เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดและเร่งผลักดันในการตั้งกรมฮาลาล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหารส่งออกให้กับประเทศที่นับถืออิสลามในทั่วโลก โดยกรมฮาลาลจะสังกัดในกระทรวงอุตสาหกรรม
ขณะที่น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเพื่อความรวดเร็วและเห็นผลการปฏิบัติว่า จะต้องมีหน่วยงานหลักระดับ "กรม" โดยจะต้องเป็นอีกกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรมทำงานรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะจากความละเอียดอ่อนในแง่มุมต่าง ๆ และการควบคุมมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักการฮาลาลสากล
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มองเห็นโอกาศการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในระดับโลก เพราะมีผู้บริโภคที่กว้างขวางมากในประเทศกลุ่มมุสลิมหลายภูมิภาคของโลก ทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง
" มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความสำคัญของกลุ่มงานอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในรูปของกรม ตามแนวบัญชาการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มีการสั่งการไปแล้ว และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้เร่งดูขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกระดับหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นหน่วยงานระดับกรมที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม"รมว.อุตสาหกรรมกล่าวนั้น
ในเรื่องนี้พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่าถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอาหารสำหรับพี่น้องมุสลิมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ เพราะตลาดโลกในด้านนี้เป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังในการซื้อสูง จึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความสามารถในการแบ่งปันตลาดได้ดีกว่ากันเท่านั้นเอง และสำหรับประเทศไทยเรานั้นก็เชื่อมั่นได้ว่าเรามีศักยภาพเพียงพออยู่แล้วในด้านนี้
"เพียงแต่ในแง่มุมทางด้านศาสนานั้นขอให้รัฐบาลมีความเข้าใจ อยากให้เข้าใจและขอให้มีความละเอียดรอบคอบ มีขอบเขตและจุดมุ่งหมายในการตั้งกรมใหม่ให้ชัด อะไรคืออาหาร อะไรคือศาสนา อะไรคือรายได้ของประชาชน รายได้ขององค์กร หรือรายได้ของรัฐ แยกแยะให้ชัดเจนก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมและก็จะไม่มีปัญหายุ่งยากใดๆตามมาในภายหลัง" พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น