เฉลิมฉลองความสำเร็จทางด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมไทย-จีน ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สัปดาห์วัฒนธรรมภาพยนตร์ฝูเจี้ยน-อาเซียนที่แรกประเทศไทย” โดยมี นายสวี่โซว่หยาว รองกรรมการบริหาร สำนักประชาสัมพันธ์ และอธิบดีสำนักภาพยนตร์ แห่งมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ Ms. CHANG Yumeng ทูตวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ นายหลัวจงเจิ้ง ประธานสมาคมส่งเสริมการค้าประเทศไทยกับประเทศอาเซียน+6 ร่วมกล่าวคำปราศรัย และมีผู้แทนจากบริษัทผลิตภาพยนตร์ชั้นนำของจีน แขกผู้มีเกียรติ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ชั้น 3 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
การจัดสัปดาห์วัฒนธรรมภาพยนตร์ฝูเจี้ยน-อาเซียนที่แรกประเทศไทย เป็นการคัดเลือกภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมจากมณฑลฝูเจี้ยนมาฉายในประเทศไทย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ซึ่งในวันนี้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Ping Pong : The Triumph” รอบปฐมทัศน์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง เทศกาลภาพยนตร์นักศึกษาวิทยาลัยครั้งที่ 30 “Light and Shadow Youth” และมีกำหนดฉายภาพยนตร์อีก 5 เรื่องได้แก่ Havoc in Heaven, Love On Gallery Bridge, New Kung Fu Cult Master 1, New Kung Fu Cult Master 2 และ Back To The Wharf ตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงภาพยนตร์ House สามย่าน ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
ปลัด วธ. กล่าวว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเปรียบเสมือนการเชื่อมโยงหัวใจของประชาชน ซึ่งนับเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการร่วมกัน โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับนายหู เหอผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเห็นพ้องกันว่า สองประเทศจะร่วมมือกัน อย่างเต็มที่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การร่วมลงทุน และบุคลากรด้านภาพยนตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโต และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีต้อนรับบริษัท ผลิตภาพยนตร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาใช้ สถานที่ อุปกรณ์ บุคลากรตลอดจนกระบวนการผลิต ในประเทศไทย ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการทำงาน ด้านภาพยนตร์ระหว่างกัน ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ เชิงวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งสองประเทศ ให้มีความก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น