจะต้อง อาบัติแค่นิสสัคคิย ปาจิตตีย์ และทุกกฎซึ่งถือกันว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย

แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว แม้อาบัติจะดูเล็กน้อย เมื่อทำบ่อยๆ เข้า พระภิกษุรูปนั้นก็เข้าข่ายเป็นอลัชชี จงใจละเมิดพระวินัยอย่างไร้ยางอาย ถึงแม้จะเป็นอาบัติเบา แต่ไม่ได้แปลว่าพระภิกษุจะต้องมอง ข้ามแล้วไม่ถือปฏิบัติ หากพระภิกษุละเมิดบ่อยๆ หลายครั้งเข้าก็สามารถกลายเป็นอาบัติหนัก และสามารถถูกจับสึกตามมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ (ปรับปรุงใหม่ พ.ศ.๒๕๓๕) ซึ่งมีว่า

‘เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วย กรณีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ (๒) ประพฤติล่วง ละเมิดพระธรรมวินัย เป็นอาจิณ...ให้พระภิกษุรูปนั้น สละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎมหาเถร สมาคม’

ด้วยเหตุนี้ ถ้ามีพระภิกษุยืนยันว่าจะขอจับเงินในชีวิตประจำวันต่อไป ทางการก็มีอำนาจจะจับสึก ตามพรบ.นี้ได้เพราะเข้าข่าาละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ

ชาวพุทธต้องระลึกไว้เสมอว่าพระเถรวาทจะไ่ม่เพิกถอนสิกขาบทใดๆ ของพระพุทธเจ้า และพระธรรมวินัยคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า คือศาสดาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงล่วงลับไป


๒.คำถามคือจะแก้ปัญหาอย่างไรให้พระสงฆ์ระมัดระวังในการจับจ่ายใช้เงิน?

คำตอบก็คือผมเสนอให้ ตั้งธนาคารพุทธขึ้นมา ร่างพรบ.นี้มีชื่อว่า ร่างพรบ. ธนาคารเพื่อกิจการทางพระพุทธศาสนา ที่จริง เรื่องนี้มีกลุ่มนักวิชาการชาวพุทธเคย ศึกษาและนำร่างเสนอ รัฐบาลไปแล้วหนหนึ่ง แต่รัฐบาลปฏิเสธ ศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวรจึงนำมาศึกษาใหม่ว่ารัฐบาลไม่รับร่างเพราะอะไร มีจุดบกพร่องตรงไหนและจะแก้ไขร่างอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยมีท่านศ.พิเศษวิชา มหาคุณเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ผมทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

ทั้งนี้ ศูนย์ได้จัดประชุมเสวนาในหมู่นักวิชาการชาวพุทธไม่น้อยกว่า ๕ ครั้งก่อนจะได้บทสรุปเป็นร่างในปัจจุบัน

ประเด็นใหญ่ของชาวพุทธในเวลานี้คือระบบการจัดการเงินในวัดมีปัญหา เจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์มักเปิดบัญชีธนาคารในชื่อส่วนตัวเพื่อระดมเงินเข้าวัด แล้วไม่มีการตรวจสอบ ว่านำเงินบริจาคไปใช้ ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หลายรูปนำเงินไปใช้ส่วนตัวทำให้สุ่มเสี่ยงต่ออาบัติปาราชิก

ธนาคารนี้มีลักษณะสำคัญที่พอจะอธิบายได้โดยย่อดังนี้ครับ:-

ก.ธนาคารนี้จะดูแลบัญ ชีค่าใช้จ่าของวัดให้เกิดความโปร่งใสให้ ธนา คารนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกวัดต้อง ฝากเงินเข้าธนาคาร แต่วัดไหนก็ตามที่ฝากเงินเข้าธนาคาร ธนาคาร จะดูแลการทำบัญชีให้สอด คล้องกับระเบียบราชการให้ ชาวพุทธ อุปถัมภ์บำรุงหรือมีศรัทธา บริจาคเงินแก่วัดไหนก็สามารถ บริจาคเงินเข้าเลขบัญชีวัดนั้น ผ่านบาร์โค้ด ได้โดยตรง เงินทุกบาท ทุกสตางค์ก็จะเข้าวัดนั้น เมื่อ เงินบริจาคเข้าไปวัดใดวัดหนึ่ง พระสงฆ์ในวัดตั้งก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ทั้งพระทั้งฆราวาส โดยมีไวยาวัจกรเป็นคณะ ทำงานถวายวัด กรรมการวัดจะทำหน้าที่พิจารณาว่าควรนำเงิน ที่ประชาชนบริจาคไปทำอะไรบ้าง

