ปลัดมหาดไทย ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ระดับกระทรวง ครั้งที่ 2 เน้นย้ำ สร้างพื้นที่ต้นแบบเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และประกอบอาชีพของคนไทย มุ่งสร้างพื้นที่อเนกประสงค์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.45 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ระดับกระทรวง ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีดงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดินรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ของกระทรวงมหาดไทย ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นและความปรารถนาที่จะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเรื่องนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 โดยได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ของราชการจำนวน 736 ไร่ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มาเป็นศูนย์การเรียนรู้น้อมนำทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวนกว่า 40 ทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนในทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สู่การประยุกต์ใช้จนเป็นวิถีชีวิต และเสริมสร้างความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเป็นชุมชน/หมู่บ้านยั่งยืน "Sustainable Village" ที่จะมารวมกันเป็นคอมมูนิตี้ และขยายผลเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในรูปแบบอารยเกษตร หรือที่เรียกว่า "โคก หนอง นา" เพื่อให้เกิดการขยายผลการพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักคิดพื้นฐานของการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ต้องยึดหลักความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Needs) คือ "พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น" ทำให้มีชีวิตที่ปกติสุข มีความมั่นคง โดยไม่ต้องไปหยิบยืมหรือไปเป็นหนี้ ควบคู่กับการเสริมสร้างทำให้คน "มีทักษะทางมือ" ภายใต้องค์ความรู้ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้ได้เป็น "ตักศิลา" ที่ประชาชนทุกคนสามารถนำองค์ความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมรองรับการขยายผลพัฒนายกระดับเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์กับนักเรียนนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ได้มาเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการเรียนการสอนในพื้นที่ โดยมีคนของกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายเป็นเหมือนครูอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาใกล้เคียงสามารถปรับใช้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรการสอน โดยทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องไปสร้างพื้นที่ห้องเรียนที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะการดำเนินงานด้วยความร่วมมือกันจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
"การประชุมในวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ได้มารับฟังการนำเสนอการออกแบบพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง และทีมที่ปรึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้มีการออกแบบภาพรวมของโครงการ (Conceptual Design) ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ตามฐานข้อมูล TPMAP และ ThaiQM รวมถึงผู้มีองค์ความรู้ คนรุ่นใหม่ คนคุณภาพ และบุคลากรจากภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการฝึกฝนทักษะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริอารยเกษตร เพื่อไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้นำจุดแข็งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ที่เปรียบเสมือนสาขาศูนย์เรียนรู้ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ เป็นต้นแบบ โดยมีข้าราชการได้ทำเป็นตัวอย่าง "ผู้นำต้องทำก่อน" ประกอบกับที่กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดมีศูนย์การอบรม พร้อมให้มีการปรับปรุงพื้นที่เป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน ตามหลักทฤษฎีใหม่อารยเกษตร โดยมีจังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่นำร่อง อีกทั้้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาพื้นที่ของวิทยาลัยการปกครอง (วปค.) เป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้ คือ การใช้สถานที่ในการมาศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ ทำประโยชน์ สามารถนำไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข พร้อมทั้งสร้างคนที่เรียกว่า "ครู ก." ไปช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนหมู่บ้านของเรา" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนา "คน" จากการนำกลุ่มเป้าหมายที่ตกเกณฑ์มาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการเลี้ยงชีพ การฝึกทักษะการพึ่งพาตนเอง