วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ปลัด มท." นำถกแนวทางขับเคลื่อนแก้จนตามแนวพอเพียงปี67 เร่งสำรวจเพิ่มกว่า 20 ล้านครัวเรือนทั่วไทยภายใน 15 ม.ค.67



ปลัด มท. นำถกแนวทางขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนปี67  ภายหลังดำเนินการแก้ไขในปี 65 - 66 แล้วกว่า 11.35 ล้านปัญหา พร้อมเตรียมเดินหน้า Re X-ray ติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่แล้วเสร็จ และสำรวจเพิ่มเติมรวมกว่า 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ภายใน 15 มกราคม 67 เน้นย้ำ “คนมหาดไทยต้องเป็นผู้นำบูรณาการแก้ไขทุกปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ เพื่อพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.45 น. ที่ห้อง War room ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการหารือแนวทางการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ ดร.ก่อเกียรติ แก้วกิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง ผู้แทนสำนักนโยบายและแผน ผู้แทนสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด ผู้แทนกลุ่มยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2565 รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้ารายครัวเรือน โดยมีข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนรวม 619,111 ครัวเรือน จำแนกเป็น 5 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2. การศึกษา และทักษะที่จำเป็น 3. สถานะทางสุขภาพ 4. คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ 5. การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM ขึ้นเพื่อ Re X-ray สำรวจสภาพปัญหาเพิ่มเติม โดยนิยามความหมายของคำว่า “ยากจน” คือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่ และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง อาทิ มีบ้านแต่ไม่มีเลขที่บ้าน บ้านชำรุดทรุดโทรม ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ มีคนในบ้านติดยาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในการสำรวจมีนายอำเภอเป็นผู้นำภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้าทำการ Re X-ray เป็นรายครัวเรือน ตามเป้าหมาย จำนวน 14,562,655  ครัวเรือน พบสภาพปัญหา 3,810,466 ครัวเรือน 12,143,656 สภาพปัญหา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนส่วนราชการและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วทั้งสิ้น 11,357,962 ปัญหา คิดเป็นร้อยละ 93.53

“แม้ว่าในปี 2565 – 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศในฐานะผู้นำของจังหวัดและผู้นำของอำเภอได้ร่วมกันบูรณาการส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพี่น้องประชาชนและสรรพกำลังของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น ผู้นำศาสนา พระสงฆ์องค์เจ้า บาทหลวง โต๊ะอิหม่าม เหล่ากาชาดจังหวัด ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 11.35 ล้านปัญหา แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ คือ สภาพปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนั้นไม่ได้เลือกเวลา ทุกวันนี้เรายังคงพบเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่สะท้อนผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งศูนย์ดำรงธรรม สื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ อันแสดงให้เห็นว่า "ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนยังคงมีสภาพปัญหาเพิ่มขึ้นในทุกวัน” ดังนั้น ภาระหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทุกกระทรวง ทุกกรม ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องของพี่น้องประชาชนยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับประโยชน์” ด้วยการดึงศักยภาพและระดมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผนึกกำลังเป็น “ทีมสำรวจและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน” อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อทำให้ทุกปัญหาความเดือดร้อนได้รับการบรรเทา ได้รับการคลี่คลาย และท้ายที่สุดได้รับการแก้ไขจนสำเร็จให้ได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

จากนั้น ที่ประชุมได้นำเสนอและหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล Big Data เพื่อให้สามารถรวบรวมสภาพปัญหา และมีระบบการติดตามการแก้ไขปัญหาในลักษณะ Real time โดย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นในการบูรณาการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเข้ากับผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและตอบโจทย์เชื่อมโยงได้ทุกมิติ ในขณะที่ ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร ได้นำเสนอตัวอย่างแพลตฟอร์มการรายงานข้อมูลสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านการทำประชาคมแผนในระดับชุมชนของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร 17 ชุมชน เพื่อบรรจุในเทศบัญญัติ โดยพบว่าในปี 2565 มีจำนวน 205 เรื่อง และระบบสามารถแสดงผลความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนในแต่ละชุมชนสามารถเข้าไปอัพเดทได้ทันที

