วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ไทย - เมียนมา" จับมือพัฒนาระบบ จัดการการย้ายถิ่นฐานแรงงานเมียนมา



เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566   นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ราชอาณาจักรไทย นำคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประชุมระดับวิชาการไทย - เมียนมา ร่วมกับนายมอง มอง ตาน (Mr. Maung Maung Than) อธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน 2566 ณ สยาม เบย์ชอร์ รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี

นายสมชาย กล่าวว่า การประชุมระดับวิชาการไทย – เมียนมา ในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหารือจนเกิดความเข้าใจร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการในอนาคต สร้างความมั่นใจในระบบการจัดการการย้ายถิ่นฐานของแรงงานเมียนมาให้มีแบบแผนที่ดี สะดวก และโปร่งใส แรงงานเมียนมาสามารถอยู่ในระบบการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยที่ประชุมได้มีการหารือถึงการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ให้แก่แรงงานเมียนมา ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อฯ ต่อกรมการจัดหางานไว้ประมาณ 900,000 คน โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายเมียนมาเข้ามาดำเนินการออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานเมียนมาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยเสนอให้ฝ่ายเมียนมาพิจารณาจัดตั้งศูนย์ CI ใน 5 จังหวัด และเสริมด้วยหน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Units)  ใน 3  จังหวัด และหารือเรื่องการจัดทำช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแจ้งรายชื่อนายจ้าง ผู้แทนนายจ้าง และบริษัทจัดหางานที่ถูกขึ้นบัญชี (Black List) และยังได้หารือในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขและต่ออายุบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งฝ่ายเมียนมาให้ทราบเกี่ยวกับการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ 

“แรงงานสัญชาติเมียนมาถือเป็นแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับแรงงานสัญชาติอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการให้ผู้ประกอบการชาวไทย ความร่วมมือจากทางการเมียนมาจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทำให้การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยประสบความสำเร็จ ซึ่งฝ่ายไทยขอขอบคุณฝ่ายเมียนมาที่ให้ความร่วมมืออย่างดีมาโดยตลอด” รก.อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...