วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"อภัยภูเบศร" ยกผลวิจัยทั่วโลกระบุชัด "บัวบก” ป้องกันสมองเสื่อม แต่การปลูกควรเป็นระบบอินทรีย์



ชวนพบผู้เชี่ยวชาญแนะนำได้ในงานเสวนา "รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอเสื่อม“  ได้ฤกษ์แจกบัวบกยักษ์ ศาลายา1 18 พ.ย. นี้

 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566    สืบเนื่องจาก “ภาวะสมองเสื่อม” เป็นปัญหาสุขภาพที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน  จากบทความของ The Lancet Public Health ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง  การประมาณความชุกของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกในปี 2019 และความชุกที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 ระบุว่า ภายในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากถึง 153 ล้านคน เพิ่มจาก 57 ล้านคนในปี 2562 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในแต่ละปี  การรักษาในปัจจุบัน นอกเหนือจากการค้นหากลุ่มเสี่ยงเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้นแล้ว การป้องกันก็มีส่วนสำคัญมาก  เพราะการพัฒนาการไปสู่ภาวะสมองเสื่อมนั้นใช้เวลาในการสะสมโปรตีนพิษในสมอง 15-20 ปี โดยไม่แสดงอาการ  โดยปัจจุบันมีคำแนะนำหลายอย่าง ทั้งการพักผ่อน นอนหลับ ทำจิตใจให้สงบ มีสมาธิ  และการรับประทานอาหาร 

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นองค์กรที่นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้สมุนไพรที่เหมาะสม จึงได้จัดงาน เสวนาวิชาการ “รับมือสังคมสูงวัย ด้วยสมุนไพรชะลอเสื่อม“  ในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การค้า เกทเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ชั้น 1 ตรงข้ามโรงพยาบาลบางโพ  กรุงเทพมหานคร  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนนำความรู้ด้ายสมุนไพรไปใช้ร่วมกับดูแลสุขภาพองค์รวมเพื่อป้องกันการเกิดสมองเสื่อม 

ดร.ภญ.สุภาภรณ์  ปิติพร  เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า การป้องกันภาวะสมองเสื่อม เป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่า  ทั้งในด้านการลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย  โดยเฉพาะในผู้ป่วยภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment หรือ MCI ) แต่ถึงแม้จะยังมีไม่มีภาวะดังกล่าว การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น  ทั้งนี้สมุนไพรจะมีบทบาทมากในด้านการส่งเสริมสุขภาพ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดมีสารสำคัญหลากหลายชนิด ที่ช่วยเสริมฤทธิ์ในการดูแลสุขภาพ 

"ในเรื่องสมองเสื่อมนั้น มีงานวิจัยจำนวนมากของบัวบก ที่พบว่ามีส่วนช่วยในการทำงานของด้วยกลไกที่หลากหลาย ทั้งเพิ่มการไหลเวียนของเลือด  กระตุ้นการสร้าง โปรตีนที่ชื่อว่า “Brain-derived neurotrophic factor หรือ (BDNF)“ ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง  ช่วยชะลอการสลายของสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่จดจำ และยังมีฤทธิ์ปกป้องสมองจากสารพิษ  หรือหากสมองถูกทำร้ายจากสารพิษแล้ว ก็จะช่วยลดการอักเสบฟื้นฟูและเยียวยาสมองให้กลับมาสู่สภาวะปกติ   ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยช่วยเสริมความจำ และปรับอารมณ์ให้สดชื่น  ซึ่งความรู้เหล่านี้ไม่ได้ใหม่เลยสำหรับสังคมไทยที่ใช้สมุนไพรมานาน" ดร.สุภาภรณ์ กล่าว 

