วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ปลัดมท.หารือผอ. GIZ เยอรมัน แนวทางพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน



ปลัดมหาดไทยให้การต้อนรับผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือในการเป็น Partnership เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายไรน์โฮลด์ เอลเกส (Mr. Reinhold Elges) ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย ในโอกาสเข้าหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี นายไฮน์ริช กูเดนุส (Mr. Heinrich Gudenus) ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act และคณะ เข้าร่วมหารือ โอกาสนี้ นางสาวอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ชาวมหาดไทยมีความยินดีที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnership) ในการร่วมกันขับเคลื่อนให้โลกเราได้มีความยั่งยืนตามเป้าประสงค์ของ GIZ เพราะกระทรวงมหาดไทยเราให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 (Partnership) ทั้งในระดับชาติไปจนถึงระดับพื้นที่ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและประชาชน โดยเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือ ทำให้ประเทศไทยเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (low carbon) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเรามุ่งมั่นตั้งใจในการทำให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ได้ทำเพียงแค่ในเมืองใหญ่ แต่รวมไปถึงพื้นที่ชนบท เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับโลกส่วนหนึ่งเกิดมาจากพื้นที่ชนบท เช่น ปัญหาฝุ่นหมอกควันขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดมาจากการเผาตอซังขาว การเผาเศษซากทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดมาจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีจากคนสมัยก่อน ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมสะสมมาต่อเนื่องและเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) 



“สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ในการขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเพื่อสนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาลตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการกล่าวถ้อยแถลง (Commitment) ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับตั้งแต่การร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยมี คุณกีตาร์ ซับบระวาล (Ms. Gita Subhawal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมลงนาม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ในมิติต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมายหลักอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เรายังส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการขยะ ทั้งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การคัดแยกขยะ จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้รับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (GTO) เป็นผู้รับรอง methodology เพื่อขายให้กับภาคเอกชน เกิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนกลับสู่ชุมชน ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีการรับรองแล้ว จำนวน 23 จังหวัด คิดเป็นมูลค่า 23 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งสูงกว่าแผนปฏิบัติการส่งเสริมการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC ของรัฐบาลไทยอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้เรายังมีการส่งเสริมให้ประชาชนนำหลัก 3Rs (Reuse-Reduce-Recycle) โดยการนำขยะครัวเรือนมารีไซเคิล ด้วยการจัดตั้งกองทุนรับซื้อขยะ เรียกว่า “ธนาคารขยะ” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและช่วยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าของขยะ (Value Added) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเรามีเป้าหมายที่จะจัดตั้งกองทุนขยะให้ครบทุกตำบล รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว โดยปัจจุบันดำเนินการแล้วทั่วประเทศกว่า 14 ล้านครัวเรือน เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลอดจากสารพิษ นำไปสู่การลดรายจ่าย ช่วยให้เมืองยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งเราทำในลักษณะนี้ในทุกพื้นที่โดยมีกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วนสนับสนุนและขับเคลื่อน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วและจะได้เสริมความเข้มแข็งมายิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณที่ GIZ เห็นความสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมกันทำงานในรูปแบบหุ้นส่วนความร่วมมือในอนาคต 

นายไรน์โฮลด์ เอลเกส (Mr. Reinhold Elges) ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่วันนี้ได้มาพบปะพูดคุยหารือเกี่ยวกับโครงการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเยอรมันมีมานานกว่า 160 ปี และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนี ที่มีการดำเนินการทั้งในภาครัฐและเอกชนมีมากว่า 60 ปี องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือ (Partnership) ระหว่างประเทศ โดยในปัจจุบัน GIZ ประจำประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  โดยมุ่งเน้นในการวางนโยบายและกลยุทธในระยะยาว และผลักดันนำเอากลยุทธไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับกระทรวง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งพวกเราดีใจและขอบคุณกระทรวงมหาดไทยในบทบาทหน้าที่หน่วยงานผู้ร่วมดำเนินการโครงการ Urban-Act ซึ่งเรามีเป้าหมายในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกประเทศ และจะได้ร่วมมือกันเพื่อสานต่อในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนทุกมิติ และบูรณาการร่วมกันนำไปสู่การปฏิบัติ 

นายไฮน์ริช กูเดนุส (Mr. Heinrich Gudenus Director) ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act กล่าวว่า นับเป็นโอกาสที่ดีของเราในการเริ่มต้นสร้างความร่วมมือระยะยาวร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนไปสู่การเป้าลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งโครงการ Urban-Act สำหรับความร่วมมือกับประเทศไทย ทาง GIZ มีแผนร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงบูรณาการการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองร่วมกับหน่วยงาน นอกจากการดำเนินงานในระดับส่วนกลางแล้วยังมีในระดับพื้นที่ ได้มีการคัดเลือกจังหวัดนำร่อง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ในการดำเนินโครงการอีกด้วย

นอกจากนี้เรายังมีแผนร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค รวมทั้ง คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการในระดับชาติ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทำงานเป็นแบบ Partnership ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือและดำเนินการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...