วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ส.ว.พลเดช"รายงานประชาชน จีนแก้จน ฉบับที่ 7 "ประเมินผลเข้มข้น" แยกคนจนเมืองกับชนบท



เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566    นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สว.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว่า  "ประเมินผลเข้มข้น"  จีนแก้จน ฉบับที่ 7 ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป   8 พฤศจิกายน 2566

จีนมีการแยกการบริหารจัดการงานแก้ความยากจนในพื้นที่ชนบทกับการแก้ปัญหาคนจนเมืองออกจากกัน เพราะต่างก็มีลักษณะของปัญหาและบริบทที่แตกต่างกัน จึงมีนโยบายและหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะที่แยกกันออกไป

🇨🇳 การบริหารจัดการอย่างตรงจุด 🇨🇳 

เป็นการติดตามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างใกล้ชิด สร้างเครือข่ายฐานข้อมูลการลดความยากจนระดับประเทศ เพื่อแสดงพลวัตความก้าวหน้าในการลดความยากจน และสนับสนุนการวางแผนตัดสินใจสำหรับงานลดความยากจนของ CAPD และคณะรัฐมนตรี

สร้าง website การลดความยากจนของประเทศ เพื่อแบ่งปันข้อมูลความต้องการ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจนกับทรัพยากรลดความยากจนและผู้ที่มีความประสงค์ร่วมช่วยเหลือการลดความยากจนในสังคม สามารถทำให้การจัดสรรทรัพยากรอย่างตรงจุดทำได้มากยิ่งขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละระดับสร้างฐานข้อมูลย่อยตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยมีรัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้กำหนดโครงสร้าง (Top-level Design)

🇨🇳 การตรวจสอบอย่างตรงจุด 🇨🇳 

เป็นการตรวจสอบเชิงปริมาณต่อผลการทำงาน ตั้งแต่การพิสูจน์ครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน การช่วยเหลือและบริหารจัดการลดความยากจนอย่างตรงจุดเพื่อรับรองการปฏิบัติงานในทุกระดับ 

ดำเนินการตามแนวทางนโยบายการลดความยากจนอย่างถูกต้อง สำนักงานคณะกรรมการลดความยากจนจะดำเนินการตรวจสอบผลการทำงานลดความยากจนของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลและรัฐบาลระดับมณฑลในทุกปี 

คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล จัดทำรายงานสรุปการปฏิบัติงานตามแผนที่ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว นำส่งคณะกรรมการลดความยากจนส่วนกลาง คณะกรรมการส่วนกลางมอบหมายสถาบันวิจัยหรือองค์การภายนอกทั่วไป ดำเนินการตรวจสอบหรือสุ่มตรวจเพื่อประเมินตามตัวชี้วัดต่าง ๆ

คณะกรรมการส่วนกลางจะประเมินรายงานผลการปฏิบัติงานของมณฑล โดยพิจารณาข้อมูลประวัติครอบครัวและหมู่บ้านยากจน รายงานผลการประเมินจากสถาบันวิจัยและผลการประเมินการใช้งบประมาณเพื่อลดความยากจน 

หลังจากนั้นจัดทำเป็นรายงานสรุปเพื่อนำส่งคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนกลาง ในขณะเดียวกันยังแจ้งผลการประเมินไปยังมณฑลพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง ทั้งนี้คณะกรรมการลดความยากจนส่วนกลางยังประกาศผลการประเมินต่อสาธารณะด้วย 

สำหรับมณฑลที่พบปัญหาในการประเมิน เช่น ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดความยากจนประจำปี หรือการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น จะถูกนัดหมายเพื่อซักถามต่อผู้บริหารสูงสุด ทั้งส่วนคณะกรรมการพรรคพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลและรัฐบาลมณฑล ผลการประเมินการทำงานลดความยากจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของการประเมินผลการทำงานประจำปีของผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลท้องถิ่น 