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า บัวบก ซึ่งมีรูปร่างเหมือนสมอง  เป็นสมุนไพรรับรู้กันว่าช่วยในการบำรุงสมอง เสมือนรหัสธรรมชาติที่ส่งมอบมาให้มนุษย์ คนสมัยก่อนนำบัวบกมาคั้นน้ำกินก่อนนอน  ช่วยให้นอนหลับตื่นมาสดชื่น ทำให้อารมณ์ไม่หงุดหงิด  ในบางพื้นที่ก็จะใส่พริกไทยนิดหน่อย  เพื่อลดความเย็นของบัวบก งานวิจัยภายหลังพบว่า สารพิเพอรีนในพริกไทยช่วยดูดซึมสมุนไพรหลายชนิดเข้าสู่ร่างกาย  เป็นความชาญฉลาดของคนในยุคก่อน  และในช่วงโควิด 19 ระบาดมีการวิจัยพบว่าบัวบกปั่นกับกล้วยช่วยให้สดชื่น  อารมณ์ดี  ก็เป็นตัวอย่างของการประยุกต์บัวบกมาใช้   

ดังนั้นเราก็สามารถนำบัวบกมาใช้เป็นอาหารบำรุงสมองได้ แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของเรา พบว่า บัวบกเป็นสมุนไพรที่ดูดโลหะหนักในดินขึ้นมาสะสมที่ต้นได้มาก  ดังนั้นการปลูกบัวบกจึงต้องดำเนินการในพื้นที่ปลอดสารพิษ และมีการดูแลด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์  เมื่อปลูกแล้วต้องเก็บเกี่ยวด้วยเวลาที่เหมาะสมด้วย

ทางอภัยภูเบศรยังได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกจากแหล่งต่างๆ ได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางสันฐานวิทยาพบว่า บัวบก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสันฐานวิทยาไปตามสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่ปลูก การดูแลให้น้ำ ปุ๋ยที่เพียงพอที่ส่งผลต่อการงอกงามของบัวบกโดยตรงแล้ว แต่เราก็พบลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์บัวบกแต่ละแหล่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่สามารถเห็นและเปรียบเทียบได้ชัดที่สุดคือความคงทน ทนต่อโรค ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นตัว เป็นต้น 

และเมื่อนำไปวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุ์กรรมเบื้องต้น โดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ในบางบริเวณ ของตัวอย่างบัวบกจำนวน 30 ตัวอย่าง เบื้องต้นพบว่าบัวบกเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดในสายพันธุ์สูงมาก ซึ่งมีค่า Percent Identity จากการศึกษาในครั้งนี้ อยู่ระหว่าง 86.29 ถึง 100 % แต่ในนี้ก็ยังมีการจำแนกสายพันธุ์ของตัวอย่างบัวบกได้เป็น 3 กลุ่ม และจะนำบัวบกสายพันธุ์ต่างๆที่ทำการรวบรวมไว้ไปจัดแสดงในงานนี้ด้วย เพื่อให้สังคมเห็นลักษณะที่แตกต่างกันของบัวบก และช่วยกันค้นหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกแต่พื้นที่ ทางอภัยภูเบศรมีความยินดีที่จะรับบริจาคพันธุ์บัวบกและเป็นที่เก็บรวบรวมสายพันธุ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป 

นอกจากนี้ ดร.สุภาภรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในงานดังกล่าว เรามีการแจกต้นพันธุ์บัวบกสายพันธุ์ศาลายา ที่มีใบใหญ่ และสารสำคัญ คือ triterpenes สูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับน่ำหนักเท่ากัน ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมามากกว่า 10 ปี เพื่อให้ประชาชนไปใช้ประโยชน์  ขณะเดียวกันก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกมาพูดคุย และให้คำแนะนำการปลูกเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจนำสมุนไพรไปใช้สามารถปลูกได้อย่างถูกต้อง  และในงานก็มีการนำบัวบกมาปรุงอาหารเพื่อบำรุงสมอง ที่กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ซึ่งหากสนใจก็สามารถมาพบกันได้ที่ในงานตามวันเวลาที่กล่าวข้างต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...