วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ปลัด มท.ร่วมอนุโมทนามหากุศล "พิธีทอดกฐินร้อยเอ็ดรวมใจ 143 กอง" เพื่อถวายวัดในพื้นที่จังหวัดที่ไร้เจ้าภาพจอง



ปลัด มท. ร่วมอนุโมทนามหากุศล "พิธีทอดกฐินร้อยเอ็ดรวมใจ 143 กอง" เพื่อถวายวัดในพื้นที่จังหวัดที่ไร้เจ้าภาพจองกฐิน เน้นย้ำ ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีอันดีงามนี้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อเสริมสร้างพลังความรักสามัคคี และความมั่นคงของประเทศชาติตลอดไป

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566  เวลา 08.39 น. ที่บริเวณมณฑลพิธี ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมอนุโมทนาร่วมกับพี่น้องพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดหลายพันคนใน "พิธีทอดกฐินร้อยเอ็ดร่วมใจ ประจำปี 2566" โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธี และมีนายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียงร่วมในพิธี โดยได้รับเมตตาจาก พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง เป็นประธานสงฆ์ โดย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า ร่วมในพิธีด้วย

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายเครื่องสักการะ พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย พระอารามหลวง แล้วร่วมถวายปัจจัยกฐินร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งเดินกล่าวอนุโมทนาทักทายพี่น้องประชาชนผู้มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมากในบริเวณงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขออนุโมทนาบุญกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้การนำของนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้นำของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ตลอดจนถึงนายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ผู้นำผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้นำการสืบสานวัฒนธรรมที่ดีของประชาชนในท้องถิ่น ที่ทำให้การจัดงานโครงการสืบสานตำนานประเพณีบุญกฐิน ประจำปี 2566 เป็นงานอันเป็นมหามงคลที่พี่น้องพุทธศาสนิกชนได้มารวมตัวกันสร้างบุญอันยิ่งใหญ่ ซึ่งในปีนี้มีเจ้าภาพที่มีความประสงค์จองเป็นเจ้าภาพกองกฐินของจังหวัด จำนวน 143 กอง โดยมีท่านเจ้าอาวาสมาพิจารณากฐิน จำนวน 143 วัด ถือเป็นการทอดกฐินวันเดียวสามารถเกิดกุศลผลบุญร่วมกันของพี่น้องประชาชนในการสืบทอดพระพุทธศาสนามากถึง 143 วัดทั่วทั้งจังหวัด

"ขอขอบคุณจังหวัดร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และคณะกรรมการดำเนินงาน คณะเจ้าภาพกองกฐินทุกท่าน ตลอดจนส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีจิตศรัทธาน้อมนำมาซึ่งกองกฐิน จำนวน 143 กอง เพื่อทอดถวาย แก่วัดในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ไม่มีเจ้าภาพจองกฐิน จำนวน 143 วัด ซึ่งมหากุศลในวันนี้พวกเราจะได้ร่วมกันน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ประเพณีอันดีงามนี้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้ประเพณีนี้คงอยู่คู่กับบ้านเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการหลอมรวมพลังความรักความสามัคคี พลังความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากจะทำให้พวกเราได้บุญได้กุศลโดยถ้วนทั่วแล้ว ยังจะทำให้เกิดพลังความสามัคคีที่ค้ำจุนหนุนนำให้จังหวัดร้อยเอ็ดและประเทศไทยมีความมั่นคงตลอดไป" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า "พิธีทอดกฐินร้อยเอ็ดร่วมใจ" มีที่มาสืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2549 คณะศรัทธาจากจังหวัดราชบุรี นำโดย คุณวิจารณ์ เตียวตระกูล ประธานคณะกรรมการจัดงานได้นำคณะเจ้าภาพกองกฐิน จำนวน 125 กอง มาทอดถวายวัดในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ไม่มีเจ้าภาพจองกฐิน จำนวน 125 วัด โดยนิมนต์เจ้าอาวาสวัดมารับกองกฐิน ณ วัดบูรพาภิราม พระอารามหลวง ด้วยเหตุนี้ นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด จึงได้ปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำองค์กรเอกชนต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อจะจัดให้มีกิจกรรมอันเป็นมงคลขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการตั้งความปรารถนาที่จะทำบุญกุศล เป็นกองบุญกองใหญ่และให้เป็นประเพณีของจังหวัดต่อไปในอนาคต รวมทั้งจะทำให้วัดในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ไม่มีเจ้าภาพจองกฐิน ได้รับการทอดถวายกฐินประจำปีตามความเหมาะสมด้วย จึงได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 16 โดยจังหวัดร้อยเอ็ดจะได้ร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและพี่น้องประชาชนสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่คู่กับจังหวัดร้อยเอ็ดตลอดไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...