วัดแต่ละวัดนอกจากจะนำไปใช้เพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าบำรุงรักษาเสนาสนะแล้ว ควรจะมียุทธ ศาสตร์ในการ พัฒนาที่เป็นโมเดล ชัดเจนคล้ายๆกัน เช่น ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการ สาธารณูปการ, ยุทธ ศาสตร์ในการเผยแผ่พระศาสนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย, ยุทธศาสตร์มียุทธ ศาสตร์ในการทำ สาธารณสงเคราะห์, ยุทธศาสตร์ในการสร้างคน โดยมอบทุนการศึกษาให้ แก่พระ ภิกษุสามเณร ในวัดตนเพื่อพัฒนาให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถของชาติ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เมื่อบุคลากรในวัดมีการศึกษาดีขึ้นก็จะกลับมาพัฒนาวัดของตนเองให้ดีขึ้นตามมา

วัดแต่ละวัดหากมีเงินทำบุญเข้ามากก็อาจพิจารณาซื้อยานพาหนะในรูปแบบรถตู้เพื่อสะดวกในการจัดส่งพระภิกษุสามเณรของตนไปเรียนยังสำนักศึกษาบาลีหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ ให้ไวยาวัจกรจัด ซื้ออุปกรณ์ การศึกษาถวายพระสงฆ์ในวัดโดยพระสงฆ์ในวัดแทบ จะไม่จำเป็นต้องถือเงิน ทองติด ตัวเลย

พูดง่ายๆ ว่าธนาคารเพื่อกิจการทางพระพุทธศาสนาแก้ปัญหาให้การใช้เงินของพระสงฆ์ มีความเป็น ระบบมากยิ่งขี้น ยิ่งคณะสงฆ์มีการจัดรูปแบบกัปปิยการกหรือไวยาวัจกรให้เป็นระบบ มีคณะบุคคล เข้ามาช่วยดูแลพระภิกษุสามเณรในการใช้เงิน ก็จะทำให้เกิดความโปร่งใสใน การใช้เงินในหมู่พระสงฆ์มากขึ้น

ข.ธนาคารเพื่อกิจการทางพระพุทธศาสนาตามร่างที่พูดถึงข้างต้นเน้นระบบการเงินระดับจุลภาคหรือเป็นสถาบันการเงินแก่ผู้กู้รายย่อย (micro-finance) ให้กู้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในวงเงินไม่เกิน ๒ แสน บาทและยึดธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในบางกลาเทศเป็นต้นแบบ ไม่สุ่มเสี่ยงต่อ การขาดทุนเหมือนธนาคารอิสลามหรือธนาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไปเพราะมีระบบการบริหารกิจการ แบบพิเศษ

ผมได้เดินทางไปสัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของธนาคารนี้ เมื่อปีที่แล้ว พบว่าบางปีธนาคารนี้ไม่มีหนี้เสียเลย ถึงจะมีหนี้เสียก็ไม่เกิน ๒% เท่านั้น

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของร่างพรบ.นี้ระบุว่าผลกำไรที่เกิดจากการบริหารงานของธนาคารหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว คืนกำไรสู่สังคม โดยมอบ ๓๐% เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาซึ่งแน่นอน สามารถนำไปซ่อมแซมกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ที่ชำรุด นำไปพัฒนางานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดีขึ้นสอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร หรือให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนา งานทางพระพุทธศาสนาได้

ผมมีความมั่นใจ ว่าถ้ารัฐบาล คสช.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารนี้ให้เกิดขึ้น จะแก้ปัญหาการเงินของพระภิกษุสามเณรได้มาก ข้อสำคัญกรรมการผู้จัดการธนาคารกรามีนสำนัก งานใหญ่ในกรุง ธากาได้ปวารณาว่าถ้าคนไทจะตั้ง ธนาคารที่มีหลักปรัชญาเหมือนธนาคารกรามีน ยินดีจะส่งทีมงาน มาช่วยในการจัดตั้ง

ผมเขียนถึงธนาคารนี้ในบทความนี้โดยสังเขปไว้เท่านี้ ปัจจุบัน ร่างพรบ.ธนาคารนี้อยู่ ที่ท่านดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งผมนำไปมอบให้ท่านแล้ว ถ้ารัฐบาลต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ผมยินดีไปอธิบายครับ

ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์
อาจารย์ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวร มูลนิธิ ๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระญาณสังวรานุสรณ์ ในพระสังฆราชูปถัมภ์
๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...