ดังนั้น ในการออกแบบพื้นที่ใช้สอย และพื้นที่การกักเก็บน้ำ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย การขุดบ่อยิ่งมีความลึกเท่าไหร่ยิ่งมีความอันตราย ในส่วนของการขุดดิน ต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ในภาพฝีพระหัตถ์จิตอาสา Happy Family Happy Farmer เรื่องการขุดดิน ด้วยประโยคที่ว่า "Top Soil" การขุดดินลึกต้องแยกเป็นกองไว้ เพื่อให้ชั้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดได้อยู่ด้านบน เป็นการขุดแบบปราณีต ที่มีรายละเอียด ส่งผลต่อการปลูกพืชการเกษตรในพื้นที่ดินนั้น ในเรื่องการออกแบบสร้างบ้านที่อยู่อาศัยต้องเป็นบ้านที่มีใต้ถุนสูง สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ถุนบ้าน เป็นที่พักผ่อน ที่ผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือเป็นที่ประชุมของสมาชิก ตลอดจนเป็นห้างร้านวางขายผลิตภัณฑ์ได้ มีความอเนกประสงค์ ซึ่งเหตุผลหลักของการยกใต้ถุนสูง มาจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศน้ำมาก หากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่บ้านยกสูงก็จะสามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดได้ ดังนั้น ต้องคำนึงถึงหลักการออกแบบที่เหมาะสมกับภูมิสังคม คำนึงถึงครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย
"ในเรื่องของระบบไฟฟ้า และการทำถนน การปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ หากทำได้ก่อนก็จะเป็นประโยชน์ในการขนส่งคมนาคมระหว่างก่อสร้าง เพื่อระดมสรรพกำลังเครื่องจักรกล รวมถึงยานพาหนะขนส่ง สนับสนุนเร่งมือดำเนินการในการก่อสร้างพื้นที่ นอกจากนี้ เราต้องคำนึงถึงดารประยุกต์ใช้เป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย ทั้งการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ในพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้มีสนามกิจกรรมจักรยานขาไถ มีพื้นที่สำหรับรองรับจัดกิจกรรมเสือภูเขา BMX ในพื้นที่ของคลองไส้ไก่ คูคลองให้เป็นกีฬาทางน้ำ หรือเป็นพื้นที่ดูนกชมธรรมชาติได้ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบให้ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมได้ ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้อพยพจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆได้ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้เราสามารถแบ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ยังผลประโยชน์ บนพื้นฐานความร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ด้วยโดรนสำรวจ เพื่อลงแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์หรือ GIS เพื่อใช้ในการทำงานออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดตามบริบทของพื้นที่ เพื่อบริหารการใช้ที่ดินและจัดทำรูปแบบการบริการ ซึ่งในการจัดทำฐานข้อมูลระบบ GIS ในพื้นที่โครงการ จำนวน 736 ไร่ โดยพัฒนาตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา อารยเกษตร โดยมีแนวคิดหลักในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ออกแบบตามบริบทพื้นที่ ด้วยแนวคิด "จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที" โดยมีพื้นที่โครงการประกอบด้วย พื้นที่เพื่อการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ตามแนวพระราชดำริด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า คน อันเป็นหลักแนวคิดในการจัดการพื้นที่ โดยมีการสร้างทางเข้าในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมต่ำ เพื่อสร้างทางสัญจรที่ปลอดภัย เข้าถึงโครงการได้อย่างสะดวกสบาย ตลอดจนสร้างแหล่งพักน้ำขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณโดยรอบโครงการ พร้อมทั้งขุดคลองไส้ไก่กระจายทั่วพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และช่วยกระจายสู่พื้นที่เพาะปลูก โดยการนำดินที่ได้จากการขุดบ่อเก็บน้ำและคลองไส้ไก่ มาถมสร้างคันดินเพื่อควบคุมทิศทางการไหลของน้ำ สร้างประโยชน์จากคันดินเช่นป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีการแบ่งประโยชน์การใช้ที่ดิน แบ่งเป็น 6 ประเภท 1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เป็นแปลงเกษตรสาธิต จำนวน 1 แปลง 2) โคก หนอง นา อารยเกษตร จำนวน 72 แปลง 3) ที่พักอาศัยจำนวน 72 แปลง 4) พื้นที่บริการ วิสาหกิจชุมชนวนเกษตร 5) ส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่จัดแสดงสินค้า 6) บ่อเก็บน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค และส่วนสนับสนุนอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งทั้งหมดคณะทำงานได้จัดทำแผนผังที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อการนำผังไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะได้บูรณาการร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมสถาบันทิวา สถาบันก้าวกล้า และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันในงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น