🇨🇳 ประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างเข้มข้น 🇨🇳 

รัฐบาลจีนกำหนด “เกณฑ์การพ้นจากความยากจน” สำหรับครอบครัวและหมู่บ้านที่ได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมการลดความยากจนในแต่ละระดับ เพื่อเป็นกลไกในการแสดงถึงการบรรลุเป้าหมายของการลดความยากจน 

โดยแยกเป็น 3 ประเภท คือ ประชาชนที่ยากจน หมู่บ้านที่ยากจน และอำเภอที่ยากจน

 1.ประชาชนที่ยากจน 

จะพิจารณาเป็นรายครอบครัว หากครอบครัวมีรายได้ประจำสุทธิต่อคนเกินเกณฑ์มาตรฐานช่วยเหลือเพื่อลดความยากจน พร้อมทั้งสามารถได้รับการรองรับในด้านการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และการมีบ้านพักอาศัย ให้ถือว่าพ้นจากความยากจนแล้ว 

ครอบครัวที่พ้นจากความยากจนจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากหมู่บ้าน ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานลดความยากจนประจำหมู่บ้าน ได้รับความยินยอมจากครอบครัวที่ถูกเสนอชื่อ และประกาศในหมู่บ้านแล้วไม่มีการคัดค้าน จะได้รับการนำชื่อออกจากประวัติครอบครัวที่ยากจน

 2.หมู่บ้านที่ยากจน  

จะได้รับการพิจารณาในด้านสัดส่วนคนจนของสมาชิกเป็นหลัก โดยคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณูปโภค การพัฒนาอุตสาหกรรมหมู่บ้าน รายได้ของหมู่บ้าน เป็นต้น  หากสัดส่วนคนจนต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่มีการคัดค้านหลังจากติดประกาศในอำเภอแล้ว จะถือว่าพ้นจากหมู่บ้านที่ยากจน

3.อำเภอที่ยากจน

หมายถึงอำเภอยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือเป็นกลุ่มอำเภอยากจนที่มีพื้นที่ติดต่อกันหลายอำเภอ หากสัดส่วนคนจนลดเหลือน้อยกว่าร้อยละ 2 คณะกรรมการลดความยากจนของอำเภอสามารถเสนอต่อคณะกรรมการระดับเมือง เพื่อได้รับการตรวจสอบเบื้องต้น 

หลังจากนั้นต้องผ่านการตรวจซ้ำจากคณะกรรมการระดับมณฑล เมื่อประกาศแล้วไม่มีการคัดค้าน ให้นำส่งคณะกรรมการลดความยากจนของคณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีตรวจสอบแล้วไม่พบปัญหา จะมอบหมายให้รัฐบาลมณฑลอนุมัติให้อำเภอเหล่านี้พ้นจากความยากจนอย่างเป็นทางการ

กล่าวโดยสรุป การใช้นโยบายการลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีนประสบความสำเร็จหลายด้านตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายพบว่า การพิสูจนอย่างตรงจุดช่วยให้สามารถแบ่งคนยากจน ศึกษาความต้องการของครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจนอย่างถูกต้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างสำคัญในระยะสั้น 

นอกจากนั้นยังช่วยสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของท้องถิ่นในระยะยาว การสร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การจัดให้มีประกันภัยด้านเกษตรกรรมการปลูกป่าไม้และมาตรการอื่น ๆ สามารถช่วยให้ครอบครัวที่ยากจนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้น

อีกทั้งช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่ที่ยากจนให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก การอพยพครอบครัวที่ยากจน การปรับปรุงบ้านพักอาศัย การปรับปรุงที่ดิน การประปาและการไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจากการคลังเป็นจำนวนมาก สามารถทำได้เสร็จสิ้นเป็นส่วนใหญ่ ภาระด้านเงินลงทุนของการคลังจะลดน้อยลงในอนาคต.

#จีนแก้จน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

บทบาทของครูติ๋วในการสมัครนายก อบจ.สกลนครเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาการเมืองท้องถิ่นที่ยึดหลักการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน การชูเอกลักษณ์ขอ...