เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบเส้นทางการลักลอบนำเข้ายางพรา ลงพื้นที่เข้าตรวจสถานประกอบการผู้รับใบอนุญาตค้ายาง ทะเบียนร้านค้า การทำบัญชีผู้รับซื้อยางพารา
พร้อมชี้แจงพื้นที่ทราบเกี่ยวกับโทษในการรับซื้อยางพาราที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรฯ ไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงตั้งจุดสกัด โดยหลังจากนี้จะร่วมเข้าตรวจสต็อกยาง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ.2542 ภายใต้ความรับผิดชอบหลักของกรมวิชาการเกษตร
โดยมีพนักงานของ กยท. ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 ทั้งนี้ กยท. เตรียมจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการควบคุมปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนมอบหมายให้ กยท.จังหวัด และ กยท. สาขา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพรมแดน ดำเนินการสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกร
ทั้งปริมาณ รูปแบบของผลผลิตยางที่ขาย จำแนกเป็นน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และนำมาประมวลผลเพื่อทำข้อมูลห่วงโซ่อุปทานการผลิตยางธรรมชาติในประเทศ (เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) ช่วยให้ทราบว่าปริมาณยางที่ขายในตลาดหรือพื้นที่นั้นๆ มียางเถื่อนปนอยู่ด้วยหรือไม่ และตั้งเป้าหมายสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำข้อมูลมาคำนวณ และจัดทำสมดุลยางพารา และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ กยท.ยังได้หารือร่วมกับ Dr. Htein Lynn, Deputy Director General และผู้แทนจากองค์การส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ในประเด็นการลักลอบขนยางพาราผิดกฎหมายเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ กำลังเร่งจัดการปราบปรามและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น ในส่วนของประเทศเมียนมาเองมีกฎหมาย และระเบียบในการส่งออกยางพาราอยู่แล้ว
แต่พบว่ายังมีการลักลอบขนยางไปจำหน่ายในจีน อินเดีย รวมถึงประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นดิบ เนื่องจากราคายางในไทยสูงกว่าราคารับซื้อยางในประเทศเมียนมาประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น