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา เรามี Big Data ขนาดใหญ่ คือ ThaiQM ที่ได้ทำการสำรวจไว้แล้วเป็นฐานการขับเคลื่อนงาน ซึ่งหลายปัญหาก็ได้แก้ไขแล้วเสร็จ หลายปัญหาก็ได้แก้ไขสำเร็จ และเรายังพบ “สภาพปัญหาเพิ่มเติม” สิ่งสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป คือ ต้อง Re X-ray ทั้งการติดตามผลการแก้ไขปัญหาของครัวเรือนเป้าหมายเดิมที่ได้แก้ไขไปแล้ว รวมทั้งสำรวจสภาพปัญหาอีก 6 ล้านครัวเรือนเพิ่มเติม เพราะเจตนารมณ์ของคนมหาดไทยและข้าราชการทุกคน คือ “เราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)” ซึ่งทุกวันนี้เรายังพบว่าคนในชุมชนเมืองมีสภาพปัญหามากกว่าคนในชนบท ดังนั้น การดำเนินการสำรวจข้อมูลความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ ใน “ระยะต้น” ขอให้กรมการปกครองได้บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้มีข้อมูล โดยประสานเทศบาลทั่วประเทศ เพื่อให้นายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง เป็นผู้นำในการสำรวจข้อมูลความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลทุกเรื่องควบคู่ไปกับการทำประชาคมแผนในระดับชุมชนของเทศบาล สำหรับใน “ระยะกลาง” ให้ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครองได้ศึกษาและพัฒนาระบบ ThaiQM โดยนำฟังก์ชันการใช้งานแฟลตฟอร์มของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารมาต่อยอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจน และแจ้งให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้เป็นแฟลตฟอร์มกลางสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อนำไปสู่ “ขั้นปลาย” คือ การพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชนแบบบูรณาการ ทั้งนี้ การประชาคมแผนและ Re X-ray 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มกราคม 2567

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งแม้ว่าไม่ใช่งานฟังก์ชันของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ไม่สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรงได้ แต่คนมหาดไทยสามารถทำได้ในฐานะ “ผู้นำพื้นที่” เพราะเรามีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็น CEO ของพื้นที่ที่เป็นผู้บูรณาการการทำงานของทุกกระทรวง ทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ และ 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด อำเภอ  และมีใจรุกรบ มี Passion ที่จะ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งแพลตฟอร์มการสำรวจข้อมูลที่จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมนี้เป็นหลักประกันของความยั่งยืน เราต้องทำให้การสำรวจและติดตามการแก้ไขปัญหาความยากจนในแพลตฟอร์ม ThaiQM เป็น Real time ให้ได้ ทำให้กลุ่มเป้าหมาย 20 ล้านครัวเรือนมาอยู่ในฐานข้อมูล ThaiQM ได้ โดยมีประชาชนเป็นผู้นำเข้า (input) ข้อมูลในระบบได้เอง และส่วนที่สำคัญต่อมา คือ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องทบทวน (review) แนวทางการพัฒนาข้อมูลการแก้ไขปัญหาความยากจนในปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้การพูดคุยและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นไปตามเป้าหมาย ต้องสื่อสารถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจได้ เพื่อได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ในส่วนของจุดอ่อนประการหนึ่งในแง่สถิติการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา คือ สภาพปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยโดยตรงหรือเกินความสามารถของพื้นที่ เช่น เรื่องปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน หรือแม้แต่เรื่องเด็กไม่ได้เข้าเรียน หรือประชาชนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ไม่สามารถคิดเลขง่าย ๆ ได้ เป็นต้น เราต้องประมวลรวบรวมและรายงานสภาพปัญหาเหล่านั้นไปยังรัฐบาล พร้อมทั้งมีระบบการติดตามสภาพปัญหาในรูปแบบชี้เป้าหมายเชิงภูมิศาสตร์ (GIS) ที่ทางรัฐบาลสามารถมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่นำไปใช้ต่อได้ และสามารถปรับปรุงข้อมูลเพื่อรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาได้ เราก็จะปิดเคสได้เพราะ “งานจะสำเร็จ” ด้วยการบูรณาการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้เร่งปรับปรุงแนวทางและพัฒนารูปแบบแพลตฟอร์มเพื่อให้การแก้ปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนในทุกมิติเกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.มหานิยม" ร่วมพิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุสามเณร ผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

"ดร.มหานิยม"ร่วมพิธีถวายมุทิตาสักการะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค  วิเคราะห์บทบาทเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯกับงาน...