วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โลกสวยด้วยการเจรจา!"ทรัมป์-คิม"พิสูจน์สร้างสันติภาพ



วันที่ 13 มิ.ย.2561 จากผลการเจรจาประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จบลงอย่างสวยงามที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซา ประเทศสิงคโปร์  พร้อมข้อตกลง 4 ข้อ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  เชิญนายคิม จอง อึน เดินทางไปเยือนทำเนียบขาว พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) มีความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Hansa Dhammahaso ความว่า


สันติภาพ: โอกาส และมูลค่าเพิ่ม

สันติภาพ ไม่ใช่คำพูดที่สวยหรู สันติภาพ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้อมูลเชิงประจักษ์เกิดขึ้น ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผ่านการพบกันของผู้นำเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ จนเป็นที่มาของการพบกัน ของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรี คิม จอง อึน ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งคู่ท้าทายกันทางวาจา และท่าทีมาโดยตลอด มาบัดนี้ ทั้งคู่ได้ยืนจับมือบนผืนแผ่นดินสิงค์โปร์

ตัวละครสำคัญที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางในลักษณะผู้คอยเชื่อมสมาน (Officers) ในครั้งนี้ เริ่มจากประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่ใช้โอกาสการพบกับผู้นำทั้งสองที่ประเทศจีน ก่อนที่จะผลักดันให้เกาหลีสองพี่น้องได้พบกัน จวบจนมาถึงการรับไม้ต่อของนายกรัฐมนตรีชาวสิงค์โปร์นาม ลี เซียน ลุง จะเห็นว่า คนกลางในลักษณะนี้จะคอยทำหน้าที่ในสร้างเวที คอยจัดเตรียมความพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้ผู้นำทั้งสองได้เล่นตามบทบาท และมีอิสระในการพูดคุย ปรึกษาหารือเพื่อออกจากกำดักร่วมกัน

สันติภาพจึงเป็นทั้งโอกาสที่สำคัญ ในการชักนำให้คาบสมุทรเกาหลีมีความชุ่มเย็น และไม่หวาดระแวงระหว่างกันและกัน ทั้งสองประเทศเอง รวมไปถึงผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการจากสองค่าย คือ จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แน่นอนที่สุด คือ โอกาสที่โลกใบนี้ จะมีความร่มเย็นไม่ตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดจากการการเผชิญหน้ากันของผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อพาโลกเข้าสู่สงครามและความรุนแรง

มูลค่าเพิ่มที่เกิดตามมาอย่างชัดแจ้ง และได้ภาพลักษณ์ในเชิงบวกอย่างมากในสัปดาห์นี้ คือ ประเทศสิงค์โปร์ นำโดยนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ที่เข้ามาเล่นบทบาทในการจัดเตรียมสถานที่ และบรรยากาศต่างๆ เพื่อให้ประธาธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี คิม จอง อึน ได้พบปะพูดคุยร่วมกัน

สิงค์โปร์เป็นประเทศเล็กขนาดใกล้เคียงกับเกาะภูเก็ต แต่กลับมีศักยภาพและพลังอย่างล้นเหลือในการใช้คำว่า "สันติภาพ" เปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk) จนนำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างผู้นำสองท่าน บทบาทในลักษณะนี้ ประเทศไทยได้เคยทำหน้าที่ในลักษณะนี้มาก่อน ทั้งการเจรจาเขมรสามฝ่าย ทั้งการพูดคุยสันติภาพระหว่างฝ่ายสิงหลกับทมิฬของประเทศศรีลังกา

สันติภาพจึงไม่ใช่คำที่จะนำมาเยาะเย้ยถากถางว่า "พวกโลกสวย" หรือ "พวกดีแต่พูดพูด" รวมไปถึงการตอกย้ำว่า "สันติภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้" สรุปแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่เป็นไปไม่ได้ ขอเพียงแต่ว่า "ผู้นำ" อย่าใช้ "อำนาจ" เข้าไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อซ้ำเติมบรรยากาศให้เกิดความตึงเครียด เพราะถ้าทรัมป์ถือดีว่า ตัวเองมีอำนาจมากกว่าเกาหลีเหนือ บรรยากาศวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้

ฉะนั้น อำนาจที่เกิดจากปรมาณู รถถัง หรือกระบอกปืน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงนั้น มิอาจะหยิบยื่นวิถีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืน การสร้างเวที เพื่อหาโอกาสพบปะ พูดคุย ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมดังที่เห็นวันนี้นั้น คือ แบบอย่าง (Role Model) สำคัญที่จะทำให้ผู้นำทางการเมืองทั่วโลกได้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสืบไปฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

IBSC จับมือศูนย์สิทธิมนุษยชน "ม.ออสโล นอร์เว" ผนึกกำลังร่วมกันปั้นนักพุทธสิทธิมนุษยชนต้นแบบ

โครงการพัฒนานักพุทธสิทธิมนุษยชนต้นแบบนี้สามารถเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมไทย และควร...