วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"เศรษฐา"พบหารือภาคเอกชนไทยที่เวทีเอเปคสหรัฐฯ ย้ำดิจิทัลวอลเล็ตจำเป็นเหตุประเทศวิกฤต



เมื่อวันที่ 13  พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.30 น.   (ตามเวลาท้องถิ่น ซานฟรานซิสโกช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง)   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือภาคเอกชนไทย ณ โรงแรม เดอะริทซ์-คาร์ลตัน นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา  โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญจากกิจกรรมพบหารือ ดังนี้ 

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนภาคเอกชนกล่าวข้อเสนอแนะให้กับนายกรัฐมนตรี โดยอยากให้นำนโยบายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ เวียดนาม และอินโดนีเซียมาเป็นแนวทาง โดยเสนอให้รัฐบาล ปรับนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ทำศูนย์รวมบริการแบบครบวงจร หรือ all services center โดยเน้นย้ำธุรกิจประเภท เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อดึงดูดนักลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 

โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการนำนโยบายของประเทศที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัด เพราะบางนโยบายต้องใช้เงิน และ 8-9 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงนามข้อตกลง FTA ทำให้เสียโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งจะเห็นว่าการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาเพียงเรื่องค่าแรง แต่เพราะไทยไม่มีความตกลง FTA ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลนี้มีการผลักดันเจรจาความตกลง FTA อย่างจริงจัง 

นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายหลักของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้รับทราบว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เช่น ในวันนี้มีการหารือกับบริษัท Microsoft ซึ่งจะมีข่าวดีในเร็วๆนี้ โดยจะมีเอกชนรายใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center ในไทย พร้อมย้ำการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนยืนยันประเทศไทยพร้อมรับนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวกกับนักลงทุนในทุกด้าน

นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของเอกชนในทุกด้าน ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายขายฝันกับนักลงทุน และเห็นด้วยว่าเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหากแข่งขันกันประเทศไทยไม่แพ้ใครในภูมิภาค แต่ขอให้เจรจาความตกลง และลงนามในข้อตกลง FTA ให้ได้ เพราะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และระบบการดูแลสุขภาพของไทยดีกว่า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน ยืนยันรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่อะไรทำได้จะทำก่อน เชื่อว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้จะได้เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น

ทั้งนี้เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ซานฟรานซิสโกช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา  กล่าวถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาตอบโต้กรณีนายกฯ ให้เหตุผลต้องมีการกู้เงินเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเนื่องจากประเทศกำลังมีวิกฤตว่า ตนเองไม่ได้เถียงกับใคร ทุกคนมีความประสงค์ดีกับประเทศชาติทั้งนั้น อย่างที่ตนเองแถลง ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต จำเป็นหรือไม่จำเป็น ตนเองมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น มองว่าเป็นเรื่องวิกฤตก็แค่นั้น ซึ่งประชาชนก็จะเป็นคนตัดสิน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีการรายงานความเห็นเพิ่มเติมมาหรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเตือนเรื่องนี้เป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีคำว่าอาจจะเตือน แต่จะมีแค่คำว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ขอให้รอแล้วกัน แต่รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องนี้จำเป็นและเร่งด่วน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการปรึกษาเรื่องนี้กับนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีตนเองต้องระมัดระวังในการที่จะคุยตรงนี้ เพราะไม่อยากให้เป็นการล็อบบี้หรือไปพูดคุย การที่ตนเองได้พูดคุยกับสาธารณชนในเรื่องนี้ก็ได้อธิบายไปแล้วว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจีดีพีไทยเติบโตเท่าไหร่เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างชัดเจนและเราพูดคุยข้อมูลกันอย่างชัดเจนที่สุดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ "ปภัสสรวิมาน" ถวายพวงมาลัยและน้ำอ้อย

  วิเคราะห์ "ปภัสสรวิมาน" ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 18 ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ 4. มัญชิฏฐกวรรค 2. ปภัสสรวิมาน ใน...