วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เผยสมณศักดิ์เมียนมาแบ่งเป็น๒กลุ่ม๓ชั้นสายวิชาการ-เผยแผ่-กรรมฐาน



สมณศักดิ์ของพม่ากับของไทยนั้นมีส่วนที่เหมือนกันคือมีจุดเริ่มมาจากศรีลังกา โดยสมณศักดิ์ พม่าในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกแบ่งได้เป็น ชั้นต้น ชั้นกลาง และชั้นสูง ในกลุ่มนี้จัดได้หลักๆด้วยกัน ๓ สาย คือสายวิชาการ สายเผยแผ่ และสายกรรมฐาน ในแต่ละสายแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ดังนี้ 

สายวิชาการ เรียกว่า คัณธะวาจะกะ แปลว่า ผู้สอนพระคัมภีร์หรือตำรา สมณศักดิ์นี้มอบทั้งแก่พระสงฆ์และแม่ชี 

ชั้นต้น เรียกว่า มูละคัณธะวาจะกะ 
ชั้นกลาง เรียกว่า มหาคัณธะวาจะกะ 
ชั้นสูง เรียกว่า อัครมหาคัณธะวาจะกะ 

สายเผยแผ่ เรียกว่า สัทธัมมโชติกะ แปลว่า ผู้ประกาศพระสัจธรรม สมณศักดิ์นี้มอบทั้งแก่พระสงฆ์และแม่ชี

ชั้นต้น เรียกว่า มูละสัทธัมมโชติกะ 
ชั้นกลาง เรียกว่า มหาสัทธัมมโชติกะ 
ชั้นสูง เรียกว่า อัคคมหาสัทธัมมโชติกะธะชะ 

สายกรรมฐาน เรียกว่า กัมมัฏฐานาจริยะ แปลว่า อาจารย์สอนกรรมฐาน สมณศักดิ์นี้มอบแก่พระสงฆ์เท่านั้น 

ชั้นต้น เรียกว่า มูละกัมมัฏฐานาจริยะ 
ชั้นกลาง เรียกว่า มหากัมมัฏฐานาจริยะ 
ชั้นสูง เรียกว่า อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ 

กลุ่มที่ ๒ เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงที่สุดจริงๆ ที่มีมาจากเดิมจนถึงปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน ๓ ชั้น 

ชั้นต้น เรียกว่า ตรีปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฏก ( ผู้ที่สามารถท่องพระไตรปิฏกได้ทั้ง ๓ ปิฏก ) 
ชั้นกลาง เรียกว่า อัครมหาบัณฑิต พระเถระที่จะได้สมณศักดิ์ชั้นนี้ต้องมีอายุอย่างน้อย ๖๐ ปี 
ชั้นสูงสุด เรียกว่า อถิธชมหารัฐคุรุ แปลว่า บรมครูแห่งแผ่นดินผู้ซึ่งชูธงแห่งพระศาสนา ผู้ที่จะได้รับสมณศักดิ์ชั้นนี้จะเป็น พระสังฆราช หรือ สมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะได้ และจะต้องมีอายุอย่างน้อย ๘๐ ปี 

เมื่อสรุปดูแล้วสมณศักดิ์ของพม่าไม่ค่อยเกี่ยวกับการปกครอง ซึ่งต่างจากสมณศักดิ์ของไทย ที่มีเงื่อนไขว่า ใครจะได้สมณศักดิ์ก็จะต้องเป็น พระสังฆาธิการ ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป โดยคณะสงฆ์พม่ายกอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ให้กับ องค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ในพม่าที่เรียกว่า สังฆมหานายกสมาคม ซึ่งก็คือ มหาเถระสมาคมของพม่า ในสมาคมนี้มีกรรมการทั้งหมด ๔๗ รูป 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศภาพเมียนมา   นายเต็ง เส่ง  ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศเมียนมา ที่จะพ้นวาระในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ได้เป็นประธานประกอบพิธีถวายสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์เมียนมาร์ พร้อมถวายสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์จากประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยจำนวน 3 รูปคือ สมณศักดิ์ชั้นอัครมหาบัณฑิต ถวายแก่สมเด็จพระวันรัตน์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม ชั้นอัครมหาสัทธรรมโชติกธชะ ถวายแก่พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ

การถวายสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ไทยถือเป็นความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สำคัญก่อนจะมีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ไปสู่รัฐบาลของประธานาธิบดีทินจ่อ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปลายเดือนมีนาคม 2559 นี้ และในพิธีดังกล่าวมีนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี  ร่วมด้วย 
....................

ที่มา. วีดีทัศน์ ธัมมปฏิสันถารแสดงมุฑิตาสักการะ โดย พระพรหมบัณฑิต ( ประยูร ธมฺมจิตฺโต ) วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เนื่องในงานสดุดีเกียรติคุณ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ( สมศักดิ์ อุปสโม ) วัดพิชยญาติการาม ผู้ซึ่งรัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์ “ อัครมหาบัณฑิต ” สรุปความ โดย ศรีโคมคำ. 

http://www.youtube.com/watch?v=M-rC3iUGYqo ที่ http://buddhapoom.com/index.php?topic=456.0 นำมาเผยแพร่อีกชั้นหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...